ร้างหายจากการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไป 2 ปี วันที่ 18 มีนาคม 2555 ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สวมเสื้อกั๊กกระโดดขึ้นเวทีอีกครั้ง นำเสนอ “การวิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน” ซึ่งมีการแจ้งข่าวให้ทราบก่อนหน้าวันแถลงระยะหนึ่ง งานนี้ถูกโจมตีจากฝ่ายเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยทันทีว่า ทำไมช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งธีรยุทธดูจะรับรู้คำกล่าวหานี้ดี จึงออกตัวก่อนแต่เนิ่นว่า สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะปัญหาสุขภาพ อีกประเด็นคือเป็นสถานการณ์ที่การพูดอย่างสร้างสรรค์และไม่สร้างความแตกแยกเป็นไปได้ยาก และต้องการเวลาเพื่อมองภาพใหญ่ของประเทศให้ชัด เช่นทุกครั้ง การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์การเมืองของ ‘สิงห์เสื้อกั๊ก’ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแน่นขนัดห้องวรรณไวทยากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
อยากให้ทักษิณกลับมารับโทษ-รักษาระบบยุติธรรม
ธีรยุทธเริ่มต้นด้วยการประเมินบารมีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น 1 ใน 3 นักการเมืองที่มีบารมีมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2500 เทียบเท่าจอมพบสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เนื่องจากตลอด 10 กว่าปี 4 การเลือกตั้ง พรรคการเมืองภายใต้ร่มเงา พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่ธีรยุทธทิ้งคำถามด้วยว่า ข้อนี้จะช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้นหรือประเทศเสียหายถึงขั้นล่มจมต้องพิสูจน์กันอีกพอสมควร
“ส่วนผมอยากให้คุณทักษิณอยากกลับเมืองไทย คิดถึงเพื่อนเก่า ขาประจำซึ่งกันและกัน แกเคยท้าพนันผมผ่านทางสื่อประมาณปี 2546 แกบอกว่าแกจะหลุดจากอำนาจก่อน หรือเสื้อกั๊กจะขาดก่อนกัน ปรากฏว่า ตอนนี้แกก็ออกไปจากประเทศเกือบ 6 ปีแล้ว แต่เสื้อกั๊กผมก็ขาดแล้วเหมือนกัน ถือว่าเจ๊ากัน” ธีรยุทธกล่าวติดตลก
ทำไมจึงอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศ ธีรยุทธให้เหตุผลว่า คำตัดสินของศาลว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดในกรณีซุกหุ้นและเลี่ยงภาษี ซึ่งเขาได้รับฟังและเห็นพ้องว่าผิดจริง พ.ต.ท.ทักษิณจึงควรกลับมายอมรับผิด ติดคุก ซึ่งเขาเชื่อว่าเมื่อถึงจุดนั้นคนส่วนใหญ่จะเห็นอกเห็นใจ และอยากให้มีการนิรโทษกรรม ทั้งจะเป็นการรักษาระบบยุติธรรมของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญกว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ธีรยุทธประกาศตัวด้วยว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษ เขาก็พร้อมสนับสนุนการนิรโทษกรรม
‘เสื้อแดง’ขยายตัวเพราะโดนดูถูกเหยียดหยาม
ธีรยุทธกล่าวต่อว่า ปัญหาที่นำไปสู่วิกฤตการเมืองไทยอย่างรุนแรงในปัจจุบันก็คือ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับการมีตัวตนของอีกฝ่าย เสื้อแดงไม่ยอมรับเสื้อเหลืองโดยบอกว่า เป็นพวกไม่มีเหตุผล คลั่งชาติ คลั่งเจ้า ขณะที่เสื้อเหลืองก็เห็นว่าเสื้อแดงถูกจ้างมา โง่ ไร้การศึกษา ถูกหลอก
“ตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ คือประเด็นที่โดนดูถูกเหยียดหยาม มันซ้ำเติม และเป็นสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้เสื้อแดงขยายตัว จุดประสงค์ใหญ่วันนี้คืออยากให้มีการยอมรับการดำรงอยู่ตรงนี้ เมื่อยอมรับก็ทำความเข้าใจเสื้อแดง มีคำอธิบาย มีมุมมองใหม่ว่า ทำไมเสื้อแดงจึงขยายตัวและยังเป็นพลังสำคัญตัดสินผลการเลือกตั้งมาตลอด ตรงนี้ผมว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้เกิดการพูดคุยเรื่องสมานฉันท์ในอนาคต คือตอนนี้พูดเรื่องสมานฉันท์เฉยๆ ไม่ได้ ต้องเกิดการจากยอมรับกันก่อน แล้วก็หาทางที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกัน”
นับเป็นพัฒนาการการเมืองแบบรากหญ้า
ธีรยุทธวิเคราะห์ผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า การเมืองเรื่องสีเสื้อที่ยืดเยื้อมา 7 ปี ต้องถือเป็นการพัฒนาการเมืองรากหญ้า ที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย เพราะก่อนปี 2475 ชาวบ้านไม่มีทั้งเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคน พอหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองปี 2475 เสรีภาพแม้ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่คนชั้นสูง ข้าราชการ มีศักดิ์ศรีความเป็นคน มีฐานะในสังคม ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชนชั้นกลาง กลุ่มทุน มีสิทธิเสรีภาพมาก ขณะที่ชาวบ้านเริ่มรู้จักกลิ่นอายสิทธิเสรีภาพบ้างเล็กน้อย
ครั้นถึงยุคการเมืองรากหญ้าประชานิยม ชาวบ้านมีสิทธิเสรีภาพ กล้าแสดงออก และรู้สึกถึงอำนาจของตัวเอง ถึงแม้ว่าบางครั้งการใช้อำนาจจะก้าวร้าวรุนแรงมากไป แต่นั่นเป็นช่วงเริ่มต้น ซึ่งต้องอาศัยเวลายาวนานถึง 30 ปี กว่าสังคมไทยจะปักหลักสร้างเสรีภาพในการวิจารณ์การเมืองได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เขาจึงคิดว่าควรต้องให้เวลา
ชี้วิกฤตเกิดจากการรวมศูนย์-คนชั้นนำได้ประโยชน์
ธีรยุทธพยายามขุดคุ้ยให้เห็นรากเหง้าวิกฤตรอบนี้ว่า เกิดจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกเกิดจากการรวมศูนย์มากเกินไป ซึ่งท้ายที่สุดศูนย์กลางเอาไม่อยู่ (Center Can Not Hold) นับจากการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ สมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้รัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้ทรัพยากรทุกอย่าง เกิดการเชิดชูส่วนกลาง กดเหยียดท้องถิ่น นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในทุกด้าน-วัตถุ ทรัพยากร อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี จนเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจที่ฝังลึก
ขณะเดียวกันผู้ที่ใช้ประโยชน์จากการรวมศูนย์นี้ก็คือ คนชั้นนำของประเทศ โดยที่ชาวบ้านเกือบไม่ได้อะไรจากรัฐ ดังนั้นการตำหนิชาวบ้านเรื่องซื้อสิทธิ์ขายเสียง จึงไม่อาจกล่าวได้เต็มปากเต็มคำนัก เพราะเมื่อส่วนกลางไม่เคยเหลียวแลที่จะกระจายประโยชน์กลับคืนให้แก่ชาวบ้านเท่าที่ควร เขาก็รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง เมื่อมีอำนาจต่อรองจากการลงคะแนนเสียง ชาวบ้านจึงฉลาดพอที่จะต่อรองเป็นตัวเงิน วัตถุ งบประมาณ โครงการเข้าหมู่บ้าน และไม่แปลกหากคนรากหญ้าจะตื้นตันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผันเงินของรัฐมาให้ สิ่งนี้เป็นผลจากการรวมศูนย์อำนาจ
ปัญหาอีกประการของการรวมศูนย์อำนาจก็คือ มันทำให้เรื่องราวของท้องถิ่น ผู้คนตัวเล็กตัวน้อย เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ แต่กลับเน้นหนักประวัติศาสตร์แบบกษัตริย์นิยม ผลที่เกี่ยวเนื่องกันคือการละเลยขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ท้องถิ่น
เบื่อชนชั้นนำ-ชอบผู้นำนักเลงกล้าได้กล้าเสีย
“ช่วงเวลาสัก 100 ปีมานี้ ของดีๆ สูญหายไปเยอะ เช่น ศาลากลางกลายเป็นแบบภาคกลางหมด ลึกๆ มันเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ ถ้าเราทำให้ดี ความรู้สึกก็จะฟื้นดีขึ้นได้ ผมจึงสรุปว่า เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมมาตลอดชีวิตเรื่องทรัพยากร รายได้ การกระจายทรัพยากร ถูกดูหมิ่นดูแคลน ไม่มีศักดิ์ศรีของตัวเอง พอเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน คนเมืองต่อต้านทักษิณ พวกเขารู้สึกถูกซ้ำเติม ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศูนย์กลางใช้สองมาตรฐานต่อพวกเขา การไม่ยอมรับอำนาจศูนย์กลางจึงขยายตัวมากขึ้น”
ประการที่ 2 คือความต่างด้านค่านิยมและความคิดพื้นฐานระหว่างรากหญ้ากับชนชั้นนำ เมื่อชาวบ้านมีค่านิยมชอบคนใจนักเลง มีน้ำใจ พึ่งพาได้ กล้าได้กล้าเสีย ชอบวีรบุรุษ
“เมื่อทักษิณให้ความหวัง พวกเขาจึงชอบ ชอบคนกร่างๆ หน่อยแบบจตุพร (พรหมพันธุ์) ชอบคนเรียบร้อยแต่พูดจาฉะฉานแบบอำมาตย์เต้น (ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำคนเสื้อแดง) ชอบวัตถุที่จับต้องได้ชัดๆ ชอบผู้นำฉับไว กล้าได้กล้าเสีย ไม่ต้องยกแม่น้ำทั้งห้า”
ขณะที่ชนชั้นนำชอบระเบียบ ความสงบเรียบร้อย เพราะเท่ากับคนชั้นล่างยอมรับอำนาจที่ดำรงอยู่ ซึ่งทำให้ชนชั้นนำได้เปรียบ มองว่าระเบียบเป็นเรื่องเดียวกับประสิทธิภาพ แต่เมื่อใช้กับระบบราชการที่ดำรงอยู่มานานจึงกลายเป็นความเชื่องช้า
“คนชั้นสูงและชั้นกลางพึ่งตนเองและระบบ มักมีคำอธิบายที่เน้นนามธรรม ชอบเทศนาคุณธรรมความดี จึงเป็นที่มาของความต่างของประชาธิปไตยกินได้กับประชาธิปไตยดูได้ หรือดูดีของชนชั้นสูง ส่วนนักการเมืองก็เป็นประชาธิปไตยกูได้กิน ชนชั้นสูงก็เป็นประชาธิปไตยคนดี เพราะพวกเราเป็นคนดี”
ชาวบ้านไม่ทนวาทะสวยหรู-ถึงเวลาดึงทรัพยากรกลับ
เมื่อชนชั้นนำและเมืองเป็นผู้ดูดดึงและใช้ทรัพยากรจากชนบท และเป็นผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องสร้างวาทกรรมความสำคัญของศูนย์กลาง ของประชาธิปไตยคนดี
“ชาวบ้านต้องอดทนเป็นคนดีต่อไป คล้ายกับว่าเราไม่ช่วยกระจายกลับ แต่เรียกร้องให้เขาอดทน เสียสละตลอด ในที่สุดมันไม่เกิดผล นำมาซึ่งเขาขายเสียงดีกว่า ประชานิยมดีกว่า ศูนย์กลางไปครอบงำอยู่ตลอด โดยหวังว่ามันจะเวิร์ค แต่มันไม่เวิร์ค ถึงวันหนึ่งเครื่องมือเหล่านี้ไม่เวิร์ค ก็รัฐประหาร ก็กลับเป็นวงจรเก่า”
ธีรยุทธกล่าวว่า สิ่งที่ที่น่าสนใจ ณ ขณะนี้ คือเมื่อเกิดการเมืองรากหญ้าจึงเกิดวงจรย้อนกลับ หมายถึงภาคชนบทพยายามดึงทรัพยากร ความมั่งคั่งกลับ ผ่านนโยบายประชานิยม ผ่านการต่อรองกับนักการเมือง พรรคการเมือง และในอนาคตประชานิยมจะขยายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต่อสู้กับวาทกรรมความสำคัญของศูนย์กลางด้วยวาทกรรมประชาธิปไตยกินได้ และการวิจารณ์สถาบันอนุรักษ์นิยมมากขึ้น เขาเห็นว่าเมื่อมองเชิงโครงสร้างระดับลึกเช่นนี้ จะพบจะพบคำอธิบายการเกิดขึ้นของขบวนการรากหญ้าหรือเสื้อแดงได้
เหมือน ‘โจโฉ’ กับ ‘เล่าปี่’ แต่ถึงที่สุดจะเหลือกลุ่มเดียว
สถานการณ์การเมืองขณะนี้มีลักษณะ 2 ศูนย์อำนาจคือ ศูนย์อำนาจอนุรักษ์นิยมและศูนย์อำนาจรากหญ้า ธีรยุทธเปรียบเปรยเป็น 2 ก๊ก คือก๊ก ‘คนเลว’ โจโฉ กับก๊ก ‘คนดี’ เล่าปี่-ขงเบ้ง ซึ่งแต่ละศูนย์ต่างมีความชอบธรรมและที่มาของอำนาจแตกต่างกัน
ฝ่ายอนุรักษ์นิยมควบคุมอำนาจด้านความมั่นคง ตุลาการ และจิตวิญญาณ และความชอบธรรมมาจากจารีตประเพณี ขณะที่ฝ่ายรากหญ้าควบคุมอำนาจบริหาร งบประมาณ และการออกกฎหมาย โดยได้รับความชอบธรรมผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งธีรยุทธชี้ว่า กลุ่มแรกมีแนวโน้มหดตัวลง ส่วนกลุ่มหลังจะขยายตัวมาขึ้น
“ตอนนี้ฝ่ายอนุรักษ์เสียเปรียบ เสื้อแดงเป็นฝ่ายรุกตลอด เสื้อเหลืองจำกัดตีบตัน เสื้อแดงคิดอะไรต่อได้เยอะเพราะมีงบประมาณรองรับ ที่สุดแล้วศูนย์กลางคงเหลือศูนย์เดียว แต่จะเป็นอย่างไรผมยังไม่ให้คำตอบไว้ แต่คาดว่ายุทธศาสตร์ฝ่ายเพื่อไทย ทักษิณ คงมี 3 ขา คือขยายฐานรากหญ้า สลายอำนาจฝ่ายตรวจสอบ และดึงกำลังความมั่นคงหรือกองทัพเป็นพวก จะทำได้ขนาดไหนหรือจะเกิดปัญหาความรุนแรงตามมาหรือไม่ก็น่าเป็นห่วง”
ชี้ทักษิณ-เพื่อไทยดึงพ้นรุนแรงได้ระยะหนึ่ง
จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ธีรยุทธยอมรับว่ายังมองไม่เห็นทางออกในระยะใกล้ เนื่องจากปัญหาฝังลึกมานาน แต่พอจะมองเห็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อสร้างทางออกในระยะยาวได้ ธีรยุทธคิดว่า ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย สามารถช่วยให้สังคมไทยหลีกเลี่ยงความรุนแรงไปได้อย่างน้อยช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยการไม่กดดันให้มีการเผชิญหน้าของมวลชน และมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและค่านิยม
ขณะเดียวกันสังคมไทยจะต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ถึงรูปแบบการปกครองประเทศที่ควรเป็น โดยให้ทุกฝ่ายร่วมกันถกเถียง รวมถึงนักคิดที่ใกล้ชิดราชสำนัก เช่น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล น.พ.ประเวศ วะสี อานันท์ ปันยารชุน ควรศึกษาว่า สถาบันกษัตริย์ควรมีที่ทางอย่างไรในระบบเสรีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์ ซึ่งตัวธีรยุทธเองไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการสายสุดขั้วบางคน ที่ต้องการเพิ่มพระราชอำนาจ เพราะจะเป็นการย้อนยุค แต่สถาบันควรเป็นภารกิจของประเทศ และมีภารกิจภายใต้รัฐธรรมนูญและตามขนบประเพณีของสังคม
แนะตรวจสอบประชานิยมทำเงินเฟ้อ-กระทบคลัง
ด้านนักเศรษฐศาสตร์และสังคมจะต้องช่วยกันกดดัน ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ นโยบายประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยให้แปรไปในทิศทางที่ถูกต้อง เนื่องจากมีบทพิสูจน์แล้วทั่วโลกว่า ถึงที่สุดนโยบายประชานิยมจะก่อเกิดปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อในภายหลัง และกระทบต่อวินัยทางการคลังของประเทศ
ที่สำคัญในห้วงยามที่การแบ่งขั้วอำนาจจะดำเนินต่อไปอีกยาวนาน การชุมนุมประท้วงมีโอกาสเกิดความรุนแรงได้ สังคมไทยจำเป็นต้องยกระดับตัวเองเป็นสังคมประชาธิปไตยเข้มแข็ง ธีรยุทธใช้คำว่า ขณะนี้เราใช้เสรีภาพมาก แต่ยังใช้สิทธิน้อย หมายถึงว่าการใช้เสรีภาพจำเป็นต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย
“การยึดทำเนียบไม่ถูกต้อง ทำผิดพลาดแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การขับไล่ล้มการประชุมนานาชาติอันนี้ก็ร้ายแรงมาก ยึดราชประสงค์ ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ อันนี้ใช้เสรีภาพมากเกินไป เรามีสิทธิต้องขวาง สิ่งเหล่านี้จะอยู่ยาวนาน ถ้าเราให้เขามีเสรีภาพเฉยๆ ไม่ได้ ต้องมาพร้อมการเคารพสิทธิของคนอื่นด้วย”
ไม่เชื่อทักษิณแก้โครงสร้างปชต.แค่ให้รากหญ้าหนุนกลับไทย
และช่วงสุดท้ายของการแถลง ธีรยุทธกล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในการสร้างประชาธิปไตย เพราะเขาผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน ต้องการเพียงแค่กลับเมืองไทย โดยใช้รากหญ้าเป็นฐานเท่านั้น
ภายหลังการแถลงการณ์วิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤตปัจจุบัน เสร็จสิ้น ก็เป็นช่วงของการซักถาม ผู้สื่อข่าวจึงถามเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ที่กำลังเป็นประเด็นสังคมในขณะนี้ ซึ่งธีรยุทธคิดว่า ในอนาคตจะมีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงมากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่สังคมไทยต้องเปิดพื้นที่ เสรีภาพ เพื่อร่วมกันขบคิดในทุกมิติ ทุกปัญหา เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่าควรจะดำรงอยู่อย่างไรในระบบเสรีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์
มองแก้ม.211 เป็นแค่ปลายทาง
“ถ้าจะตอบเรื่อง 112 ผมอยากให้นักคิดทั้งหมด นักวิชาการที่มีความรู้มีประสบการณ์ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ด้วย ต้องถกถึงสถานะ บทบาท หน้าที่ อำนาจ ภารกิจ กันอย่างชัดเจนมากขึ้น 112 โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นปลายทางของการถก ถ้าถกหลักการใหญ่ๆ ให้ได้ก่อน ปัญหานี้จะได้คำตอบ”
ประเด็นสำคัญที่ธีรยุทธฝากไว้คือ ก่อนอื่นนักกฎหมายต้องช่วยกันตอบว่า พระบรมเดชานุภาพคืออะไร ซึ่งเขาคิดว่าขณะนี้พูดกันไปคนละทิศทางด้วยซ้ำ ถ้ายังไม่รู้ว่าคืออะไร การหมิ่นสิ่งที่เราไม่เข้าใจชัดเจนจะถูกตีความ ถูกปฏิบัติอย่างหลากหลายมาก เขาคิดว่าจำเป็นต้องให้ความกระจ่างในมิตินี้ก่อน เมื่อกระจ่างก็จะไม่มีการไปใช้อำนาจแบบมั่วๆ กับผู้คน หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองซึ่งไม่ถูกต้อง และเกิดผลเสียแก่ทุกฝ่าย
หยอกนายกฯสวย-น่าติดอันดับผู้หญิงแต่งตัวดี
ก่อนจะถึงคำถามต่อไป ธีรยุทธผ่อนคลายด้วยเรื่องการแต่งตัวของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า เป็นผู้นำหญิงที่แต่งตัวสวย เขาถึงกับคาดการณ์ว่า ยิ่งลักษณ์น่าจะติดอันดับผู้นำหญิงที่แต่งตัวดีที่สุดในโลก ทั้งยังแนะนำให้ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนชาวบ้านต่างจังหวัดบ่อยๆ จะช่วยสร้างคะแนนนิยมได้มากจากบุคลิก ท่าทาง และและการแต่งตัวของยิ่งลักษณ์เอง
“ผมว่าท่านยิ่งลักษณ์จะเป็นนายกฯ ที่มีคนรักมากคนหนึ่ง แล้วท่านก็เป็นคนที่ถ่ายรูปขึ้น สวยมาก ในส่วนท่านอภิสิทธิ์ ผมคิดว่าท่านน่าจะเจาะประเด็นลึกๆ เขียนบทความ มากกว่าให้สัมภาษณ์ คือคิดให้ลึกๆ เราต้องการคนที่มีพลังความคิด ที่จะบอกว่าสังคมควรไปทางไหน มากกว่าจะพูดเรื่องปลีกย่อยของอีกฝ่าย”
เชื่อมีชุมนุมอีกแต่ถ้าปฏิวัติประเทศพังแน่
ผู้สื่อข่าวถามธีรยุทธถึงแนวโน้มความรุนแรงในอนาคตว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งธีรยุทธคิดว่าสถานการณ์ที่ต้องจับตาดูคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอาจจะไม่ยอมลงประชามติ มีการรณรงค์ ชุมนุมประท้วง ซึ่งถ้าฝ่ายรัฐไม่สามารถควบคุมได้ ในที่สุดก็ต้องมีมวลชนออกมาผลักดัน
“แต่ผมไม่คิดว่าจะเจอภาพคนมหึมาจากทั้งสองฝ่ายในช่วงต้น เพราะประชาชนก็เหนื่อยล้ากับวิกฤตแล้ว ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงแล้ว ถ้าเลี่ยงได้ ทุกฝ่ายก็อย่าผลักดันไปสู่จุดนั้น ใช้เวลาช่วยหาหนทางกันด้วย แต่ถ้าเกิดความรุนแรงย่อยๆ แล้ว มันจะไม่หยุด มันจะต่อเป็นหนสอง หนสาม เปลี่ยนรูปแบบ เป็นรัฐประหาร ผมบอกได้เลยนะว่าถ้ามีรัฐประหารอีกประเทศเราจะพังเด็ดขาด เพราะฉะนั้นใครคิดก็อย่าทำ”
ส่วนประเด็นการปรองดองที่คาดการณ์ในสื่อต่างๆ ว่า อาจมีการนิรโทษกรรมเป็นบทเฉพาะกาลไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ธีรยุทธเชื่อว่าจะเกิดกระแสคัดค้านที่มีพลังพอสมควร และจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อระบบยุติธรรม เป็นการล้มล้างคำพิพากษาของศาล ซึ่งเขาเตือนว่าหากล้มคำพิพากษาได้ ย่อมหมายความว่า เครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จะเหลือเพียงชิ้นเดียวคือการรัฐประหาร
“แต่ต่อไปนี้มีถ้ารัฐประหารก็ต้องเป็นโมฆะหมด เครื่องมือสุดท้ายของพลังอนุรักษ์จะไม่สามารถถูกนำมาใช้ ผมก็เลยคิดว่าพลังอนุรักษ์จะยังไม่ยอมในเวลานี้ ที่พูดนี่ผมไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐประหารนะ ผมบอกว่าถ้ามี มันเป็นเครื่องมือสุดท้ายของพลังนี้ ถ้าเขายังไม่มั่นใจในสภาพรวมหลายๆ อย่าง คงยังไม่ยอมปล่อยเครื่องมือชิ้นนี้ทิ้งไป”
ทั้งหมดนี้คือบทวิเคราะห์การเมืองไทยของสิงห์เสือกั๊กฉบับ ‘จัดเต็ม’ ที่น่าจะพอฉายภาพความเป็นไปได้ต่างๆ ของสังคมไทยในอนาคต ซึ่งจะดีหรือเลวคงต้องอาศัยคนในสังคมช่วยกันฉุดรั้งไว้ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางเพียงเพื่อนการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ