'ดินภูเขาถล่ม'ภูเก็ตน่าห่วงกว่าแผ่นดินไหว ชี้สภาพดินจากแกรนิตรับแรงสะเทือนได้ดี แนะเร่งตรวจ'อาคารเก่า'ในเมือง-อันตราย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 19 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2107 ครั้ง

 

ชี้สภาพดินภูเก็ตรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี

 

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต สร้างความแตกตื่นให้กับชาว จ.ภูเก็ต เป็นอย่างมาก สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนของประชาชนเกือบ 40 หลัง ซึ่งส่วนใหญ่พบรอยร้าว รอยแยกของผนังบ้านทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตึกสูง และอาคารเก่าแก่ต่างๆ ภายในพื้นที่ จ.ภูเก็ต

ล่าสุด นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ต่อกรณีดังกล่าวว่า สภาพดินโดยทั่วไปของอ.ถลาง และพื้นที่อื่นๆ ในจ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่เป็นดินในประเภทดินทราย ที่เกิดจากการผุกร่อนของหินแกรนิต ซึ่งเกิดจากการทำเหมืองแร่ในอดีต ไม่ได้เป็นดินเหนียวอ่อนเหมือนกับสภาพดินในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยลักษณะทั่วไปของดินทรายจะมีคุณสมบัติที่ทำให้คลื่นวิ่งเร็วขึ้น ความสูงของคลื่นต่ำในขณะที่ดินเหนียวอ่อน จะมีคุณสมบัติในการขยายคลื่น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อาคารบ้านเรือนที่มีลักษณะโครงสร้างที่ดีในพื้นที่อ.ถลาง จะไม่ได้รับอันตรายจากการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน แต่สำหรับบ้านเรือนที่เป็นบ้านเรือนเก่า 1-2 ชั้น มีฐานไม่มั่นคงคน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงทำให้ผนังบ้านช่วงรอยต่อกับเสาบ้านแยกออกจากกันได้ สำหรับสภาพของดินทรายที่เกิดจากการผุกร่อนของหินแกรนิตนี้ จะสามารถทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนของเหตุแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนต่างๆ หากมีโครงสร้างที่ดีก็จะไม่ได้รับความเสียหาย

ห่วงหน้าฝนทำภูเก็ตดินถล่มมากกว่าแผ่นดินไหว

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่กรมทรัพยากรธรณีเป็นห่วงว่าจะเกิดความเดือดร้อนของประชาชน มากกว่าผลกระทบจากแผ่นดินไหวคือ ผลกระทบจากเหตุการณ์ดินถล่มในฤดูฝน เนื่องจากดินในลักษณะนี้ หากได้รับน้ำฝนมาก และเป็นจุดที่เป็นที่ลาดชันมากๆ ก็อาจจะทำให้เกิดดินถล่มลงมาได้ และจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งบ้านเรือน อาคารต่างๆ ที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ลาดชันเหล่านั้น กรมทรัพยากรธรณีได้พยายามเข้าไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในการป้องกันเหตุดินถล่ม แต่ก็ทำได้เฉพาะในกลุ่มประชาชนเท่านั้น ในส่วนของภาคเอกชน เช่น รีสอร์ท ที่มักจะปลูกอาคารที่พักในบริเวณที่ลาดตามไหล่เขา เราไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปดำเนินการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามได้พยายามให้ความรู้กับประชาชนเพื่อแจ้งข้อมูล และส่วนหนึ่งก็ได้ส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังภาคเอกชนต่างๆ ที่นิยมสร้างอาคารตามไหล่เขา เพื่อให้มีความระมัดระวัง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดฝนตกหนักๆ ที่จะเป็นสาเหตุของดินถล่มได้ง่ายเนื่องจากสภาพของดินทรายดังกล่าว

 

เหมืองแร่เก่าไม่ส่งผลแผ่นดินไหว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำเหมืองแร่ในอดีตหลายพื้นที่ของจ.ภูเก็ต จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสียหายที่ได้รับจากผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือไม่ นายเลิศสินกล่าวว่า การทำเหมืองในอดีต ไม่มีผลในการเพิ่มความเสียหายต่อผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินไหวแต่อย่างใด ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความรุนแรงของแผ่นดินไหวมากกว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมทรัพยากรธรณียังคงเฝ้าติดตามรอยเลื่อนคลองมะรุย และรอยเลื่อนระนอง ซึ่งเป็นรอยเลื่อนหลัก เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่อ.ถลาง พบว่า เป็นการขยับตัวของรอยเลื่อนแขนงย่อยของรอยเลื่อนคลองมะรุย และการขยับตัวของแขนงย่อยก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่า รอยเลื่อนหลักคือรอยเลื่อนคลองมะรุยจะขยับตัวจนเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้อีกตลอดเวลา

 

“อย่างไรก็ตามเรามั่นใจในเชิงวิชาการว่า แม้ว่ารอยเลื่อนคลองมะรุยซึ่งเป็นรอยเลื่อนหลัก จะขยับตัวจนทำให้เกิดเหตุแผ่นดินไหว แต่ความรุนแรงก็ไม่น่าจะเกิน 5-6 ริกเตอร์ แต่สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือความตกใจของประชาชน ที่อาจจะปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องหากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ดังนั้นจึงอยากฝากเตือนประชาชนว่า ไม่ควรตกใจจนเกินไป ไม่ควรใช้ลิฟต์ในระหว่างเกิดเหตุแผ่นดินไหว และหากอยู่ในบ้านที่มีความสูง 1-2 ชั้น ควรจะออกมาอยู่ในที่โล่งเพื่อความปลอดภัย” นายเลิศสินกล่าว

แนะเร่งตรวจสอบอาคารเก่าภูเก็ต

 

ด้าน ผศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ ผู้อำนวยการ โครงการเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านผลกระทบจากแรงลมและแผ่นดินไหว ของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) หนึ่งในคณะทำงานโครงการพัฒนาและปรับปรุงจัดทำประมวลข้อบังคับอาคาร สำหรับประเทศไทย ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้น เพื่อจัดทำมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2552 เพื่อให้สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมีความปลอดภัย กล่าวว่า จากกรณีการเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 4.3 ริกเตอร์ ที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนของประชาชน จนเกิดความเป็นห่วงเกี่ยวกับระบบโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะอาคารเก่าในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งหากจะตรวจสอบถึงความปลอดภัยในระบบโครงสร้างต่างๆ อาจจะต้องให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดของอาคาร โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการก่อสร้างมาตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากกลุ่มอาคารเก่าแก่ส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการออกแบบมาเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหว ประกอบกับความเก่าแก่ของอาคารที่อาจมีร่องรอยชำรุด หรือรอยร้าวต่างๆ อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารชำรุดเสียหายได้ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาถึงเรื่องของสภาพดินในพื้นที่ตั้งของอาคารด้วยว่า เป็นดินประเภทใด หากเป็นดินอ่อนก็อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย จากการได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้

 

“อาคารเก่าๆ บางแห่งอาจจะได้รับผลกระทบมีรอยร้าวบ้าง เนื่องจากในอดีตวิศวกรไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งแต่ละอาคารมีลักษณะไม่เหมือนกันดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบดูในรายละเอียด เหมือนกับคนป่วยที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า จะทำการรักษาต่อไปอย่างไร คือจะซ่อมแซมหรือเสริมโครงสร้างตรงไหนได้บ้าง” ดร.สุทัศน์กล่าว

 

ไม่ห่วงตึกสูงในภูเก็ตเชื่อออกแบบมาดี

 

ในส่วนของอาคารสูงต่างๆ ในจ.ภูเก็ต ที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้น ดร.สุทัศน์กล่าวว่า ในการออกแบบก่อสร้าง เชื่อว่าส่วนใหญ่จะมีระบบป้องกันเหตุแผ่นดินไหวอยู่แล้ว หลังจากที่ปัจจุบันพบว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวมากขึ้น ทำให้วงการวิศวกรรมตื่นตัว ในเรื่องของการหาแนวทางการออกแบบโครงสร้างอาคาร ที่สามารถป้องกันความเสียหายจะเหตุแผ่นดินไหวได้ และกรมโยธาธิการและผังเมืองก็ได้ออกระเบียบมาตรฐาน ว่าด้วยการก่อสร้างที่มั่นคงปลอดภัยขึ้นมา รวมทั้งมีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากขึ้นด้วย ดังนั้นอาคารที่ออกแบบใหม่ๆ ส่วนใหญ่จึงไม่น่าเป็นห่วง

“สำหรับอาคารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลาดชัน เช่น กลุ่มโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ ที่ก่อสร้างในพื้นที่นั้น วิศวกรจะมีการออกแบบมาอย่างดี โดยอาจจะปรับให้ได้ระดับกับพื้นที่ ต่อม่อต่างๆ ก็ต้องออกมาแบบมาเพื่อให้คงทนต่อเหตุแผ่นดินไหวอยู่แล้วจึงไม่น่าเป็นห่วง” ดร.สุทัศน์กล่าว

 

เมื่อถามว่าอาคารรูปแบบใดจะปลอดภัยที่สุด ดร.สุทัศน์กล่าวว่า ในทางวิศวกรรมแล้ว ไม่ว่าอาคารจะออกแบบมาในรูปแบบใด มีความสูงเท่าใดก็มีความปลอดภัยเท่ากัน หากวิศวกรออกแบบมาอย่างดีทั้งระบบ และทำถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าตึกสูงมากๆ จะเป็นอันตรายหรือได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอาคารในยุคใหม่ที่มีมาตรฐานด้านการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามสำหรับอาคารบ้านเรือนเก่า อาจจะต้องให้วิศวกรเข้าไปดูเพื่อตรวจสอบความแข็งแรง ดูแลป้องกันเพื่อความปลอดภัย 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: