จี้โรงงานมาบตาพุดบึ้มแจงข้อมูลสารเคมี แนะตั้งศูนย์แจ้งเหตุ-ประเมินสถานการณ์ ชาวบ้านโวยกว่าจะรู้ว่าไฟไหม้เกือบชั่วโมง

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 19 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2683 ครั้ง

 

เหตุการณ์โรงงานบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ระเบิดจนเกิดไฟลุกไหม้ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา เสียงระเบิดและควันสีดำที่ปกคลุมพื้นที่มาบตาพุด สร้างความตื่นตระหนกให้ชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดเป็นอย่างมาก ในขณะที่ควันดำจากโรงงานบีเอสทียังไม่จางหาย วันรุ่งขึ้นได้เกิดการรั่วไหลของสารเคมี ของบริษัทอาดิตยา เบอร์ล่า (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้คนงานและชาวบ้านบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง

การระเบิดดังกล่าวทำให้มีข้อถกเถียงกันว่า สารทูโลอีนที่มาจากการระเบิดในครั้งนั้น จะส่งผลกระทบกับสุขภาพของคนในพื้นที่หรือไม่ รวมถึงปัญหาการฟุ้งกระจายของสารเคมี บริษัท อาดิตยา เบอร์ล่า (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้หลายฝ่ายทั้งประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนรับผิดชอบ เกิดความสับสนในข้อมูล เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิบูรณะนิเวศ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ จึงร่วมกันจัด เวทีการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อสุขภาพคนมาบตาพุด ครั้งที่ 2 ที่วัดหนองแฟบ เพื่อหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในหัวข้อ “เรียนรู้อุบัติภัยสารเคมี จากกรณี BST และอาดิตยาเบอร์ล่า ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานบีเอสที ที่ถังน้ำมันระเบิดเพียง1.5 กิโลเมตรเท่านั้น

 

หลังระเบิดชาวบ้านส่งข่าวกันเองไม่มีการเตือนภัยจากโรงงาน

 

 

องค์ประกอบสำคัญของเวทีการสื่อสารความเสี่ยงคือ ผู้มีส่วนร่วมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานการณ์ในพื้นที่ คือ ชุมชน โรงงาน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ แต่ผู้เข้าร่วมครั้งนี้ ส่วนใหญ่กลับเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่มีตัวแทนจากผู้ประกอบการแต่อย่างใด

ชาวบ้านที่มาร่วมเวทีส่วนใหญ่ให้ข้อมูลตรงกันว่า ภายหลังเกิดเหตุไม่ได้รับการเตือนภัยจากโรงงาน ชุมชนที่อยู่ในรัศมี 1.5กิโลเมตรจากโรงงาน ได้รับการเตือนภัยจากโรงงาน หลังจากเหตุการณ์ระเบิดผ่านไปแล้ว 40 นาที

พระอธิการสมหมาย จันทโก เจ้าอาวาสวัดหนองแฟบกล่าวว่า วัดหนองแฟบอยู่ห่างจากจุดที่ระเบิด 1.5 กิโลเมตร ได้ยินเสียงระเบิดดังมาก แต่ไม่คิดว่าจะร้ายแรงเพราะเป็นธรรมดาในพื้นที่ที่จะเกิดเสียงระเบิดขึ้น แต่แรงระเบิดทำให้กระจกโปร่งแสงบนหลังคาศาลาการเปรียญร่วงหล่นลงมา หลังจากนั้นเห็นควันสีดำพุ่งขึ้นมาจากบริเวณที่ระเบิด จึงอพยพพระสงฆ์และสามเณรไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย วันที่เกิดเหตุไม่ยินเสียงเตือน หรือการแจ้งข่าวจากโรงงานหรือหน่วยงานใดๆ ว่ามีเกิดเหตุอะไรขึ้น แต่รับรู้เหตุการณ์จากวิทยุสื่อสาร ส่วนเหตุการณ์แก๊สรั่วที่โรงงาน อาดิตยา เบอร์ลา นั้นไม่ผทราบข่าวเลยจนมีการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล จึงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ด้านนายธนิต กลิ่นเสน ชาวบ้านบ้านหนองแฟบ หมู่บ้านที่อยู่ห่างจากโรงงานไม่เกิน 2 กิโลเมตร กล่าวว่า วันที่เกิดเหตุโรงงานบีเอสทีรายงานสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ไปแล้วประมาณ 40 นาที ทั้งที่ความจริงโรงงานควรรีบแจ้งชุมชนเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ชาวบ้านจะอพยพได้ทัน ส่วนการซ้อมแผนอพยพนั้น มีเพียงพนักงานซ้อมภายในโรงงาน แต่ชุมชนไม่เคยเข้าร่วม

ส่วนนางพัชรี เกิดดิษฐ์ ชาวบ้านจากชุมชนบ้านชากลูกหญ้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากโรงงาน กล่าวว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังมาก มีควันลอยขึ้นจึงคิดว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่ไม่มีการแจ้งเหตุจากพื้นที่ จนเวลาผ่านไป 3 ชั่วโมง เหตุเกิดเมื่อเวลา15.00 น. กระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. โรงงานจึงโทรศัพท์มาแจ้ง และส่งข้อความมาบอก ขณะนั้นคนในชุมชนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์อพยพออกจากพื้นที่เกือบหมดแล้ว ชาวบ้านรู้จากการโทรส่งข่าวกันเอง

 

“ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะอพยพไปที่ไหน คิดแต่ว่าไปให้ไกลจากหมู่บ้าน ไปทางเหนือลม เก็บเสื้อผ้าใส่รถแล้วก็ขับไปกันไม่เป็นระบบ ทุกคนตกใจต่างคนต่างไปเพราะกลัวสารเคมี ไม่เหมือนตอนที่ซ้อม ไม่มีรถมารับในจุดนัด เพราะไม่เคยวางแผนว่าใครจะเป็นคนขับ ใช้รถใคร”

 

ผลกระทบไกลถึง 10 ก.ม.-ซ้อมหนีภัยบ่อยแต่ทำจริงไม่ได้

 

 

ขณะที่นางกนิษ พงษ์นาวิน จากชุมชนบ้านทับมา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 10 กิโลเมตร กล่าวว่า แรงระเบิดจากโรงงานบีเอสที สะเทือนถึงชุมชนบ้านทับมา และเห็นควันสีดำลอยขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด แต่ไม่รู้ว่าเป็นโรงงานไหน และไม่มีการแจ้งเหตุจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากอยู่นอกรัศมี 5 กิโลเมตร

ทั้งนี้สิ่งที่น่าสังเกตคือ การกำหนดพื้นที่ในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะกำหนดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือแรงระเบิดสะเทือนไปไกลถึง 10 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่มาร่วมเวทีกล่าวว่ายังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ว่ามีความเสียหายอย่างอื่นหรือไม่ด้านผู้แทนจากศูนย์ส่งเสริมสุขภาพคนมาบตาพุด กล่าวว่า การซ้อมแผนป้องกันและอพยพ หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการซ้อมตลอด เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ระยอง และโรงงาน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่ซ้อมกันไว้ เช่น ไม่มีรถมารอรับเหมือนตอนซ้อม ทุกชุมชนมีจุดรวมพลเคยซ้อม แต่ไม่ทำตามแผน ส่วนในการสื่อสาร ชาวบ้านต้องช่วยตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะทำอย่างไร จึงค่อยสื่อสารให้คนในชุมชนได้รับรู้ เพื่อลดความตื่นตระหนก อยากให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นบทเรียนให้รู้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงต้องทำอย่างไร เก็บข้อผิดพลาดมาแก้ไขให้ดีขึ้น

 

 

โรงงานระเบิดไฟไหม้แต่ยังไม่ยอมให้หยุดงาน

 

 

นายบุญยืน สุขใหม่ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก กล่าวว่า เวทีวันนี้ไม่มีผู้แทนจากภาครัฐในระดับนโยบายมาเข้าร่วม ในความเป็นจริงควรจะมีนโยบายควบคุมให้ชัดเจน ต้องสื่อสารความเป็นจริง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์ในวันนั้นจะมีคนเสียชีวิตเพียงแค่ 12 คน นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ พนักงานโรงงานที่อยู่ติดกับโรงงานบีทีเอส ไม่หยุดดำเนินการ บริษัทสั่งให้มาทำงาน โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับพนักงาน ซึ่งหากเกิดปัญหาสุขภาพขึ้นมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะคนงานเหมาจ่ายจะไม่มีประกันสังคม ตรวจสอบได้ยากหหากเกิดอะไรขึ้น

ในขณะที่พนักงานคนหนึ่งของโรงงานข้างเคียงโรงงานบีทีเอส กล่าวถึงเหตุการณ์ว่า ตนไม่ได้เข้าเวร เมื่อรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นได้เดินทางมาที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้เข้าไปที่โรงงาน ซึ่งเพื่อนที่อยู่เข้าเวรในวันนั้น โทรศัพท์มาเล่าว่าอยู่ในโรงงานกลัวมากแต่ต้องอยู่เวรต่อเนื่องโรงงานไม่ประกาศให้หยุด เพราะพนักงานที่ต้องเข้าเวรกะต่อไปไม่ยอมมาทำงาน เพราะกลัวเหตุระเบิด ซึ่งหากเหตุระเบิดรุนแรงมากกว่านี้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหากมีอะไรเกิดขึ้น

 

แนะตั้งศูนย์กลางรับแจ้งเหตุ-ประเมินสถานการณ์

 

ด้านนายศุภภิจ นันทวรการ ผู้แทนจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควรมีการตั้งข้อคำถาม ถึงการประเมินความรุนแรงของเหตุการณ์ฉุกเฉินว่า ความรุนแรงระดับใดถึงควรจะแจ้งให้ชุมชนรับทราบ ซึ่งหากโรงงานคิดว่าสามารถจัดการได้ จึงไม่แจ้งเหตุ ดังนั้นควรจะมีมาตรการบังคับให้โรงงานแจ้งเหตุทุกครั้งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะตั้งศูนย์กลางในการรับแจ้ง เพื่อคอยติดตามประเมินและแจ้งให้ชุมชนได้รับทราบอีกต่อหนึ่ง และควรมีเงื่อนไขในการประเมิน เช่น จัดการได้หรือไม่ ต้องอพยพชาวบ้านหรือไม่ ต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่ชุมชนจะได้รับ โดยอาจจะประเมินจากสารเคมีที่โรงงานใช้ว่าจะมีผลกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร นอกจากนี้ชุมชนควรจะมีการกำหนดช่องทางในการกระจายข่าวสาร เพื่อให้ทราบสถานการณ์ต่อไป

นอกจากนี้ชุมชนควรจะตั้งโจทย์ เพื่อตรวจการบ้านโรงงานว่าผ่านการสอบหรือไม่ เช่น แผนความเสี่ยงของชุมชนควรจะประกอบด้วย โรงงานทำให้ชาวบ้านรู้เรื่องสารเคมีมากน้อยแค่ไหน มีการจำลองการกระจายของของสารเคมีเมื่อเกิดอุบัติภัยขึ้น โดยคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่ม เช่น คนพิการ คนชรา และที่สำคัญทุกคนในชุมชนต้องรู้และควรจะมีพื้นที่สีเขียวมากกว่านี้ และเสนอให้มีการประกันภัยให้กับชุมชน รวมถึงติดตามรายงานการตรวจสอบโรงงานบีเอสทีด้วย

ทางด้านน.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งอะไรที่จะเป็นอุปสรรคในการลงทุนจะถูกกันออกไป เช่น สหภาพแรงงาน ขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นบ่อยมาก และกลุ่มคนที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบคือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีการสำรวจว่า มีคนงานเหล่านี้ทำงานอยู่ในมาบตาพุดมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามภารกิจหลักของการสื่อสารความเสี่ยง ควรจะลดบทบาทของการนิคมแห่งประเทศไทยและโรงงาน หันมาเพิ่มบทบาทให้กับชุมชนมากขึ้น

เช่นเดียวกับ ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีนี้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเกือบ 20 ครั้ง ซึ่งเมื่อไม่รุนแรงมาก ข่าวก็จะไม่ดังหรือต่อเนื่อง คาดว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นอีก เพราะแต่ละโรงงานมีอายุเกิน 20 ปี ในขณะที่โรงงานไม่เคยเปิดเผยสารเคมีที่ใช้ และมะเร็งกลายเป็นมายาคติของคนมาบตาพุดว่า คิดไปเองว่าจะเป็นมะเร็งจากสารเคมี ดังนั้นการวางแผนเพื่อรับมืออุบัติภัยจึงควรจะเริ่มจากแผนที่รุนแรงที่สุด เพื่อจะวางรูปแบบการรับมือที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่สุดด้วย

 

บทเรียนจากญี่ปุ่น โรงงาน-ชุมชนร่วมสำรวจความเสียหาย

 

ทางด้าน ดร.ทาคาชิ มิยะคะ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาโรคมินามาตะ จ.คุมาโมโต และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น ต้นแบบการใช้รูปแบบเวทีการสื่อสารความเสียง ได้เปรียบเทียบสถานการณ์ระเบิดของโรงงานบีเอสทีกับการระเบิดโรงงานในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนเม.ย.ปี 2554 ว่า เหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นเกิดระเบิดขึ้นระหว่างกำลังหยุดทำงานของเครื่องจักรเหมือนที่มาบตาพุด ที่ญี่ปุ่นโรงงานมีการประชุมและประกาศข้อมูลให้ประชาชนทราบทุก 2-3 วัน ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความร่วมมือกันระหว่างโรงงานและชุมชน พนักงาน 300 คน ร่วมสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน เหตุการณ์ระเบิดครั้งนั้นมีเศษเหล็ก 6 ตัน กระเด็นไปถึงที่ชุมชน ชุมชนได้รับผลกระทบ 1,000 ครัวเรือน จาก 8,000 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 25 คน ครึ่งหนึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่

นอกจากนี้ดร.ทาคาชิกล่าวย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีตว่า โรคมินามาตะต้องใช้เวลาถึง 50 ปี เพื่อให้รัฐบาลยอมรับ แต่วันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข เหมือนกับสถานการณ์ระเบิดที่โรงงาน ดังนั้นชุมชนต้องสู้ต่อและติดตามรายงานของโรงงานด้วย

 

 

สช.จี้โรงงานชี้แจงต่อสาธารณชน

 

 

น.ส.สมพร เพ็งค่ำ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดการปัญหาหลังเกิดเหตุทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีอะไรต่างกัน ทั้งโรงงานบีเอสทีและอาดิตยาเบอร์ล่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่โรงงานอาดิตยา เบอร์ล่าเกิดเหตุการณ์แก๊สรั่ว สช.ได้เสนอแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่หน่วยงานของรัฐไม่เคยนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติ  เราเพียงอยากรู้ว่าสารเคมีที่รั่วออกมา หรือที่เกิดระเบิดขึ้นเป็นสารอะไร เพื่อจะได้รักษาถูกต้อง แต่วันนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ไม่ต้องพูดถึงว่าชาวบ้านจะรู้ข้อมูล หน่วยงานภาครัฐเอง เช่น โรงพยาบาลยังไม่รู้เรื่องสารเคมี

ข้อเสนอที่สช.นำเสนอแต่ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติคือ การป้องกันและลดผลกระทบ ด้วยการเปิดเผยข้อมูลสารเคมีทุกชนิดในพื้นที่เพื่อทำแผนความเสี่ยง โรงงานควรเปิดเผยให้ทราบถึงสารเคมีในพื้นที่ว่าเป็นสารอะไร จะป้องกัน แก้ปัญหาอย่างไร  นอกจากนี้ยังเสนอให้จัดทำแผนที่ความเสี่ยง รวมถึงกำหนดแผนที่กันชน รวมถึงให้มีการตั้งทีมฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น โดยเป็นหน่วยงานอิสระรับแจ้งเหตุ

ขณะที่ระบบการติดตามตรวจสอบหลังเกิดเหตุ โรงงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการวางระบบตรวจสอบไว้แค่ไหน อย่างไร เรามีองค์กรที่จะตรวจสอบด้านนี้หรือไม่ ทั้งการติดตามคนที่สัมผัสสารว่ามีอาการอย่างไร การดำเนินการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ซึ่งโรงงานบีเอสทีออกมาดำเนินการแล้ว แต่โรงงานอาดิตบา เบอร์ล่า ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ  ซึ่งควรจะผลักดันให้มีการรายงานต่อสาธารณะด้วย

นอกจากนี้ผู้แทนจากสช.ยังเสนอให้มีการตั้งกองทุนความเสี่ยง โดยให้ทุกโรงงานนำเงินมารวมไว้ และหากโรงงานใดเกิดปัญหา ให้นำเงินส่วนนั้นมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และให้นำเงินกลับมาเติมภายหลัง ชุมชนจะได้มีหลักประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีกทางหนึ่ง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: