‘ภูเก็ต’ประกาศตั้งสภาพลเมือง เดินหน้า‘จังหวัดจัดการตนเอง’

20 ก.ค. 2555


 

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นายชาญเวช โชติกิจสมบูรณ์ ตัวแทนคณะทำงานภูเก็ตจัดการตนเอง กล่าวสรุปถึงแนวทางในการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อยกร่างยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสมัชชาปฏิรูประดับจังหวัดภาคใต้ จากการประชุม “การขับเคลื่อนสมัชชาปฏิรูประดับจังหวัดภาคใต้” ว่า จากปัญหาและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต ทางคณะทำงานจึงมีเป้าหมายในการพัฒนา โดยประกาศเจตนารมณ์ร่วมเพื่อผลักดันภูเก็ตเป็นจังหวัดจัดการตนเองและจัดตั้งสภาพลเมืองภูเก็ต

 

นายชาญเวชกล่าวว่า จ.ภูเก็ต มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารเป็นลักษณะจัดการตนเองหลายครั้ง  โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2525 ในการร่วมกันเสนอญัตติเข้าสู่สภาฯ เรื่อง “ภูเก็ตกับการบริหารอิสระ” หลังจากนั้นในปี 2530 ได้มีการร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการนครภูเก็ต โดยนายวีระ มุสิกพงศ์ และนายถวิล ไพรสณฑ์ จนนำไปสู่การสัมมนาเรื่องรูปแบบการปกครองภูเก็ตที่ควรจะเป็นในอนาคตโดยโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกับ สภาจังหวัดภูเก็ต หอการค้าจังหวัดภูเก็ต เทศบาลเมืองภูเก็ต เมื่อวันเสาร์ที่ 3 เม.ย.2536 ที่เสนอให้เป็นภูเก็ตมหานคร

 

ต่อมาในปี 2540 ผศ.วุฒิสาร ตันไชย หัวหน้าคณะทำงานฯ ได้เก็บรวบรวมความคิดเห็นและความต้องการของท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำคณะทำงานเดินทางมาภูเก็ต มาหาข้อมูลและความคิดเห็นของชาวภูเก็ตในสมัยนายพงศ์พโยม วาศภูติ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วงรัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีการเสวนา "บทบาทผู้ว่า ซี อี โอ กับชาวภูเก็ต" เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2544 จนมาถึงแนวคิดของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ที่เสนอให้ภูเก็ตมีคณะกรรมการจังหวัดภูเก็ต 15 คน

 

นายชาญเวชกล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาที่ผ่านมาพบว่า จ.ภูเก็ต ยังมีการพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง ส่งผลให้ยากต่อการควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม รวมไปถึงปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และขาดประสิทธิภาพในการจัดการ ทั้งการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เคร่งครัด ภาคประชาชนมีส่วนร่วมน้อย

 

                  “วิธีการที่ทางคณะทำงานคิดไว้คือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภูเก็ตให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ปรับกระบวนการคิดสนับสนุนให้มีการคิดอย่างเป็นระบบ ปลูกฝังความสำนึกรักในพื้นที่บ้านเกิด สร้างภาคีและแลกเปลี่ยนความรู้ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือต่าง ๆ ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม และกิจกรรมที่สนับสนุนให้มีพฤติกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีคุณภาพทางธุรกิจ มีภาวะความเป็นผู้นำ โดยมองไว้ว่าในอนาคตอาจจะตั้งคนในพื้นที่เป็นผู้ว่าฯ อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะต่าง ๆ ยังคงเป็นเพียงแนวทาง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอย่างมากในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง" ตัวแทนคณะทำงานภูเก็ตจัดการตนเองกล่าว

 

นายชาญเวชกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต ได้ดำเนินการขับเคลื่อนขั้นตอนต่างๆ ด้วยตนเอง อาทิ การมีสื่อกลาง เพื่อเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ไปยังประชาชน เพื่อสร้างองค์ความรู้และทำความเข้าใจ การสร้างกระแสให้กับชาวภูเก็ต เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการตกผลึกเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง รวมถึงจัดทำเอกสารแจกใบปลิว ให้ความรู้การทำประชาพิจารณ์ การจัดประชุมหารือทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน การจัดเวทีย่อยโดยรวบรวมความเห็นจากผู้บริหารท้องถิ่น มีเวทีใหญ่ 3 - 6 เดือนต่อครั้ง เป็นต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี

 

                 “สิ่งที่มุ่งหวังจากนี้คือ ต้องการความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลในด้านของวิธีการ เช่น พัฒนาคนอย่างไร สร้างองค์ความรู้อย่างไร การจัดการด้านงบประมาณ รวมถึงภาคีความร่วมมือต่างๆ ซึ่งในอนาคตหากได้รับการสนับสนุน ปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขได้อย่างไม่เต็มที่และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งปัญหาเก่าที่พัฒนาเป็นปัญหาซับซ้อน ก็จะค่อยๆ ลดลงจากเมืองภูเก็ตอย่างแน่นอน” นายชาญเวชกล่าว

 

ด้าน นางวณี ปิ่นประทีป รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป (สปร.) กล่าวว่า สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับ “จังหวัดจัดการตนเอง” ที่หลายคนมองว่าเป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชนนั้น ทางสปร.ได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า การคืนอำนาจสู่ประชาชน เพื่อจัดการกับปัญหาของตนเอง และส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

 

                     “สปร. ได้มองไว้ว่าจังหวัดจัดการตนเองในภาคเหนือคือ เชียงใหม่ ภาคอีสานคือ อำนาจเจริญ และจะยินดีสนับสนุนอย่างยิ่งหากภาคใต้จะมีจังหวัดจัดการตนเองเป็น จ.ภูเก็ต เพียงแต่ต้องการเห็นการวางแผนที่เป็นระบบ และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ทาง สปร.ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุน และผลักดันให้เกิดการพัฒนาจนนำไปสู่การปฏิรูป ยินดีจะส่งเสริมความคาดหวังของชาวภูเก็ตให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่” รองผู้อำนวยการ สปร.กล่าว

 

สำหรับข้อเสนอแนะ นางวณีกล่าวว่า สิ่งสำคัญของยุทธศาสตร์ คือ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะคนในชุมชน ฉะนั้นการสื่อสารจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งแต่แทนที่จะใช้การชวนเข้าร่วมโดยตรง ควรจะเลี่ยงเป็นการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจจนกว่าประชาชนจะเกิดความตระหนัก ยอมรับและเห็นด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: