เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 กรณีกรือเซะและสะบ้าย้อย ผู้ถูกควบคุมตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ถูกบังคับให้สูญหายและละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำปัตตานี และผู้แทนจากกงสุลประเทศมาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา เข้าร่วม และมีผู้มาลงทะเบียนรับเงินกว่า 270 คน
พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า การเยียวยาฟื้นฟูแก่พี่น้องประชาชนในครั้งนี้ เป็นความตั้งใจจริงของรัฐบาล ที่จะนำความสันติสุขกลับคืนมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีนโยบายเยียวยาฟื้นฟูแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้มีความเสมอภาพ และให้มีความเป็นธรรม บนพื้นฐานข้อจำกัดของงบประมาณและความเป็นไปได้
“วันนี้เป็นวันที่เราอยากจะพูดว่า เราอยากคืนเกียรติยศและศักดิ์ศรีแก่พี่น้องประชาชนทุกท่าน ไม่ว่าจะพี่น้องที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนถ่ายจากความรุนแรงไปสู่สันตินั้น ไม่มีอะไรดีกว่าการเยียวยาและการให้ความเป็นธรรม” พ.ต.อ.ทวีกล่าว
น.ส.ซัลวานี สาวนิ ผู้สูญเสียพ่อจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวมากถึง 7.5 ล้านบาท แต่เงินไม่สามารถที่จะทดแทนชีวิตของพ่อได้ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า รัฐมีความใส่ใจและดูแลครอบครัวผู้สูญเสีย ส่วนเงินในจำนวนดังกล่าว ครอบครัวจะนำไปทำธุรกิจ เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว และอีกส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาให้กับน้อง ๆ
ด้านนายฐานิส ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. แถลงในส่วนของคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนวิธีอื่น โดยเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตว่า อนุกรรมการฯ ได้อนุมัติชุดแรก 5 ราย โดยจะให้เงินช่วยเหลือเยียวยา 7.5 ล้านบาท 4 ราย คือ นายฟักรุกดีน บอตอ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนราธิวาส ถูกยิงบาดเจ็บจนเป็นอัมพฤกษ์ 2.นายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารในปี 2553 3.นายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 4.นายอัสมีน นูรุลอาดีน ถูกทหารพรานยิงเสียชีวิตในปี 2547 ส่วนรายสุดท้าย นายอามีนูดีน กะจิ ครูสอนศาสนาโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ซึ่งถูกซ้อมทรมาน ระหว่างการควบคุมตัวในปี 2551 จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา 500,000 บาท
นายฟักรุกดีน บอตอ กล่าวว่า ขอบคุณที่รัฐบาลที่มอบเงินเยียวยาให้ 7.5 ล้านบาท ที่อยากเรียกร้องคือให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐเร่งรัดดำเนินการกับคู่กรณีให้เร็วที่สุด เพราะเวลามาผ่าน 6 ปี คดียังไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งกลัวว่าคู่กรณีอาจจะมาทำร้ายอีก ซึ่งตอนนี้ตนและครอบครัวอยู่อย่างหวาดกลัวอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ตอบคำถามข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรดังต่อไปนี้
ถาม : ทำไมต้องมีการเยียวยา
ตอบ : รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่จะนำ “ความสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยเร็ว การเยียวยาจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ที่เป็นพลเมืองไทยทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขเหมาะสมตามสภาพ ไม่ทอดทิ้งผู้สูญเสียที่เป็นผู้พิการ ผู้บาดเจ็บ รวมถึงพ่อแม่ ภรรยา ลูกๆของผู้เสียชีวิต หรือบุคคลที่ผู้เสียชีวิตต้องอุปการะเลี้ยงดู และมุ่งให้เกิดความรัก ความสามัคคี ลดความโกรธแค้นชิงชัง ไม่ทอดทิ้งผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบออกไปจากสังคม
การเยียวยาไม่เกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญาซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งรัฐจะช่วยเหลือบุคคลที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านกฎหมาย ทนายความ ค่าใช้จ่ายในการประกันตัวหรือการฟ้องร้อง การดำเนินคดี รวมถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม
ถาม : ทำไมการเยียวยาจึงจ่ายไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน
ตอบ : การช่วยเหลือเยียวยาครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่ม ย้อนหลังไปถึงเดือนมกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปแล้วร่วม 14,000 คน ครอบคลุมทั้งผู้ที่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเยียวยา หรือได้รับการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วแต่ยังมีความทุกข์ยากเดือดร้อน ไม่สามารถพึ่งตนเอง รวม 4 กลุ่มคือทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะกรณี และกลุ่มผู้ที่ควบคุมตัว หรือถูกคุมขัง หรือถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหา หรือเป็นจำเลยและถูกควบคุมตัว หรือคุมขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาปรากฏหลักฐานว่าผู้นั้นมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือมีการถอนฟ้อง หรือมีคำพิพากษายกฟ้อง
โดยแต่ละกลุ่มจะมีคณะอนุกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าคณะจังหวัด ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนฝ่ายทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน นักวิชาการ แพทย์ ตัวแทนผู้รับผลกระทบหรือผู้สูญเสีย และผู้แทนภาคประชาชน ครอบคลุมกลุ่มที่ต้องให้การช่วยเหลือเยียวยาทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เสนอการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯทั้งที่เป็นตัวเงิน การช่วยเหลือเยียวยาด้านคุณภาพชีวิต ด้านจิตใจ และจิตวิญญาณ การช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะในส่วนที่เป็นตัวเงินของแต่ละกลุ่มจึงมีความแตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริงและผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือเยียวยาด้านคุณภาพชีวิต เช่น ทุนการศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกันและมีความต่อเนื่อง
กรณีการเยียวยาจากเดิมที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐได้ไม่เท่าเทียมกัน ก็ได้มีการปรับอัตราการ ช่วยเหลือเยียวยากรณีประชาชนเสียชีวิตจากเดิมรายละ 100,000 บาท ให้เป็น 500,000 บาท ให้ทัดเทียมกับกรณีข้าราชการเสียชีวิต สำหรับผู้เสียชีวิตในซึ่งเป็นประชาชนพบว่าตั้งแต่ปี 2547 เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดถึงร้อยละ คิดเป็นร้อยละ 87.36 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด
ถาม : ทำไมจึงให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในจำนวนเงินที่สูงกว่าการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง
ตอบ : กรณีการเยียวยาที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหน้าที่ของ ศอ.บต. ที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มาตรา 9 (7) ที่บัญญัติให้ ศอ.บต. มีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือเยียวยา ตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งต้องมีระเบียบวินัยและมีหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน กรณีที่เกิดสูญเสียจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากต้องรับโทษทางกฎหมายและทางวินัยแล้ว การช่วยเหลือเยียวยาจึงต้องอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าอัตราการช่วยเหลือเยียวยาผู้รับผลกระทบหรือผู้สูญเสียทั่วไปที่เกิดจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง
ถาม : ถ้าไม่ได้ไปลงทะเบียน ผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่
ตอบ : หากท่านเป็นผู้ได้รับผลกระทบตามเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาของทางราชการหรือเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ก็ถือว่าท่านเป็นผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาอย่างแน่นอน เพราะว่าชื่อและประวัติของท่านปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลการเยียวยาฯ แล้ว กระนั้นก็ตาม หากตั้งแต่เกิดเหตุ ท่านยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากทางราชการ ก็ขอให้ท่านไปแจ้งลงทะเบียนได้ที่งานเยียวยา ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง
ถาม : ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินอย่างไร
ตอบ : ประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนที่ช่วยเหลือทางราชการและผู้นำศาสนาที่เสียชีวิตจะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้เท่าเทียมกับกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐ จนครบจำนวน 500,000 บาท โดยในปี 2555 จะได้รับการช่วยเหลือจำนวน 100,000 บาท และในปีถัดไปจะได้รับปีละ 100,000 บาทจนครบจำนวน 500,000 บาท ภายในปีงบประมาณ 2558เช่นเดียวกัน กรณีบาดเจ็บสาหัสจะได้รับการช่วยเหลือรายละ 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บปานกลางและบาดเจ็บเล็กน้อยจะได้รับช่วยเหลือรายละไม่เกิน 30,000 บาท
ถาม : เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินอย่างไร
ตอบ : เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการช่วยเหลืออยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับเงินในการเยียวยากรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท และข้าราชการยังมีสิทธิ สวัสดิการที่กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งข้าราชการนั้นสังกัดอยู่เพิ่มเติมตามแต่ละหน่วยงาน โดยคณะกรรมการเยียวยาฯได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับข้าราชการที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอได้แก่ ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา โดยได้ให้กระทรวงศึกษาพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาและจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้เสมอภาคและเป็นธรรมแล้ว สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาในปี 2555 กรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานจะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนี้
- กรณีเสียชีวิต จำนวน 100,000 บาท
- กรณีทุพลภาพ จำนวน 100,000 บาท
- กรณีจำเป็นต้องใช้ขาเทียมหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รายละไม่เกิน 250,000 บาท
(ตามความเห็นของแพทย์)
ถาม : ทำไมปัจจุบันยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม
ตอบ : เงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นเงินงบประมาณของทางราชการ ซึ่งได้มาจากภาษีอากรของประชาชนคนไทยทุกคน การอนุมัติเงินดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ความรอบคอบ รัดกุม โดยมีคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วน ที่มีความเป็นกลาง รวมทั้งตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนในการพิจารณา แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ อีกทั้งต้องมีการตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้มีความชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วนจึงจำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
ถาม : ถ้าผู้ได้รับผลกระทบฯ ไม่ไปร้องทุกข์ที่ ศอ.บต. เขาจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาหรือไม่
ตอบ : ท่านต้องได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาอย่างแน่นอน เพราะท่านเป็นผู้ได้รับผลกระทบฯ ท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ชื่อและข้อมูลของท่าน ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลการเยียวยาอยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของทางราชการที่จะต้องดำเนินการให้ผู้ได้รับผลกระทบฯ ทุกคน ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟู ทั้งที่เป็นตัวเงิน การเยียวยาด้านจิตใจและการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ ศอ.บต. กรณีมีข้อสงสัยประการใดก็สามารถติดต่อสอบถามที่ ศอ.บต. หมายเลขโทรศัพท์ 073-274102 และงานเยียวยาทุกอำเภอในพื้นที่
ถาม : การช่วยเหลือเยียวยาด้านคุณภาพชีวิต คืออะไร
ตอบ : การให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายและได้รับผลกระทบด้านคุณภาพชีวิต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้สูญเสียและผู้รับผลกระทบทุกกลุ่ม รวมทั้งจะมีความต่อเนื่อง ยั่งยืน ได้แก่
(1) การรักษาพยาบาลทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการส่งต่อฟื้นฟูผู้พิการหรือฟื้นฟู สมรรถภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
(2) การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์
(3) การเยียวยาทางด้านจิตวิญญาณ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบียหรือประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาอื่น
(4) การให้สิทธิในการเข้ารับการศึกษาของตนเองหรือทายาท
(5) การสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการศึกษาอย่างต่อเนื่องตามสมควร
(6) การช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายด้านทรัพย์สิน
(7) การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือการช่วยเหลือด้านที่ทำกิน หรือการส่งเสริมการประกอบ อาชีพ
(8) การได้รับการเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มสหวิชาชีพ
(9) การส่งเสริมการสร้างกลุ่มและการรวมกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อดูแลซึ่งกันและกัน
(10) การได้รับความช่วยเหลือให้มีความปลอดภัย หรือมีส่วนร่วมในการจัดระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก
(11) การคุ้มครองป้องกันจากการถูกปองร้าย
(12) การจัดตั้งสถานพยาบาลเฉพาะทาง หรือสถาบันส่งเสริมการศึกษาเยียวยาฟื้นฟูผู้พิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(13) การช่วยเหลือเยียวยาด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
(14) ค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน การเข้าถึงความเป็นธรรม
(15) การช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเยียวยาฯพิจารณาเห็นสมควร
ถาม : ประชาชนสามารถร้องทุกข์เกี่ยวกับการเยียวยาได้ที่ไหน
ตอบ : (1) งานเยียวยา ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (2) ศอ.บต. หมายเลขโทรศัพท์ 073-274-102
ถาม : ในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่
ตอบ : ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือตามแต่กรณี มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีประชาชนจากหลายสาขาอาชีพ สื่อมวลชน และผู้นำศาสนา ที่สำคัญคือการยึดหลักการมีส่วนร่วมโดยได้เชิญตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบฯ เข้าร่วมเป็นกรรมการอยู่ในคณะอนุกรรมการฯ ทุกคณะ
ถาม : การได้รับเงินช่วยเหลือจะมีค่าใช้จ่ายใด ๆ หรือไม่
ตอบ : ท่านจะได้รับเงินตามที่คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ได้อนุมัติ โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น อย่าหลงเชื่อนายหน้าหรือคนกลางที่แอบอ้างว่าจะสามารถช่วยเหลือให้ได้รับเงินเยียวยา เมื่อมีการอนุมัติเงินช่วยเหลือแล้ว ศอ.บต.จะจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์โดยตรง เป็นเช็คธนาคารระบุชื่อผู้มีสิทธิ์แต่ละคนครบตามจำนวน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ