แฉเบื้องหลังสร้าง'โรงไฟฟ้า'-รวยถ้วนหน้า ปั้นแผนPDP-ระดมหุ้นปั่นราคาก่อนเทขาย โยงใยครบทั้ง‘ขรก.-บรรษัท-นักการเมือง’

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 20 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3156 ครั้ง

ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมายาวนาน ระหว่างหน่วยงานที่จัดหาพลังงานไฟฟ้า และกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์พลังงานว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP (Power Development Plan-PDP) ของประเทศไทย ควรจะอยู่จุดไหน ระหว่างการลดจำนวนการใช้พลังงานลง เพื่อประหยัดพลังงานธรรมชาติที่มีอยู่น้อย กับการจัดหาพลังงานแบบผลาญทรัพยากร ด้วยแนวคิดเดียวคือจัดหาพลังงาน

 

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ศึกษาเบื้องหลังธุรกิจพลังงานว่า มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกันอย่างใด และสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ กำไรของธุรกิจพลังงานมีมูลค่ามหาศาล และขณะนี้กลุ่มทุนด้านพลังงานได้ขยายฐานการผลิตออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้แนวคิดเพื่อหาแหล่งพลังงาน รวมไปถึงสถาบันทางการเงินของไทย ที่ปล่อยเงินกู้โดยไม่มีความคำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรมใด ๆ

 

 

 

ปตท.-กฟผ. 2 แหล่งใหญ่ผูกขาดธุรกิจพลังงาน

 

 

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เปิดประเด็นธุรกิจพลังงาน ตั้งแต่การจัดหาเริ่มต้นตั้งแต่พลังงานที่ใช้ จะมาจากก๊าซธรรมชาติ และพลังงานจากน้ำ คือการสร้างเขื่อน ซึ่งไทยจะใช้ก๊าซผลิตพลังงานเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือมาจากพลังงานที่ได้จากน้ำ คือเขื่อน ก๊าซธรรมชาติเหล่านี้จะลำเลียงทางท่อเข้าโรงไฟฟ้า แหล่งก๊าซจะมาจาก 2 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย และพม่า ซึ่งการจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติดำเนินการโดยบริษัทเดียวคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต่อจากนั้นคือระบบการผลิตไฟฟ้า จากแหล่งต่าง ๆ ทั้งโรงไฟฟ้าต่าง ๆ  เขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือแม้แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต  ซึ่งที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งในปัจจุบันมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เรียกว่า IPP (Independent Power Producer)

 

วิฑูรย์กล่าวว่า ระบบพลังงานไฟฟ้าของไทย ทั้งการจัดหาและดำเนินการผลิต จัดส่ง จะถูกผูกขาดโดย 2 องค์กรใหญ่คือ ปตท.และ กฟผ. แม้ว่าช่วงหลังมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน แต่บริษัทเอกชนเหล่านั้นจะมี กฟผ.เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

 

 

                 “การจัดหาก๊าซถูกผูกขาดโดยปตท. กฟผ.ไม่มีสิทธิไปซื้อเอง กฟผ.จะซื้อก๊าซจากปตท.ผ่านทางท่อส่ง แล้วคิดค่าท่อ พูดง่าย ๆ คือ เราจ่ายค่าไฟ 100 บาท 50 บาท จะเป็นค่าก๊าซ เข้ากระเป๋าปตท. อันที่สองคือฝ่ายผลิตโรงไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าเกือบทั้งหมดในประเทศไทยเป็นของกฟผ. ทุกวันนี้กฟผ.ขายไฟฟ้าได้ต่อปี ประมาณ 160,000 ล้านหน่วย ราคาขายต่อหน่วย 2.58 สตางค์ กฟผ.จะมีรายได้ปีละกว่า 400,000 ล้านบาท ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ จ่ายให้กับค่าก๊าซซึ่งปตท.ผูกขาด และขณะนี้กำลังจะเปิดให้สัมปทานการขุดก๊าซธรรมชาติ ครั้งที่ 21 ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เรื่องสัมปทานเหล่านี้ แต่พื้นที่เกือบทั้งประเทศมีการให้สัมปทานหมดแล้ว”

 

 

ADB ญี่ปุ่น ผูกขาดระบบโครงสายส่งไฟฟ้า

 

 

เมื่อการจัดหาพลังงานถูกผูกขาดโดยปตท. ในขณะที่ระบบการส่งไฟฟ้าผูกขาดโดยกฟผ.ทั้งหมด ควบคุมระบบสายส่ง และในระบบสายส่งจะควบคุมด้วยระบบรวมศูนย์ ทุกคนที่ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อขายไฟจะต้องขายให้กับระบบส่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นระบบผู้ซื้อรายเดียว  กฟผ.จึงผูกขาดกำลังการผลิตส่วนหนึ่งและผูกขาดระบบส่ง ซึ่งเรื่องผูกขาดระบบส่ง และการรวมศูนย์ เป็นตัวล็อกในทางโครงสร้างที่สำคัญ ระบบแข่งขันไม่เกิดขึ้นจริง เป็นตลาดที่มีผู้ซื้อรายเดียว และผู้ผลิตที่เป็นเอกชนเพียงไม่กี่ราย และบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จะต้องมีความสัมพันธ์กับกฟผ. ซึ่งขณะนี้บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น เริ่มเข้ามาลงทุนในระบบสายส่ง เพราะระบบสายส่งจะเหมือนโครงกระดูกโรงไฟฟ้า จะเป็นตัวกำหนดว่าโรงไฟฟ้าประเภทไหนจะเกิดขึ้น ตรงไหน ซึ่งขณะนี้บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น และ  ADB (Asian Development Bank) เข้ามาประมูลเพื่อดำเนินการโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า

 

 

                  “ระบบสายส่งก็เหมือนกับถนน มันจะมีถนนประเภทหนึ่งที่ห้ามรถอื่นวิ่ง วิ่งได้อย่างเดียวคือรถของ กฟผ. ถนนบางสายที่เราเห็นจ่ายเงินแล้วก็วิ่งได้ เรียกว่าให้รายที่ 3 เข้าไปวิ่งได้ แต่เราไม่อนุญาต ทุกคนที่ผลิตไฟฟ้าได้ ต้องขายให้กฟผ. เพราะกฟผ.ผูกขาดระบบสายส่ง หลังจากนั้นกฟผ.จะมาส่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)”

 

 

 

ข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องสายส่งไฟฟ้าพบว่า งบประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน จากแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 2 ล้านล้านบาท ลงทุนไปอยู่ที่ระบบสายส่ง และกำลังเป็นระบบเชื่อมต่อทั้งภูมิภาค และกำลังจะเปลี่ยนเป็นสาย 500 KB ทั้งหมด มีคำถามว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ ซึ่งวิฑูรย์บอกว่า เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามว่า บริษัทที่รับเหมาก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าชื่อบริษัทอะไรบ้าง และส่วนประกอบของสายส่งคือ ทองแดง ใครคือผู้จัดหาทองแดง มีกี่ราย เป็นต้น

 

 

นิวเคลียร์ 2 โรงไฟฟ้า15 ชะตากรรมที่ต้องเจอ

 

 

แผนพัฒนาไฟฟ้าหรือแผน  PDP ซึ่งมีการทบทวนเป็นครั้งที่ 3 จากเดิม ระบุว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมประมาณ 32,000 เมกกะวัตต์ แต่ในปี 2573 เพิ่มขึ้นเป็น 70,847 เมกกะวัตต์ เหตุผลในการปรับแผนคือ เป็นไปเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์พลังงาน แต่ผลออกมาตัวเลขกำลังการผลิตเพิ่มจากเดิม โดยตัวเลขที่เพิ่มคือแหล่งพลังงานที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน

 

วิฑูรย์กล่าวว่า จากแผน PDP ดังกล่าว ภายในปี  2573 หากจะต้องจัดหาพลังงานให้ได้ตามแผนการผลิตกระแสไฟฟ้า  70,847 เมกกะวัตต์ จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต 59,000 เมกกะวัตต์ จากเดิมจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง ปรับเหลือ 2 โรง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 15 โรง ซึ่งเป็นของกฟผ.รวมกำลังการผลิต 13,500 เมกกะวัตต์ ส่วนอีก  6 โรง เป็นของบริษัทเอกชน มีกำลังการผลิต 5,400 เมกกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4  โรง ลดจากเดิม 9 โรง แต่ในส่วนของ IPP ไม่ได้ระบุไว้ ที่เหลือจะเป็นโรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส  ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และพลังงานหมุนเวียน

 

 

 

 

 

 

                   “นี่คือชะตากรรมที่เราต้องเจอ ในรายละเอียดระบุว่า เป็นสัดส่วนของ IPP และไม่ลงตัวเลข ความหมายคือ จะมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ส่วนที่ไม่ใส่ข้อมูลเพราะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากใส่ลงไปแล้วจะมีคนคัดค้าน และยังมีกระแสไฟฟ้าบางส่วนที่ต้องส่งมาจากต่างประเทศ เพิ่มบ้างลงบ้างตลอดเวลา แล้วก็มีเขื่อน แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ชะตากรรมของเราในอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะต้องเจอกับอะไร” วิทูรย์กล่าว

 

 

ข้าราชการประจำเอี่ยวธุรกิจพลังงาน

 

 

จากข้อมูลของมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติพบว่า การปรับแผน PDP แต่ละครั้งจะส่งผลถึงราคาหุ้นของบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน โดยตั้งแต่ ปี 2549 เป็นต้นมา เมื่อมีการปรับแผน PDP หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับแผน PDP จะพุ่งขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ แต่หุ้นพลังงานด้านอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับ ปตท.และแผน PDP กลับติดลบ 13 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหุ้นทั้งตลาดขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ สามารถมองเห็นความชัดเจนได้ว่า หุ้นที่เกี่ยวข้องกับแผน PDP ไต่ระดับขึ้นอย่างชัดเจน

 

 

                  “บริษัทที่เกี่ยวข้องกับแผน PDP เช่น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิต จำกัด (มหาชน) บริษัท  ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท EGCO จำกัด (มหาชน) บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งบริษัทเหล่านี้ หุ้นจะไต่ขึ้นในระดับ 6 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่าธุรกิจของบริษัทเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิง หรือได้สัมปทานในการก่อสร้าง สัมปทานในการสร้างโรงไฟฟ้า”

 

 

วิฑูรย์ตั้งคำถามว่า มีหน่วยงานใดช่วยประชาชนดูแลความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนพวกนี้บ้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว ประเทศไทยมีกระทรวงพลังงาน รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงพลังงาน และบริษัทลูกภายใต้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ซึ่งแทนที่บริษัทเหล่านี้จะดูแลผลประโยชน์ของรัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เมื่อปรากฏว่า ข้าราชการระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวงพลังงาน จะเป็นคณะกรรมการบริหารของกฟผ.  และประธานกรรมการ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ด้วย รวมถึงบริษัทผลิตน้ำมันของ ปตท. ซึ่งเกือบทุกคนที่นั่งในตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน จะนั่งควบในตำแหน่งคณะกรรมการบริหารของกฟผ. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง  ปตท. และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

 

 

 

ควบหลายเก้าอี้รับค่าตอบแทนเพียบ

 

 

                    “ตั้งแต่ปี 2549 ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นคณะกรรมการบริหารของบริษัทลูกของ ปตท. กฟผ. จำนวน 7 บริษัท ได้ค่าตอบแทน 8 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่เงินเดือนรวมค่าตำแหน่งของข้าราชการระดับ 11 มีรายได้ปีละประมาณ 1,200,000 บาท เมื่อข้าราชการเหล่านี้รับตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทพลังงาน เงินรายได้จะเพิ่มขึ้น 4.5 เท่าตัว ซึ่งมาจากโบนัสและเบี้ยประชุม”

 

 

จากข้อมูลที่วิฑูรย์นำเสนอพบว่า ข้าราชการระดับสูงที่นั่งควบเก้าอี้ผู้บริหารบริษัทเอกชนด้วย จะปฏิบัติงานในฐานะคณะอนุกรรมการกำหนดค่า FT เพียง 67 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เข้าประชุมคณะกรรมการ ปตท. 100 เปอร์เซ็นต์

 

 

                  “ปตท.มีการประชุม 13 ครั้ง จะเข้าประชุมทั้ง 13 ครั้ง เพราะแต่ละครั้งเขาจะได้เบี้ยประชุมเยอะมาก แต่กรรมการที่สำคัญมากของกระทรวงพลังงานคือ กรรมการกำหนดค่า FT มีการประชุม 6 ครั้ง ผู้บริหารจะเข้าประชุมเพียง 4 ครั้ง”

 

 

นอกจากนี้วิฑูรย์ยังบอกอีกว่า ชื่อรัฐมนตรี ผู้บริหารในบริษัทเหล่านี้ และชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เป็นชื่อที่ทับซ้อนกัน หมายความว่า ผู้ที่เซ็นอนุมัติทั้งฝ่ายรัฐบาล และบริษัทคู่สัญญาคือคนคนเดียวกัน และหากมีปัญหาด้านกฎหมาย จะส่งให้กฤษฎีกาตีความ คนที่ตีความก็ยังเป็นคนเดิมอีกด้วย

 

 

“นี่คือเรื่องที่น่าเศร้า ที่ผมบอกว่าทุกอย่างระหว่างรัฐกับทุนเอื้อกันหมด”

 

 

ราคาหุ้นขยับปัจจัยสำคัญผุดโรงไฟฟ้า

 

 

นอกจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทุนกับรัฐบาลที่ควบคุมธุรกิจพลังงานแล้ว ขณะนี้ทุนที่น่ากลัวจากต่างประเทศ คือบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ในชื่อ เจเพาเวอร์ เป็นทุนที่ถือหุ้นในบริษัท กัลฟ์อิเลกทริค จำกัด ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากถูกชุมชนในพื้นที่ต่อต้านอย่างหนัก จนต้องย้ายมาอยู่ที่อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งการประมูลที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง กัลฟ์สามารถประมูลได้เกือบทั้งหมด

 

ทั้งนี้หากพิจารณาตามสัดส่วนการลงทุน ทั้งทางตรงและทางอ้อมพบว่า อันดับหนึ่งคือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด มีกำลังการผลิตมากที่สุดคือ ร้อยละ 25.61 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วย เจเพาเวอร์ ร้อยละ 21.77 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือหุ้นในบริษัท กัลฟ์ ฯ ร้อยละ 90 และตามมาด้วย EGCO ร้อยละ 20.79 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการลงทุนของโครงการเหล่านี้กลายเป็นตลาดใหญ่ แต่ก่อนมีความเชื่อว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเป็นตัวกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้า แต่ความจริงคือ มีผลประโยชน์ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นหลัก

 

 

 

 

นอกจากนี้วิฑูรย์ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 32,000 เมกะวัตต์  ในขณะที่ความต้องการสูงสุดอยู่ที่ 24,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหากพิจารณาความต้องการในการใช้ไฟฟ้าจริง ๆ แล้ว สามารถลดได้อีกกว่าหมื่นเมกะวัตต์ ทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตสูงมากและเหลือใช้ ขณะที่ความเป็นจริงเราไม่สามารถหยุดการผลิตได้ เพราะทั้งหมดอยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งสิ้น ทั้งโรงงาน โรงไฟฟ้า

 

“ดังนั้นเราจึงอยู่ในวัฎจักรของกำลังการผลิตที่เหลือ เพราะเราไม่ต้องผลิตไปขายใคร”

 

 

แบงก์ไทยแห่ปล่อยเงินกู้ลงทุนในลาว

 

 

นอกจากนี้ข้อมูลของวิฑูรย์ยังระบุด้วยว่า ทุนที่ใช้ก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าในประเทศลาว มาจากธนาคารของไทยทั้งสิ้น เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารทหารไทย และธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนรายใหญ่ ของโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ ซึ่งโครงการนี้อยู่ชายแดนจ.น่าน จะมีลักษณะเหมือนโครงการที่แม่เมาะ ถ้าดูจากข้อมูลจำนวนเงินที่ลงทุนในลาวขณะนี้ 7,750 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท เป็นเงินฝากของคนในประเทศไทย แต่กลับนำไปสนับสนุนโครงการก่อสร้างเขื่อนในลาว

 

การที่ธนาคารในประเทศไทยให้เงินกู้กับโครงการก่อสร้างเขื่อน เนื่องมาจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ธนาคารไทยเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้ ทำให้เงินออมมีค่อนข้างมาก ธนาคารจึงต้องหาแหล่งลงทุนและพบว่า การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเป็นการลงทุนที่ได้กำไรสูงมาก คือลงทุนกับเอกชนรายเดียว หรือปล่อยกู้รายเดียว ได้กำไรกลับมาเป็นหมื่นล้านบาท ขณะที่หากปล่อยกู้ในประเทศ ต้องปล่อยเงินกู้จำนวนมากขนาดไหน จึงจะได้กำไรขนาดนี้

 

 

 

 

จวกแบงก์ไทยไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

 

 

                  “คำถามคือธนาคารไทยที่ปล่อยให้โครงการเหล่านี้กู้เงิน คำนึงถึงมาตรฐานสากล ที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้างหรือไม่  โดยเฉพาะธนาคารที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ควรจะคำนึงการปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการที่โดนกดดันจากต่างชาติในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งธนาคารในทางสากลร่วมกันลงนามการพิจารณาการปล่อยกู้ให้กับโครงการที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ต้องพิจารณาและตั้งคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการที่จะปล่อยกู้ แต่ธนาคารไทยไม่มีการทำตรงนี้เลย”

 

 

อย่างไรก็ตามธนาคารของประเทศไทยทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นของไทย 100 เปอร์เซ็นต์ มีต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นเกือบทุกธนาคาร กลายเป็นแบงก์อินเตอร์ ซึ่งธนาคารสากลเหล่านี้เข้ามามีส่วนในโครงการเหล่านี้เกือบทั้งหมด โดยการเป็นนอมินีหรือตัวแทน ซึ่งในต่างประเทศจะมีทำธุรกรรมกับธนาคารที่ให้กู้เหล่านี้ และยังมีธนาคารทางเลือกคือ ธนาคารสีเขียว

 

แรงจูงใจอีกอย่างที่ทำให้ธนาคารปล่อยเงินกู้คือ กฟผ.รับเป็นคนจ่ายหนี้ให้กับธนาคาร โดยธนาคารไม่ต้องรอรับเงินจากบริษัทต่างประเทศ โดยจ่ายอย่างละครึ่งระหว่างบาทกับดอลลาร์ และสัญญาที่ทำกับกฟผ.เรียกว่า Take or Pay คือผู้ซื้อรายเดียว คือผู้ลงทุนจะไม่ขาดทุน เพราะมีการประกันความรับผิดชอบ ดังนั้นธนาคารที่ให้กู้เงินจึงไม่มีวันขาดทุน ธนาคารจึงกลายเป็นแหล่งเงินกู้ที่สำคัญ

 

 

เปิดเส้นทางปั้นหุ้นก่อนปั่นขายคนนอก

 

 

ส่วนกระบวนการลงทุนในลาว วิฑูรย์เล่าว่า ยกตัวอย่างเป็นบริษัทก่อสร้าง จะตั้งโครงการขึ้นมาพร้อมชื่อ โดยชื่อนั้นจะไม่เกี่ยวอะไรกับบริษัทแม่ เพราะบริษัทแม่ไม่ต้องรับผิดชอบหากเกิดหนี้สินขึ้น แล้วโปรเจค ดีเวลลอปเมนท์นี้จะวิ่งเต้นเพื่อให้ได้สัมปทานจากรัฐบาลลาว และพัฒนาโครงการเพื่อสร้างมูลค่าของโครงการ และนำไปกำหนด IPO (Initial Public Offering) คือ การเสนอขายหุ้นใหม่ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก สมมติกำหนดให้โครงการนี้มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท กำหนดให้ราคาหุ้นเริ่มต้นอยู่ที่ 10 บาท จะเท่ากับ 100 ล้านหุ้น ทั้งนี้หลังจากกำหนด IPO แล้ว โครงการจะชักชวนผู้เข้าร่วมทุน กรณีเขื่อนไซยะบุรี เช่น ปตท. EGCO ซึ่งผู้เข้าร่วมต้องการถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จัดสรรแบ่งกันไป

 

 

                  “ยกตัวอย่าง บริษัท ช.การช่าง ไปวิ่งเต้นเพื่อที่จะได้โครงการนี้ และตั้งชื่อว่า ไซยะบุรีดีเวลลอปเมนท์ คอมปานี  หลังจากนั้นกำหนดมูลค่า สมมติว่าโครงการนี้ราคา 200,000 ล้านบาท เขาจะกำหนด IPO คือราคาหุ้นเริ่มต้น สมมติราคาหุ้น 10 บาท โครงการ 1,000 ล้านบาท หุ้นละ 10 บาท จะเท่ากับ 100 ล้านหุ้น หลังจากกำหนด IPO แล้ว ไปชวนผู้เข้ามาร่วม กรณีเขื่อนไซยะบุรี เช่น พาร์ทเนอร์ต้องการกี่เปอร์เซ็นต์ แบ่งกันไปตาม IPO”

 

 

 

 

วิฑูรย์กล่าวต่อว่า จากขั้นตอนนี้เจ้าของโครงการได้กำไรแล้ว เพราะเป็นผู้กำหนด IPO หรือราคาหุ้นเริ่มต้น ว่าจะเป็นเท่าไหร่ มูลค่าโครงการเท่าไหร่ บริษัทที่เข้ามาแชร์เท่าไหร่ ปันหุ้นกันไป จากนั้นเจ้าของโครงการจะเจรจากับธนาคารเพื่อขอกู้เงิน โดยนำเสนอความน่าเชื่อถือของโครงการ และเมื่อธนาคารอนุมัติเงินกู้ มูลค่าของโครงการจะเพิ่มขึ้นทันที หลังจากนั้นโครงการจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในกรณีของประเทศไทย ผู้รับซื้อไฟฟ้ามีรายเดียวคือ กฟผ. ซึ่งเมื่อขั้นตอนเจรจาครั้งนี้สำเร็จ โครงการนี้จะกลายเป็นโครงการที่เป็นที่รู้จักในสาธารณะ ผลที่ตามมาคือ ราคาหุ้นจะขึ้น รวมถึงราคาหุ้นของบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือเป็นหุ้นส่วนโครงการ  “ถ้าคุณเล่นหุ้นนักวิเคราะห์หุ้นจะเสนอให้ซื้อทันที”

 

ระหว่างนี้โครงการจะเซ็นสัญญาก่อสร้างกับบริษัทก่อสร้าง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นบริษัทแม่ สมมติมูลค่าโครงการอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ผลที่ออกมาคือหุ้นขึ้น ซึ่งมูลค่าโครงการ 40,000 ล้าน กำหนดมาจากกรรมการชุดเดียวกัน เซ็นกันเองอยู่ตรงนั้น ถามว่ามูลค่าโครงการ 40,000 ล้านบาท ใครเป็นผู้กำหนด เพราะกรรมการทั้ง 2 ชุด คือคนเดียวกันหมด

 

 

แฉสมประโยชน์ขายทิ้งให้คนอื่นเสี่ยงแทน

 

 

หลังจากนั้นคือช่วงสร้างเขื่อนเสร็จแล้วเริ่มปั่นไฟ บริษัทที่ดำเนินโครงการจะขายหุ้นทิ้งทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วกับเขื่อนน้ำเทิน 2  บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ขายหุ้นทิ้งทั้งหมดให้กับบริษัทที่เข้าร่วมทุน จากเดิมราคาหุ้น 10 บาท พอเริ่มก่อสร้างราคาหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้น 3-4 เท่าตัว จาก 10 บาท กลายเป็น 30-40 บาท ซึ่งบริษัทจะมีกระบวนการในการรักษาหุ้นไว้เป็นขั้น โดยจะตัดสินใจขายเมื่อขึ้นถึงกี่เปอร์เซ็นต์ และบริษัทจะปั่นในช่วงสุดท้ายเพื่อให้ราคาสูงที่สุด นี่คือกระบวนการในการทำกำไรของโครงการเหล่านี้

 

 

วิฑูรย์กล่าวอีกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โฮปเวลล์ หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับ ทำกระบวนการแบบนี้ โครงการไม่ต้องเสร็จ ก็ทำกำไรแล้ว เขื่อนไซยะบุรีก็เช่นเดียวกัน สร้างไม่สร้างไม่สำคัญ พอได้จังหวะ โอกาส โครงการสามารถทำกำไรได้ ทั้งนี้ข้อสัญญาที่น่าสนใจข้อหนึ่งคือ ใครเป็นคนล้มโครงการจะต้องเป็นคนจ่าย

 

 

ผูกมัดทำสัญญาทาสใครหยุดสร้างต้องจ่าย

 

 

สำหรับโครงการเขื่อนไซยะบุรีดำเนินการเซ็นสัญญาหมดแล้ว ทั้งสัญญาการก่อสร้าง สัญญากู้เงิน สัญญาซื้อขายไฟฟ้า สัญญาเดินหน้ามาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 ในสัญญาระบุว่า ถ้าใครผิดสัญญาต้องเป็นคนจ่ายค่าเสียหาย ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั้งเวียดนาม และลาว ออกมาเคลื่อนไหว ต้องหยุดโครงการ 10 ปี ลาวบอกว่าหยุดแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงโครงการยังคงเดินหน้าต่อ เพราะโครงการหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดต้องจ่าย ปัญหาคือสัญญาในธุรกิจ ใครเป็นฝ่ายหยุดต้องรับผิดชอบ

 

การที่เอ็นจีโอออกมาคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้น ไม่มีผลอะไรต่อโครงการ โครงการจะเดินหน้าต่อไป  สิ่งที่บริษัทลงทุนต้องการคือ ให้โครงการเดินหน้าต่อไปและสร้างข่าวดีเพื่อให้หุ้นมีราคาสูงขึ้น ซึ่งหากจะค้านโครงการ ต้องทำให้โครงการหยุดดำเนินการ และสร้าง Bad News เพราะเมื่อใดที่มีการประเมินว่า ดำเนินกิจการแล้วไม่คุ้มทุน บริษัทที่ร่วมทุนจะถอนตัวออกไป

 

 

 

 

“ปัญหาคือ ประเทศเราไม่มีเงื่อนไขที่ว่าก่อนเซ็นสัญญากับบริษัทใด ต้องมีการดำเนินการทางการปกครองให้เรียบร้อยก่อน ก็จะไม่มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น เช่น ประเทศคานาดา ซึ่งประเทศไทยมักจะพูดว่า ให้สร้างไปศึกษาไป ซึ่งหากมีการหยุดก่อสร้าง ผู้ที่จะเป็นคนจ่าย คือรัฐบาลลาว” วิฑูรย์กล่าว

 

 

ธนาคารโลก-ADB รุมโกยทรัพยากรในลาว

 

 

เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าวว่า โครงการลงทุนในแม่น้ำโขง ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 6,000 เมกกะวัตต์ มีเงินทุนกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์  ผู้ที่เป็นรายใหญ่ในการลงทุนคือ โรงไฟฟ้าราชบุรี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งโรงไฟฟ้าราชบุรีคือ บริษัทลูกของกฟผ. จึงแยกไม่ออกว่า อะไรคือรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชน แยกไม่ออกว่าเป็นคู่สัญญาหรือคนลงทุน

 

ทั้งนี้การลงทุนในแม่น้ำโขง ไม่ใช่มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่มีองค์กรระดับโลกอย่าง World Bank และ ADB เข้ามาแทรกแซง ด้วยการสร้างเครื่องมือทางกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันให้กับธนาคารที่จะปล่อยกู้ ว่าโครงการนี้จะไม่มีความเสี่ยง

 

 

 

 

            “กรณีเขื่อนน้ำเทิน ผู้ที่ลงทุนหลักคือ บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่ง World Bank ต้องการให้น้ำเทินเป็นตัวอย่างโครงการลงทุนในแม่น้ำโขง จึงทำเครื่องมือทางกฎหมาย และทางสถาบันที่เป็นหลักประกันแก่ธนาคาร ในการลงทุนว่า คุณจะไม่มีความเสี่ยง เป็นโครงสร้างทางการเมือง ด้วยการเปลี่ยนกฎหมายเพื่อสร้างหลักประกันให้กับผู้ที่จะมาให้กู้เงิน เรียกว่า Entrance Financing รวมถึงให้หลักประกันความเสี่ยงทางการเมือง โดยหน่วยงานของ World Bank จะรับประกันตัวนี้ให้ แต่ไม่ใช่ทำให้ฟรี รัฐบาลจะต้องจ่ายดอกเบี้ย จ่ายหนี้ให้”

 

 

วิฑูรย์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า หากดูรายชื่อของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในแม่น้ำโขง จะทำให้รู้ว่า ทำไม  World Bank และ ADB จึงต้องลงมาช่วยเหลือ เพราะบริษัทตัวเองเข้ามารับช่วงสัมปทานต่อได้ทั้งหมด มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกันหมด ซึ่งจากโครงการน้ำเทิน 2 บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ขายหุ้นทั้งหมดหลังโครงการเสร็จสิ้น ทำกำไรได้อีก 1,300 ล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: