เอฟทีเอว็อทช์แฉพรีม่าบิดข้อมูล ยื่นร้องกก.สิทธิฯสอบกรมเจรจาฯ

20 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1950 ครั้ง

นายจักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวในการประชุม “กระบวนการพัฒนากฎหมายนโยบายสาธารณะ: ปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย กรณีศึกษาการจัดทำ FTA Thai-EU ต่อการเข้าถึงยา” ที่อาคารศศนิเวศน์ จุฬาฯ ว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญที่ควรประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ใช้ปัญญา มีธรรมาภิบาล และปราศจากผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม แต่น่าเสียดายที่เรื่องนี้ยังไม่เกิดในหน่วยงานที่รับผิดชอบการเจรจา

 

 

                  “ขณะนี้ กรมเจรจาฯ มีจุดยืน ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของบริษัทยาข้ามชาติอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ ทั้งสองกลุ่มนี้สนับสนุนร่างกรอบที่กรมเจรจาฯ เสนอ แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ ว่าไม่ได้ใช้ความรู้และงานวิจัยที่มีการศึกษามา แต่กลับพยายามเร่งให้เกิดการเจรจาเร็วที่สุดอย่างไม่มีเหตุผล จนไม่ยอมรอการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังดำเนินการอยู่” นายจักรชัยกล่าว

 

 

ด้าน ดร.สุชาติ จองประเสริฐ นักวิชาการด้านยา กล่าวว่า แม้ตนจะเป็นข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ขอพูดในฐานะนักวิชาการอิสระ เพราะเห็นว่าการพัฒนานโยบายสาธารณะต้องมาจากการจัดทำของหน่วยราชการ และต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ผ่านมามีนโยบายสาธารณะดี ๆ จำนวนมาก ที่ออกมาไม่ได้ เพราะมีกระบวนการให้ข้อมูลที่บิดเบือนกับสังคม จากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์หรือคนที่ไม่สามารถเอากอบโกยประโยชน์จากสังคมได้อย่างเต็มที่

 

ดร.สุชาติกล่าวว่า ตามที่สมาคมพรีม่า ส่งจดหมายกล่าวหาว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพขณะนี้แปลความหมายคลาดเคลื่อนจากข้อมูลความเป็นจริง ส่งผลให้การวิจัยผิดพลาด แล้วส่งสำเนาจดหมายนี้ไปยังหน่วยงานรัฐและเอกชน 17 หน่วยงาน เพราะองค์กรเหล่านี้คือองค์กรที่ตัดสินนโยบายสาธารณะ ซึ่งการเขียนเช่นนี้ จะมีผลเมื่อส่งไปยังองค์กรที่ไม่มีความรู้ หากสามารถทำให้เขาชะลอหรือออกนโยบายที่สนับสนุนบรรษัทยาข้ามชาติได้ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่สิ่งที่พรีม่าเขียนในจดหมายไม่ใช่การแปลความ แต่เป็นการหาข้ออ้าง ในการสนับสนุน ทั้งนี้ พรีม่ามีสิทธิให้ความเห็นแต่ไม่ควรโกหก

 

สาระในจดหมายที่โกหก หรือให้ข้อมูลไม่ครบ อาทิ ในความตกลงทริปส์ไม่มีการชดเชยอายุสิทธิบัตร แม้มีการให้ในบางประเทศแต่ไม่ใช่สากล การทดสอบว่ายามีความปลอดภัยเป็นองค์ความรู้สาธารณะที่ไม่มีสิทธิผูกขาด และหากยอมให้มีการผูกขาด ยาชื่อสามัญจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นการประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) จะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง อีกทั้งข้ออ้างที่ว่าให้บริษัทยาชื่อสามัญลงทุนวิจัย เป็นเรื่องโกหก เพราะใครจะให้ทำวิจัยที่รู้คำตอบแล้ว คณะกรรมการจะไม่ให้ทำวิจัยซ้ำ ทำไมจึงให้ผู้ป่วยมาเสี่ยงอีก เขารู้ว่าบริษัทยาชื่อสามัญในไทยไม่สามารถทำได้ คือปิดช่องนั่นเอง

 

ส่วนมาตรการ ณ จุดผ่านแดน ให้ตรวจ จับ ยึด อายัด ลิขสิทธิ์กับเครื่องหมายการค้า เพราะเห็นด้วยตา แต่ถ้าทำเอฟทีเอจะต้องเป็นทุกประเภท ที่จะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ซึ่งทุกวันนี้ แม้แต่อย.ยังไม่สามารถฟันธงการละเมิดสิทธิบัตรได้ ต้องส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การปล่อยให้ยึดจับยาละเมิดสิทธิบัตร ณ จุดผ่านแดน จะทำให้เกิดเหตุการณ์เช่น ยาชื่อสามัญช่วยชีวิตของอินเดีย ถูกยึดในสหภาพยุโรปถึง 18 ครั้ง ซึ่งล่าสุด สหภาพยุโรปยอมรับแล้วว่า การกระทำนี้ทำไม่ได้

 

 

                   “นอกจากนี้ ข้ออ้างเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากยาปลอม ยาด้อยคุณภาพนั้น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่เรื่องของยาปลอม ยาด้อยคุณภาพก็มีทั้งยาแบรนด์เนมและยาชื่อสามัญ” ดร.สุชาติกล่า;

 

 

ดร.ภก.สุชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่อยู่อย.ยืนยันว่า จุดยืนของการไม่รับข้อตกลง ที่เกินไปกว่าทริปส์นั้นสอดคล้องต้องตรงกับสถาบันวิจัยชั้นนำในประเทศนี้ทั้งหมด แต่คงไม่ถูกใจบริษัทยาข้ามชาติ พวกนี้คือปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องหนักแน่น

 

ด้าน รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้การทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ ได้คัดเลือกเนื้อหาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่จะเกิดจากเอฟทีเอ ไทย-อียู ใน 4 ประเด็น คือ การออกประกาศนียบัตรเพิ่มเติมการคุ้มครองเพิ่มเติม การ​ผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา (Data Exclusivity) การปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาที่อียูบังคับ และการใช้มาตรการ ณ จุดชายแดน รวมถึงประเมินมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และทางทีมวิจัยจะทำหนังสือชี้แจงไปทุกหน่วยงานที่พรีม่าได้ทำหนังสือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

 

 

ต่อมาวันที่ 19 กันยายน ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 14 องค์กรนำโดย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เข้าพบ น.พ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อ​ขอให้ กสม.ตรวจสอบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการเร่งผลักดันการเจรจาเอฟทีเอไทยกับสหภาพยุโรป

 

หนังสือร้องเรียนดังกล่าวระบุถึงพฤติกรรมที่ผ่านมาของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพบว่า พยายามให้ข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่อรัฐบาล ซึ่งอาจมีผลต่อการโน้มน้าวให้การตัดสินใจของรัฐบาลขาดการไตร่ตรองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น การอ้างว่า การยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่าข้อตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือ ‘ข้อตกลง TRIPs’ จะไม่มีผลกระทบต่อราคายา

 

ทั้งที่จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศจะเพิ่มขึ้นทุกปีจากปกติที่เคยเป็น ในระยะเวลา 5 ปี ประเทศไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อปีมากกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และประชาชนจำนวนอาจไม่สามารถเข้าถึงยาจำเป็นได้ เพราะรัฐบาลอาจไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะสนับสนุน และจะส่งผลถึงระบบสาธารณสุขของประเทศโดยรวม เนื่องจากต้องปรับงบประมาณสาธารณสุขด้านอื่นมาเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านยา

กรมเจรจาฯ ยังมิได้นำผลงานวิจัยเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงผลได้และผลเสีย จากการที่รัฐบาลจะยอมรับข้อเสนอด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป ซึ่งได้มีการจัดทำไว้หลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) หรือแม้แต่ที่กรมเจรจาฯ ให้การสนับสนุน ถือเป็นเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการนำข้อมูลทางวิชาการที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์มาประกอบเป็นข้อมูลนำเสนอต่อรัฐบาล และถือเป็นการหลบเลี่ยงหน้าที่และไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ

 

 

               “การกระทำดังกล่าว ถือได้ว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำลังกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะสิทธิด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ยังถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 และเป็นการกระทำที่ขาดธรรมาภิบาลที่ข้าราชการพึงมี จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะพฤติกรรมและธรรมาภิบาลของอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทยในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน" หนังสือระบุ

ทางด้าน น.พ.แท้จริงกล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญมาก ทางกรรมการสิทธิจะเร่งรับพิจารณาอย่างเร่งด่วน โดยจะรีบเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: