‘อ่าวทองคำ’ ชื่อที่ชาวบ้านเรียกขานท้องทะเลเบื้องหน้าอ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ถ้าในความหมายของสินแร่มีค่า ที่นี่ไม่มี แต่มันคือคำเปรียบเปรยถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลแห่งท่าศาลาที่คนริมฝั่งใช้หาอยู่หากินมานานเท่านาน
อ่าวทองคำเกิดจากความลงตัวของแผ่นดิน ท้องทะเล สายน้ำ และสายลม เมื่ออำเภอท่าศาลาตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาหลวงอันอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ สายน้ำ 10 สายพัดพาตะกอนแร่ธาตุสู่อ่าวทองคำ เกิดเป็นตะกอนปากแม่น้ำ เพราะความเป็นทะเลใน ทิศทางน้ำในอ่าวทองคำจึงหมุนวนก่อเกิดที่ดอนใต้ทะเล แหล่งอาหารทางธรรมชาติของสัตว์น้ำ อีกทั้งทิศทางลมในอ่าวทองคำเป็นทิศทางลมที่ภูมิปัญญาโบราณเรียกว่าลมแปดทิศ คือเมื่อลมปะทะเทือกเขาหลวงแล้ว สายลมจะพัดย้อนกลับส่งผลให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ผู้คนจึงสามารถทำการประมงได้ทั้งปี คือแหล่งอาหาร แหล่งปลาชั่วนาตาปี
มีพล็อตเรื่องอยู่ไม่กี่พล็อตในโลกทุนนิยม เมื่อการค้าขายและการพัฒนาเศรษฐกิจมีมุมมองต่อธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างแตกต่างไป ถอยไปก่อนปี 2551 อ่าวทองคำและชาวบ้านต้องเผชิญการรุกรานจากการประมงพาณิชย์ เมื่อเรือคราดหอยลายและเรือประมงพาณิชย์เข้ามาทำการประมงที่ท่าศาลาด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย ตะกอนจากเครื่องมือเหล่านั้นขับไล่ไสส่งสัตว์น้ำในอ่าวทองคำออกสู่ทะเลลึก ชาวประมงพื้นบ้านแห่งอ่าวทองคำเสียหายสาหัส
พอถึงปี 2551 ชาวประมงพื้นบ้านและภาคประชาชนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวและคัดค้านเรือคราดหอย และได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทางภาครัฐ จนสามารถจับกุมเรือคราดหอยอวนลากผิดกฎหมายได้ 18 ลำ ผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่น ห้ามใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายเข้ามาทำประมงในอ่าวท่าศาลา ความเอาจริงเอาจังครั้งนั้นค่อย ๆ ช่วยฟื้นคืนทองคำให้กลับสู่อ่าวท่าศาลาอีกครั้ง
แล้วใครจะดีใจกับเรื่องนี้ที่สุด ถ้าไม่ใช่คนท่าศาลา
“ท่าศาลาจะเป็นเมืองน่าอยู่ได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ต้องสร้างและดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์สองประการ คือ หนึ่ง-อุดมสมบูรณ์ด้วยคุณงามความดีและความมีน้ำใจต่อกัน กับสอง-อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่และดูแลรักษาไว้” สาธุ พระคุณเจ้าชัดเจนในธรรมยิ่งแล้ว พระเดชพระคุณ พระเทพสิริโสภณ เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ประธานสงฆ์ในพิธี ‘ทำบุญแผ่นดิน’ ได้ปรารภธรรมขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 28 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ที่หน้าที่ว่าการอำเภอท่าศาลา ในงานเทศกาลรวมพลคนกินปลา
แม้ตัวเทศกาลจะผ่านพ้น แต่มวลพลังงานบางอย่างยังไม่ยอมสลายไปกับเวลา ต้องเล่าย้อนให้ฟังว่า งานนี้เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่ปฏิเสธว่าส่วนหนึ่ง มันย่อมช่วยเรื่องการท่องเที่ยวของอำเภอท่าศาลา แต่คงกล่าวไม่ผิดว่ากระดูกสันหลังของงานจริงๆ คือการเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวทองคำของคนท่าศาลาที่กลับคืนมาจากน้ำพักน้ำแรงและความร่วมมือร่วมใจ
“หลังจากออกข้อบัญญัติท้องถิ่นผ่านมา 5 ปี ทะเลฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม สัตว์น้ำในอ่าวทะเลท่าศาลากลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างมาก หลายภาคส่วนจึงร่วมมือกันจัดเทศกาลรวมพลกินปลาเพื่อบอกกล่าวให้สาธารณะรับรู้ว่า ทะเลท่าศาลาฟื้นฟูขึ้นมาแล้ว เราชวนคนมาชื่นชมให้เห็นกับตาตัวเอง ชวนมาซื้ออหาสินค้าทะเลที่จับโดยชาวประมงพื้นบ้าน เป็นการให้กำลังใจคนที่รักษาทะเลและคนบนฝั่งก็ได้มีอาหารทะเลกินกัน” นายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา (อบต.ท่าศาลา) กล่าว
เป็นบทสรุปสวยงามของอ่าวทองคำที่ทุกฝ่ายจับมือกันผ่านปัญหาไปได้แบบไม่ต้องพึ่งพาความรุนแรงเช่นในอดีต
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักวิชาการอิสระ ที่ศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลา เล่าว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวประมงและลงเก็บข้อมูลร่วมกับชาวประมง คำว่า ‘อ่าวทองคำ’ ไม่ใช่คำที่เกินไปจากความจริง เพราะสัตว์ที่จับได้จากอ่าวท่าศาลาในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี มีจำนวนมหาศาล ส่งไปขายถึงต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน อเมริกา ส่วนในประเทศไทยก็มีส่งไปขายในหลายจังหวัด
“สิ่งที่ชุมชน กลุ่มนักวิชาการอิสระ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กำลังดำเนินการ คือการประกาศพื้นที่ผลิตอาหาร เทศกาลรวมพลคนกินปลาที่ผ่านไปก็เป็นส่วนหนึ่งแผนนี้ ถามว่าทำไมต้องประกาศให้ท่าศาลาเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร จากชุดข้อมูลงานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า ที่ท่าศาลามีความอุดมสมบูรณ์และความพร้อมแทบทุกด้านในการผลักดันให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งท่าศาลายังเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ ดังนั้น ทิศทางการพัฒนาของพื้นที่จึงต้องให้ตรงกับศักยภาพของชุมชนและศักยภาพของทรัพยากร คือแหล่งผลิตอาหาร ไม่ใช่พื้นที่รองรับอุตสาหกรรมสกปรก” นายประสิทธิ์ชัยอธิบายเพิ่มเติม
ประเด็นที่ประสิทธิ์ชัยพูด เท้าความไปถึงปี 2553 เมื่อท่าศาลาถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ โดยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ในพื้นที่ จนเกิดการเรียกร้องและต่อต้านอย่างหนักจากคนท่าศาลา คณะทำงานชุดเดิมที่เคยฟื้นฟูอ่าวทองคำก็เลยงานเข้าต้องลุกขึ้นมาปกป้องท่าศาลาอีกครั้ง และขยายวงกลายเป็น ‘เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา’
เมื่อมาถึงปีนี้ ชาวประมงพื้นบ้านแห่งอ่าวทองคำก็ร่วมกันก่อตั้งสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาขึ้น โดยร่วมมือกับเครือข่ายครูรักษ์ถิ่น เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา ภาคท้องถิ่น ภาควิชาการ ซึ่งดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทางวิชาการมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 และพยายามผลักดัน ‘วาระท่าศาลา เมืองน่าอยู่ ปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร’ ซึ่งก็ได้รับการขานรับทั้งในพื้นที่ท่าศาลาและพื้นที่อื่นๆ
ไป ๆ มา ๆ แทนที่จะเทศกาลรวมพลคนกินจะเป็นฉากจบสวย ๆ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นการลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้งของคนท่าศาลา ครั้งนี้ดูจะหนักหนากว่าการสู้กับเรือประมงพาณิชย์ เพราะแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาธ์เทิร์น ซีบอร์ด ไม่ใช่โครงการและแผนการเล็กๆ แต่เป็นอภิโปรเจกต์ที่มีทั้งรัฐและทุนหนุนหลัง นี่ยังมินับความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่อีก
ไม่รู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะเกิดรักระหว่างรบเหมือนกรณี ‘ปิ๊ก’ นายก อบต.บ้านท้าย กับสาว ‘เพลินดาว’ ประชาสัมพันธ์ของบริษัทน้ำมัน จนก่อเกิด ‘มนต์รักอ่าวทองคำ’ ตามจินตนาการขำขมของปริทรรศ หุตางกูร ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้หรือไม่
เรื่องราวแห่งท่าศาลาจะจบลงแบบเนียน ๆ สุขสม และอร่อยหรือเปล่า ?
ยังคงเป็นคำตอบที่ล่องลอยเหมือนสายลมแห่งอ่าวทองคำ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ