'ชาวหัวไทร'ยื่นร้องนอภ. ค้านกฟผ.จ่อผุดโรงไฟฟ้า

วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 20 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2308 ครั้ง

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ประชาชน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 100 คน เดินทางเข้าพบ นายสมโภชน์ โชติชูช่วง นายอำเภอหัวไทร เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะก่อสร้างในอ.หัวไทร เนื่องจากวิตกกังวลว่าจะเกิดผลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในอนาคต

 

นายประเสริฐ คงสงค์ เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อ.หัวไทร กล่าวว่า การมายื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อให้นายอำเภอหัวไทรรับทราบว่า ชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าหลังจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แจ้งว่า เข้ามาในพื้นที่อ.หัวไทร เมื่อเดือนเมษายน 2553 เพื่อเตรียมการตามกระบวนการจะมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่อ.หัวไทร จ.นครศรีฯ ตามแผน พีดีพี 2010 ของการจัดหาพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการเข้าข่ายประเภทอันตราย

 

ซึ่งตามมาตรา 67 รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ สิทธิของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประกอบกับมาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า เป็นโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

 

ดังนั้น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะก่อสร้างได้หรือไม่นั้น ตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จะต้องผ่านขั้นตอน 7 ขั้นตอน ดังนี้ ศึกษาศักยภาพและความเป็นไปได้ของพื้นที่เบื้องต้น ให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนมีความพร้อม และเปิดโอกาสให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ประชาชนเสนอพื้นที่และดำเนินการจัดซื้อที่ดิน

 

ศึกษา EHIA และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ขออนุมัติโครงการ ดำเนินการก่อสร้าง ขั้นตอนดังกล่าวต้องอาศัยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 57 และมาตรา 67 วรรคสอง รวมทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ที่เกี่ยวข้อง

 

นายประเสริฐกล่าวว่า กฟผ.อ้างว่า “ได้เริ่มตั้งแต่ทำตามแผนพัฒนากำลังการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปี 2553-2573 (พีดีพี 2010)” และได้ผ่านขั้นตอนที่ 1 คือ ศึกษาศักยภาพและความเป็นไปได้ของพื้นที่เบื้องต้นและอ้างว่า “พื้นที่ในอำเภอหัวไทรมีศักยภาพในการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ได้” และขั้นตอนที่ 2 คือ ให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โดยให้ข้อมูลอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียควบคู่กับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ จนกระทั่งในวันนี้ได้มีการยอมรับในทุกภาคส่วนและยินดีที่จะให้เข้ามาดำเนินการในขั้นตอนที่ 3 คือ ประชาชนมีความพร้อมและเปิดโอกาสให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) แล้ว

 

ตามที่กฟผ.อ้างมานั้น ประชาชนทุกภาคส่วนฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ขอเรียนว่า เป็นการอ้างอิงที่เป็นเท็จ และขออาศัยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติไว้ว่า สิทธิชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติตามหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น ประชาชนขออาศัยอำนาจดังกล่าวข้างต้นนั้น ขอแสดงคัดค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้านนายครองศักดิ์ แก้วสกุล เครือข่ายรักบ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง กล่าวว่า การดำเนินการของ กฟผ. ใน การจัดหาพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีความมั่นคงของประเทศไทยนั้น รัฐต้องให้ความสำคัญในการจัดหาพลังงานทดแทน จากที่พึ่งพาน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเป็นพลังงานหลักนั้น เพราะมีผลกระทบ ทำให้โลกร้อน พลังงานทดแทนดังกล่าวคือ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น

 

และคาดการว่าในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นพลังงานหลักทั่วไป ในส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น จะไม่มีโอกาสก่อสร้างได้เนื่องจากรัฐมีนโยบายที่จะก่อสร้างพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น ซึ่งกำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25 เปอร์เซนต์ ใน 10 ปี (2555-2564) ไว้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และอำนวยความสะดวกในทางด้านกฎหมาย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคเอกชน ในงบประมาณ 442,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี

 

ดังนั้นตามที่ กฟผ.เข้ามาในพื้นที่ โดยประชาสัมพันธ์ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ โดยอ้างว่า ไฟฟ้าจะไม่มีเพียงพอ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง ณ วันนี้ ไฟฟ้ามีสำรองไว้ถึง 23 เปอร์เซนต์ และอีกประเด็นหนึ่งที่โอกาสจะสร้างไม่ได้ คือ ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย เพราะทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างกว้างขวาง รุนแรง อาจจะกระทบทั่วจังหวัดนครศรีธรรมเป็นไปได้

 

ทางกระทรวงพลังงานได้ศึกษาศักยภาพพลังลม ปรากฏว่า ภาคใต้มีศักยภาพมีพลังลมมาก และสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ทั่วประเทศสามารถสร้างได้ในพื้นที่ 5,104.17 ตร.กม. และมีกำลังการผลิตถึง 31,967.44 MW โดยเฉพาะใน จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ศักยภาพของแรงลม จำนวน 494.60 ตร.กม. กำลังผลิตติดตั้ง 3,097.71 เมกะวัตต์และขณะนี้ปรากฏว่า ทั่วโลกในอนาคตจะมีการติดตั้งกังหันลมไฟฟ้าทั่วโลกในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 40,000 เมกะวัตต์

 

แต่ข้อเท็จจริงในวันนี้ มีบริษัทของเอกชนหลายบริษัทเข้ามาในพื้นที่ อ.หัวไทรและ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เข้ามาสำรวจและจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมหลายแห่ง และขั้นตอนขณะนี้กำลังติดตั้งวัดกระแสลมอยู่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้กำหนดพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่อ.หัวไทร โดยสภาพพื้นที่เดิมเป็นสถานที่สีเขียวแหล่งผลิตอาหาร โดยไม่ผ่านกระบวนการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใดจากประชาชนในพื้นที่ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 57 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ

 

ความสำคัญของอ.หัวไทรนั้นและรัฐต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ พื้นที่อ.หัวไทรนั้น ตั้งอยู่ในโซนสีเขียว แหล่งผลิตทางด้านเกษตร มีพื้นที่ 1,700,000 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด 10 อำเภอ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีผลกระทบต่อแหล่งผลิตอาหารซึงคนในพื้นที่ยอมรับไม่ได้

 

ขณะที่นายสมโภชน์ โชติชูช่วง นายอำเภอหัวไทร กล่าวว่า หากการดำเนินโครงการที่ผิดขั้นตอนและส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมทางนายอำเภอก็ไม่เห็นด้วย เพราะนายอำเภอมีหน้าที่ดูแลความทุกข์ของพี่น้องประชาชนโดยหน้าที่ และหนังสือที่ได้รับวันนี้จะส่งไปยังทางจังหวัดรับทราบต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: