แฉเบื้องหลังแจก‘สทก.’2.5ล้านไร่ ล็อตแรกให้เน้นฐานเสียง'เพื่อไทย' ‘ปรีชา’ถอย-โบ้ยอธิบดีป่าไม้ทำเอง

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 20 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3195 ครั้ง

 

ขณะที่ข่าวสารความเคลื่อนไหวของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่คึกคักมาตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเงียบเชียบ เพราะยังไม่มีอธิบดีตัวจริงขึ้นมาทำหน้าที่แทนนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว แม้จะมีภารกิจติดค้างจะต้องทำต่อ เช่นตามจัดการนายทุนฮุบป่าที่ภูเก็ต ก็ถูกคำสั่งจากนายกฯ ชะลอออกไปก่อน แบบไม่มีกำหนด ทำให้ขณะนี้นอกจากข่าวการจับกุมกลุ่มนักล่าสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้ว ความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายของกรมนี้จึงดูจะขยับอะไรไม่ได้มากนัก

 

 

กรมป่าไม้แจกสทก.ป่าเสื่อมโทรม 2.5 ล้านไร่

 

 

ในระหว่างช่วงสุญญากาศของกรมอุทยานฯ นี่เอง ทางฟากของกรมป่าไม้ ในฐานะกรมพี่ ก็กลับสร้างความฮือฮากลายเป็นข่าวร้อนในแวดวงป่าไม้ขึ้นมาทันที ด้วยการที่นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการบุกรุกป่าและที่ทำกินของประชาชน  โดยการมอบสิทธิ์ทำกิน (สทก.) ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม ให้กับประชาชนรายเดิมที่อยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อน ตามมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ต่อนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยตั้งเป้าอนุมัติพื้นที่สทก. 2.5 ล้านไร่ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งนายปรีชาออกมาระบุว่า เห็นด้วยเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ เรื่องการมอบใบรับรอง สทก.คือการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอยู่แล้ว เพื่อให้มีเอกสารทางราชการถูกต้อง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                  “ไม่จำเป็นต้องทำการเกษตรอย่างเดียว เพราะคำว่าสิทธิทำกิน หมายความจะทำอะไรก็ได้ ที่ไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ส่วนจะนำไปสร้างรีสอร์ทได้หรือไม่ การสร้างรีสอร์ท เราก็ต้องไปตีความว่า กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้ากลมกลืนกับสภาพแวดล้อมก็สามารถทำได้ ทั้งนี้การให้ใบรับรองสิทธิ์สทก.  จะพิจารณาดำเนินการในป่าสงวนฯ โซนอีหรือโซนเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ก็สามารถดำเนินการในโซนอื่นได้ ถ้ามีสภาพเสื่อมโทรมมาก และไม่ใช่แหล่งต้นน้ำลำธาร” นายบุญชอบระบุ

 

 

ดีเดย์ธ.ค.เอาไปเลย 3 แสนไร่ เป็นพื้นที่รัฐมนตรีเกือบครึ่ง

 

 

สำหรับการเตรียมมอบใบรับรอง สทก. ให้กับราษฎร ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ทำกิน  ในพื้นที่ป่าสงวนฯ ทั่วประเทศของกรมป่าไม้ ตามนโยบายที่นายบุญชอบให้ข่าวในครั้งนี้ ระบุว่า เบื้องต้นมีจำนวน 15,000 แปลง เนื้อที่ประมาณ 300,000 ไร่ ในพื้นที่ 9 จังหวัดนำร่อง เช่น เพชรบุรี เชียงราย พะเยา อุบลราชธานี  เป็นต้น เนื้อที่มากน้อยต่างกันไปตามความพร้อมในแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งที่สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตมากที่สุด หนีไม่พ้นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมใน จ.เลย เพราะเป็นที่ทราบกันว่าพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ฐานเสียงของนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั่นเอง

 

ซึ่งจากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า จ.เลยเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่ามากที่สุด เป็นอันดับ 3 ของประเทศ เนื้อที่กว่า 310,000 ไร่ รองจาก จ.เชียงราย 330,000 ไร่ และเพชรบูรณ์ 370,000 ไร่  โดยกรมป่าไม้เตรียมมอบ สทก. ให้ประชาชนเหล่านี้เกือบ 120,000 ไร่

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวจากกรมป่าไม้ด้วยว่า แผนการดำเนินการนี้ยังมีการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองหาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ใน จ.เชียงใหม่ สำหรับเตรียมให้นายกรัฐมนตรีเดินทางไปมอบใบรับรองสทก. ให้กับประชาชนด้วย ความมุ่งหมายหลักของหนีไม่พ้นการสร้างผลงานให้กับรัฐบาลชุดนี้อีกด้วย ซึ่งรายงานระบุว่าขั้นตอนการดำเนินการไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะเมื่อได้พื้นที่พร้อมแล้ว ขั้นตอนดำเนินการก็เพียงให้รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ลงนามในประกาศพื้นที่ป่าสงวนฯ เสื่อมโทรม เป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยตรงที่จะดำเนินการได้ทันที จากนั้นจะสามารถแจกใบรับรองสิทธิ์สทก. ให้ประชาชนได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ด้วย

 

หากพิจารณาย้อนกลับไปกับการเคลื่อนไหวหลาย ๆ ประการของรัฐบาลพบว่า สอดคล้องกับการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินเชิงระบบ ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำกินให้กับประชาชน โดยเป็นการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน ที่แถลงต่อรัฐสภา โดยมีแนวทางในการดำเนินการ ที่จะนำที่ดินของรัฐมาจัดสรรให้กับชาวบ้านทำกิน โดยเริ่มในปี 2556 นี้นั่นเอง

 

 

 

เปิดแผนเร่งด่วนกรมป่าไม้ของบ 200 ล้าน 3 ปี

 

 

รายงานข่าวระบุอีกว่า หลังจากนายปรีชาได้มอบนโยบายให้ชะลอการดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่า และแก้ปัญหาที่ทำกินให้กับประชาชนจากรัฐบาล กรมป่าไม้ได้มีการเตรียมแผนดำเนินโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ (แผนเร่งรัดการออกหนังสืออนุญาต สทก.) โดยเป็นการให้สิทธิ์ทำกินกับราษฎร ตามมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 กำหนดระยะเวลาตามแผนดำเนินการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2558 ใช้งบประมาณทั้งหมดจำนวน 200 ล้านบาท โดยเร่งรัดดำเนินการออกเอกสาร สทก. จำนวน 250,000 ราย เนื้อที่ 2,500,000 ไร่ ตามแผนเร่งรัดดังกล่าว ในส่วนของปีงบประมาณ 2556 นี้ มีเป้าหมายในการออกใบรับรองสิทธิ์ สทก. 50,000 ราย เนื้อที่ 150,000 ไร่ ใช้งบประมาณในการบริหารจัดการประมาณ 40 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2557 และ 2558 มีเป้าหมายดำเนินการปีงบประมาณละ 100,000 ราย พื้นที่ดำเนินการปีงบประมาณละ 1,000,000 ไร่ งบประมาณปีดำเนินการละ 80 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ข้อมูลการสำรวจพื้นที่ที่มีราษฎรเข้าไปอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนฯ ตามคำสั่งในมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งกรมป่าไม้ได้สำรวจในช่วงปี 2541-2543 โดยการรับแจ้งการครอบครองจากราษฎรพบว่า มีราษฎรอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า 45,000 ราย พื้นที่ 6,400,000 ไร่ แต่จากการสำรวจและรังวัดแปลงที่ดินล่าสุด รวบรวมข้อมูลในปี 2555 ดำเนินการไปแล้ว 5,200,000 ไร่ พบว่ามีราษฎรอยู่ในพื้นที่ป่า 554,991 ราย ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 487 แห่งทั่วประเทศ โดยจำนวนราษฎรที่เพิ่มขึ้นนี้ กรมป่าไม้อ้างว่าเกิดจากขยายครอบครัวของราษฎรรายเดิม

 

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี 2551 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ถูกบุกรุกไปแล้วกว่า 20 ล้านไร่ มีราษฎรอาศัยอยู่ในป่า 500,000-1,000,000 คน จากเนื้อที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 67 ล้านไร่ อาจจะต้องนำเข้าสู่แผนการออกใบรับรอง สทก.เพื่อให้มีเอกสารทางราชการรองรับการอยู่ในพื้นที่เช่นกัน

 

 

จากกระแสดำรัสในหลวงสู่ สทก.

 

 

การให้ใบรับรอง สทก.ของกรมป่าไม้นั้น ดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 28 สิงหาคม 2522 เริ่มมอบ สทก.ครั้งแรก เมื่อปี 2525 โดยยึดกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะให้คนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สามารถทำกินได้โดยถูกกฎหมาย แม้จะดำเนินการมากว่า 30 ปี แต่จนถึงขณะนี้กรมป่าไม้สามารถมอบใบรับรอง สทก.ให้กับราษฎรได้ทั้งหมดเพียง 4,289 ราย เนื้อที่ 29,800 ไร่เท่านั้น เพราะความไม่ต่อเนื่องของระดับนโยบาย การมอบสทก.หยุดชะงักไปอย่างมากในช่วงปี 2537-2538 ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นให้ใช้แนวทางการปฏิรูปที่ดินด้วยมอบสปก.แทน

 

หลังจากนั้นมีบางพื้นที่ที่นำเรื่องการให้ สทก. มาแก้ปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรอยู่บ้างประปราย เช่นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เคยมอบใบรับรองสทก. ให้กับประชาชนในระหว่างการทัวร์นกขมิ้น ลงพื้นที่ “อาจสามารถโมเดล” จ.ร้อยเอ็ด เป็นต้น

 

 

แฉนายทุนวังน้ำเขียวรังวัดที่ดินรอรับใบอนุญาต

 

 

แหล่งข่าวกรมป่าไม้เปิดเผยอีกว่า โดยหลักการแล้วทั้งการมอบ สทก. และ สปก. ให้กับประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินถือเป็นเรื่องดี แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินการกลับล้มเหลวเกือบทั้งหมด ตัวอย่างเช่น กรณี สปก.ที่เคยทำให้พรรคประชาธิปัตย์ล้มมาแล้ว เพราะเมื่อใดก็ตามที่รัฐประกาศจะมอบเอกสารสิทธิ์ในลักษณะนี้ ก็จะมีนายทุนว่าจ้างชาวบ้านหรือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดิม เข้าไปถางป่ารอไว้ทันที

 

 

               “ในส่วนของสทก.ที่กรมป่าไม้เตรียมมอบให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ตามมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 นั้น วันนี้อยากให้ไปตรวจสอบกันชัดๆ ว่า มีประชาชนกี่รายที่อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม และสมควรได้รับสิทธินั้น แม้กระทั่งพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้นให้อยู่ในป่าได้ ตามมติครม.ดังกล่าว เวลานี้ก็แทบจะเปลี่ยนมือเป็นรายใหม่ไปหมดแล้ว ที่สำคัญสิ่งที่น่าห่วงคือ อาจจะมีลักไก่แจกใบรับรอง สทก.ในพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งสทก.นั้นสามารถออกให้ได้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โซนอี หรือโซนเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3 และ 4  ไม่สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ต้นน้ำลำธารหรือลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 และผู้มีสิทธิได้รับต้องเป็นเกษตรที่ยากจนจริง ทำกินในพื้นที่มาก่อนอยู่แล้วเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาทราบว่า มีกลุ่มนายทุนเจ้าของรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ป่าเขาภูหลวง (เขาแผงม้า) ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้ เข้าไปดำเนินการจับกุมตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ได้ว่าจ้างช่างรังวัดจากส่วนกลาง เข้าไปรังวัดในพื้นที่ของตัวเอง เพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดี ซึ่งป่าเขาภูหลวงนั้น เป็นพื้นที่ที่ยืนยันว่า เป็นพื้นที่ป่าสงวนโซนซี หรือโซนอนุรักษ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 หากมีการไปให้สิทธิ สทก.ต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน และพื้นที่อื่น ๆ ก็น่าจะมีการดำเนินการในลักษณะนี้เช่นกัน” แหล่งข่าวระบุ

 

 

นักวิชาการ-ภาคประชาชนรุมจวกนโยบายประชานิยมแจกป่า

 

 

อย่างไรก็ตามเมื่อเรื่องนี้ปรากฏออกสู่สาธารณะ นักวิชาการและภาคประชาชนต่างออกมาวิพากษณ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า นโยบายการแจก สทก. ถือเป็นนโยบายทางการเมือง มากกว่าที่จะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยใช้แผ่นดินเป็นของแจก เพื่อสร้างคะแนนเสียง เพราะการแจกสทก.ไม่มีกลไกในการป้องกันการเปลี่ยนมือแน่นอน ในทางทฤษฎีพูดได้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาการซื้อขายที่ดินมือเปล่ายังซื้อขายกันได้เลย แต่ครั้งนี้มีการแจกใบรับรองสทก. เชื่อว่าขบวนการนายหน้า นายทุน เตรียมเข้ามากว้านซื้อใบรับรอง สทก.นั้นมีอยู่แล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เช่นเดียวกับกลุ่มสมัชชาองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยนายจักรพงษ์ ธนวรพงศ์ กรรมการสมัชชาฯ ที่ออกมาระบุว่า นโยบายดังกล่าว มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองแน่นอน เพราะเตรียมมอบใบรับรอง สทก. ในพื้นที่ฐานเสียงของนายปรีชา เป็นพื้นที่นำร่องกว่าแสนไร่ ที่สำคัญการที่บอกว่า สามารถเอาที่ดินไปทำรีสอร์ทได้ แต่ต้องทำในลักษณะโฮมสเตย์ ก็ถือเป็นการเล่นลิ้น เล่นคำ โครงการแจกสทก.สุดท้ายจะกลายเป็นการ  “เตะหมูเข้าปากหมา” อ้างชาวบ้าน แต่สุดท้ายที่ดินก็จะตกไปอยู่ในมือของนายทุนทั้งหมด

 

ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาะโลกร้อน ระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นการ “ฟอกที่ดิน”ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย หากรัฐบาลไม่ทบทวน จะรวมตัวกับนักอนุรักษ์ทั่วประเทศเดินหน้าฟ้องร้องแน่นอน

 

 

‘ปรีชา’ กลับลำ ทบทวนโครงการโบ้ยใส่ อ้าง ‘อธิบดีป่าไม้’ พูดเอง

 

 

เมื่อมีแรงต้านมากกว่าแรงหนุนเช่นนี้ คนที่แทบกลับลำแทบไม่ทันคือนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งเดิมทีออกมาขานรับ และยอมรับว่า การดำเนินการของกรมป่าไม้ สอดคล้องและเป็นนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือเรื่องที่กินของประชาชน คล้อยหลังไม่กี่วันนายปรีชาได้มีคำสั่งด่วนให้นายบุญชอบแถลงข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยให้มีการเร่งสำรวจพื้นที่ป่าอย่างละเอียดก่อน และให้รอผลการดำเนินการเร่งด่วน แก้ไขปัญหาบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ หรือโครงการรีเชฟป่า ที่มีการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ 5 ช่วงชั้นปี รวบรวมเข้าด้วยกัน พร้อมกับการเดินสำรวจป่าเป็นรายพื้นที่  งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ  จะทำให้ทราบว่า มีพื้นที่ป่าเหลืออยู่เท่าใด ก่อนกลับมาพูดถึงนโยบายการมอบ สทก.อีกครั้ง และพร้อมยุติโครงการหากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ให้เห็นด้วย

 

รายงานข่าวแจ้งว่า การที่นายปรีชาออกกลับตัวชนิด 360 องศานั้น เป็นเพราะถูกนายกรัฐมนตรีตำหนิอย่างรุนแรง ที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ และมีกระแสโจมตีรัฐบาล โดยนำไปเชื่อมโยงกับนโยบายประชานิยมอย่างหนัก ทำให้นายปรีชามาตำหนินายบุญชอบอีกทอดหนึ่งว่า การให้ข่าวดังกล่าวทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และรัฐบาลเสียหาย เรื่องนี้ยังไม่ได้เป็นนโยบายของกระทรวงหรือรัฐบาล ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้นายปรีชาเป็นคนไฟเขียวว่า ให้นายบุญชอบดำเนินการเรื่องนี้เอง และพูดได้เต็มที่

 

อย่างไรก็ตามเรื่องการมอบ สทก. ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีความพยายามดำเนินการมาตั้งแต่สมัยนายสุวิทย์ รัตนมณี เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ เมื่อปีที่ผ่านมา แต่นายสุวิทย์ซึ่งเหลืออายุราชการอีกเพียงปีเดียว มีท่าทีไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าไม่น่าจะเกิดประโยชน์ จนมีการนำกลับมารื้อฟื้นอีกครั้งหลังมีการปรับครม. รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 ดังกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: