ชี้ยิ่งลักษณ์ถกทริปส์พลัส ทำลายศักยภาพด้านยา

20 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1762 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน เครือข่ายผู้มีเชื้อเอชไวอี/เอดส์ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค (Asia Pacific Network of People Living with HIV/AIDS - APN+), องค์การหมอไร้พรมแดน ฝ่ายการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา (Medecins sans Frontieres Access Campaign), สหพันธ์การเตรียมความพร้อมในการรักษาสากล (International Treatment Preparedness Coalition - ITPC) และองค์เพื่อการรักษา (TREAT Asia) ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ระบุว่า ทั้ง 4 องค์กรวิตกกังวลต่อการที่รัฐบาลจะเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในกรอบต่าง ๆ

 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การเจรจาเหล่านี้จะบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องรับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มงวดไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า ทริปส์พลัส ซึ่งจะบ่อนทำลายศักยภาพของประเทศไทย ในการผลิตยาชื่อสามัญทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

 

ดังนั้นขอให้นายกรัฐมนตรีใส่ใจและพิจารณาผลของการประชุมระดับภูมิภาค ว่าด้วยการใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์ เพื่อการเข้าถึงยาต้านไวรัสในเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 29-31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยราชการและภาคประชาสังคมจากประเทศ กัมพูชา, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เข้าร่วมประชุม

 

สำหรับสาระสำคัญจากการประชุม ประกอบด้วย 1.สร้างความสมดุลที่เป็นธรรมระหว่างการใช้ระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านยาและเภสัชกรรมที่แท้จริง และสิทธิในการเข้าถึงยาจำเป็นอย่างถ้วนหน้า 2.ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อกำหนดแบบทริปส์ผนวก (TRIPS plus provision) ทุกรูปแบบในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี  งานวิจัยที่นำเสนอโดย ดร.จิราพร ลิ้มปนานนท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่าข้อกำหนดแบบทริปส์ผนวกจะส่งผลเสียหายทั้งในเชิงสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ  งานวิจัยยังพบอีกว่าถ้าประเทศไทยนำข้อกำหนดแบบทริปส์ผนวกมาบัญญัติเป็นกฎหมาย ประเทศจะต้องเผชิญกับราคายาที่สูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะค่าใช้จ่ายด้านยาภายในประเทศที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล  ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะส่งผลทำให้ส่วนแบ่งตลาดของยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ผลิตภายในประเทศลดลงอย่างมาก  สุดท้ายแล้ว จะส่งผลให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีในราคาต้นทุนต่ำได้อีกต่อไป

 

3.ต้องสร้างความมั่นใจว่ากฎหมายของประเทศจะต้องมีมาตรการยืดหยุ่นทริปส์ระบุไว้และนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  มาตรการยืดหยุ่นที่ควรกำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศ ได้แก่ 3.1หลักเกณฑ์การรับจดสิทธิบัตรที่มีมาตรฐานสูง ดังเช่นที่กำหนดไว้ในมาตรา 3(d) ของกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดีย ซึ่งระบุคำนิยามและมาตรฐานที่เข้มงวดของ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น” ไว้อย่างชัดเจนและรัดกุม ทั้งนี้ เพื่อขจัดและป้องกันสิทธิบัตรที่ไม่สมควรจะได้รับการคุ้มครองและสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุดอายุ (ever-greening)  งานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุดอายุในประเทศไทย ที่นำเสนอโดย ดร.อุษาวดี มาลีวงษ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า คำร้องของสิทธิบัตรยาและเวชภัณฑ์กว่าร้อยละ 96 ในประเทศไทยเข้าเกณฑ์ที่ถือว่าเป็นสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุดอายุไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

 

3.2 มาตรการใช้สิทธิ์ตามสิทธิบัตรและการใช้สิทธิ์โดยรัฐ 3.3 มาตรการคัดค้านสิทธิบัตรทั้งก่อนและหลังได้รับสิทธิบัตร ซึ่งจะทำให้สาธารณะสามารถคัดค้านคำขอสิทธิบัตร หรือการอนุมัติคำขอสิทธิบัตร แบบที่ไม่สมควรจะได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ควรสร้างความมั่นใจว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการกับความต้องการด้านสาธารณสุข

 

4.ทบทวนและแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อกำหนดต่างๆ เพื่อขจัดมาตรการแบบทริปส์ผนวกออกไป ซึ่งมาตรการทริปส์ผนวกนั้น จะส่งผลร้ายต่อการเข้าถึงยาชื่อสามัญในราคาที่เป็นธรรม 5.จัดตั้งคณะทำงานระดับชาติที่มาจากหลายภาคส่วนและกำหนดยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งและประสานงานร่วมกันในอันที่จะส่งเสริมการเข้าถึงยาในราคาที่เป็นธรรม  คณะทำงานดังกล่าวควรมาจากกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง (หน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องเอชไอวีและเอดส์ของประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ สำนักสิทธิบัตร ฯลฯ) นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม

 

6.รับฟังเสียงของภาคประชาสังคมในเวทีพูดคุยในระดับประเทศและภูมิภาค   โดยเฉพาะประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อยาที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้ ซึ่งรวมถึงการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีด้วย 7.สนับสนุนให้เกิดภาคีความร่วมมือในภูมิภาค การสร้างความร่วมมือในภูมิภาค จะนำไปสู่จุดยืนในการเจรจาร่วมกันในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่จะเจรจากับประเทศร่ำรวย ทั้งนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ที่จะจัดการกับสิ่งท้าทายในปัจจุบันและอนาคต ในเรื่องการเข้าถึงยาราคาต้นทุนต่ำและการนำมาตรการยืดหยุ่นทริปส์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หนึ่งในความร่วมมือนั้น คือ การใช้กลไกอาเซียนในการเจรจาต่อรองและการประสานงานให้ได้มากที่สุด จากประสบการณ์ที่ประเทศไทยผ่านมาอย่างช่ำชองในการนำมาตรการใช้สิทธิ์โดยรัฐและการผลิตยาภายในประเทศ ประเทศไทยสามารถที่จะให้ความช่วยเหลืดด้านวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้านได้

 

ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบ ออกมาชี้แจงผลดีผลเสียที่ได้พิจารณาและนำมาสู่ข้อสรุปในการแสดงเจตจำนง เข้าร่วม TPP ภายในหนึ่งสัปดาห์ เพราะจนถึงขณะนี้สังคมยังไม่ทราบเลยว่า คณะรัฐมนตรีตัดสินใจบนฐานข้อมูลใด

 

 

             “ขั้นตอนที่กรมเจรจาฯได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พูดไม่จริงใน 2 ขั้นตอน คือ ไม่ยอมนำร่างกรอบการเจรจามารับฟังความคิดเห็นประชาชนและศึกษาผลกระทบโดยหน่วยงานที่เป็นกลางก่อนการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งที่เคยปฏิบัติมาในรัฐบาลก่อนๆ นอกจากนี้ฝ่ายเจรจาควรทำคือ ให้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ข้อมูลกับฝ่ายนิติบัญญัติระหว่าง การเจรจา หลังจากนั้น ต้องนำผลการเจรจา (ร่างความตกลง) มาจัดรับฟังความเห็นประชาชนและศึกษาผลกระทบโดย หน่วยงานที่เป็นกลาง ก่อนการเสนอข้อความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อแสดงเจตนาผูกพัน” นายจักรชัยกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: