แห่พาลูกเข้าร.ร.นำร่อง-รอรับ'แท็บเล็ต' ครูเชื่อดีมากกว่าเสีย-สนับสนุนการเรียน นักการศึกษาจวกศธ.ผลาญงบฯ-ซื้อขยะ เหน็บรัฐบาลเด็กบ้านนอกไข่ยังไม่มีจะกิน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 20 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2548 ครั้ง

 

แม้จะยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการเดินหน้าโครงการแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งถูกมองว่ารัฐบาลยังไม่มีความพร้อมด้านองค์ความรู้ของบุคลากร รวมไปถึงขั้นตอนบริหารจัดการที่ชัดเจนต่อการแจกอุปกรณ์ชนิดใหม่ให้กับนักเรียน เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในภาคการศึกษาใหม่ ที่กำลังจะถึงในเดือนพ.ค.นี้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

 

พ่อแม่แห่พาลูกเข้าเรียนร.ร.นำร่องเพิ่ม

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สังคมให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่ผลวิธีการเรียนการสอนที่จะเกิดขึ้นจริงในโรงเรียนต่างๆ หลังการได้รับแจกเครื่องแท็บเล็ตจากรัฐบาล ปัจจุบันมีการนำร่องทดลองใช้ในบางโรงเรียน  เช่น ที่โรงเรียนอนุบาลสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ  ได้รับความร่วมมือจากบริษัท Intel ในการทดลองการเรียนการสอนจากเครื่องแท็บเล็ต ให้กับนักเรียนชั้น ป.1 และ ชั้น ป.4 เป็นเวลา 2 เดือน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เผยแพร่การเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนี้อย่างกว้างขวางจนกลายเป็นกระแสตื่นตัว ล่าสุดพบว่ามีผู้ปกครองให้ความสนใจนำลูกเข้าโรงเรียนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

 

ดร.นัฏฐนันท์ ปันสายนาค ผอ.โรงเรียนอนุบาลสามเสน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ  ว่า หลังจากสื่อต่างๆ นำเสนอข่าวการทดลองใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอนกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียน ทำให้โรงเรียนได้รับความสนใจผู้ปกครองเพิ่มมากขึ้นมาก โดยในปีการศึกษานี้ มีผู้ปกครองติดต่อนำเด็กเข้ามาเรียนในปีการศึกษาใหม่เพิ่มขึ้น จากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการนำเสนอข่าวการเป็นโรงเรียนนำร่องด้านการใช้แท็บเล็ตออกไปด้วย แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองเองก็ให้ความสนใจกับนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างมาก ซึ่งโรงเรียนอนุบาลสามเสนได้ทดลองการใช้แท็บเล็ตเป็นสื่อการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลา 2 เดือนก่อนจะปิดภาคการศึกษา 2554 โดยทดลองใช้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นละ 1 ห้อง

 

บริษัทขายเครื่องปูพื้นครูก่อนสอนเด็ก

 

ดร.นัฎฐนันท์เล่าย้อนไปถึงการเริ่มต้นโครงการนี้ว่า ก่อนหน้านี้ได้รับการติดต่อจาก สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน และ บริษัท Intel  เพื่อขอเข้ามาทดลองใช้แท็บเล็ตในโรงเรียน ซึ่งหลังจากที่ได้รับข้อมูลต่างๆ แล้ว โรงเรียนเห็นว่าเป็นประโยชน์จึงตอบตกลงทันที หลังจากนั้นบริษัท Intel ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบความพร้อมต่างๆ ของสถานที่ เช่นเรื่องของห้องเรียน และ ระบบอินเตอร์เน็ตว่าจะสามารถรองรับได้หรือไม่ ก่อนที่จะมีการเปิดอบรมให้กับคุณครูผู้สอน ซึ่งโรงเรียนได้ขอให้ทาง Intel จัดอบรมให้กับคุณครูทั้งโรงเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมกับครูทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าคุณครูควรจะมีความรู้ด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขั้น และจะต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคสมัยใหม่นี้ ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับจากคุณครูเป็นอย่างดี และทุกคนเริ่มมีเจตนคติที่ดีกับการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะคุณครุที่จะต้องนำเครื่องแท็บเล็ตไปใช้ในการเรียนการสอน การอบรมจัดแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเป็นการแนะนำความรู้เบื้องต้นในการใช้อุปกรณ์แท็บเล็ต ระยะที่สองจะเป็นการอบรมแบบเข้มข้น เพื่อให้ครูสามารถที่จะคิดในการนำเนื้อหาการเรียนการสอนเข้าในใช้ในเครื่องแท็บเล็ตให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เป็นอุปกรณ์สื่อการสอนที่ทันสมัยขึ้น

 

ชี้โลกเปลี่ยนโรงเรียนต้องเปลี่ยนตาม

 

สำหรับเหตุผลสำคัญของการตอบรับเพื่อเป็นโรงเรียนนำร่องการใช้เครื่องแท็บเล็ต ดร.นัฏนันท์กล่าวว่า เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีที่ทันสมัยจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษาก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้ และก้าวให้ทันกับยุคสมัย อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ในการทดลองสิ่งใหม่ๆ ย่อมจะต้องมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ได้ห่วงในเรื่องของปัญหาที่จะเกิดขึ้นนัก เพราะปัญหาเกิดเพื่อที่จะให้เรามองเห็นและหากทางแก้ไข ซึ่งเท่าที่ได้ไปประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะเห็นว่า ทางสพฐ. ได้เตรียมการรองรับกับปัญหาหลักๆ ไว้แล้ว เช่น การเตรียมการอบรมความรู้ด้านการใช้แท็บเล็ตให้กับศึกษานิเทศก์จังหวัดต่างๆ เพื่อให้ลงไปอบรมให้กับครูอีกทอดหนึ่ง หากเครื่องเสียก็ได้เตรียมการให้กรมอาชีวศึกษารับผิดชอบดูแล ในการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น

 

“สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการของโรงเรียนแต่ละแห่ง จะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้เครื่องแท็บเล็ต สามารถใช้ประโยชน์ในอย่างเต็มที่หรือไม่ ซึ่งหลังการทดลองใช้เครื่องแท็บเล็ตกับเด็กชั้น ป.1 และ ป.4 ของโรงเรียนแล้วมาตลอด 2 เดือน ได้รับรายงานว่าเด็กๆ สนใจและตื่นเต้นกับการเรียนมาก”

 

เชื่อหากจัดการดีปัญหาจะน้อย

 

ส่วนกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมเกี่ยวกับนโยบายนี้ โดยเฉพาะในประเด็นของความพร้อมและประโยชน์ที่จะได้รับสูงหรือหรือไม่ ดร.นัฏนันท์กล่าวว่า คิดว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของเรียนมากกว่า แท็บเล็ตมีประโยชน์อย่างมากกับผู้เรียน เนื่องจากทำให้เข้าใจบทเรียนได้ง่าย สร้างความตื่นตัวให้เด็กๆ ในการที่อยากจะเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้เด็กมองเห็นภาพ และจดจำได้ง่าย โดยเฉพาะสื่อที่เป็น Interactive เด็กๆ จะให้ความสนใจ ซึ่งถือว่าเป็นสื่อการเรียนที่เข้ามาช่วยเสริมบทเรียนได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามในประเด็นความเป็นห่วงของสังคม คิดว่าการบริหารจัดการของครูเป็นเรื่องสำคัญ ว่าจะสามารถทำให้เครื่องมือชนิดนี้เป็นไปตามจุดประสงค์ และได้ประโยชน์ตามที่เป้าหมายหรือไม่ เพราะครูจะยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสอน ไม่ใช่เครื่องแท็บเล็ต เพราะแท็บเล็ตไม่ใช่ทั้งหมดของเนื้อหาบทเรียน เด็กยังคงที่จะต้องมีวิชาการอื่นๆ เช่น วิชาพลศึกษา ศิลปะ หรืออื่นๆ ที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กับครู หรือเพื่อนๆ ดังนั้นจึงไม่คิดว่าแท็บเล็ตจะทำให้เด็กขาดสังคม ซึ่งเรื่องนี้ครูและผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแล จึงไม่อยากให้สังคมตื่นกลัวไปก่อนที่จะเห็นวิธีการเรียนการสอนที่แท้จริง ทั้งนี้ยอมรับว่าการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ก็ย่อมจะมีปัญหาบ้างแต่หากเมื่อพบปัญหาแล้วก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้หาทางแก้ไขปัญหาต่อไปได้

 

“การในเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องการเรียนการสอนน่าจะมีประโยชน์มากกว่าผลเสีย เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าเด็กคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว ในขณะที่ขณะนี้ประเทศไทยก็กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน น่าจะเป็นส่วนกระตุ้นให้ครูและนักเรียน รวมไปถึงในส่วนของการศึกษามีความตื่นตัวที่จะเสาะหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในการรองรับความก้าวหน้าใหม่ๆเหล่านี้” ดร.นัฏนันท์กล่าว

 

ระบุเด็กตื่นตัวอยากเรียนเพิ่ม

 

ด้าน นางสถาพร เจริญผ่อง หัวหน้างานวิชาการระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนอนุบาลสามเสน กล่าวว่า สำหรับการนำแท็บเล็ตมาใช้ในเชิงวิชาการนั้น ทางโรงเรียนได้เจ้าหน้าที่จากบริษัท Intel มาช่วยในการอบรมดูแลในเรื่องของระบบต่างๆ ขณะเดียวกันก็สอนครูในการนำเนื้อหา เกี่ยวข้องกับหลักสูตรเสริมมาใช้กับเครื่องแท็บเล็ต ซึ่งขณะนี้สพฐ.ก็มีเนื้อหาใน 5 วิชาหลักของเด็กอยู่แล้ว ซึ่งมีการนำจัดใส่เข้าไปในเครื่องแท็บเล็ต

นอกจากนี้ครูก็จะต้องหาสื่อการสอนเพิ่มเติมว่า ต้องการได้เนื้อหาอะไร อยากจะจัดทำอะไรลงไปในเครื่องแท็บเล็ตบ้าง โดยมีเจ้าหน้าที่ของ Intel เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือ และให้คำปรึกษา ซึ่งขณะนี้ครูอาจจะไปเสาะหาสื่อต่างๆ มาอาจจะต้องใช้วิธีการดาวน์โหลดลงเครื่องก่อน ใช้เป็นแอบพลิเคชั่น ในลักษณะของการสอนผ่านแท็บเล็ตแบบออฟไลน์

นอกจากนี้ ขณะนี้ทางโรงเรียนได้เตรียมที่จะจัดทำห้องอัจฉริยะภาพ ที่เปิดไว้สำหรับการเรียนการสอนสื่อเทคโนโลยีเหล่านี้โดยตรง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนในชั้นอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการแจกแท็บเล็ตให้เรียนเหมือนกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้ทดลองเรียนด้วย และอาจจะจัดให้เครื่องแท็บเล็ตที่ได้รับจากบริษัท Intel เป็นเครื่องมือสื่อการสอน ที่นักเรียนสามารถขอยืมไปใช้ได้เหมือนกับหนังสือในห้องสมุด เพื่อที่เด็กๆ จะได้ทดลองใช้เหมือนกัน ซึ่งคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อการศึกษามากขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของเนื้อหานั้นโรงเรียนจะได้ร่วมกับบริษัท Intel ในการพัฒนาความรู้ของครูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาถ่ายทอด และแนะนำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งตลอดการทดลองใช้แท็บเล็ตมา 2 เดือน พบว่าเด็กตื่นตัว ขณะที่ครูเองก็สามารถที่จะทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องการตรวจข้อสอบ การประเมินต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก

 

ป.1 เน้นเรียนแบบออฟไลน์

 

เมื่อลองมาสอบถามกับคุณครู ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องนำเครื่องแท็บเล็ตไปใช้กับการเรียนการสอนโดยตรงให้กับนักเรียน ปรากฎว่าได้รับคำตอบไม่แตกต่างกันนัก นั่นคือความสะดวกสบายในการเรียนการสอน และที่สำคัญเครื่องแท็บเล็ตเครื่องนี้สามารถดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ ให้หันมาสนใจบทเรียนได้เป็นอย่างดี

นางปิติจิตร ยี่สุ่นเทศ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/4 โรงเรียนอนุบาลสามเสน ซึ่งเป็นห้องทดลองในการใช้แท็บเล็ตเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะนำแท็บเล็ตมาใช้ในห้องเรียน ตนและเพื่อนครูได้รับการอบรมอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องแท็บเล็ตจากเจ้าหน้าที่ของบริษัท Intel ทำให้คุ้นเคยและสามารถใช้เครื่องเพื่อนำมาสอนเด็กๆ ได้ โดยในวันแรกที่มีการนำเครื่องแท็บเล็ตมาใช้ในห้องเรียนปรากฏว่าเด็กตื่นเต้นมาก กระตือรือร้นในการเรียน เช่นในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งโดยปกติแล้วครูจะสอนบทเรียนจากตำราเรียนตามเนื้อหาในหลักสูตร เด็กๆ จะต้องเรียนวิชานี้เหมือนกับการเรียนปกติทั่วไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทเรียน จากนั้นในช่วงบ่าย จึงจะนำเครื่องแท็บเล็ตมาให้เด็กทดลองใช้ ในการทำแบบฝึกหัดต่างๆ ตามแบบเรียนที่สอนไว้แล้ว ซึ่งที่ส่วนของครูเองจะมองเห็นเครื่องของเด็กนักเรียนทุกเครื่องว่าหน้าจอทำอะไรบ้าง ใครทำผิดทำถูกอย่างไร ซึ่งถือว่าสะดวกมาก และครูเองสามารถรู้ได้ว่าเด็กแต่ละคนไม่เข้าใจตรงไหน ทำให้สามารถประเมินการสอนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในส่วนของเด็กชั้น ป.1 นั้นการเรียนด้วยแท็บเล็ตจะเน้นไปที่การเรียนในแอพพลิเคชั่นแบบออฟไลน์มากกว่า เพราะข้อจำกัดด้านการพิมพ์ต่างๆ อย่างไรก็ตามเด็กๆ ก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

 

“วันแรกเด็กตื่นเต้นมาก ครูจะเริ่มสอนตั้งแต่วิธีการจับเครื่อง เปิดเครื่องที่ถูกวิธี การดูแลต่างๆ เด็กจะตั้งใจฟังสิ่งที่ครูสอนเพราะเขาอยากรู้ เด็กบางคนถึงกับใช้ผ้าเช็ดหน้าของตัวเองเช็ดหน้าจอแท็บเล็ตเพราะเขารู้สึกว่าเครื่องนี้เป็นของเขา เมื่อเราทดลองแค่ 2 เดือน ตอนที่ปิดเทอมแล้วเด็กจะไม่ได้ใช้แล้วเขายังบอกว่ายังอยากเรียนกับแท็บเล็ตอยู่เลย” คุณครูปิติจิตร กล่าว

 

ป.4 เพิ่มระบบออนไลน์เพื่อสืบค้นข้อมูล

 

ด้าน นางอติภา เกษมวัฒนา คุณครูพิเศษ ชั้น ป.4 โรงเรียนอนุบาลสามเสน กล่าวว่า สำหรับเด็กชั้น ป.4 การเรียนการสอนจะเข้าสู่ในระดับที่ยากขึ้นมา โดยจะมีการใช้ระบบออนไลน์ในการสืบค้นข้อมูลด้วย ซึ่งครูจะให้โจทย์กับเด็กในการค้นหาข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการเรียนการสอนให้เด็กใช้โปรแกรมเพาเวอร์พอยท์ ในการนำเสนอผลงานต่างๆ ซึ่งเด็กๆ จะต้องเรียนรู้วิธีการทำงานของโปรแกรมนี้ เพื่อใช้นำเสนอผลงาน เช่น การทำโจทย์ให้เด็กนำเสนอการแนะนำตัวเองผ่านโปรแกรม Power Point ซึ่งจะต้องใช้แท็บเล็ตถ่ายรูปเพื่อนำมาใช้ในงาน ปราฎว่าเด็กสนุกสนานกับการทำงานส่งครูมาก ทำให้งานออกมาน่าสนใจและมีรูปแบบสร้างสรรค์ในแบบต่างๆ มากมาย

 

“ประเด็นสำคัญในการเข้าสู่โลกออนไลน์ของเด็กๆ คิดว่าครูกับผู้ปกครองจะต้องช่วยกันแนะนำและให้ความรู้กับเด็ก ในการที่จะให้เด็กเลือกใช้สื่อที่เหมาะสม เพราะอย่างไรเราก็หลีกเลี่ยงการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ของเด็กๆไม่ได้อยู่แล้ว” นางอติภากล่าว

 

แนะพ่อแม่สอนไม่ให้เด็กฟุ้งเฟ้อ

 

เมื่อถามว่าเมื่อการใช้แท็บเล็ตได้สร้างความรู้สึกสนุกสนานให้กับเด็ก แล้วจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้สึกฟุ่มเฟือยกับอุปกรณ์เหล่านี้หรือไม่ ดร.นัฏนันท์กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กคิดแบบนั้น เพราะสิ่งสำคัญต้องอยู่ที่การดูแล คอยให้คำแนะนำของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู เพื่อให้เด็กสามารถเลือกบริโภคสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเขาได้ โดยเฉพาะการเริ่มต้นปลูกฝังให้ความรู้ตั้งแต่เด็กๆ และควรจะต้องทำในทุกจุด เพราะแท้จริงแล้วแท็บเล็ต ก็เป็นเพียงเครื่องมือสื่อการสอนเสริมชนิดหนึ่งเท่านั้น หนังสือ ตำราเรียน และครูผู้สอนยังคงเป็นองค์ประกอบหลักของการเรียนการสอนอยู่เช่นเดิม ดังนั้นการสอนให้เด็กใช้ประโยชน์เครื่องเหล่านี้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

“คิดว่าปัจจัยสำคัญคือผู้ปกครองและครู ที่จะให้ความรู้กับเด็กๆ ในการเลือกใช้ซึ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน การพูดคุยระหว่างครูกับผู้ปกครองก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะบอกสอนหรือดูแลลูกหลานไม่ให้หลงฟุ้งเฟ้อกับสิ่งเหล่านี้” ผอ.กล่าวในตอนท้าย

 

นักการศึกษาจี้ ศธ. กลับไปรื้อ IPSTAR อินเตอร์เนตโรงเรียน

 

อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่งของนักการศึกษา ซึ่งทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัด กลับแสดงทรรศนะที่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดย นายวันชัย พุทธทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกภาคใต้กล่าวถึงนโยบายนี้ว่า ส่วนตัวตนก็ไม่ได้รู้สึกขัดข้องกับการเดินหน้านโยบายนี้ แต่อยากจะตั้งคำถามไปยังกระทรวงศึกษาธิการว่า คิดว่าจะสามารถดำเนินการโครงการแท็บเล็ตไปได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ เพราะปัจจุบันเท่าที่ทราบโครงการก่อนหน้านี้ คือ โครงการ IPSTAR ที่กระทรวงศึกษาธิการเคยจัดทำไว้ คือให้ทุกโรงเรียนมีอินเตอร์เน็ตใช้ และต้องเสียเงินจ่ายให้กับบริษัทที่จัดทำโครงการเหล่านี้ทุกเดือน ปัจจุบันยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ยังไม่มีใครพูดถึงและเป็นสิ่งที่เงียบหายไป เพราะถ้าหากเรายังต้องจ่ายค่าบำรุงอินเตอร์เน็ตในโรงเรียนทุกเดือนอยู่อย่างนี้ ก็เป็นที่น่าเสียดายที่จะต้องเสียงบประมาณไปฟรีๆ และเกรงว่าโครงการนี้ก็จะเหมือนกันคือต้องเสียงบประมาณไปโดยไม่ได้ประโยชน์

 

ไม่มีงบซื้อไข่ให้เด็กกินแต่มีเงินซื้อแท็บเล็ต

 

นายวันชัยกล่าวว่า สำหรับโครงการแท็บเล็ต หากเป็นการใช้ในโรงเรียนในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ก็อาจจะใช้ได้ดี แต่หากเป็นโรงเรียนต่างจังหวัดตนไม่แน่ใจ เพราะบางโรงเรียนไม่เพียงแต่ในพื้นที่ห่างไกลเลย โรงเรียนบางแห่งแถบชานเมือง สัญญาณโทรศัพท์ยังแทบจะไม่มี แล้วเชื่อได้อย่างไรว่าจะมีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากมีการแจกแท็บเล็ตออกไปแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จะกลายเป็นขยะ เหมือนกับโครงการ IPSTAR ที่เคยทำมานั่นเอง

นอกจากจากนี้ในประเด็นที่นักการศึกษายังคงมีคำถามอีกก็คือเรื่องของนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนหมื่นกว่าโรงเรียนเพื่อให้มาควบรวมกับโรงเรียนใหญ่ โดยให้เหตุผลว่า เปิดโรงเรียนไปแล้วไม่คุ้มทุน โรงเรียนไม่มีคุณภาพ และทางกระทรวงศึกษาธิการเองก็ไม่มีงบจะไปดูแล ซึ่งเหตุผลนี้เป็นที่น่าสงสัยว่าแล้วทำไมถึงมีงบประมาณจำนวนมากไปจัดซื้อแท็บเล็ตแจกเด็กชั้น ป.1

 

“เด็กนักเรียนจำนวนมากในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อย่างทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี จะได้กินไข่ยังไม่มีปัญญาซื้อเลย และเด็กนักเรียนอีกจำนวนมากยังไม่มีข้าวกินให้อิ่มท้องได้ ทำไมกระทรวงศึกษาไม่คิดตรงนี้ แต่กลับมีงบฯ ไปซื้อแท็บเล็ต คำถามเหล่านี้รัฐบาลต้องตอบให้ได้” นายวันชัยกล่าว

 

ถ้ายังไม่พร้อมก็เหมือนซื้อขยะมาให้นักเรียน

 

นายวันชัยกล่าวต่อว่า ตนไม่ได้ขัดข้อง เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีแท็บเล็ตมีประโยชน์กับเด็กนักเรียน แต่ควรจะมาในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม นั่นคือกระทรวงศึกษาธิการจะต้องจัดหาสื่อการเรียนการสอนแบบพื้นฐานให้เด็กนักเรียนทั้งประเทศได้สมบูรณ์เสียก่อน เพราะปัจจุบันเด็กๆ ยังขาดแคลนอีกจำนวนมาก ซึ่งเห็นว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้ เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก หากแจกให้เด็กยังไม่ทันที่จะได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เทคโนโลยีใหม่ก็จะมาแล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถจะทำตามได้ทันแน่ๆ และนโยบายนี้ก็จะเหมือนกับนโยบายขายฝันอื่นๆ ที่ท้ายที่สุดแล้วจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ยิ่งมาถึงตอนนี้ที่มีการเดินหน้าเตรียมแจกเครื่องแท็บเล็ตแล้วก็ยิ่งทำให้รู้สึกหมดหวัง

เพราะเท่าที่ผ่านมาเห็นหลายๆ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ออกมาแล้ว ก็ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ไม่เข้าท่า ซึ่งความเห็นของนักการศึกษามองว่า จริงๆ แล้วควรจะยุบกระทรวงศึกษาธิการไปด้วยซ้ำ เพราะทำงานไม่คุ้มทุน มีรายงานการวิจัยจำนวนมากบอกอย่างชัดเจนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมางานของกระทรวงศึกษาธิการล้วนไม่ผ่านการประเมิน 

 

“ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้ในความเห็นของตนก็คือ กระทรวงศึกษาธิการควรจะอยู่เฉยๆ แล้วกระจายอำนาจออกไปให้ชุมชน ได้จัดการเรื่องการศึกษาเองจะดีกว่า เพราะถึงแม้ในประเทศไทยจะมีนักวิชาการ นักการศึกษาเก่งๆ จำนวนมากแต่ไม่ได้เข้าไปมีบทบาทในการออกนโยบาย จึงทำให้ระบบการศึกษาไทยมีปัญหามาโดยตลอด และยิ่งนโยบายล่าสุดการแจกแท็บเล็ตกับเด็ก คิดว่าในที่สุดเมื่อไม่ได้ใช้คนไทยก็จะต้องเสียงบประมาณในการซื้อขยะมาให้เด็กๆ เหมือนเดิม” นายวันชัยกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: