‘หม่อมอุ๋ย'ชี้จำนำข้าวพอกหนี้ท่วม หวั่นปี62ทะลุเพดาน-ประเทศเจ๊ง แฉช่องโกงตั้งแต่ซื้อยันขายตปท.

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 21 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1678 ครั้ง

 

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เข้มข้น อันเนื่องมาจากผลพวงของนโยบายที่กล่าวได้ว่า ก่อให้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน หนำซ้ำผลประโยชน์ที่ควรจะตกถึงมือชาวนาก็มีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณเงินนับแสนล้านที่ทุ่มลงไป

 

มิพักต้องกล่าวถึงว่า โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดกำลังสร้างภาระทางงบประมาณและก่อหนี้สาธารณะ ไม่ใช่ว่าไม่มีการเตือน แต่รัฐบาล ชาวนาบางกลุ่ม และผู้สนับสนุนรัฐบาล อาจมองเหตุผลจากฝ่ายที่คัดค้านว่ามีการเมืองแอบแฝง โดยหลงลืมไปว่าตนเองก็กำลังมองทุกอย่างเป็นเมืองเช่นกัน แต่เสียงเตือนที่มาจากหน่วยงานของภาครัฐเองก็กลับถูกเพิกเฉยไปด้วย

 

เพื่อเป็นการกระตุกเตือนกันอีกครั้ง ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดอภิปรายหัวข้อ “นโยบายจำนำข้าว เจ๋ง เจ๊า เจ๊ง?” โดยมีวิทยากรคือ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และ ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรถึงกับกล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดกำลังจะกลายเป็นโครงการที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

 

ดร.นิพนธ์ระบุจำนำข้าวเจ๊งสะสม แถมทุจริตทุกขั้นตอน

 

 

ดร.นิพนธ์กล่าวว่า หากโครงการนี้จะมีความ ‘เจ๋ง’ อยู่ ก็เป็นความเจ๋งที่เกิดแก่ชาวนาที่มีฐานะและโรงสี เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์เต็ม ๆ รวมไปถึงผู้ส่งออกข้าวในประเทศกัมพูชา อินเดีย และเวียดนาม ที่มีความสุขจากการที่ราคาข้าวสูงขึ้นและคู่แข่งสำคัญเช่นไทยหายไปจากตลาด ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ไม่เดือดร้อน เพราะข้าวสารไม่ได้แพงขึ้น ซึ่งอาการเจ๋งแบบนี้ หมายความว่ากำลังมีคนกระเป๋าฉีกและสร้างความเสียหายต่อวงการข้าวไทย

 

 

                    “มันเจ๊งสะสมไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ตอนจดทะเบียน ปรากฏว่า มีการปลูกข้าวพันธุ์อ้อย ข้าวพันธุ์มัน  คือเอาพื้นที่มันสำปะหลัง พื้นที่อ้อย มาจดทะเบียนเป็นข้าว เวลาทำประชาคม ผู้ใหญ่บ้านก็นั่งหันหลังบ้าง มันเป็นทั้งระบบครับ เพราะเกรงอกเกรงใจกัน”

 

 

ดร.นิพนธ์อธิบายว่า เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน เช่น การรับใบประทวนของเกษตรกร ซึ่งจะกำหนดว่า แต่ละรายจะจำนำได้เท่าไร สมมติชาวนาคนหนึ่งมีพื้นที่ 10 ไร่ในจังหวัดแห่งหนึ่ง เวลาคำนวณจะใช้พื้นที่เฉลี่ยของนาในเขตชลประทาน กับนาในเขตที่พึ่งพาน้ำฝนทั้งจังหวัดได้ 500 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าชาวนาคนหนึ่งมีที่ดิน 10 ไร่ ดินดีและอยู่ในเขตชลประทานทำให้มีผลผลิต 800 กิโลกรัมต่อไร่ เท่ากับมีผลผลิตรวม 8 ตัน แต่จะจำนำได้เพียง 5 ตัน ที่เหลือก็นำไปขายในท้องตลาด

 

 

                   “แต่ชาวนาที่ไหนจะไปขายในท้องตลาด ในราคาที่ต่ำว่าตันละ 15,000 บาท เกษตรกรที่ฉลาดก็ขายที่เหลือต่อให้ญาติหรือโรงสี เฉพาะใน 26 จังหวัดภาคกลาง ผลผลิตส่วนเกินประมาณ 1.3 ล้านตัน จะเห็นว่ามันเริ่มสะสม แทนที่จะจำนำข้าวตรงไปตรงมา ได้ข้าวจำนวนหนึ่ง จะเห็นว่าข้าวนาปรังตอนแรกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประมาณว่าไม่เกิน 12 ล้านตัน จำนำไปจำนำมาโป่งเป็น 14.8 ล้านตัน มาจากไหน มันมาจากตรงนี้”

 

'โรงสี-จนท.รัฐ-เซอร์เวเยอร์’ จับมือทุจริต

 

ดร.นิพนธ์อธิบายต่อว่า สมมติโรงสีสีข้าวได้วันหนึ่ง 1,000 เกวียน แต่วันหนึ่งซื้อมา 1,500 เกวียน แต่จะออกใบประทวนให้ชาวนาเพียง 1,000 เกวียน อีก 500 เกวียนไม่ออกให้ เป็นเหตุให้ชาวนารับเงินช้า ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นแล้ว ชาวนาบางรายต้องรอคิว 7 วันบ้าง 10 วันบ้าง เพราะฉะนั้นชาวนาก็จะเลือกขายข้าวให้โรงสีไปเลย โดยไม่รอใบประทวน ชาวนาก็จะถูกโรงสีกลั่นแกล้ง และโรงสียังสามารถหาซื้อใบประทวนหรือใบรับรองของเกษตรกรได้ หรือมีชาวนานำข้าวมาขายให้โรงสี เพราะต้องการเงินสด แต่ยังมีใบประทวนอยู่ ก็เอาไปขายให้โรงสีต่อได้อีก

 

เมื่อโรงสีได้ข้าวมาและสีเสร็จเรียบร้อย รัฐบาลก็กำหนดว่า รัฐบาลจะจ่ายค่าจ้างให้โรงสี 500 บาท สำหรับค่าขนส่ง ค่ากระสอบ ฯลฯ โดยคิดจากปริมาณข้าวที่สีได้เท่าไหร่ ก็คิดเป็นตัวเงินจ่ายคืนให้ และโรงสีก็ได้ข้าว

 

 

                  “โรงสีทำอะไรบ้างในระบบนี้ ปรากฎว่าโรงสีกับผู้ส่งออกมีความสัมพันธ์กัน โดยรัฐบาลขายข้าวเก่าให้ผู้ส่งออกด้วยวิธีการต่าง ๆ ตัวเลขที่เปิดเผยคือ 1.46 ล้านตัน แต่ในทางปฏิบัติอาจจะมีมากกว่านั้น เราไม่รู้ เวลาขายโรงสีไม่อยากเอาข้าวเก่าไปส่ง เพราะข้าวเก่าที่อยู่ในโกดังรัฐบาลคุณภาพไม่ดี จึงเกิดเหตุการณ์ที่มีนายหน้าไปหาผู้ส่งออก แล้วก็ไปหาโรงสี ผู้ส่งออกก็ขอให้โรงสีทำเปาเกาคือผู้ส่งข้าวแทน

 

 

                    “แทนที่ผู้ส่งออกจะเอาข้าวเก่าออกจากโกดัง ไม่เอา ก็ให้โรงสีเอาข้าวที่ต้องส่งเข้าโกดังรัฐบาลมาส่งผู้ส่งออกโดยตรง แล้วก็มีกระบวนการเปลี่ยนเอกสารจากข้าวเก่าเป็นข้าวใหม่ แทนที่จะเอาข้าวใหม่ส่งเข้าโกดังของรัฐบาลซึ่งต้องใช้เวลา 7 วัน 8 วัน เพราะโกดังมันแน่นมาก ก็ไม่ต้อง โรงสีส่งข้าวให้ส่งผู้ส่งออกเลย แล้วผู้ส่งออกก็ทำเอกสารว่าโรงสีได้ส่งข้าวใหม่เข้าในโกดังไปแล้ว แต่จริงๆ ส่งให้ผู้ส่งออก ที่โกดังก็เปลี่ยนเอกสารจากข้าวเก่าเป็นข้าวใหม่ แต่ตัวข้าวเป็นข้าวเก่าอยู่ ผู้ส่งออกได้ข้าวใหม่ไป แต่ข้าวเก่าอยู่ที่โกดัง มันเจ๊งสะสม ผู้ส่งออกซื้อข้าวใหม่ในราคาข้าวเก่า รัฐบาลก็เจ๊งอีกระดับหนึ่ง ประชาชนขาดทุนลูกเดียว”

 

 

แม้ว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบข้าวเข้าโกดัง โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐและเซอร์เวเยอร์คอยดูแล แต่ในความเป็นจริง คือทุกฝ่ายในกระบวนการต่างร่วมมือกัน หนึ่งคือการชั่งน้ำหนักไม่ครบตามที่กำหนด เช่น กระสอบหนึ่งขาดไปสองสามกิโลกรัม สอง-แทนที่จะส่งข้าวที่คุณภาพดีให้รัฐ แต่กลับเอาข้าวที่ไม่รู้แหล่งมาให้ ซ้ำยังเป็นข้าวที่คุณภาพต่ำ แล้วจ่ายเงินสินบนให้แก่เซอร์เวเยอร์และเจ้าหน้าที่ ถามว่ารัฐบาลสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ดร.นิพนธ์กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลจะตรวจจริง สามารถตรวจได้ แต่เวลารัฐบาลไปตรวจไม่ได้รื้อทั้งโกดัง ทำให้การตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพและเปิดช่องให้ทุจริต

 

เมื่อข้าวอยู่ในโกดังกลางแล้วก็ไม่มีอะไรรับประกันได้อีกว่าข้าวจะไม่หาย การที่ข้าวหายไปได้ ดร.นิพนธ์ บอกว่าเป็นเพราะผู้มีอำนาจเอาออกไปขายก่อน เมื่อรัฐบาลต้องการข้าวจึงค่อยซื้อกลับเข้ามาใส่ในโกดัง ซึ่งไม่มีใครตรวจสอบได้เนื่องจากมีโกดังจำนวนมาก

 


 

งุบงิบทำจีทูจี เปิดช่องนายหน้ากินส่วนต่าง

 

 

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศว่า จะขายข้าวในแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ดร.นิพนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดข้าวเป็นตลาดที่มีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากข้าวในตลาดโลกมีสูงถึง 300 กว่าล้านตัน แต่ปริมาณซื้อขายมีเพียง 7-8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หมายความว่า

 

ประเทศที่ซื้อข้าวรายใหญ่ ๆ อยู่ในเอเชีย คือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีนเป็นตัวอย่างที่รัฐบาลบอกว่า จะทำสัญญาเอ็มโอยู ขายข้าวให้ 3 ปี ปีละ 5 ล้านตัน ถ้าจริง วันนี้ราคาข้าวในตลาดโลกต้องพุ่งแล้ว เพราะข้าวเป็นตลาดที่บางมาก ถ้ามีคนซื้อรายใหญ่ขึ้นมารายหนึ่ง ราคาจะกระเพื่อมทันที เหมือนในปี 2551 อินเดียประกาศว่าจะไม่ส่งออก แล้วฟิลิปปินส์ก็ประกาศว่าจะซื้อ 2 ล้านตัน ราคาข้าวพุ่งทันที ดังนั้น ที่รัฐบาลบอกว่าจีนจะซื้อ 5 ล้านตัน ถ้าจริงราคาต้องพุ่งแล้ว แต่วันนี้ไม่ ทำไม...ก็ต้องถามรัฐบาล

 

 

                    “แล้วจีทูจี ระบบคือทำสัญญาล่วงหน้าและบอกว่าจะซื้อในราคาตลาดโลก ซึ่งราคาตลาดโลกไม่ใช่ราคาที่ประเทศไทยคุย ตอนทำรับจำนำเราคุยว่าว่าราคาจะประมาณ 800 เหรียญขึ้นไป แต่ราคาตลาดโลกตอนนี้แค่ 500 กว่าเหรียญเอง แปลว่าเราขาดทุนแน่นอน”

 

 

อีกทั้งการขายข้าวแบบจีทูจียังเป็นอีกช่องทางที่จะปล่อย ‘นายหน้า’ เข้ามาแสวงหาประโยชน์ เนื่องจากทางการไทยไม่อยากขายข้าวราคาถูก ขณะที่ผู้ซื้อก็ไม่ต้องการซื้อข้าวราคาแพงกว่าที่เป็นจริง เนื่องจากจะไม่สามารถตอบคำถามคนในประเทศได้ เมื่อการค้าขายระหว่างรัฐต่อรัฐต้องตรงไปตรงมา การจะให้ผลประโยชน์แก่อีกฝ่ายจึงทำไม่ได้ แต่ทำได้ถ้าผ่านนายหน้าที่เป็นเอกชนของทั้งสองประเทศ

 

 

                 “เพราะฉะนั้นเวลาซื้อขายจีทูจีแบบนี้ ข้อมูลจึงเป็นความลับตลอดเวลา ไม่มีใครกล้าเปิดเผย ทางต่างประเทศก็ไม่กล้าซื้อข้าวแพง เพราะในทางปฏิบัติจะมีส่วนต่างเข้ากระเป๋านักการเมือง ทางเราก็ไม่อยากขายข้าวถูก ทำอย่างไร ก็ต้องมีนายหน้ากินทั้งสองข้าง เวลาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีราคาจึงเปิดไม่ได้ ซึ่งเป็นเกือบทุกรัฐบาล ตอนเจรจาปิดราคาไม่เป็นไร แต่ทันทีที่ข้าวลงเรือแล้วต้องประกาศราคา เพราะทั้งหมดนี้เป็นเงินภาษีของประชาชน รัฐบาลจึงต้องประกาศราคาว่าเท่าไหร่ กำไร-ขาดทุนเท่าไหร่ แล้วประวัติศาสตร์การค้าแบบจีทูจีของไทย เก่งที่สุดมีอยู่ปีหนึ่งขายได้ 8 แสนตัน ตอนนี้เรามี 12 ล้านตัน จะขายได้หมดเมื่อไร่” ดร.นิพนธ์กล่าว

 

 

 

 

                 “ข้าราชการไทยไม่ใช่พ่อค้าที่เก่งนะครับ พ่อค้าเขาตรวจสอบตลาดข้าวตลอดเวลา ข้าราชการข้อมูลไม่มีทางทัน อาจบิดเบือนด้วย เพราะข้อมูลในตลาดข้าวสลับซับซ้อนมาก สมมติมีข้าวว่าที่อินเดียมีเรือมารับข้าวเท่านี้ลำ พ่อค้าไม่เชื่อนะครับ เขาต้องส่งคนไปเช็คที่อ่าวเลยว่า มีเรือมารับกี่ลำจริง ๆ การมีข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แล้วข้าราชการไม่มีทางมีข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ แล้วพอรู้ข้อมูลแล้วก็ต้องรีบตัดสินใจ ถ้าตัดสินใจช้าก็พลาดโอกาส ด้วยเหตุนี้พ่อค้าส่งออกจึงไม่เก็บข้าวไว้ เขารอเก็งกำไร พอคำสั่งได้ราคาดี เขาจึงจะซื้อ แล้วรัฐบาลไทยเก่งมาจากไหนครับถือไว้ 10 กว่าล้านตัน”

 

 

จากการทุจริตในทุกขั้นตอน และการไม่สามารถระบายข้าวออกไปได้ ดร.นิพนธ์ ประเมินว่า หากมองโลกในแง่ดีประเทศไทยจะขาดทุนประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ถ้าในแง่ร้ายสิ่งที่ ดร.นิพนธ์อธิบายมาทั้งหมดจะเป็นการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยขาดทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี จากเงินที่ใช้ซื้อข้าวประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท

 

 

หม่อมอุ๋ยระบุจำนำข้าวทำประเทศเจ๊ง 2 แสนล้าน

 

 

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า โครงการนี้ไม่เจ๊ง แต่จะทำให้ประเทศนี้เจ๊ง และย้ำว่าสิ่งที่ ดร.นิพนธ์ อธิบายมานั้นถูกต้องทั้งหมด

 

 

              “ทีนี้ ที่อาจารย์นิพนธ์คำนวณว่า น่าจะขาดทุนในที่สุด 1.7 แสนล้านบาท คำนวณจากต้นทุนที่รับจำนำมาหักกับราคาที่จะขายได้ แต่ผมคิดอีกแบบหนึ่ง รัฐบาลมีคณะกรรมการชำระบัญชีคอยตรวจว่า ขายแล้วขาดทุนเท่าไหร่ บังเอิญว่าเขามีการชำระบัญชีส่วนหนึ่งของข้าวในโครงการรับจำนำฤดูกาลปี 2554 และ 2555 แล้ว”

 

 

ผลพบว่าการจำนำข้าวฤดูผลิต 2554/2555 ข้าวนาปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554–กุมภาพันธ์ 2555 คิดเป็นปริมาณข้าว 6.95 ล้านตัน บวกกับปริมาณข้าวนาปรัง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555–ตุลาคม 2555 อีก 14.69 ล้านตัน รวมเป็น 21.64 ล้านตัน ทั้งหมดนี้ใช้เงินรับจำนำตลอดฤดูกาลทั้งสิ้น 330,000 ล้านบาท

 

คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติไว้ว่า ภายหลังโครงการรับจำนำข้าวผ่านไป 3 เดือน ให้คณะกรรมการดังกล่าวเริ่มประเมินความสูญเสียที่เกิดขึ้น ดังนั้น คณะกรรมการจึงเริ่มประเมินโครงการรับจำนำข้าวในเดือนพฤษภาคม 2555

 

จากการประมาณการ ณ วันที่ 31 พ.ค. 2555 เมื่อคิดจากต้นทุนทั้งหมดของโครงการรับจำนำข้าวเฉพาะข้าวนาปีปริมาณ 6.95 ล้านตัน เช่น เงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์จ่ายเพื่อรับจำนำข้าว รายจ่ายในการแปรสภาพข้าว รายจ่ายการเก็บข้าวสาร ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากหนี้คงค้างจนถึง 31 พฤษภาคม 2555 เป็นต้น หักด้วยรายรับจากการขายข้าวส่วนที่ขายออกไปแล้ว และส่วนของข้าวสารที่ยังไม่ได้ขายออก แต่คิดเสมือนว่าขายออกในราคาตลาด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ปรากฏว่าขาดทุนประมาณ 32,000 ล้านบาท

 

 

                 “แต่ผมไปดูประวัติในอดีต มันไม่มีทางขาดทุนแค่ 32,000 ล้านหรอก เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งเป็นจริงมาตลอด ปีใดที่รับจำนำข้าวเกิน 5 ล้าน กว่าจะขายหมดใช้เวลา 3 ปี แล้วปีนี้รับจำนำมา 21 ล้านตัน”

 

 

จากการประมาณการเพิ่มเติมของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เมื่อบวกด้วยดอกเบี้ยอีกประมาณ 4,500-5,000 ล้านบาท คุณภาพและน้ำหนักของข้าวที่ลดลงปีแรก 2 เปอร์เซ็นต์ และปีที่ 2 อีก 10 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าข้าวที่จะขายได้ทั้งจำนวนน่าจะลดลงอีก 7,000-8,000 ล้านบาท บวกด้วยค่าเก็บข้าวสารในโกดังอีกจำนวนหนึ่ง ตัวเลขความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวจริงอย่างต่ำน่าจะอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท

 

เมื่อนำมาเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่า ถ้าข้าวนาปี 6.95 ล้านตัน ขาดทุน 45,000 ล้านบาท ข้าวนาปีบวกนาปรับ 21.64 ล้านตัน จะขาดทุนประมาณ 140,000 ล้านบาท และถ้าจำนวนข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้านตันตามที่รัฐบาลกล่าวไว้ ตัวเลขขาดทุนจะพุ่งขึ้นไปถึง 210,000 ล้านบาท

 

 

จำนำข้าวดันหนี้สาธารณะพุ่งทะลุเพดาน

 

 

                “เราจึงเตือนว่าหยุดเถอะ ประเทศมันเสียหาย ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำโครงการแล้วเสียหายเป็นแสนล้านแบบนี้ เราออกมาเตือนสติ ทำอีกจะเสียอีก ที่ไหนได้ รัฐบาลบอกว่าปีหน้าจะรับจำนำอีก 33 ล้านตัน โจทย์ผมเปลี่ยนแล้ว ไม่เคยมีอะไรเสียหายขนาดนี้”

 

 

สิ่งที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ในฐานะอดีตรมว.คลัง วิตกกังวลคือ มูลค่าหนี้สาธารณะของไทย ที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร อธิบายว่า ณ สิ้นปี 2555 หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 49.9 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี เมื่อบวกกับเงินกู้นอกงบประมาณที่รัฐบาลวางแผนว่าจะกู้มาเพื่อใช้ดำเนินโครงการต่าง ๆ คือกองทุนประกันภัย 50,000 ล้านบาท, โครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวอีก 680,000 ล้านบาท เมื่อคำนวณถึงปี 2562 มูลค่าหนี้สาธารณะของไทยจะเพิ่มเป็น 53.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นปัญหา เนื่องจากเพดานหนี้สาธารณะที่ควรจะเป็น กำหนดไว้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลข 53.7 เปอร์เซ็นต์นี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เป็นการคิดบนการคาดการณ์แล้วว่า จีดีพีจะขยายตัวปีละ 4.5 เปอร์เซ็นต์ และงบประมาณไม่ขาดดุลอีกเลย

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนี้สาธารณะ 53.7 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีนี้ ยังไม่ได้นับรวมความสูญเสียจากโครงการรับจำนำข้าว ดังนั้น เมื่อบวกตัวเลขขาดทุนจากการจำนำข้าวปี 2554/2555 จำนวน 140,000 ล้านบาท, ตัวเลขการขาดทุนจากการจำนำข้าวปี 2555/2556 อีก 210,000 ล้านบาท และใช้ตัวเลขนี้คูณด้วย 6 ปีหมายถึงการจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2556-2562 ก็จะได้ตัวเลขขาดทุนอีก 1,260,000 ล้านบาท บวกรวมเข้าไปกับหนี้สาธารณะเดิม อัตราหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีจาก 53.7 เปอร์เซ็นต์ ก็จะพุ่งเกินเพดานไปอยู่ที่ 61 เปอร์เซ็นต์

 

 

              “ที่รัฐบาลบอกว่า จะไม่จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอีก ผมไม่ค่อยเชื่อ เพราะสี่ห้าปีนี้ขาดดุลมาตลอดจนเคยตัว แล้วยิ่งอีกหน่อยสามารถกู้นอกงบประมาณได้ ขาดดุลนิดหนึ่งก็มีโครงการประชานิยมมาเพิ่ม ผมก็ใส่เพิ่มอีกปีละ 1 แสนล้านบาท เข้าไปอีก 7 ปี ทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นเป็น 65.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมว่าอันตรายแล้ว” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

 

 

ทีมเศรษฐกิจมือไม่ถึง มีวาระซ่อนเร้น คนในหาประโยชน์

 

 

               “ในที่สุดจะไม่มีใครรักษาวินัยการคลัง ผู้ที่บริหารประเทศลักษณะนี้ เมื่อเกิดอย่างนี้แล้วไม่มีใครทักท้วงได้ยิ่งเคยตัว จะนำไปสู่ประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วความกลัวเรื่องหนี้ต่อจีดีพีที่สูงขึ้น มันเริ่มเป็นความกลัวที่โลกกลัวแล้ว ในที่สุดจะสะเทือนทั้งเงินเฟ้อและค่าเงิน เพราะเวลาที่หนี้ เพิ่มมันจะมีผลกระทบต่อค่าเงิน เราคงไม่อยากอยู่ในประเทศที่ค่าเงินเสื่อมลงทุกเดือน ทุกอาทิตย์ แต่อยากเห็นค่าเงินประเทศเรามีเสถียรภาพพอควร”

 

 

ความตั้งใจช่วยเหลือชาวนา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เป็นเรื่องดี แต่ต้องช่วยแบบเป็นมวย

 

 

                 “ผมอยากขมวดแบบคนมองการเมือง ผมคิดว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้คิดไม่เป็น ถ้าเราจะช่วยชาวนา ต้องดูว่าวิธีของรัฐบาลเดิม ผมไม่อยากเอ่ยชื่อ เดี๋ยวจะหาว่าเชียร์ ไม่ได้เชียร์หรอก วิธีเดิมเป็นอย่างไร ถ้าจะทำใหม่ต้องทำได้ดีกว่า ไม่ใช่มากกว่า วิธีเดิมคือประกันรายได้ ชาวนาที่จดทะเบียนเข้าใจว่าประมาณ 3.9 ล้านครัวเรือน วิธีประกันรายได้ทุกครัวเรือนที่จดทะเบียนได้หมด สมมติถ้าผลิตข้าวได้มาก 5 ตัน ก็ได้ส่วนหนึ่ง 10 ตันก็ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะไปสุดที่ 25 ตัน ครอบครัวไหนถ้าผลิตไม่ถึง 25 ตันก็ได้ตามจำนวนนั้น ส่วนชาวนาที่ฐานะดีผลิตข้าวได้มากกว่า 25 ตัน ก็ได้แค่ 25 ตัน ผมเข้าใจว่ามีมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน ส่วนอีกประมาณ 2 เกือบ 3 ล้านครัวเรือน เป็นกลุ่มที่ผลิตข้าวได้ต่ำกว่า 25 ตัน วิธีนี้แปลว่าเงินถึงมือชาวนา ต่างกันบ้างตามความสามารถ แต่ชาวนาที่ฐานะดีแล้วได้ถึงจุดหนึ่งต้องหยุด ทำให้ความแตกต่างระหว่างชาวนารวยกับชาวนาจนจะไม่ต่างกันมาก และใช้เงินประมาณแค่ 6 หมื่นกว่าล้านบาท”

 

 

ขณะที่รัฐบาลนี้ใช้เงิน 140,000 ล้านบาท ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ตั้งคำถามว่า ถึงมือชาวนาเท่าไหร่ เมื่อรวมผลต่างระหว่างราคาที่รับจำนำกับราคาที่ขาย 78,000 ล้านบาท อีก 62,000 ล้านบาทเป็นสิ่งที่สูญไป 78,000 ล้านบาท ก็ถึงชาวนาไม่เต็มจำนวน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คาดว่าน่าจะถึงมือชาวนาเต็มที่แค่ 60,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีชาวนาอยู่ 840,000 ครอบครัว ที่ผลิตข้าวได้ 50 ตันขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ชาวนารายย่อยกลับได้น้อย บางรายจำนำไม่ทัน

 

 

                   “ประเด็นคือทำทั้งทียังถึงมือชาวนาไม่ทั่วกัน แต่ไปกระจุกกับชาวนาที่ฐานะดีและพวกโรงสี รายย่อยกลับได้น้อย แล้วเสียเงินมากกว่าด้วย เงินที่ถึงมือชาวนาไม่มากกว่าการประกันด้วยซ้ำ แต่ผลเสียต่องบประมาณสูงถึง 140,000 ล้านบาท ผมจึงบอกว่าทีมเศรษฐกิจที่คิดเรื่องนี้ คิดไม่เป็น คิดไม่ลึกพอ และขาดประสบการณ์”

 

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังทิ้งท้ายให้คิดต่อว่า “ผมคิดว่ารัฐบาลมือไม่ถึง และมีวาระซ่อนเร้น ทีมเศรษฐกิจคิดไม่ลึกพอ คนที่ลึกพอและรู้ก็ไม่ขยับอะไร ไม่ห้าม เดินตามไปด้วย แล้วโยงใยหาวิธีเพื่อให้ได้ประโยชน์”

 

 

ป.ป.ช.บอกเจี๊ยะทั้งกระบวนการ คดีจำนำข้าวพุ่ง

 

 

ด้าน ดร.สิริลักษณากล่าวเริ่มต้นว่า โครงการรับจำนำข้าวนอกจากจะเจ๋งกับเจ๊งแล้ว ยังมี ‘เจี๊ยะ’ ด้วย และเปิดเผยว่า ขณะนี้มีคดีที่เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวเข้าสู่ ป.ป.ช. จำนวนมาก ซึ่งทำให้เห็นว่ามีการทุจริตทุกขั้นตอน

 

 

                  “การที่รัฐบาลบอกว่า จะอุดรูรั่วถือว่าเป็นการแก้ปลายเหตุ เพราะตัวนโยบายส่งเสริมให้ทุจริต ในเอกสารของรัฐบาลก็ยอมรับเองว่า มีการออกหนังสือรับรองเกษตรกรไม่ถูกต้อง มีการจำนำข้าวข้ามเขต มีการสวมสิทธิ เกิดการเปลี่ยนข้าว โรงสีเอาเปรียบชาวนา แต่วิธีแก้ของรัฐบาลที่กำหนดให้มีประชาคม 5 เสือคือปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล, เกษตรอำเภอ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เป็นคนคอยดูแล ปรากฏว่าคดีที่เข้ามาที่ ป.ป.ช. มากที่สุดเกี่ยวข้องกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น”

 

 

ดร.สิริลักษณ์กล่าวอีกว่า จากการทำงาน ป.ป.ช. พบว่า คนที่ทุจริตมีไม่มาก แต่คนเหล่านี้ไปอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ คืออยู่ในกระบวนการในเครือข่ายที่สามารถทุจริตได้ง่าย ในหลายพื้นที่ผู้ที่ร่วมมือกันจะมีพรรคพวกในส่วนต่างๆ และอาจจะเป็นในกลุ่ม 5 เสือนี้ ซึ่งทาง ป.ป.ช. มีหลักฐานอยู่

 

การที่รัฐบาลอ้างว่าจ่ายเงินให้แก่ชาวนาโดยตรง เพราะธกส.จะจ่ายเงินเข้าบัญชีของชาวนา แต่จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของ ป.ป.ช. ชาวนาหลายคนบอกว่า หลาย ๆ ครั้งได้เงินจากธกส.แล้ว ต้องโอนให้คนอื่น ส่วนหนึ่งคือ ซัพพลายเออร์ที่ให้ปุ๋ย ให้ยาฆ่าแมลงมาล่วงหน้า ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบดูว่า การโอนไปบัญชีอื่นมีบัญชีอะไรบ้าง ซึ่งดร.สิริลักษณาเชื่อว่าบัญชีที่โอนไปมีอยู่ไม่กี่บัญชี โดยจะใช้อำนาจของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการตรวจสอบต่อไป

 

 

                   “ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันเกิดจากการที่รัฐบาลซื้อข้าวมากองไว้ ซื้อมาเป็นเจ้าของเอง จึงเกิดการรั่วไหลทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการขโมยเอาข้าวออกไปขายก่อน มีนักวิชาการบางท่านบอกว่า โครงการจำนำข้าวประสบความสำเร็จ นักเศรษฐศาสตร์เองที่ไม่รู้เรื่อง บอกด้วยว่าจำนำข้าวแล้วราคาข้าวสารในประเทศไทยจะสูงขึ้น ก็ปรากฏว่าราคาข้าวสารในประเทศไม่ได้สูงขึ้น ประชาชนไม่ได้ซื้อข้าวแพงขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่า มีการลักลอบเอาข้าวสารมาขายในตลาด”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ความเสียหายและการทุจริตที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวจะสิ้นสุดที่ใดยังไม่มีใครตอบได้ เพราะท่ามกลางสังคม ‘หูดับ’ ที่ไม่ฟังกันและมองทุกอย่างเป็นการเมือง ประเด็นที่ควรพิจารณาจึงถูกมองเป็นเพียงการเอาชนะคะคานทางการเมือง คงทำได้แค่รอดูว่า โครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลยืนยันเดินหน้าต่อจะสร้างความเสียหายต่องบประมาณอีกมากเพียงใด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: