ปัญหาข้อติดขัดของระบบราชการและการกำหนดราคากลางของกทม. ที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการจัดการแหล่งเรียนรู้ เป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็ก ที่ปิดตัวไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 จนกำหนดการเปิดต้องถูกเลื่อนออกมาเรื่อย ๆ ที่ศูนย์ข่าว TCIJ นำเสนอไปแล้วนั้น
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ความล่าช้าไม่เพียงแต่จะกระทบต่อเนื้องาน แต่ยังอาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการทุจริต ดังที่มีการตั้งข้อสงสัยกับกรณีพิพิธภัณฑ์เด็กทุ่งครุ
ยิ่งช้ายิ่งเสียหายเกิด ‘พื้นที่สีเทา’
แหล่งข่าวในวงการออกแบบอธิบายว่า บางครั้งงานที่ออกแบบ อาจไม่สามารถลงรายละเอียดได้ทั้งหมด ยิ่งเป็นการออกแบบแหล่งเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ ทุก ๆ รายละเอียดถือว่ามีความสำคัญ ดังนั้นเวลาจะสร้างจริงผู้รับเหมาจะต้องทำช็อป ดรออิ้ง หรือ แบบก่อสร้างหน้างานที่ผู้รับเหมาเขียน เพื่อใช้ก่อสร้างจริง แล้วส่งให้ผู้ออกแบบตรวจว่า เป็นไปตามที่ผู้ออกแบบออกแบบไว้หรือไม่
ยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ด้านโบราณคดี สมมติว่าผู้ออกแบบ ออกแบบตู้ไว้ เพื่อใส่ไหโบราณจำนวนหนึ่ง แต่ขณะนั้นการค้นคว้ายังไปไม่ถึง จึงไม่รู้ว่ามีไหจำนวนเท่าใด ภัณฑารักษ์จำเป็นต้องทำงานร่วมกันกับผู้ออกแบบ ถ้าออกแบบว่าจะใส่ไห 5 ใบโดยกำหนดไว้ในแบบ หลังจากออกแบบและก่อสร้างไปตามขั้นตอนแล้วปรากฏว่า เมื่อทำข้อมูลไประยะหนึ่ง จำนวนไหที่พบไม่ใช่ 5 ใบ แต่กลับพบไหที่สวยและมีขนาดใหญ่ เดิมที่ออกแบบ 5 แท่น สำหรับวางไห 5 ใบ ก็ต้องยุบสำหรับวางไหขนาดใหญ่หรือไม่ก็ต้องขยาย สิ่งนี้เรียกว่าการปรับหน้างาน
“ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าจะประนีประนอมกับลูกค้าได้หรือไม่ ถ้าเห็นแก่งานที่จะออกมาดีที่สุดก็ต้องแก้ แต่การแก้แบบนี้ต้องนำไปสู่การแก้ในบีโอคิว หรือรายการงานและราคาด้วย ตู้ต้องขยายจาก 2 เป็น 3 เมตร แท่น 5 แท่น เหลือ 2 แท่น โดยหลักการก็ต้องทำให้เจ๊า หรือถ้าผู้รับเหมาคุณภาพ จะยอมเจ็บตัวนิดหน่อยให้งานออกมาดี ลูกค้าพอใจ”
ประเด็นคือการออกแบบปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็ก ที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2554 การชำรุดเสียหายของตัวอาคารและสิ่งปลูกสร้างภายใน ณ ขณะนั้นย่อมมีระดับหนึ่ง แต่ยิ่งเวลาผ่านไป โดยไม่มีการดูแลซ่อมแซม ความเสียหายจะเพิ่มขึ้น และเมื่องบประมาณถูกตัด จากข้อจำกัดของราคากลาง ก็จะยิ่งทำให้หาผู้รับเหมามาทำงานยากขึ้น หรือถ้าหาได้ แต่ผู้รับเหมาอาจเห็นว่า งบประมาณที่มีไม่สามารถสร้างได้ตามรายละเอียดและอาจตัดออก ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อตัวพิพิธภัณฑ์
แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าสามารถหาผู้รับจ้างได้ก็ไม่แน่ใจว่า กทม.จะตรวจรับงานได้ละเอียดเพียงพอ เพราะต่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ยังตรวจสอบได้ยาก เนื่องจากมีรายละเอียดการซ่อมแซมปรับปรุงเพิ่มขึ้นมากจากความล่าช้า แหล่งข่าวใช้คำว่า “จะเกิดพื้นที่สีเทาขึ้นหลายจุด” ซึ่งถ้าเป็นผู้รับเหมาที่ตั้งใจทำงานและไม่มีสายสัมพันธ์มากพอ ที่จะผลักดันให้งานผ่านการตรวจรับได้ง่าย ๆ ก็จะไม่ยอมรับงานทำนองนี้ แต่ถ้าเป็นผู้รับเหมาที่มีสายสัมพันธ์ ก็อาจเกิดการหรี่ตาข้างหนึ่งเพื่อให้งานผ่านการตรวจรับ
“ตัวงบประมาณเดิมคือ 120 ล้านบาท 70 ล้านบาทเป็นตัวนิทรรศการ อีก 50 ล้านบาทเป็นการซ่อมตึกกับภูมิทัศน์ แล้วจะเอาผู้รับเหมาซ่อมตึกกับภูมิทัศน์เป็นหลักได้อย่างไร ต้องเอานิทรรศการเป็นตัวหลัก เพราะเขาจะมีความรู้ในงานนิทรรศการ ทั้งเรื่องความปลอดภัย เรื่องการตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็ก มันอันตรายอยู่แล้ว ที่จะสร้างไม่ตามแบบ มีความเป็นไปได้ จะอ้างด้วยเหตุใดก็ตาม ดังนั้นควรให้ผู้ออกแบบได้ตรวจ เพราะคนออกแบบจะมีความรู้ ซึ่งลูกค้ากับผู้รับเหมาก็มีความสัมพันธ์หลายแบบ ถ้างานยังไม่สมบูรณ์ก็ไม่จบ หรือไม่ก็มีคอนเน็กชั่นอีกแบบ คือมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รู้จักกัน ก็อาจจะไม่เรียกร้องต่อกันมากนัก ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนทำงานแบบไหน” แหล่งข่าวกล่าว
พิพิธภัณฑ์เด็กทุ่งครุ เสร็จ 5 ปี แต่ไม่เคยเปิดใช้
กรณีพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครแห่งที่ 2 เขตทุ่งครุ ใช้งบก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ 2550 แต่ยังไม่เคยมีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเลยกระทั่งปัจจุบัน
“พิพิธภัณฑ์เด็กที่ทุ่งครุสร้างเสร็จปี 2550 แต่ยังไม่ได้เปิดใช้เป็นทางการ เพราะไม่มีผู้บริหารจัดการ หาคนไม่ได้ ทาง กทม. เคยทำหนังสือไปถึงมูลนิธิพิพิธภัณฑ์เด็กให้มาบริหารจัดการที่นี่ แต่ทางมูลนิธิฯ ก็ปฏิเสธเพราะไม่มีกำลังคน ไม่มีทุน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ก็เลยต้องหยุด แต่ทางกทม.ก็ไม่ได้ปล่อยอาคารทิ้งร้าง มีการจัดกิจกรรมอยู่เป็นระยะ” แหล่งข่าวในกทม.กล่าว
ทั้งที่ไม่เคยเปิดให้บริการ แต่พบว่าปัจจุบันทางกทม.กำลังทำการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กทุ่งครุ โดยมีการลงนามว่าจ้างบริษัท สยามไพศาลกิจ ให้เป็นผู้ปรับปรุง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 วงเงินประมาณ 20 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาการปรับปรุง 310 วัน หรือแล้วเสร็จกลางปี 2556
แหล่งข่าวในกทม.กล่าวว่า เหตุที่ต้องปรับปรุงใหม่เนื่องจากแนวคิดเดิมที่วางเอาไว้ ไม่ตอบสนองความต้องการของกทม. ทางคณะผู้บริหารกทม. จึงมีนโยบายให้ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กทุ่งครุ ภายใต้แนวคิด ‘Bangkok Family Center (BFC)’ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ที่ต้องการให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของครอบครัว เนื่องจากในพื้นที่ยังคงความเป็นชุมชนอยู่มาก โดยให้สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษาวางแผนการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้พัฒนาชุดนิทรรศการ ภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
เปิดไม่ได้ เพราะไม่มีคนบริหาร-ชุดนิทรรศการไม่ได้คุณภาพ
มานิต เตชอภิโชค ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าวกับ TCIJ ว่า “พิพิธภัณฑ์ที่ทุ่งครุเกิดการชำรุด และถูกร้องเรียนว่าไม่มีความปลอดภัย อย่างราวบันไดบอบบางมาก ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านคือ ไม่รู้ว่ามันได้สเป็คหรือเปล่า แล้วมันก็เกิดรอยร้าวแล้ว ทางกทม.จึงตัดสินใจรีโนเวท (ปรับปรุง)”
ทว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ ‘ไม่รู้ว่ามันได้สเป็คหรือเปล่า’ กลับไม่มีคำตอบ แหล่งข่าวในกทม.กล่าวว่า การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เด็ก ทุ่งครุ บริษัท เอกค้าไทย จำกัด รับผิดชอบการก่อสร้างอาคาร ส่วนบริษัท Pico (Thailand) จำกัด รับผิดชอบในส่วนของชุดนิทรรศการ ณ ขณะนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของ กองนันทนาการ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. ซึ่งดูแลในส่วนของศูนย์เยาวชน แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการรบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ จึงทำการติดต่อไปยังมูลนิธิพิพิธภัณฑ์เด็ก ให้มาเป็นผู้บริหารจัดการ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางกทม.เคยยื่นข้อเสนอให้แก่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นผู้บริหาร แต่หลังจากเอกชนรายนั้นเข้าไปสำรวจอาคารและชุดนิทรรศการแล้ว จึงตอบปฏิเสธ ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกดูเหมือนจะตรงกับที่มานิตกล่าวคือ วัสดุที่นำมาใช้ทำเครื่องเล่นและชุดนิทรรศการไม่มีความมั่นคง และไม่มีคุณภาพ ประการที่ 2 คือนิทรรศการการเรียนรู้ไม่ตอบโจทย์
“ถ้าเป็นภาคเอกชนที่ดูไม่ออก เขาคงตะครุบรับ เพราะได้ตึกใหม่ ได้ทุกอย่างใหม่ ไม่ต้องเสียเงิน แต่เอกชนรายนั้นไม่รับ เพราะเขาดูก็รู้ว่าต้องเอาเด็กเข้าโรงพยาบาลตลอด เพราะมันไม่ปลอดภัยเลย”
ทั้งยังเกิดการติดขัดด้านกฎระเบียบของทางกทม. ที่ไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ได้ว่า จะเป็นการว่าจ้างให้เอกชนบริหาร โดยทางกทม.เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหรือไม่ ประกอบกับบทเรียนจากพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งแรกที่กทม. ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณเลย เนื่องจากติดขัดข้อสัญญา จนเอกชนต้องถอนตัว สุดท้ายพิพิธภัณฑ์เด็กที่ทุ่งครุไม่สามารถหาผู้บริหารได้ จึงไม่มีการเปิดให้บริการ เป็นเหตุให้ตัวอาคารทรุดโทรม ภายหลังจึงมีการร้องเรียนว่า อาจมีการฮั้วและการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบ แต่ผลสรุปพบว่า ไม่มีมูล
แหล่งข่าวในกทม.ยังกล่าวด้วยว่า ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด ช่วงที่ยังอยู่ในการค้ำประกัน จึงไม่มีการเรียกบริษัทเอกชนให้เข้ามาจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้น
ย้ำกทม.ต้องควบคุมงานให้ได้คุณภาพ
แหล่งข่าวตั้งคำถามว่า พิพิธภัณฑ์เด็กทุ่งครุ ตั้งแต่สร้างเสร็จยังไม่ได้ใช้เลย ทำไมต้องปรับปรุง เรื่องนี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า สุดท้ายแล้ว การลดงบประมาณกลับเป็นการสร้างปัญหา เสียเวลาไปตั้ง 5 ปี และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้เลย
“การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กทั้งแห่งแรกและแห่งที่สอง จึงอยู่ที่ทางกทม.จะควบคุมงานให้ได้คุณภาพ หรือมีผู้รู้มากำกับให้ได้คุณภาพหรือไม่ ถ้ามองอย่างมีเหตุมีผล ยังเชื่อว่าทำได้ แต่อาจจะต้องยกอะไรออกไปไว้เฟสหลัง เพราะฉะนั้นกทม.ต้องเข้มงวดกับสิ่งที่จะเกิด อยู่ที่ว่าจะเอาจริงเอาจังกับผู้รับจ้างมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเชื่อว่าการก่อสร้างอาคารและชุดนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์เด็กทุ่งครุ ในครั้งแรก กทม. ไม่ได้คุม อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไม่รทราบ ที่ไม่ตั้งใจคือไม่มีความรู้ หรือไม่ก็ไม่ได้ดู”
แหล่งข่าวกล่าวว่า การสร้างพื้นที่เรียนรู้ไม่ใช่การคิดแค่เรื่องเงิน แต่ต้องมีความรู้ เอาจริงเอาจัง และควรพิจารณาให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมดูแลตรวจสอบ
“ต้องไม่ใช้คอนเน็กชั่นที่ไม่รู้ว่ายืนอยู่บนจุดอะไร เพราะตั้งแต่สกรีนคนเข้าไป ก็บอกเจตนาอยู่แล้ว อย่างกรณีพิพิธภัณฑ์เด็ก ทีโออาร์ที่ออกมาเคยทำประชาพิจารณ์ทางเว็บไซต์ คนที่จะเข้าไปสร้างเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารขึ้นทะเบียนชั้น 1 กับ กทม. อันนี้ไม่เมคเซ็นส์ เพราะเขาไม่ใช่ผู้รับเหมานิทรรศการ”
กทม.ชี้ราคากลางเป็นข้อจำกัด แต่ยืนยันต้องได้งานตามสัญญา
ราคากลางและระบบระเบียบของทางราชการ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของ กทม. ไปโดยปริยาย ซึ่งแหล่งข่าวในกทม.ยอมรับว่า
“ราคากลางเป็นข้อจำกัด มันก็เป็นไปได้ เพราะแบบที่ออกมาตอนแรก 100 กว่าล้าน แต่ข้าราชการ กรอบมันมี วัสดุก็ต้องเทียบเคียง แต่เอกชนคิดอีกแบบ เราคิดแบบเขาไม่ได้ มันมีกรอบอยู่ เรานอกกรอบไม่ได้ เป็นข้อจำกัดของทางราชการ การปรับปรุงกฎระเบียบให้ลื่นไหลขึ้น ไม่ติดกรอบ ทุกคนคิดหมด แต่ยังไม่มีการริเริ่ม แล้วการจะแก้กฎระเบียบอะไรสักอย่าง ไม่ได้ใช้เวลาชั่วข้ามคืน ต้องเข้าสภา กว่าจะผ่านก็ใช้เวลาเป็นปี”
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในกทม.ดังกล่าวยืนยันว่า แม้งบประมาณจะถูกตัดลดลง แต่เนื้องานของพิพิธภัณฑ์เด็ก จตุจักรและพิพิธภัณฑ์เด็กทุ่งครุ ที่ออกมาจะต้องได้ตามข้อสัญญาที่ตกลงไว้
“ต้องได้เนื้องานตามที่ศึกษาไว้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่เป็นไปตามแบบที่เรากำหนดไว้ก็ต้องมีการปรับ จะทำน้อยกว่าไม่ได้ ตัวนิทรรศการ แนวคิด ก็ต้องได้ตามนี้ เพราะคนตรวจรับงานก็ต้องดูหน้างานให้ตรงกับที่เรากำหนด”
ในทางปฏิบัติจะเป็นเช่นไรคงต้องติดตามต่อไป แต่ที่ชัดเจนก็คือพิพิธภัณฑ์เด็กจตุจักร คงไม่สามารถเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ได้แน่นอน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ