ศูนย์ข่าว TCIJ จึงติดตามเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อตอบคำถามให้กับสังคมว่า มีปัจจัยใดบ้าง หรือมีสาเหตุอะไรที่ทำให้สื่อส่วนกลาง หรือแม้แต่สื่อท้องถิ่นหลายแขนง ต่างไม่นำเสนอข่าวสารจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเพราะเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกลายเป็นสิ่งปกติที่ไม่น่าสนใจสำหรับสื่ออีกต่อไป
การนำเสนอข่าวภาคใต้แล้วแต่มุมมองนักข่าว-บรรณาธิการ
นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch – DSW ในฐานะสื่อมวลชนที่คลุกคลีกับการทำข่าวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า การทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลักในทุกวันนี้ อาจจะนำเสนอข้อเท็จจริงไม่รอบด้าน เพราะสื่อกระแสหลักมีข้อจำกัด ซึ่งสื่อทางเลือกจะเป็นตัวช่วยให้เกิดความรอบด้านมากขึ้น ซึ่งน้อยครั้งนักที่จะเห็นภาพผ่านจอโทรทัศน์ หรือหน้าหนังสือพิมพ์ในมิติอื่น นอกไปจากเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งระเบิด การลอบฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ครู พระสงฆ์ หรือผู้นำศาสนาอิสลาม สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกสื่อกระแสหลักนำเสนอฉายภาพซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าถึงความรุนแรงในพื้นที่ จนทำให้คนภายนอกมองพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่น่ากลัว
นายมูฮำมัดอายุบมองว่า อาจจะมีในมิติอื่นๆ ขึ้นอยู่กับนักข่าวและบรรณาธิการจะพิจารณาอย่างไร เนื่องจากข้อจำกัดพื้นที่ข่าว แต่สามารถจะใส่รายละเอียดได้ในคอลัมน์ หรือรายงานพิเศษหน้าอื่นๆก็ได้ ขึ้นอยู่กับประเด็นการเขียน ข้อจำกัดเหล่านี้อาจเป็นไปได้ที่ขึ้นอยู่กับตัวผู้เขียนข่าว หรือบรรณาธิการ ประเด็นนี้ต้องมองอย่างเป็นธรรม
สื่อทางเลือกถ่วงดุลสื่อกระแสหลัก
นายมูฮำมัดอายุบกล่าวว่า วันนี้มองว่าการนำเสนอข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อทางเลือกได้ทำหน้าที่ที่สื่อกระแสหลักไม่ได้ทำ นำเสนอในสิ่งที่สื่อกระแสหลักไม่ได้เสนอ ถือเป็นการถ่วงดุลข่าวสารกันโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามสื่อทางเลือกเองก็ได้หยิบยกมุมมองประเด็นของวิถีชีวิต ข้อเท็จจริง หรือประเด็นของการก่อการร้ายในบางเรื่องมานำเสนอ ซึ่งตนมองว่า สื่อทุกประเภทมีความหลากหลาย เช่น ข่าวหนึ่งข่าวอาจจะมีความหลากหลายในสื่อต่างๆก็ได้ แต่ไม่ได้จำกัดอยู่ในสื่อประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงอย่างเดียว หรือกรณีที่สื่อทางเลือก เข้ามาช่วยเติมเต็มประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่ได้นำเสนอ ถือเป็นการถ่วงดุลข่าวสารอย่างแท้จริง ทำให้มีความหลากหลายของข่าวสาร สามารถโต้เถียงกันได้ ยิ่งมีช่องทางในการนำเสนอมากขึ้นเท่าใด ถือเป็นสัญญาณที่ดีของสังคม
“เดิมทีไม่มีปรากฎการณ์แบบนี้ แต่เดิมสื่อกระแสหลักก็ทำหน้าที่เสนอข่าวไปเรื่อยๆ สื่อทางเลือกมีการนำเสนอด้านเดียว แต่ระยะหลังมีความครอบคลุม มีโทรทัศน์หลายช่องหาข้อมูลมาถ่วงดุลข่าวสาร และมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น ทำให้คนที่มีความเห็นไม่เหมือนกันสามารถพูดคุยกันได้ด้วยการสื่อสาร”
เมื่อถามว่า สิ่งที่สื่อมวลชนระดับท้องถิ่นจะต้องเพิ่มเติม ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะต้องทำอย่างไร นายมูฮำมัดอายุบกล่าวว่า สื่อระดับท้องถิ่นต้องเพิ่มเติมทักษะ และอาจจะต้องเพิ่มเนื้อหาสาระ (Content) การเรียนรู้ให้มากขึ้น
ส่วนในการจัดทำเนื้อหาที่ดีจำเป็นหรือไม่ หรืออาจตั้งโรงเรียนนักข่าวขึ้นมา นายมูฮำมัดอายุบกล่าวว่า โรงเรียนนักข่าวไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้เขียนมีความสนใจมากน้อยแค่ไหน สามารถเขียนได้ ไม่จำเป็นต้องส่งไปโรงเรียนนักข่าวหรือสื่อกระแสหลัก สามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้จากโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น ทวิตเตอร์ สามารถนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องได้ หากข้อมูลในหนังสือพิมพ์นำเสนอไม่ถูกต้อง ถือเป็นทางเลือกให้กับสังคมที่มีต้นทุนต่ำ หรือบางคนอยากเพิ่มทักษะของตัวเองด้วยการเข้าอบรม เข้าโรงเรียนเพิ่มประสิทธิภาพของตนเองก็ได้ อาจจะเป็นการฝึกฝนตนเองก็ได้ แต่การมีโรงเรียนนักข่าว เป็นการสรรหาคนในพื้นที่มาทำหน้าที่นักข่าว แต่ไม่จำเป็นว่าเป็นใคร ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนได้หมด เพราะคนเป็นสื่อต้องมีความรอบด้าน นำเสนอข้อเท็จจริง ไม่เสนอความเท็จ
ยิ่งใช้ข่าวสารโต้แย้งกันยิ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม
“สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมอินเตอร์เน็ต ทุกคนสามารถเขียนข่าวสารอะไรก็ได้ แต่ต้องอยู่บนความจริง ข่าวสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเชื่อมั่นว่า ยิ่งข่าวสารมากเท่าไหร่ ออกไปสู่สาธารณะมากเท่าไหร่ แล้วคนมีภูมิคุ้มกัน คุยกันมากถือเป็นเรื่องที่ดี สังคมมีความหวัง สามารถโต้แย้งในทางข่าวสารได้บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสาร คิดว่าหน้าที่แบบนี้สำคัญในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้ง ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ เหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ถือเป็นบทเรียนใหญ่สำหรับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
นายมูฮำมัดอายุบกล่าวต่อว่า เดิมทีคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องการกระจายอำนาจ ไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องของตัวเองมากเท่าไหร่ เช่น การถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ว่าจะไม่มีการนำเสนอข่าวจากสื่อกระแสหลัก แต่มีการนำเสนอในสื่อทางเลือก ทำให้คนเหล่านี้เริ่มมีความหวัง ดังนั้นคิดว่าข่าวสารผูกขาดไม่ได้ ว่าข้อมูลข้อเท็จจริงของตนเองจะเป็นฝ่ายถูกต้องเสมอไป แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นและทิศทางการนำเสนอข่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมของสื่อในพื้นที่อย่างไรบ้าง นายมูฮำมัดอายุบกล่าวว่า เดิมไม่ค่อยมี เนื่องจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่กับวัฒนธรรมมลายู เด็กมลายูค่อนข้างขี้อายไม่กล้าแสดงออกเนื่องจากเกิดความกลัว แต่ปัจจุบันสื่อทางเลือกที่เป็นเด็กมลายู มีความกล้ามากยิ่งขึ้น กล้าที่จะเขียน กล้าที่จะถ่ายคลิปวิดิโอ สัมภาษณ์ เรียนรู้แม้จะไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์จะมีการพัฒนาตนเอง เช่นคำเปรียบเปรยที่ว่า “คนมลายูชอบยืมจมูกผู้อื่นหายใจในทางข่าวสาร” ข้อความนี้หมายถึง ข่าวสารอยู่รายรอบตัวของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างน้อยเพื่อเป็นการสื่อสารภายในกลุ่มด้วยกันเอง ถือเป็นพลวัตรใหม่ในทางข่าวสารในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังจากเกิดความรุนแรงต่อเนื่องและยาวนาน
เกิดการขยายประเด็นและช่องทางนำเสนอ
ด้าน นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ทิศทางสื่อท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่าหลายประเด็นที่สื่อท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจ ผ่านรายการวิทยุ “รายการหน้าต่างสังคม” โดยจัดรายการเป็นภาษามลายู ออกอากาศทางเครือข่ายอ.ส.ม.ท.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมไม่มีใครกล้าออกมาพูดหรือแสดงความคิดเห็น ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของท้องถิ่นที่ใช้ภาษามลายูเพื่อให้ชาวบ้านในท้องถิ่นเข้าถึงข้อมูล เข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น
ประเด็นต่อมาคือการขับเคลื่อนในท้องถิ่น เพื่อขอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และพ.ร.บ.ความมั่นคงที่ประกาศใช้ในอีก 4 อำเภอ ของจ.สงขลา การขับเคลื่อนเหล่านี้มีอยู่ใน ยูทูบ เฟสบุ๊ค หรือสื่อทางเลือกผ่านเว็บไซต์ต่างๆ เช่น ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ,บุหงารายานิวส์, สำนักข่าวอามาน และอีกหลายองค์กรที่ขับเคลื่อนอยู่
เลือกนำเสนอมุมมองอื่นเพื่อคลื่คลายปัญหา
ขณะที่ นายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารหัวใจเดียวกัน นิตยสารเกี่ยวกับเรื่องราววิถีชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า หลังจากสื่อกระแสหลักนำเสนอข่าวสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งละทิ้งแง่มุมสวยงาม ก่อให้เกิดการตอกย้ำภาพความรุนแรงให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีพื้นที่สำหรับสิ่งสวยงาม ในฐานะที่เป็นคนนราธิวาส เชื่อว่าบ้านเกิดของตนเอง และคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรักและสามัคคีกันอยู่ภายใต้ศรัทธา ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่แตกต่างกัน เชื่อว่านิตยสารฉบับนี้จะสะท้อนสิ่งดีๆ ของพื้นที่
“เราไม่ได้ปฏิเสธว่าในพื้นที่ไม่มีความรุนแรง แต่เราเชื่อว่าสื่อกระแสหลักนำเสนอไปแล้ว เราจึงนำเสนออีกแง่มุมอื่นๆ ของพื้นที่ และเนื้อหาในหนังสือส่วนใหญ่มาจากคนในพื้นที่ มาจากความเข้าใจว่านี่คือบ้านของเขา ถือเป็นจุดแรกที่จะจุดประกายทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาผ่านกระบวนการทำหนังสือ หรือกิจกรรมต่างๆ”
นักข่าวส่วนกลางขาดทักษะ-บก.ไม่เข้าใจสถานการณ์
ส่วนการนำเสนอข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน นายชุมศักดิ์มองว่า ต้องยอมรับว่าสื่อทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ในโครงสร้างธุรกิจ ต้องนำพาองค์กรให้อยู่รอดทางธุรกิจให้ได้ ประเด็นถัดมาคือ นักข่าวที่เป็นตัวแทนจากสื่อส่วนกลาง ที่ทำงานให้พื้นที่ มักจะขาดทักษะการเขียนสารคดีเชิงข่าว อีกทั้งทิศทางของข่าวที่ผูกขาดกับธุรกิจ ถูกตัดสินจากบรรณาธิการส่วนกลาง ซึ่งบรรณาธิการบางคนขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ไม่เข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน และไม่เข้าใจข่าวนั้น
“เหมือนกับทฤษฎี “หมากัดคนไม่เป็นข่าว คนกัดหมาเป็นข่าว” ข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เหมือนกัน ข่าวดีๆมักจะขายไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเป็นข่าวที่มีกระทบต่อสาธารณะในวงกว้าง เช่น ข่าวการเผาเมือง ระเบิด ดับไฟทั้งเมือง ก็จะเสนอเป็นข่าวใหญ่ได้ขึ้นหน้า 1 ซึ่งการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ทุกวันนี้ ถูกล้อมกรอบด้วยภาพความหวาดกลัวทุกพื้นที่ และถูกตอกย้ำจากสื่อกระแสหลัก ทั้งที่ในพื้นที่อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป”
ยิ่งนำเสนอความรุนแรงคนยิ่งเกลียดมุสลิม
ในฐานะที่เป็นคนทำสื่อในพื้นที่ นายชุมศักดิ์มองว่า สื่อวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยอ่อนแอ จึงนำเสนอภาพค่อนข้างมากกว่าเนื้อหา และให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม ใกล้ตัว ทำให้คนสนใจ สะท้อนความจริงและสิ่งที่ทำให้คนในพื้นที่ภาคภูมิใจ ทำให้เกิดส่วนร่วมจากคนในพื้นที่
“ระยะหลังมานี้กระแสเกลียดชังมุสลิมเกิดขึ้นมาก ทำให้คนรู้สึกว่าคนมุสลิมหัวรุนแรง เราในฐานะคนในพื้นที่จะทำหน้าที่อธิบายให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร โดยทำให้คนภายนอกมองพื้นที่ในแง่ดีมากยิ่งขึ้น”
ด้าน นายตูแวดานียากล่าวว่า หน้าที่ของสื่อนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหน้าที่หลักของสื่อมวลชน เหตุการณ์ความรุนแรง ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในชีวิตคน หน้าที่สื่อคือนำเสนอให้ประชาชนรับทราบ แต่ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าใจในบทบาทของสื่อที่ทำหน้าที่เป็นสตริงเกอร์ หรือนักข่าวที่เป็นตัวแทนจากสื่อส่วนกลาง ไม่ได้ทำข่าวเชิงลึก หรือข่าวสืบสวนสอบสวน หน้าที่ของคนเหล่านั้นคือ นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เป็นหน้าที่ของบรรณาธิการนำไปขยายต่อ โดยการฉายภาพซ้ำๆ เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก พระ ครู หรือคนที่นับถือศาสนาพุทธ ถูกฉายซ้ำๆ จนทำให้คนรู้สึกว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรง ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ทำไมคนไทยพุทธ จึงเป็นเหยื่อความรุนแรง และทำไมคนไทยมุสลิมถึงโหดร้าย
นำเสนอเลือกข้างแบบอคติทำให้เกิดความเกลียดชัง
“การทำหน้าที่ตรงนี้จะไปโทษสื่อในพื้นที่ก็ไม่ได้ เพียงแต่บรรณาธิการหรือนักข่าวที่อยู่ในพื้นที่ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ประเด็นที่พี่น้องมุสลิม หรือผู้นำศาสนาถูกยิงเสียชีวิต โดยฝ่ายที่ไม่ทราบชื่อ หรือถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน หรือถูกขยายต่อ ผมไม่รู้ว่าเป็นอคติของผู้สื่อข่าวหรือบรรณาธิการต่อเรื่องนั้นๆหรือไม่ ที่ไม่อยากนำเสนอสิ่งเหล่านี้ แต่การทำหน้าที่ของสื่อทางเลือกต้องทำงานหนักกว่านั้น ต้องมีการวิเคราะห์ สัมภาษณ์บุคคลจากหลายๆส่วน ที่จะทำให้ข้อมูลสมดุลที่สุด เราพยายามจะไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะความรุนแรงเกิดจากการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว ความเกลียดชังจะเกิดขึ้น มันเห็นผลอย่างชัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้การทำงานของสื่อมวลชนในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการทำงานกันแบบกระบวนการเครือข่ายร่วมกับสำนักข่าวอื่นๆ เช่น ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้”
อย่างไรก็ตามหนึ่งในสาเหตุของการเกิดความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มักมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ จนเกิดภาวะแบ่งแยกระหว่างคนของรัฐและประชาชน บ่อยครั้งที่เกิดการผูกขาดทางข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ จนต้องออกมาประท้วงและเกิดวิวาทะกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ
รัฐแก้ความรุนแรงไม่ได้-โยนความผิดให้ยาเสพติด
ในประเด็นเดียวกัน นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน กล่าวว่า รัฐไม่สามารถผูกขาดข้อมูลข่าวสารได้ เนื่องจากข้อมูล ข้อเท็จจริงมีหลายด้าน ถูกนำเสนอจากทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก และประชาชนในพื้นที่ ถ้ารัฐไม่นำเสนอข้อเท็จจริง จะทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐทำงานในพื้นที่ลำบาก
นอกจากนี้การที่รัฐมองปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความรุนแรงขึ้น แล้วกล่าวอ้างว่าเป็นปัญหายาเสพติด หรือการค้าของผิดกฎหมายนั้น ถือว่า เป็นการแก้ตัว เนื่องจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงมักโยนความผิดว่าเกิดจากปัญหายาเสพติด ปัญหาการค้าของผิดกฎหมาย แต่ถ้าถามว่า เป็นข้อมูลข้อเท็จจริง 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ แน่นอนว่า ไม่ใช่
“หากข้อมูลที่รัฐอ้างว่าปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เกิดจากปัญหายาเสพติด และปัญหาค้าของผิดกฎหมาย ถ้าเป็นจริง ขอให้รัฐอธิบายว่า ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิต 5,000 ศพ เป็นปัญหาที่เกิดจากยาเสพติดใช่หรือไม่ ขอให้รัฐอธิบายตรงนี้ให้ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 10,000 ครั้ง เพราะอะไร คิดว่าการออกมาพูดในประเด็นเหล่านี้ในเชิงโต้แย้ง ด้วยความรู้เป็นเรื่องดี คิดว่าการสื่อสารด้วยความรู้จะเป็นเรื่องที่ดี ถ้าสังคมมีความเห็นต่าง มีช่องทางการสื่อสารมากขึ้น กลายเป็นสังคมที่เถียงกันด้วยปัญญาไม่ใช่ความรุนแรง ถ้าสังคมสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ดีกว่าหยิบปืนมายิงกัน ทั้งนี้ต้องขยายการสื่อสารในรูปแบบภาษาที่เขาเข้าใจด้วย ” นายมูฮำมัดอายุบกล่าว
สร้างเครือข่ายนักข่าว-สกัดการห้ามสื่อเสนอข่าว
ขณะที่นายตูแวดานียามองว่า เหตุการณ์หนึ่งๆ มีหลายคนเข้ามาทำข่าว คิดว่านักข่าวที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐมีจำนวนเยอะมากกว่านักข่าวสังกัดเอกชนเสียด้วยซ้ำ ในบางกรณีเจ้าหน้าที่รัฐสวมรอยเป็นนักข่าว แขวนบัตรลงพื้นที่ ระบุว่าเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ ทำให้ชาวบ้านไม่รู้ และอาจถูกเพ่งเล็งจากประชาชนในพื้นที่ได้ มีหลายต่อหลายเหตุการณ์ ในบางกรณีก็มีบัตรปลอมแฝงตัวลงในพื้นที่ เป็นนักข่าวผี เพื่อสืบหาข้อมูล ทำให้เกิดความหวาดระแวงขึ้นระหว่างชาวบ้านกับนักข่าวด้วย
ส่วนปัญหาการนำเสนอข่าวในพื้นที่ นายตูแวดานียากล่าวว่า ปัญหาหลักๆคือ นักข่าวไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถือเป็นประเด็นหลัก โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักที่อยู่ในพื้นที่อาจถูกขอร้องจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้นำเสนอข่าว โดยเชื่อมโยงในด้านความใกล้ชิด ทำให้ผู้สื่อข่าวไม่นำเสนอ เนื่องจากเกรงว่าจะสูญเสียความสัมพันธ์อันดีระหว่างแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตามนักข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้บางคน ก็ยังคงกินเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาตามมาคือ การถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกข่มขู่ไม่ให้นำเสนอข่าว สิ่งนี้ยังเกิดขึ้น ดังนั้นการทำงานเป็นเครือข่าย องค์กรสื่อภาคประชาสังคมจะช่วยปกป้องตัวเราจากการคุมคามสื่อ ขับเคลื่อนในประเด็นสาธารณะ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสร้างอำนาจต่อรองได้
สื่อทางเลือกรวมตัวเปิดพื้นที่นำเสนอมิติอื่น
นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่าย 3 กลุ่มใหญ่ โดยคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายวัฒนธรรมภาคใต้ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับกลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคีเครือข่ายสื่อสาธารณะ จัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ขึ้น เพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการนำเสนอข่าวจากพื้นที่มาสู่สาธารณะในมิติต่างๆ
นายฟรัวลัน โอ กาลลาร์โด นักเขียนและช่างภาพ หนึ่งในทีมก่อตั้งสำนักข่าวมินดานิวส์จากฟิลิปปินส์ เล่าถึงบทเรียนการสร้างพื้นที่ข่าวทางเลือกในเกาะมินดาเนาว่า สิ่งที่ทำคือการรายงานข่าวเชิงลึก เพื่อสะท้อนโศกนาฎกรรมของมนุษย์ในพื้นที่นี้ต่อโลก และจับประเด็นข่าวที่ไม่ได้รับความสนใจหรือให้ความสำคัญจากสื่อส่วนกลาง และจุดสำคัญคือการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง กลุ่มผู้ติดอาวุธ ไม่ว่าผลของข่าวจะเป็นผลดีหรือร้ายต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นอกจากนี้บทบาทมินดานิวส์ยังสนับสนุนการสร้างนักข่าวจากคนในชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
ด้านนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการ สำนักข่าวประชาไท กล่าวว่า สื่อมวลชนไทยรายงานข่าวเพียงปรากฎการณ์ความรุนแรง แต่ไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุความขัดแย้งนำไปสู่ทางออกของสถานการณ์ได้ ขณะที่สื่อในพื้นที่รู้ปัญหาเชิงลึก เข้าถึงความรู้สึกของประชาชน แต่บางครั้งการนำเสนออาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้ข้อมูลและผู้นำเสนอข่าว ถือเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับคนทำงานด้านสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้ง
งานวิจัยชี้สื่อมีอิทธิพลต่อปชช.ในพื้นที่โดยเฉพาะการฟัง-พูด
นอกจากนี้จากผลสำรวจบทบาทของสื่อกับความขัดแย้ง โดยสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,500 คน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอในจ.สงขลา พบว่า ประชาชนรับรู้สื่อที่เกี่ยวกับการดู การฟัง และการพูด จากโทรทัศน์ วิทยุ หรือฟังจากสื่อบุคคลในชุมชนมากกว่าการอ่านหนังสือพิมพ์ โดยเน้นการเสพสื่อในชุมชนเป็นหลัก 4 อันดับแรกคือ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อในมัสยิด ที่มาจากการพูดคุยกับคนในชุมชน ร้านน้ำชา คุยกับเพื่อน หอกระจายข่าวและอินเตอร์เน็ต ดังนั้นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่า การฟังและการพูดจึงมีความสำคัญต่อคนในพื้นที่
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ