‘ยิ่งลักษณ์’แถลงสภาฯขอใช้งบ2.4ล้านล้าน ทุ่มประชานิยม-อุ้มเกษตรกรอื้อ

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 21 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1601 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม เริ่มวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ซึ่งมีรัฐมนตรีเข้าร่วมคือ  นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์

 

 

ตั้งงบปี 56 แบบขาดดุล 2.4 แสนล้านล้าน

 

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลต่อการนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2556 ต่อที่ประชุมสภาฯ โดยใช้เวลารวม 50 นาที ว่า รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เป็นจำนวนไม่เกิน 2,400,000,000,000 บาท (สองล้านสี่แสนล้านบาท) เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 สำหรับใช้เป็นหลักในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุล ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2555 จำนวน 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณ 2556

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า  นับแต่รัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เป็นเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับมหาอุทกภัย ครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง รัฐบาลได้ดำเนินการทุกวิถีทางในการเร่งแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว รวมทั้งกำหนดแนวทางและมาตรการ เพื่อจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและสถานการณ์วิกฤตต่างๆ และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเร่งดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

อ้างประชานิยม-ยกระดับรายได้ประชาชน

 

 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้ของประชาชนให้เกิดความเป็นธรรมและทั่วถึง ผ่านมาตรการและโครงการต่างๆ อาทิ การเพิ่มรายได้ของแรงงานและผู้จบปริญญาตรี  โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นต้น ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เพื่อให้ประเทศและสังคมไทยสามารถพัฒนาไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของโลก

 

แม้ว่าผลกระทบจากสถานการณ์มหาอุทกภัยจะได้คลี่คลายลง และกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วก็ตาม รัฐบาลก็ยังตระหนักอยู่เสมอว่า ปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ยังคงมีอยู่ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติพิจารณาในวันนี้ จึงกำหนดเป็นนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลในลักษณะที่ลดลงต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ.2555 เพื่อเข้าสู่งบประมาณสมดุลในอนาคต

 

 

ต้องทุ่มงบขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน-พัฒนาประเทศระยะยาว

 

 

โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ที่มีผลต่อการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกลไกทางเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และเร่งรัดให้เศรษฐกิจขยายตัว กระจายผลประโยชน์สู่ประชาชนโดยตรงและทั่วถึง 

ประการที่สอง เพื่อวางรากฐานต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้ประเทศและสังคมไทยมีความเข้มแข็งทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายนอกประเทศได้อย่างเหมาะสมและเท่าทัน

 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้รายงานถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ฐานะและนโยบายการเงิน การคลังของประเทศ ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 - 6.5 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3.5 - 4.0 โดยมีปัจจัยทางด้านอุปสงค์ภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ อันเกิดจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อฟื้นฟูทรัพย์สินที่เสียหาย และภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาเร่งทำการผลิต ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่เร่งรัดการจ่ายเงินเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย ควบคู่กับการดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยรวมของประเทศ เช่น การเพิ่มรายได้แรงงานและค่าตอบแทนผู้จบปริญญาตรี มาตรการภาษีรถยนต์คันแรก และการดำเนินโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร  เป็นต้น

 

นอกจากนี้การใช้จ่ายตามแผนการกู้เงินตามพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายในปี 2555 จะเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

คาดเศรษฐกิจขยายตัว 4-5 เปอร์เซ็นต์ เงินเฟ้อ 3.8

 

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ว่า คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 - 5.0 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3.8 โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการด้านการฟื้นฟูประเทศ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ การยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคการส่งออกคาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย

 

 

เก็บภาษีได้ 2.1 ล้านล้าน ทุ่มให้อปท. 9.7 หมื่นล้าน

 

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ในปี 2556 รัฐบาลประมาณการว่า จะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 2,197,900 ล้านบาท (สองล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยล้านบาท) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3 จากปีก่อน และเมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 จำนวน 97,900 ล้านบาท (เก้าหมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยล้านบาท) แล้ว คงเหลือเป็นรายได้สุทธิ ที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,100,000 ล้านบาท (สองล้านหนึ่งแสนล้านบาท) หรือร้อยละ 16.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

 

สำหรับการบริหารจัดการรายจ่ายรัฐบาลได้กำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณและนโยบายงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยเฉพาะนโยบายสำคัญเร่งด่วน 16 ข้อ และการดำเนินงานที่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

ประการที่สอง ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานควบคู่กับการพิจารณาแหล่งเงินอื่น

ประการที่สาม ส่งเสริมการสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ประการที่สี่ ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และเข้าสู่สมดุลในอนาคต

 

 

เหลือเงินคงคลัง 2.2 แสนล้าน

 

 

ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 228,447.5 ล้านบาท (สองแสนสองหมื่นแปดพันสี่ร้อยสี่สิบเจ็ดจุดห้าล้านบาท)

 

ด้านนโยบายการเงิน ด้วยเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในทุกภาคเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหลังจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอุปสงค์ภาคเอกชนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และต้นทุนด้านพลังงานและค่าจ้างที่ปรับสูงขึ้น อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสองครั้งล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม  เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสอดคล้องกับการดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ สำหรับฐานะการเงินของประเทศอยู่ในเกณฑ์มั่นคง จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยคิดเป็นประมาณ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

 

 

เปิด 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่ขอใช้งบปี 56

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,400,000 ล้านบาท (สองล้านสี่แสนล้านบาท) เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยใช้จ่ายจากรายได้สุทธิ 2,100,000 ล้านบาท (สองล้านหนึ่งแสนล้านบาท) และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 300,000 ล้านบาท (สามแสนล้านบาท) วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ 1,901,911.7 ล้านบาท (หนึ่งล้านเก้าแสนหนึ่งพันเก้าร้อยสิบเอ็ดจุดเจ็ดล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 79.2 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 448,938.8 ล้านบาท (สี่แสนสี่หมื่นเก้าร้อยสามสิบแปดจุดแปดล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 49,149.5 ล้านบาท (สี่หมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยสี่สิบเก้าจุดห้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ของวงเงินงบประมาณ

ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณไว้ 8 ยุทธศาสตร์และ 1 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ โดยมีรายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญ และวงเงินงบประมาณในแต่ละยุทธศาสตร์การจัดสรร ดังนี้

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่สังคม

 

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้ 491,482 ล้านบาท  หรือคิดเป็นร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนสำคัญ ดังนี้

 

สร้างความปรองดอง 413 ล้าน

 

1.1 การสร้างความปรองดองสมานฉันท์และฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้จัดสรรงบประมาณ 413 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์และความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ โดยสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้สร้างความเข้าใจของประชาชน เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ปราบยาเสพติด 1.1 หมื่นล้าน

 

1.2 การป้องกัน  ปราบปราม  และบำบัดรักษายาเสพติด  ได้จัดสรรงบประมาณ 11,582.8 ล้านบาท เพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด เสริมสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็ง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ ปราบปราม ลงโทษผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้า และเครือข่ายยาเสพติด สกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ตอนในและตามแนวชายแดน ควบคู่กับการ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมป้องกันมิให้ประชาชนทุกกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

 

ปราบทุจริต 420 ล้าน

 

1.3 การป้องกันและปราบปรามการทุจริต  ได้จัดสรรงบประมาณ 420.5 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการป้องกัน แก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบ โดยจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลในสถานศึกษา สร้างความตระหนักถึงผลเสียของการทุจริตในทุกภาคส่วน รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรม

 

แก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง 4.3 หมื่นล้าน

 

1.4 การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ได้จัดสรรงบประมาณ 43,402.4 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงการบริหารจัดการโครงข่ายลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการป้องกันอุทกภัยและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้บริการระบบประปาที่มีคุณภาพเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น สนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย โดยสนับสนุนระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุมชนเมืองสำคัญ รวมทั้งแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคกรณีเร่งด่วนในระดับท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 480 หมู่บ้าน

 

ทุ่มงบลงชายแดนใต้กว่า 2 หมื่นล้าน

 

1.5 การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดสรรงบประมาณ 20,731.9 ล้านบาท เพื่อเร่งนำสันติสุข ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และความสงบเรียบร้อยกลับสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึงเป็นธรรม รวมทั้งสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการพัฒนาด้านสังคมที่มุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การให้บริการสาธารณสุขและการยกระดับคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานความหลากหลายทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

             

1.6 การฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค ได้จัดสรรงบประมาณ 4,117.5 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยดำเนินโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในระดับรัฐกับรัฐ  รัฐกับประชาชน และประชาชนกับประชาชน ตลอดจนเร่งดำเนินการตามข้อผูกพันในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

 

ลดค่าครองชีพ-อุ้มพลังงานกว่าพันล้าน

     

1.7 การลดภาระค่าครองชีพ ส่งเสริมและรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน ได้จัดสรรงบประมาณ 1,459.7 ล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาพลังงาน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม กำกับดูแลธุรกิจพลังงาน การค้า คุณภาพ ความปลอดภัย และราคาพลังงาน โดยการจัดทำแผนและมาตรการ เพื่อบริหารจัดการด้านพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม

 

พักหนี้เกษตรกร 6.8 หมื่นล้าน

 

1.8  การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 68,137.2 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อัตราการบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยการเพิ่มรายได้ให้แรงงานและผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี พักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งสนับสนุนการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุให้ได้รับเบี้ยยังชีพ แบบขั้นบันได

 

ให้กองทุนหมู่บ้าน-กองทุนสตรี 8.3 หมื่นล้าน

 

1.9 การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน ได้จัดสรรงบประมาณ 83,517.4 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และขีดความสามารถในการพัฒนาระดับฐานรากให้แก่หมู่บ้านและชุมชน โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพตามขนาดของหมู่บ้านและชุมชน และเพิ่มทุนเพิ่มเติมให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ รวมทั้งสนับสนุนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในทุกจังหวัดเพื่อพัฒนาศักยภาพสตรีให้มีบทบาทในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน สังคมและการเมือง

 

ประกันราคาพืชผลการเกษตร 4 หมื่นล้าน

 

1.10 การเสริมสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ได้จัดสรรงบประมาณ 40,152.2 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพ รายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร โดยยกระดับราคาสินค้าเกษตรผ่านโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร และสามารถขยายเป้าหมายไปยังผลผลิตอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรที่รับจำนำมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10

             

1.11 การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเกษตร ได้จัดสรรงบประมาณ 1,650 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 ล้านราย ได้รับบัตรสินเชื่อเกษตรกรเพื่อนำไปจัดหาปัจจัยการผลิต  อันจะส่งผลให้สามารถปรับปรุงและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีคุณภาพ

             

1.12 การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 8,662.2 ล้านบาท  เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการสร้างรายได้ของประเทศ มุ่งเน้นดำเนินการตลาดเชิงรุก โดยประชาสัมพันธ์ยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกลุ่มอาเซียน การท่องเที่ยวช่วงนอกฤดูกาล พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

             

1.13 การพัฒนาศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 1,773.3 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและพัฒนางานศิลปาชีพ ยกระดับและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้สามารถเชื่อมโยงตลาดฐานรากสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก พัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการสร้างเอกลักษณ์การผลิตสินค้า ในท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและการตลาดตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ

 

พัฒนาระบบประกันสุขภาพ 1.9 แสนล้าน

 

1.14 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 196,485 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยพัฒนาการให้บริการรักษาพยาบาลของระบบประกันสุขภาพให้มีคุณภาพสูงขึ้น ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบส่งต่อให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความเท่าเทียมกัน ทุกระบบ  ทั้งระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ

 

ซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน 8.8 พันล้าน

             

1.15 การสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเพื่อการศึกษา ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน  8,875.9 ล้านบาท  เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน ควบคู่กับการจัดหาและพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา รวมทั้งจัดให้มีระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายในสถานศึกษา

             

1.16 การส่งเสริมการปฏิรูปการเมือง ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 101 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและกำหนดกลไกการปฏิรูปการเมือง และการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมตามหลักธรรมาภิบาล

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ความมั่นคงแห่งรัฐ

 

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ 204,537.1  ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.5 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

            

 2.1 การเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์  ได้จัดสรรงบประมาณ 12,506.8 ล้านบาท เพื่อเทิดทูน พิทักษ์ และธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้มีการล่วงละเมิด โดยพัฒนาระบบถวายความปลอดภัย ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดี เทิดทูน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์  ตลอดจนส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมนำการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

             

2.2 การเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ ได้จัดสรรงบประมาณ 177,257.4 ล้านบาท  เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาระบบป้องกันประเทศให้มีความพร้อม มีศักยภาพในการพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ มีความปลอดภัยจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ มุ่งพัฒนายุทโธปกรณ์เพื่อเสริมสร้างกำลังกองทัพ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เสริมสร้างความร่วมมือทางทหารกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ รวมทั้งสนับสนุนสิทธิและหน้าที่ และจัดสวัสดิการของกำลังพลทุกระดับให้มีมาตรฐาน การดำรงชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

             

2.3 การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ได้จัดสรรงบประมาณ 14,772.9 ล้านบาท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและประชาคมโลกในการอำนวยความปลอดภัย เตรียมความพร้อมและจัดการวิกฤตการณ์ที่เกิดจากภัยก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และภัยคุกคามทุกรูปแบบ รักษาผลประโยชน์ของชาติทั้งทางบกและทางทะเล ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองและแรงงานต่างด้าว ที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเข้มงวด

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

 

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ 228,395.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.5 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

             

3.1 การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหาภาคให้เกิดความยั่งยืน ได้จัดสรรงบประมาณ 26,189.8 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสร้างเสถียรภาพทางการคลังโดยดำเนินนโยบายการเงินการคลังให้เกิดความสมดุล เพิ่มประสิทธิภาพในด้านการงบประมาณและในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ พัฒนาระบบสถาบันการเงิน  ให้เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนและมีเสถียรภาพในระยะยาว

             

3.2 การส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าภาคการเกษตร  ได้จัดสรรงบประมาณ 63,345 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตร เพื่อให้ฐานการผลิตภาคการเกษตรมีความเข้มแข็ง สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เพียงพอสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศ และมีเหลือสำหรับการผลิตพลังงานทางเลือกและการส่งออกอย่างสมดุล

 

หนุนอุตสาหกรรม 6.6 พันล้าน

 

3.3 การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ได้จัดสรรงบประมาณ 6,674.4 ล้านบาท เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ สนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในลักษณะเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน  ฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านการลงทุน โดยกำกับดูแลสถานประกอบการให้มีการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ เป็นธรรม และได้มาตรฐาน  

            

 3.4 การเพิ่มประสิทธิภาพภาคการตลาด การค้าและการลงทุน ได้จัดสรรงบประมาณ 6,654.1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการค้าภายในและระหว่างประเทศให้ขยายตัวอย่างมั่นคงและยั่งยืน   มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เจรจาขยายตลาดการค้า การลงทุน และสร้างความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้า ส่งเสริมการค้าและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพด้านการตลาดและส่งออกสินค้าอาหารไทยให้ขยายตัว  ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

             

3.5 การพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการ ได้จัดสรรงบประมาณ 2,903.6 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการของไทยให้มีศักยภาพและได้มาตรฐาน โดยส่งเสริม พัฒนา บูรณะ และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว และเสริมสร้างศักยภาพ ปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการ อันนำไปสู่การเติบโตทางการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน

             

3.6 การส่งเสริมและพัฒนากีฬาและนันทนาการ  ได้จัดสรรงบประมาณ 9,186.9 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ผู้พิการ และประชาชนได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬา และเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและสมรรถภาพทางกายที่ดี ตลอดจน การบริหารจัดการด้านกีฬาและนันทนาการให้มีคุณภาพและมาตรฐาน  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านกีฬาสู่ความเป็นเลิศและอาชีพในระดับภูมิภาคเอเชียและระดับนานาชาติ

 

ผุดระบบคมนาคมกว่าแสนล้าน

 

3.7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณ 108,639.1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศในการขนส่งสินค้าและการบริการต่าง ๆ ให้มีความสะดวก ปลอดภัย ประหยัด และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ พัฒนา บูรณะและบำรุงรักษาโครงข่ายทางหลวง และทางหลวงชนบทในองค์รวมให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งของภูมิภาค เพื่อให้ผู้ใช้โครงข่ายทางได้รับความสะดวก รวดเร็วและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น  ขยายพื้นที่การบริการขนส่งทางรางและทางด่วนพิเศษให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย

            

 3.8 การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ได้จัดสรรงบประมาณ 694.9 ล้านบาท เพื่อจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อการพัฒนาและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ  โดยสนับสนุนการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเขตสัมปทาน จัดทำนโยบายด้านพลังงานและแผนพลังงานระดับชุมชนเพื่อลดการใช้พลังงาน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

             

3.9 การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดสรรงบประมาณ 4,108 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้าง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารความเร็วสูงให้มีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนมีทักษะ ความรู้ และสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลสถิติและสารสนเทศได้อย่างมีคุณภาพ จัดให้มีระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารข้อมูลภาครัฐเพื่อให้เกิดการบูรณาการไปสู่หน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมกันในสังคม

 

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ 625,443.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26.1 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

         

4.1 การสนับสนุนการจัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณ 88,881.4 ล้านบาท เพื่อให้ประชากรวัยเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพไม่น้อยกว่า 12.8 ล้านคน ได้รับการศึกษา ขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและมาตรฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งสนับสนุนการจัดหาหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครอง

         

4.2 การสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 372,232.4 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มทุกวัยได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาและแหล่งความรู้ ในสาขาต่าง ๆ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง สร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ให้ทัดเทียมนานาชาติ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ปรับปรุงหลักสูตรและระบบการจัดการเรียนการสอนทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งจัดสรรกองทุนเงิน ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สนับสนุนให้สถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องตรงตามความต้องการของประเทศ

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวปิดท้ายว่า เชื่อมั่นว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาฯ และพิจารณารับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลมีเจตนาที่จะใช้งบประมาณดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนขอชาติอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็ง รวมถึงสามารถพึ่งตนเอง แข่งขันต่อเวทีโลก และเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศในทุกภาคส่วนได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: