ชำแหละ'ทีโออาร์'3.5แสนล้านป้องน้ำท่วม จวกแค่หวังช็อปปิ้งไอเดีย-ล็อกบริษัทใหญ่ จี้รัฐบาลทบทวน-ชี้ดันทุรังทำเกิดปัญหาแน่

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 21 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2244 ครั้ง

 

หลังจากที่รัฐบาลโดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศให้บริษัทต่างๆ ขอรับข้อตกลงเบื้องต้น (Term of Reference) ในโครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 350,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 9-23 กรกฎาคมนี้ ล่าสุดมีบริษัทไทยและต่างชาติ ขอรับทีโออาร์โครงการดังกล่าวไปแล้วกว่า 165 แห่ง เป็นบริษัทของคนไทย 146 แห่ง และต่างประเทศ 19 แห่ง แต่รายละเอียดของทีโออาร์ เพียง 8 หน้า หลายหน่วยงานจึงตั้งข้อสังเกตว่า โครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ในวงเงิน 350,000 ล้านบาทนั้น ต้องการอะไร เนื่องจากความไม่ชัดเจนในรายละเอียด ทำให้มีการตีความไปได้หลายทาง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ วสท. จึงได้จัดประชุมเพื่อวิพากษ์ทีโออาร์ฉบับนี้

 

 

คุณสมบัติในทีโออาร์สูงเกินมาตรฐานวิศวกรไทย

 

 

จากรายละเอียดคุณสมบัติของบริษัทที่จะยื่นขอทีโออาร์ ระบุว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเคยมีผลงานด้านการออกแบบระบบการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรืองานออกแบบ หรือก่อสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรืองานออกแบบ หรือก่อสร้างระบบป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาอุทกภัย หรือภัยแล้ง ในช่วงระหว่างปี 2545-2555 ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ มูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท ในกรณีผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มของนิติบุคคลในลักษณะของสมาคม ชมรม (Consortium) หรือ บริษัทร่วมทุน (Joint Venture) มูลค่าผลงานดังกล่าว ให้นับรวมผลงานของแต่ละนิติบุคคลเข้าด้วยกัน แต่ผลงานที่จะนำมานับรวมเข้าด้วยกัน อย่างน้อยต้องมีมูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่าผลงานละ 2,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ผลงานที่เสนอมาประกอบการพิจารณ ต้องรับรองโดยสถานทูต ที่นิติบุคคลผู้เสนอผลงานได้นั้น จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาแสดงประกอบการพิจารณาด้วย หากเป็นนิติบุคคลไทย ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าของโครงการมาแสดงประกอบการพิจารณา

 

นายสุวัฒนา จิตตลดากร คณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้ศึกษาทีโออาร์แล้ว ในฐานะวิศวกรมองว่า คุณสมบัติที่รัฐบาลกำหนดในทีโออาร์นั้น วิศวกรไทยน้อยมากที่จะมีคุณสมบัติเช่นนี้ ดังนั้นทีโออาร์จึงถูกมองว่าเป็นการเอื้อกับบริษัทต่างชาติ ในขณะที่รายละเอียดการศึกษาความเหมาะสม ของโครงการก่อสร้างเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ต้องศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ต้องมีความละเอียดอ่อน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ผ่านมามีหลายทางเลือก อีกทั้งโครงการจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สิ่งแวดบล้อมแห่งชาติ ดังนั้นจะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิศวกรไทยมีความสามารถพอ แต่คุณสมบัติไม่ถึงที่ทีโออาร์กำหนด

 

 

ชี้ถึงจะจ้างต่างชาติวิศวกรไทยก็ต้องทำอยู่ดี

 

 

“ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนไทยทำก็ตาม ที่สุดแล้วต้องให้วิศวกรไทยศึกษาอยู่ดี และคิดว่าวิศวกรไทยมีเพียงพอ และมีความสามารถที่จะทำงานนี้  ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐาน เราทำไว้หมดแล้วอย่างข้อมูลทั้ง 25 ลุ่มน้ำ เสนอไว้หมดแล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นต่างชาติมาทำ ผมคิดว่าต้องมีการแยกแยะระหว่างโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และโครงการเร่งด่วน เพราะบางโครงการอาจจะดำเนินการได้เลย แต่บางโครงการต้องมีการศึกษา” นายสุวัฒนากล่าว

 

 

สงสัยแค่กรอบแนวคิดทำไมต้องใช้ 3.5 แสนล้าน

 

 

ด้าน ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์  วิศวกรอิสระ และอดีตอาจารย์ด้านวิศวกรสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า งานเรื่องน้ำเป็นงานที่สำคัญของประเทศและควรจะให้คนไทยได้ดำเนินการ ในทีโออาร์ ข้อ 1.6 ที่ระบุว่า เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำหลัก เป็นไปตามแผนแม่บทที่วางไว้ รัฐบาลไทยจึงประสงค์ที่จะเชิญชวนผู้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และผลงานในการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เพื่อที่รัฐบาลไทย จะนำไปใช้เป็นแนวทางการกำหนดรายละเอียด ของระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยตามความเหมาะสมต่อไป จากรายละเอียดนี้ รัฐบาลน่าจะต้องการแค่กรอบแนวคิดหรือ Conceptual Plan มากกว่าที่จะต้องให้มีการลงมือก่อสร้างเลย

 

ดร.ธงชัยกล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการแค่ Conceptual Plan จริง สิ่งที่ควรจะคิดต่อคือ เดือนนี้กรกฎาคมแล้วเข้าหน้าฝน ยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็น และถ้าเป็นแค่กรอบแนวคิด หรือ Conceptual Plan ทำไมต้องตั้งงบประมาณถึง 3.5 แสนล้านบาท และโครงการนี้จะต้องมีการจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย (EHIA)

 

 

 

 

ให้เวลาแค่ 3 เดือนจะทำได้หรือเปล่า

 

 

ซึ่งในประเด็นนี้ ดร.สุบิน ปิ่นขยัน  วิศวกรอาวุโสจาก วสท.กล่าวย้ำว่า จากรายละเอียดกรอบทีโออาร์ คิดว่ารัฐบาลต้องการแค่กรอบแนวคิด Conceptual Plan มากกว่า ถ้าหากเป็นไปตามแนวทางที่ให้มา ตามพระราชดำริ 7 ข้อ ประกอบด้วย การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างป่า ดิน และน้ำ ภูมิสังคม การรักษาความมั่นคงทางน้ำ น้ำต้องมีที่อยู่ การระบายน้ำและการกักเก็บน้ำต้องสอดประสานกัน และการพัฒนาบนพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ ซึ่งหากรัฐบาลเปิดกว้างในเวลาเพียง 3 เดือน ให้ทำทั้งหมด จะสามารถทำได้หรือไม่

 

 

รัฐบาลอยากได้ของฟรี เสนอกรอบหวังช็อปปิ้งไอเดีย

 

 

ขณะที่ ดร.สนิท วงษา อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ระบุว่า รัฐบาลมีโครงการตายตัว ที่เป็นแผนดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยแล้ว ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการโครงการก่อสร้างเป็นพื้นที่รับน้ำ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมีแผนและโครงการอยู่แล้ว แต่ที่ให้เสนอทีโออาร์เพราะต้องการที่จะได้ความคิดเพิ่มเติมให้โครงการที่มีอยู่สมบูรณ์ขึ้น โดยให้บริษัทที่สนใจเสนอเข้ามา โดยรัฐบาลจะเลือกบริษัทนั้นหรือไม่ เป็นสิทธิของรัฐบาล แต่รัฐบาลมีการกำหนดคุณสมบัติ เพื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถสรุปได้

 

 

 

“สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ ช็อปปิ้งไอเดียจากบริษัทต่างๆ เพื่อมาทำให้โครงการที่มีอยู่แล้วสมบูรณ์ขึ้น โครงการตัวจริงนั้นมีอยู่แล้ว แต่จะมีการตั้งธงบริษัทไว้หรือไม่นั้น ไม่ทราบ”

 

ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ศึกษาเป็นองค์รวมทั้งโครงการ มากกว่าจะใช้แค่บางส่วนที่มีบริษัทนำมาเสนอ ซึ่งองค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องน้ำมีมาก ข้อมูลทั้ง 25 ลุ่มน้ำ เรามีหมดแล้ว การบริหารจัดการ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของคนบริษัทคนไทย ถ้านำข้อมูลส่วนนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นคนไทยควรที่จะรวมตัวกันเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

 

                  “โครงการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลที่ผ่านมา รัฐบาลดึงวิศวกรเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก ในขณะที่มีผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขา เข้ามาร่วมแก้ปัญหาทั้ง ทั้งภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือแม้กระทั่งรัฐศาสตร์”

 

 

กรอบทีโออาร์ไม่มีการนิยามปัญหา เปิดช่องโครงการก่อสร้าง

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมเสนอกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของเมืองไทย ได้ระบุถึงปัญหาและอุปสรรคของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา ปัญหาที่สำคัญของการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย คือ พื้นที่ต้นน้ำมีสภาพเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ เนื่องจากการลักลอบบุกรุกแผ้วถางป่าต้นน้ำ ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมขาดความเป็นเอกภาพ และไม่มีองค์กรที่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่มีแผนหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาว ซึ่งทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ขาดการดำเนินงานและงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำยังไม่เป็นเอกภาพ และไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไม่เหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน

 

แผนแม่บทสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนนี้ แบ่งออกเป็นแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำรอง โดยแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำหลัก แบ่งเป็นแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอื่น  ซึ่งในที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า ทีโออาร์ไม่ได้มีการนิยามปัญหา เพื่อนำไปสู่การเสนอแนวคิดเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา

 

ดร.สมฤทัย ทะสะดวก อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ทีโออาร์ที่รัฐบาลออกมา ไม่มีการนิยามปัญหา ซึ่งการนิยามปัญหาจะนำไปสู่เรื่องของการบริหารจัดการ แต่สิ่งที่ปรากฏและนำเสนอในทีโออาร์ คือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลคงจะต้องเลือกว่าจะใช้การบริหารจัดการนำโครงการก่อสร้างต่างๆ หรือจะใช้โครงสร้างนำหน้าการบริหารจัดการน้ำ

 

จากเอกสารทีโออาร์ ในรายละเอียดของข้อเสนอระบุว่า รายงานหลักที่จะนำเสนอต้องแสดงให้เห็นถึงกรอบแนวคิดในการออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยในลุ่มน้ำที่เสนอ โดยกรอบแนวคิดดังกล่าวต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนที่รัฐบาลไทยจัดทำขึ้น และผู้ยื่นข้อเสนอต้องศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำท่วมอันเนื่องมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล และการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนและการลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว

 

ดร.สมฤทัยกล่าวว่า รายละเอียดที่เสนอมานี้ผิดเป้าหมายหรือไม่ เพราะจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ฝนทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่สูงขึ้น และยังไม่มีการพิสูจน์ว่า การสูงขึ้นของน้ำทะเลเป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งมีการเสนอโครงการสร้างเขื่อนกั้นอ่าวไทย อย่างไรก็ตามปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือการใช้ที่ดินผิดประเภท มีการถมที่ และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งก่อนหรือไม่

 

สอดคล้องกับ ดร.อาวุธ พรแสง วิศวกรสมาชิก วสท. แสดงความเห็นว่า ควรจะดูจุดมุ่งหมายของเรื่องนี้ ซึ่งปัญหามาจากน้ำท่วมและต้องการแก้ปัญหา ถ้ามีการนิยามผิดจะผิดตั้งแต่ต้น ซึ่งการแก้ปัญหาคือการทำให้น้ำพอดี หน้าแล้งมีน้ำใช้ ถ้าน้ำมากเกินไปทำให้น้ำไม่ท่วม  ซึ่งการแก้ปัญหาต้องดูภาพรวม ข้อมูล ความรู้ต่างๆต้องพร้อม วิศวกรไทยสามารถทำได้ โดยไม่ต้องใช้เงินถึง 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย ไม่ต้องใช่เงินมากขนาด 3 แสนล้าน แต่หัวใจอยู่ที่ต้องรอบคอบ และเข้าใจ

 

 

นายกฯวสท.จี้รัฐเลิกทีโออาร์ เพราะตอบคำถามอีกหลายข้อไม่ได้

 

 

ขณะที่ นายสุวัฒน์ เชาวน์ปรีชา นายกวิศวกรรมถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ร่างทีโออาร์ดังกล่าวมีปัญหาในหลายจุด โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติให้บริษัทที่เข้าประมูลต้องเคยทำโครงการไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หรือถ้าเป็นบริษัทร่วมทุนต้องมีผลงานในโครงการไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ในระหว่างปี 2545-2555 ซึ่งมองว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทไทยรายใหญ่ ที่มีอยู่ไม่กี่บริษัท ขณะเดียวกันรายละเอียดในทีโออาร์ก็ไม่ได้กำหนดว่า บริษัทที่ประมูลงานได้จะต้องทำหน้าที่เสนอโครงการเพียงอย่างเดียวหรือต้องก่อสร้างด้วย เพราะในทีโออาร์ระบุโครงการที่ศึกษาไว้ก่อน เช่น การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ หรือการจัดทำทางน้ำหลาก (ฟลัดเวย์) ไว้ด้วย ซึ่งหากปล่อยให้มีการดำเนินการภายใต้ทีโออาร์ดังกล่าว หรือคัดเลือกจนได้บริษัทที่ชนะการประมูล จะสร้างปัญหาขึ้นในอนาคต เหมือนรัฐบาลอยากชอปปิ้งความคิดดีๆ จากเอกชนโดยไม่เสียเงิน เพื่อให้ได้พิมพ์เขียวบางอย่างออกมา โดยไม่อาจมั่นใจว่าโครงการที่ออกมาจะมีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่

 

 

 

             “วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย จะเสนอให้รัฐบาลยกเลิกทีโออาร์ในส่วนของโครงการขนาดใหญ่สำหรับแก้ปัญหาการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนออกไปก่อน ในการแถลงข่าวของรัฐบาลวันที่ 24 ก.ค.นี้ เนื่องจากทีโออาร์ฉบับนี้ สร้างคำถามให้กับวิศวกรและสังคมในหลายข้อ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถตอบได้ และอยากให้วิศวกรรมสถานฯ และวิศวกรไทยเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอแนวคิดด้วย ก่อนจะคัดเลือกบริษัทไม่กี่บริษัทให้เข้าไปทำงาน แต่ไม่คัดค้านในโครงการเร่งด่วน” นายสุวัฒน์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: