เมื่อวันที่ 20 กันยายน สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) กว่า 300 คน ชุมนุมที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ.ราชดำเนินนอก เรียกร้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นำเรื่องอนุมัติเงินค้างจ่ายประจำปี 2555 และให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ได้กำกับติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกร ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการกองทุนกองทุนฟื้นฟูฯ ไปแล้ว รวมถึง ให้เร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ7 เมษายน 2553 เรื่องปรับโครงสร้างหนี้ มติคณะรัฐมนตรี 8 กุมภาพันธ์ 2554 ให้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯที่เสียชีวิต ผู้พิการและผู้ที่อายุเกิน65 ปี ได้รับการจำหน่ายหนี้สูญ
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 สมาชิก สค.ปท.ได้ชุมนุมร่วมกับแนวร่วมเกษตรกรไท ประมาณ2,000 คน เรียกร้องต่อนายชุมพล ศิลปะอาชา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้บรรจุวาระการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เนื่องจากตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 พบว่า การทำงานล่าช้าไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อน ทำให้มีการประชุมบอร์ดใหญ่เร็วขึ้นเป็นวันที่ 20 กันยายน
นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การชุมนุม ก็เพื่อติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่กองทุนฟื้นฟู ผลปรากฏว่าก็อยู่ในระดับที่พอใจเพราะทำให้การแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนกับพี่น้องเกษตรกร ที่ถูกบังคับคดีขายทอดตลาดและถูกฟ้องขับไล่ เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นไปอย่างล่าช้า คือในรอบ 13 ปี ตั้งแต่มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูมามีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณ 500,000 ราย แต่บริหารจัดการหนี้ได้เพียง 20,000 ราย จนต้องมีการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่าน
ด้าน นางกนกพร ดิษฐกระจันทร์ ประธานกลุ่มฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า จากการมาเรียกร้องของชาวบ้านในครั้งนี้มีความพอใจอยู่ 3 เรื่อง หนึ่งคือการที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ พิจารณาอนุมัติงบประมาณค้างจ่ายของไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีงบประมาณ 2555 จำนวน 731 ล้านบาทซึ่งงบประมาณจำนวนดังกล่าวเป็นงบในการบริหารจัดการหนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกรจำนวน 619 ล้านบาท
เรื่องที่สองคือการรับรองเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนใหม่กับกองทุนฟื้นฟูฯ ระหว่างวันที่ 2 ธ.ค.2554 – 3 ก.พ.2555 จำนวนทั้งสิ้น 8,878 ราย และเรื่องสุดท้ายคือ ติดตามเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี 7 เม.ย.2553 เนื่องจากเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนหนึ่งได้เข้าไปใช้สิทธิในโครงการนี้ ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้อนุมัติงบประมาณไว้ 5,000 ล้านบาท
นางกนกพรระบุว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญของการปรับโครงสร้างหนี้ คือธนาคารเจ้าของหนี้ไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากธนาคารจะได้ดอกเบี้ยลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของที่ต้องจ่ายจริง และความจริงแล้วเกษตรกรไม่อยากให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ต้องการให้รัฐซื้อหนี้ของเกษตรกร และให้ย้ายมาอยู่กับกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะถ้าเกษตรกรประสบปัญหา ไม่สามารถทำการผลิตได้ ก็มีสิทธิทำเรื่องอุทธรณ์ต่อสำนักงานกองทุนในระดับจังหวัดให้ขยายระเวลาการจ่ายหนี้ได้
นายสัญญา ยะคะเสม เลขาธิการกลุ่มพัฒนาเกษตรกร หมู่ 7 อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในประเด็นที่ให้คณะกรรมการกองทุนฯ ติดตามหนี้สินของเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรี 8 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งกำหนดให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เสียชีวิต พิการทุพพลภาพ และเกษตรกรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้รับการจำหน่ายหนี้สูญนั้นมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย โดยนายสุรชัย ภู่ประเสร็จ รองเลขาธิการฝ่ายการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง รับปากว่า จะทำเรื่องต่อโดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะและนำเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ