จี้เดินหน้ากฏหมายเสมอภาคระหว่างเพศ จวกรัฐหมกเม็ด-กฤษฎีกาเติมท้ายนิยาม แนะมี7ข้อหลัก-เปิดที่ยืนกลุ่มหลากเพศ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2392 ครั้ง

ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญของการเป็นประชาธิปไตย และการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการส่งเสริมสถานภาพสตรี ซึ่งองค์กรระดับชาติ เช่น องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมาก ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  โดยองค์กรสหประชาชาติกำหนดให้ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นเป้าหมายหลัก 1 ใน 8 ของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ซึ่งประเทศสมาชิกได้ร่วมลงนามรับรอง และกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองเป้าหมายหลักของการพัฒนาสหัสวรรษตั้งตาปี พ.ศ.2543 โดยกำหนดแผนปฏิบัติการในเรื่องการสร้างความเสมอภาคให้บรรลุเป้าหมายภายในปี พ.ศ.2558  ซึ่งต้องยอมรับกันว่า ประเทศไทยยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายพอสมควร

 

 

อนุสัญญาผู้หญิงเร่งไทย ออกกฎหมายความเสมอภาคระหว่างเพศ

 

 

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อสตรี (CEDAW) หรือ อนุสัญญาผู้หญิง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ดังนั้นรัฐจึงมีพันธกิจในการสร้างมาตรการและกฎหมายต่าง ๆ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อผู้หญิง และเมื่อปี พ.ศ.2549 คณะกรรมการอนุสัญญาฯ มีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย ให้เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้อนุสัญญานี้ สามารถปฏิบัติได้ในระบบนิติบัญญัติอย่างเต็มที่

 

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 ต่อมาในปี พ.ศ.2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายนี้ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแก้ไขและส่งให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ให้ความเห็น

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความคลาดเคลื่อนกันอยู่ระหว่างของรัฐบาลและฉบับประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นกับกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ นับตั้งแต่ชื่อกฎหมายกันเลยทีเดียว ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ” ในขณะที่ร่างจากรัฐบาลใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ” รวมไปถึงคำนิยามด้วย ส่วนในร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชน เป็นความร่วมมือของเครือข่ายผู้หญิง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ต่างประเทศก้าวหน้าไปไกลแล้ว ออสเตรเลีย มี 7 ฉบับ ฮ่องกง 5 ฉบับ

 

 

นางกานดา วัชราภัย  ประธานคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยสิทธิสตรีและเด็ก ในฐานะที่เคยดูแลร่างฉบับของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า ความไม่เท่าเทียม มีอยู่ในสายเลือดของแต่ละประเทศมากบ้างน้อยบ้าง ตามบริบทของ ศาสนา การปกครอง ซึ่งทั้ง 10 ประเทศ ในอาเซียนนี้ พูดไม่ได้ว่าเดินไปเท่ากัน บางประเทศอาจจะมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ไปไกลแล้ว ในขณะที่บางประเทศเริ่มต้นไปไม่ถึงไหน

 

สำหรับกฏหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นกฎหมายทางเลือก เพื่อลดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมไม่ว่าจะเป็น เพศชาย เพศหญิง หรือเพศที่สาม

 

ในขณะที่นายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล  ผู้พิพากษาประจำศาลฎีกา กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการดูแลเรื่องนี้ และมีกฏหมายเฉพาะ โดยจะเรียกกฎหมายลักษณะนี้ว่า “กฎหมายคุ้มครองการเลือกปฏิบัติ”ประเทศออสเตรเลีย มีถึง 7ฉบับ เริ่มมีตั้งแต่ ค.ศ.1984 แต่ละมลรัฐจะมีกฎหมายลักษณะนี้ของตนเอง ส่วนประเทศคานาดาจะออกไปในรูปแบบของกฎหมายแรงงาน ประเทศอินเดีย ฮ่องกง ซึ่งมีถึง 5 ฉบับ

 

ส่วนร่างกฎหมายของไทย ทั้ง 2 ฉบับ ขณะนี้ทั้งของรัฐบาลและร่างของภาคประชาชน ซึ่งจากการศึกษาแล้วพบว่า ฉบับภาคประชาชนมองได้กว้างกว่า ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษา สาธารณสุข ซึ่งยังมีความเห็นที่แตกแยกระหว่างข้าราชการและภาคประชาชน จะทำอย่างไรให้กฎหมายฉบับนี้เชื่อมโยงและสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข อาชีพ เพื่อไม่ต้องไปแก้กฎหมายฉบับอื่นอีก

             “ผมคิดว่าประเด็นสำคัญ  คือจะทำอย่างไรให้ความคิดเห็นที่แยกกันระหว่างภาคประชาชน และข้าราชการรวมกันได้ กฎหมายฉบับนี้จะมีประโยชน์มาก”

 

 

เผยกฎหมายความเสมอภาค เป็นประเด็นร่วมในอาเซียน

 

 

ขณะที่ผู้แทนจากมูลนิธิผู้หญิง น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นประเด็นร่วมในอาเซียนด้วย ซึ่งถ้ากฎหมายนี้เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองการเลือกปฏิบัติในผู้หญิงได้จะแก้ปัญหาต่างได้มาก เช่น การมีส่วนร่วมทางการเมือง การศึกษา สาธารณสุข และกฎหมายที่จะบังคับใช้ในปัจจุบัน และอนาคตจะต้องไม่ละเมิดกฏหมายฉบับนี้ โดยจะต้องดำเนินการให้กฎหมายฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติในหน่วยงานของรัฐ เรื่องร้องเรียนต่าง ๆ และควรจะมีการทบทวนตลอดว่ากฎหมายนี้ยังทันต่อสถานการณ์ความเสมอภาคหรือไม่

 

ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิผู้หญิง กล่าวถึงที่มาของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยเครือข่ายผู้หญิงได้ศึกษาจากร่างของรัฐบาลที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงศึกษากฎหมายประเทศอื่น ๆ  เช่น จัดแปลกฎหมายของประเทศสเปน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากองค์กรต่างๆ และสมาชิก เครือข่ายผู้หญิงฯ จนเกิดเป็นแนวทางและร่วมกับผู้เชี่ยวชาญพัฒนาร่างกฎหมายส่งเสริมโอกาสภาคประชาชน

 

หลังจากที่ได้ร่างกฏหมายแล้ว ได้เปิดเวทีสัมมนาเพื่อเสนอร่างภาคประชาชน รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ จนได้เป็นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ภาคประชาชน ซึ่งวันนี้ประเทศอินเดียมีกระทรวงผู้หญิงแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังพิจารณาร่างกฎหมายกันอยู่

 

 

หลัก 7 ประการที่ต้องมีในกฏหมายความเสมอภาคระหว่างเพศ

 

 

ทั้งนี้ในการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการระดับสากลนั้น จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ 7 ประการ ซึ่งมาจากข้อเสนอในการประชุมของ unifem  เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันว่า จะดำเนินการให้มีกฏหมายที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1.กฏหมายต้องมีกลไกในการสร้างหลักประกันว่า กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน และในอนาคต มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับการดำเนินการของกฎหมายความเสมอภาคทางเพศ 2.กำหนดให้สถาบันของรัฐและเอกชนมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการดำเนินการกฎหมายความเสมอภาคทางเพศ 3.ต้องมีการจัดตั้งกลไกในการติดตามการดำเนินงานของรัฐและองค์กรเอกชน และระดับบุคคล ในการดำเนินการ และการปฏิบัติการกฎหมายความเสมอภาคทางเพศ

 

 

4.การให้ความสำคัญกระบวนการร้องเรียน เพื่อสร้างหลักประกันว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในการละเมิดกฎหมายความเสมอภาคทางเพศ จะสามารถดำเนินการ และได้รับการชดเชยความเสียหายที่เหมาะสม 5.ต้องมีกลไกเพื่อประกันให้มีการเก็บรวบรวมสถิติ ที่เกี่ยวกับเพศสภาพ 6.การจัดหาทุน 7.ต้องมีการประสานให้เกิดกระบวนการในการทบทวน เพื่อพิจารณาว่ากฎหมายความเสมอภาคทางเพศมีประสิทธิภาพหรือไม่

 

ทั้งนี้นอกจากองค์ประกอบทั้ง 7 ข้อแล้ว ในส่วนของคำนิยาม พยายามพูดถึงหลักการในอนุสัญญาผู้หญิง เพื่อให้คำนิยามนั้นสอดคล้อง อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีการศึกษารายละเอียดของอนุสัญญาผู้หญิง และคณะทำงานไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายกฤษฎีกาได้

 

อุษาในฐานะเครือข่ายผู้หญิงที่ร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า คณะกรรมการอนุสัญญาผู้หญิง มีความกังวลว่า ถึงแม้มาตรา 30 ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรองสิทธิอันเท่าเทียมกันระหว่างสตรีและบุรุษ แต่ยังไม่มีบทบัญญัติที่ระบุคำนิยามของการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ที่สอดคล้องกับข้อที่ 1 แห่งอนุสัญญานี้ ในการที่จะห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งคณะกรรมการกระตุ้นให้รัฐภาคีบรรจุคำนิยามที่สมบูรณ์ของการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งชาติ หรือในกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศที่กำลังยกร่างอยู่ในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาข้อที่ 1 แห่งอนุสัญญานี้

 

รวมถึงให้รัฐภาคีได้มีการจัดฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับอนุสัญญานี้ และพิธีสารเพิ่มเติม ให้แก่ นักกฎหมาย ทนายความ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อพัฒนาศักยภาพของสตรีในการอ้างสิทธิอันพึงมีพึงได้ทั้งมวล

 

 

กฤษฎีกาเพิ่มนิยาม กฏหมายความเสมอภาคกระทบอนุสัญญาระหว่างประเทศ

 

 

ทั้งนี้ อุษาได้เปรียบเทียบร่างกฎหมายทั้ง 2 ร่าง ระหว่างร่างของภาคประชาชนและร่างของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่ชื่อ โดยร่างของภาคประชาชนใช้ชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศพ.ศ..... เพื่อขยายความหมายของคำว่า “ความเท่าเทียม” ให้มีผลในเชิงบังคับ ส่วนร่างของรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณาจากกฤษฎีกาใช้ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.....

และข้อแตกต่างที่สำคัญคือ มาตรา 3 การนิยามการเลือกปฏิบัติ ซึ่งร่างฉบับประชาชน นิยามว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก การกีดกัน การไม่ยอมรับ หรือการจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือมีการแสดงออก ซึ่งแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ในขณะที่ร่างฉบับรัฐบาล นิยามว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก การกีดกัน หรือการจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ

              “ร่างของรัฐบาลได้มีการเพิ่มเติมวรรคท้าย ที่ระบุว่า เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นวรรคที่กฤษฎีกาเติมต่อท้ายเข้าไป และเครือข่ายภาคประชาชนไม่เห็นด้วย”

 

 

สำหรับประเด็นการต่อท้ายนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเคยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้วครั้งหนึ่งว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือไม่ อย่างไรก็ตามกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลอนุสัญญาระหว่างประเทศ เคยทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี เนื่องจากจะขัดต่ออนุสัญญาที่ประเทศไทยให้ไว้กับต่างประเทศ ซึ่งการเพิ่มเติมนิยามของคณะกรรมการกฤษฎีกา เหมือนเป็นการเปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติต่อเพศต่างๆได้

 

นอกจากนี้ยังการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งร่างของรัฐบาลไม่ได้กำหนดไว้ ในขณะที่ร่างประชาชน มีการกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 8 ว่า การกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิ และเสรีภาพได้เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากเพศหรือเพศภาวะตามพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นไปตามหลักการของ ยอร์ค จาการ์ตาร์ที่พูดถึงการให้สิทธิกับบุคคลเพศที่สาม และการกำหนดโทษ ที่ร่างของรัฐบาลไม่กำหนดโทษของผู้ที่เลือกปฏิบัติ และผู้ใช้ความรุนแรง  โทษจำคุกไม่เกิน 3  ปี หรือปรับไม่เกิน  360,000 บาท

 

ระบุร่างรัฐบาลขาดหัวใจสำคัญ คือความเสมอภาค

 

ด้าน ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ....ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาล นส. ยิ่งลักษณ์ที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้วเมื่อวันที่้ 2 เมษายน 2555ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ผ่านเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้โดยเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้มี "บทบัญญัติ" ที่เป็นปัญหาสำคัญๆ หลายประการ ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขจะกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคในการ "คุ้มครองสิทธิความเสมอภาคกันของบุคคลไม่ว่าเพศใดมิให้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ" อย่างมาก หรืออีกนัยหนึ่ง การที่ไม่มีกฎหมายฉบับนี้ออกบังคับใช้อาจจะดีเสียกว่า

 

ประเด็นสำคัญ ที่ร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาลขาดสาระสำคัญที่เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของกฎหมาย คือการไม่อ้าง หลักการและเหตุผล ในการตรากฎหมายด้วยการอ้าง หลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ และหลักการในอนุสัญญาผู้หญิง (CEDAW) ว่าด้วยเรื่องขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ซึ่งหลักกฎหมายที่สถาปนา ความเสมอภาคกันของมนุษย์เป็นหลักการสำคัญที่ควรจะเป็นหัวใจและจิตวิญญาณของกฎหมายว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ

 

ส่วนเรื่องถ้อยคำ "ความเสมอภาคระหว่างเพศ" และ "ความเท่าเทียมระหว่างเพศ" ก็ควรจะได้ทำความเข้าใจ "รากเหง้า ที่มา และความหมายของถ้อยคำสองคำนี้" อย่างจริงจัง  เพราะย่อมมีนัยยะที่แตกต่างกันด้วย

 

 

ให้รัฐสร้างหลักประกันคุ้มครองให้ผู้หญิง

 

นางอังคณา นีละไพจิตร  ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า การเลือกปฏบัติในสังคมบางครั้งไม่ได้มาจากศาสนา แต่เป็นการตีความของผู้ตีความเอง การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเป็นเรื่องเลวร้าย รัฐบาลต้องสร้างกลไกเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองให้กับผู้หญิง กรณีผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าถูกข่มขืนต้องขึ้นศาลทหาร ผู้หญิงจะไม่มีสิทธิตั้งทนายความ ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้ง และใส่ใจมากกว่าที่เป็นอยู่ ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงการสงเคราะห์ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้หญิงยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของทนุษย์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงต้องปรับตัวสูงมาก

 

นักวิชาการเรียกร้องเปิดทืยืนให้เพศที่สาม

 

ขณะที่ ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ อาจารย์จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักการของกฎหมายฉบับนี้ ร่างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิง ชายเป็นหลัก และจะมีเพศที่สามประปรายแต่ไม่มากนัก ซึ่งอยากให้ช่วยกันคิดถึงว่าในสังคมนี้ยังมีเพศที่สาม  ทอม ดี้ เกย์ เลสเบี้ยน ที่ใช้สัญลักษณ์เป็นธงสีรุ้ง  ซึ่งในหลักการสาก ที่เรียกว่า หลักการ YORK GAGARTR ได้พูดถึงการให้สิทธิกับบุคคลเพศที่สาม ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ยอมรับว่าความหลากหลายทางเพศต้องได้รับการยอมรับ ตามหลักการของ YORK GAGARTR ที่ถูกนำมาใช้บ้างแต่บางประเด็นยังไม่ได้รรับการบรรจุ และสังคมละเลยปัญหานั้น

 

ตัวอย่างเกี่ยวกับการไม่ได้รับสิทธิของเพศที่สาม ที่สังคมมองข้ามเช่น คู่ชีวิตทอมดี้ ที่ไม่ได้รับสินเชื่อจากธนาคาร  หรือไม่ได้สิทธิในการเซ็นให้คู่สมรสได้รับการผ่าตัด กระเทยถูกห้ามเข้าประเทศ ผู้ป่วยสาวประเภทสองถูกส่งตัวไปอยู่หอผู้ป่วยชาย

 

            “อย่างกรณีที่คู่ทอมดี้ ไม่สามารถเซ็นให้อีกฝ่ายผ่าตัดได้ โรงพยาบาลไม่ยอม จนอีกฝ่ายหนึ่งเกือบเสียชีวิต สิทธิ์พวกนี้เป็นเรื่องทื่ควรจะได้รับการคุ้มครอง”

 

เช่นเดียวกับ น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร แนวปฏิบัติ ยอร์กจาการ์ตา เป็นหลักการใหญ่ที่ทำให้เกิดปฏิญาต่างๆ ที่ผ่านมาเรามองข้ามกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีที่ยืนในสังคม

 

อย่างไรก็ตาม ในสังคมทุกวันนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นทุกวัน ทำให้จำเป็นต้องมีการออกกฏหมายฉบับนี้ ซึ่งกฏหมายฉบับนี้เป็นกฏหมายที่ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศ ให้มีการทบทวนและยกเลิกข้อยกเว้นต่างๆในกฏหมายฉบับนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: