ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือนิดาโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ หัวข้อ “พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่น” จากกลุ่มเป้าหมาย 1,873 ตัวอย่าง ด้วยคำถาม 4 หัวข้อใหญ่ ที่เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชั่น
ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พฤติกรรมที่เคยเห็นและบ่งว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ให้การแซงคิวผู้อื่นเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น มากถึงร้อยละ 85.16 รองลงมาคือ การขับรถแทรกผู้อื่นโดยไม่มีการต่อคิว ร้อยละ 82.38 และอันดับสามคือ การรับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมือง ร้อยละ 70.10 อันดับ 4-10 คือ การฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียน ร้อยละ 63.75 การนำสิ่งของและเครื่องใช้ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว ร้อยละ 54.89
ระบบอุปถัมภ์และการให้สิทธิพิเศษแก่เครือญาติหรือบุคคลใกล้ชิด ร้อยละ 53.50 การรีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 49.87 การใช้อำนาจหน้าที่และตำแหน่งในทางมิชอบ ร้อยละ 47.78 การให้ของขวัญหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการส่งส่วย ร้อยละ 42.50 และการวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่งและซื้อตำแหน่ง ร้อยละ 41.75
เมื่อถามว่า คิดว่าพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ กลุ่มเป้าหมายระบุว่า อันดับหนึ่งคือ การวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่งและซื้อตำแหน่ง ร้อยละ 94.55 อันดับที่สองคือ การรับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมืองร้อยละ 93.86 และอันดับที่สามคือ การรีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 92.10 อันดับที่ 4 การให้ของขวัญหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการส่งส่วย ร้อยละ 89.27 อันดับ 5 การใช้อำนาจหน้าที่และตำแหน่งในทางมิชอบ ร้อยละ 87.45
อันดับที่ 6-10 คือ ระบบอุปถัมภ์และการให้สิทธิพิเศษแก่เครือญาติหรือบุคคลใกล้ชิด ร้อยละ 81.90 การนำสิ่งของ และเครื่องใช้ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว ร้อยละ 63.16 การฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียน ร้อยละ 61.72 และการขับรถแทรกผู้อื่นโดยไม่มีการต่อคิว ร้อยละ 26.05 และสุดท้าย การแซงคิวผู้อื่น ร้อยละ 24.83
ผู้ที่ประชาชนคิดว่ามีหน้าที่ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ ประชาชนคนไทยทุกคน ร้อยละ 65.46 เจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 10.30 ส่วนราชการ / หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ร้อยละ 4.91 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ร้อยละ 3.58 รัฐบาล ร้อยละ 2.35 ตำรวจ ร้อยละ 1.87 และผู้ที่ถูกคาดหวังน้อยที่สุดคือ นักการเมือง ร้อยละ 0.75
ส่วนวิธีการที่เป็นการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่คิดว่าได้ผลนั้น อันดับ 1 ใช้กฎหมายอย่างจริงจังและดำเนินการลงโทษผู้กระทำการทุจริตอย่างเด็ดขาด ร้อยละ 16.87 ปลูกฝังจิตสำนึก คุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชนตั้งแต่วัยเด็ก ร้อยละ 12.28 ประชาชนทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแลร่วมกัน ร้อยละ 9.66 มีการตรวจสอบการทำงานทุกหน่วยงานและติดตามความประพฤติของเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 7.96 การแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อพบเห็นหรือทราบถึงการทุจริต ร้อยละ 7.10 ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำงาน ร้อยละ 6.09 จัดอบรมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม ร้อยละ 5.45 ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัยกับตัวเองก่อน ร้อยละ 3.58 ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางมาตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ / หน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 2.78 ใช้หลักธรรม หลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 2.56 และสุดท้ายประชาชนยังคิดว่าไม่มีวิธีการใดต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ร้อยละ 1.87
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ