วันที่ 21 ธันวาคม น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ร่วมแถลงข่าว ‘รายงานสถานการณ์ความทุกข์ของผู้บริโภคประจำปี 2555’ พร้อมยื่นข้อเสนอแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความเป็นธรรมและเร่งคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคไทย
น.ส.สารีกล่าวว่า จากการรับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้บริโภคที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค อันดับที่ 1 คือ ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข โดยปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนสูงสุดในหมวดนี้คือ ศูนย์ออกกำลังกาย ที่ปิดบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบ หรือยังมีการรับสมัครสมาชิกตลอดชีพ ทั้งที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้แล้ว เมื่อเกิดการผิดสัญญาขึ้น แต่ทางสถานออกกำลังกายกลับไม่คืนเงินค่าสมาชิกให้แก่ลูกค้า
“นอกจากนี้ ยังมีปัญหาข้อสัญญาไม่เป็นธรรม คือทำสัญญาแล้วต้องใช้บริการให้ครบ 1 ปี จึงจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้ ทั้งนี้ศูนย์บริการส่วนใหญ่จะหักเงินบัตรเครดิตผู้บริโภคทันทีในคราวแรก หรือบางรายต้องจ่ายค่าใช้บริการอื่น เพิ่มจากการชักชวนของพนักงานขาย เช่น ครูฝึกส่วนตัว โปรแกรมเสริมที่หลากหลาย ซึ่งมีผู้บริโภคมาร้องเรียนถึง 680 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท
“กรณีร้องเรียนอันดับรองลงมาคือเรื่องมาตรฐานการรักษา, ระบบการส่งต่อ, การใช้สิทธิในกองทุนฉุกเฉิน ที่ยังคงเป็นปัญหาจากความเข้าใจ และการตีความที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการว่าอาการป่วยลักษณะไหนที่เข้าข่ายใช้สิทธิฉุกเฉินได้ รวมถึงปัญหาคุณภาพการให้บริการของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล” น.ส.สารีกล่าว
อันดับ 2 คือ ด้านการเงินการธนาคาร ซึ่งกรณีปัญหาที่น่าสนใจคือ การปิดบังการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการโอนผ่านตู้กดเงิน โดยในใบสลิปจะไม่แสดงค่าธรรมเนียม แต่เมื่อนำสมุดบัญชีไปปรับจะพบค่าธรรมเนียมปรากฎอยู่ ซึ่งเป็นการจงใจเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการถูกธนาคารฟ้องร้อง ให้ชำระหนี้ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการ ซึ่งเป็นความผิดพลาดของระบบของธนาคารเอง ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระในการต่อสู้คดี ทั้งที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ธุรกิจที่เป็นธรรม
รองลงมาคือ ปัญหาจากบริษัทประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยรถยนต์ ประกันชีวิต และประกันวินาศภัยที่มักอ้างกับผู้บริโภคว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เข้าเงื่อนไขของการรับประกัน เป็นเหตุที่ต้องยกเว้นทำให้ผู้บริโภคจำนวนมาก ต้องใช้วิธีการฟ้องร้องผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยเหล่านี้จึงได้รับการชดเชยเยียวยา
“ปัญหาเรื่องการชำระหนี้กับทางผู้ให้บริการบัตรเครดิตในปีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการระบบการเงินส่วนบุคคลที่ผิดพลาด ทำให้ก่อหนี้แล้วไม่สามารถชำระได้ตรงตามเวลา ถูกฟ้องร้องเป็นคดีมากขึ้นสูงกว่าปีที่ผ่านมา”
อันดับ 3 คือ ด้านอสังหาริมทรัพย์ ประเด็นที่ส่งผลกับผู้บริโภคส่วนใหญ่ คือการผิดสัญญาซื้อขายของบ้านเอื้ออาทร ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ เมื่อจ่ายค่างวดช้าก็ถูกธนาคารร่วมกับการเคหะแห่งชาติดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัญญา โดยอ้างว่า ทางการเคหะแห่งชาติได้ซื้อคืนบ้านคืนแล้ว หากผู้บริโภคยังต้องการอาศัยอยู่ต้องจ่ายค่าเช่าคืนละ 100 บาท และท้ายสุดทางการเคหะก็จะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อขับไล่ให้ผู้บริโภคออกจากบ้านหลังนั้น
สำหรับปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับอาคารชุด เป็นเรื่องการก่อสร้างล่าช้าของโครงการ และการยึดเงินจองจากผู้บริโภค และปัญหาการใช้บริการห้องเช่า ลักษณะการร้องเรียนเป็นเรื่องการเก็บค่าน้ำค่าไฟฟ้าแพงเกินและไม่คืนเงินประกัน โดยอ้างเรื่องความเสียหายของห้องเช่า ซึ่งเกิดก่อนที่ผู้เช่าจะเข้าอาศัย
อันดับที่ 4 คือ ด้านสื่อและโทรคมนาคม พบว่ามีลักษณะของการได้รับซิมฟรี แล้วถูกเรียกเก็บเงินภายหลัง ทั้งที่ไม่ได้เปิดใช้บริการ ซึ่งเป็นปัญหาสูงสุดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รองลงมาคือ ปัญหาวันหมด แต่เงินไม่หมด แต่ไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อันดับที่ 5 คือด้านบริการสาธารณะ กรณีที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือปัญหาการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ หากเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ จะพบปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารได้รับความเสียหายสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน, ทรัพย์สินสูญหายระหว่างเดินทางและไม่ได้รับการชดใช้เต็มจำนวน เพราะผู้ให้บริการอ้างว่าจะชดเชยได้ไม่เกิน 500 บาทเท่านั้น ส่วนกรณีรถจักรยานยนต์รับจ้าง ลักษณะปัญหาที่พบคือการเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริง ปฏิเสธรับผู้โดยสารที่มีรูปร่างอ้วน, ขับรถในลักษณะที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย, พูดจาไม่สุภาพตวาดผู้โดยสาร และทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง
ด้านบริการรถตู้โดยสารก็มีปัญหาการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดสูงสุดไว้ที่ความเร็ว 146 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับรถในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย และเก็บค่าบริการแพง ทั้งยังมีการนำรถตู้ 18 ที่นั่งมาให้บริการโดยไม่ผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของตัวรถ และมีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายคือ รถทัวร์ 1 คัน เป็นรถตู้ 3 คัน ทำให้รถตู้เพิ่มมากขึ้นเกินควบคุม
ส่วนบริการสาธารณะอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ซึ่งลักษณะปัญหา คือการเก็บบริการที่สูงเกินจริง ในช่วงเวลาที่เกิดเป็นช่วงน้ำท่วมและผู้ร้องไม่ได้อยู่บ้าน, ปัญหาสายการบิน พบปัญหาสายการบินโลว์คอสท์ยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่แจ้งหรือแจ้งกระชั้นเกินไป กระเป๋าสัมภาระหาย หรือการซื้อตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วถูกหักเงินจากบัตรเครดิตซ้ำ 2 ครั้ง เป็นต้น
และอันดับที่สุดท้าย คือปัญหาด้านอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ไม่ว่าปัญหาอาหารหมดอายุแล้วยังนำมาจำหน่ายในห้างร้าน วันที่ผลิตและวันหมดอายุไม่ชัดเจน ฉลากกำกับไม่เป็นภาษาไทย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเสมือนยารักษาโรคที่มีเป็นจำนวนมากในระบบโซเชียลมีเดียโดยไม่มีการควบคุมหรือการกำกับดูแลอย่างทั่วถึง เช่น ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เร่งผิวขาว หน้าเด้ง หน้าใส หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่เสริมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค
น.ส.สารีกล่าวต่อว่า ทางมูลนิธิฯ จึงมีข้อเสนอด้านนโยบาย 6 ประการคือ 1.ผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2.บริการสุขภาพมาตรฐานเดียว โดยผู้ประกันตนต้องไม่ร่วมจ่ายเรื่องบริการสุขภาพ และนำไปใช้ในสิทธิประโยชน์อื่น 3.บัตรเติมเงินจะต้องไม่กำหนดวันหมดอายุ ผู้ประกอบการต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 4.ออกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยชั้น 1 (ประกันภัยภาคสมัครใจ) 5.ปรับโครงสร้างและการคิดราคาก๊าซให้เป็นธรรมในทุกประเภทการใช้งาน เช่น ภาคปิโตรเคมี ภาคครัวเรือน (หุงต้ม) และภาคขนส่ง (ยานยนต์) 6.เร่งรัดให้หน่วยงานเร่งดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างรวดเร็ว ทั้งในส่วนคดีแพ่งและคดีอาญา กรณีแคลิฟอร์เนียว้าว
อย่างไรก็ตาม น.ส.สารีกล่าวว่า ข้อเสนอด้านนโยบายทั้ง 6 ประการนี้ได้มีการเสนอแก่ภาครัฐไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรม
“ทุกข์ของผู้บริโภคที่มีอย่างต่อเนื่องสารพัดรูปแบบ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอาจไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ทั้งหมด ดังนั้น ประการแรกคือ ผู้บริโภคจะต้องมีข้อมูลให้เท่าทันกับสถานการณ์ เพื่อใช้รับมือ รวมทั้งเป็นเกราะป้องกันตัวจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ประการที่สอง การปรับปรุงพัฒนากฎหมายที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบัน และประการที่สามคือต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังและให้เกิดประสิทธิภาพ” น.ส.สารีกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ