สถานการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความแตกแยกในสังคมไทย สาเหตุหลักอย่างหนึ่งมาจากปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ที่มาจากการเลือกปฏิบัติที่หยั่งรากลึกในโครงสร้างของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย สร้างความไม่เสมอภาคในอำนาจต่อรองของประชาชน ในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของตน จนเกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม
ทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือ การปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม โดยสามารถเรียกร้องและได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม ซึ่งการที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม ต้องเสริมสร้างพลังทางกฎหมายให้แก่ประชาชน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในฐานะองค์การอิสระที่เกิดขึ้นและมีภารกิจโดยตรงในการปฏิรูปกฎหมาย ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมกับ UNDP จัดสัมมนา “บทบาทของกฎหมายกับปัญหาท้าทายทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง” เพื่อที่จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลและในกระบวนการปฏิรูปกฎหมายของประเทศไทย เพื่อสามารถตอบสนองต่อปัญหาท้าทายด้านต่างๆในสังคมไทย
กฎหมายไม่เอื้อประโยชน์ให้ประชาชน
นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ให้สัมภาษณ์ TCIJ เกี่ยวกับการสัมมนา ว่า ปัญหาความแตกแยก และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากกฎหมาย แม้แต่ในทางทฤษฎีของกฎหมาย ยังแยกความเป็นธรรมในกฎหมาย และความเป็นธรรมในสังคม จึงกลายเป็นปัญหาที่สะสม เรื้อรังมานาน ทั้งนี้กฎหมายควรจะต้องเป็นเครื่องมือในการที่จะปกป้อง สิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนกลุ่มน้อยในสังคม ให้เกิดความเป็นธรรม ความมั่นคง ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐเท่านั้น แต่เป็นความเป็นมั่นคงของประชาชนด้วย รวมไปถึงต้องมีเสถียรภาพทางสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมากฎหมาย ไม่ได้ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายนี้ เนื่องจากกฎหมายจัดทำโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีอำนาจ เช่น คณะรัฐประหาร นักการเมือง ซึ่งไม่ได้ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงไม่ได้มีการรับฟังปัญหา และผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นจากประชาชน
นายสมชายกล่าวว่า เราต้องเริ่มต้นจากทฤษฎีและเปิดมุมมองทางกฎหมายใหม่ ให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย เช่น เสนอให้ประชาชนรวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เสนอร่างกฎหมายได้ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจคิดแล้วทำ แต่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค เช่น กรณีกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม แน่นอนว่า ประชาชนอาจจะไม่รู้ทั้งหมด แต่สามารถหานักวิชาการที่รู้เรื่องมาช่วยได้
“ที่ผ่านมามีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม บางครั้งกฎหมายดี แต่มีการเลือกปฏิบัติ เช่น บังคับใช้กับคนจนเท่านั้น เช่น กฎหมายเรื่องการประกันตน คนที่มีเงิน มีอำนาจสามารถประกันตนได้ ในขณะที่คนจนไม่มีเงิน ต้องอยู่ในคุก”
แนะต้องปฏิรูปใหม่ทั้งกระบวนการ
ส่วนแนวทางการปฏิรูปกฎหมาย นายสมชายกล่าวว่า กฎหมายต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพันธกรณี หากมีการละเมิดหรือขัดต้องมีการแก้ไข ซึ่งเราเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ประชาชนรู้ขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย ประชาชนต้องไม่เป็นเหยื่อในการใช้อำนาจ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งยังมีคนที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย ตั้งแต่คนร่างกฎหมาย คนออกกฎหมายอย่างรัฐสภา ไปจนถึงคนที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ป่าไม้ ไปจนถึงศาล ปัญหาคือคนเหล่านี้ต้องมีการปฏิรูปกันใหม่ทั้งหมด ซึ่งมุมมองหลายอย่างเพี้ยนไปหมด แทนที่จะใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง กลับใช้ข้าราชการเป็นศูนย์กลาง
“ปัญหาเรื่องกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก หรือไกลตัวประชาชน แต่ปัญหาที่ประชาชนเจอคือ กฎหมายไม่เป็นประโยชน์กับเขา แต่ถ้าเป็นประโยชน์ให้ยากยังไงเขาก็จะเข้าหากฎหมาย ที่ผ่านมากฎหมายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อประชาชน”
กฎหมายทำเหลื่อมล้ำเพราะเอื้ออำนาจจนท.รัฐ
สำหรับประเด็นจากเวทีเสวนาในช่วงแรก “ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง – บทบาทของกฎหมายในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม” น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงบทบาทของกฎหมายในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมว่า ปัญหาของกฎหมายอยูที่นโยบายระดับโครงสร้าง ทำให้เกิดความขัดแย้งและรุนแรงในสังคมไทย ชุมชนตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาในระบบทุน ทำให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้การปรับโครงสร้างสังคมในกระบวนการโลกาภิวัฒน์ ด้วยการเปลี่ยนทรัพยากรส่วนรวม เช่น ที่ดิน ทรัพยากร น้ำ แร่ ให้เป็นสินค้า ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
ในฐานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปีที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนประมาณ 500 คดี ซึ่งแต่ละคดีจะมีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่าง ข้อกฎหมาย และกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น ประเด็นที่ดินป่าไม้ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับจะเน้นไปที่การปราบปรามและการดูแลทรัพยากรของรัฐ โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ แต่กับเอื้อประโยชน์ให้กับหน่วยงานภาครัฐมากกว่า เช่นกรณีร้องเรียน เรื่องที่มีการประกาศขยายพื้นที่อนุรักษ์ทับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยของประชาชน จากการวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตพบว่า หน่วยงานภาครัฐมีการใช้อำนาจหน้าที่ ดุลพินิจ การเลือกปฏิบัติ ในการจับกุม นอกจากนี้ยังพบว่าภาครัฐใช้กฎหมาย โดยไม่เข้าใจวัฒนธรรมของชุมชน เช่น การจับกุมเรื่องการทำไร่หมุนเวียน
จนท.รัฐควรหยุดใช้อำนาจ-เข้าใจวิถีชุมชน
น.พ.นิรันดร์กล่าวต่อว่า ยังมีปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนและมีข้อขัดข้องทางกฎมายคือ โครงการขนาดใหญ่จากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ กฎหมายเวนคืนที่ดิน และกฎหมายการรอนสิทธิ ซึ่งพบว่า รัฐไม่จัดสรรที่ดินให้กับผู้อพยพจากการสร้างเขื่อน โดยรัฐใช้กฎหมายเวนคืนที่ดินเป็นเครื่องมือ และค่าชดเชยที่ได้รับไม่เป็นธรรม นอกจากนี้กฎหมายการรอนสิทธิ ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
“ในความเป็นจริงควรมีการปรับกลไกเชิงสถาบัน เพื่อรองรับสิทธิชุมชน ด้วยการผลักดันให้มีการออกกฎหมายเชิงซ้อนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กฎหมายป่าชุมชน การออกโฉนดชุมชน กฎหมายสินแร่ กฎหมายประมงพื้นบ้าน และกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และควรมีการสร้างความเสมอภาคด้วยการผลักดันสิทธิชุมชนควบคู่ไปกับสิทธิทางกระบวนการยุติธรรม ด้วยการสร้างความเสมอภาคทางกฎหมาย ผลักดันสิทธิชุมชนสู่กฎหมายแพ่ง-อาญา ขยายบริบทการตีความทางกฎหมายไปสู่มิติทางสังคมวัฒนธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน และสิ่งสำคัญคือ การยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ระหว่างสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยรัฐใช้กฎมายต่างๆเป็นเครื่องมือ ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกฎหมายแก้ปัญหาไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมายนำไปสู่การทำลายล้างในที่สุด”
นักกฎหมายควรสร้างความเป็นธรรมไม่ใช่เนติบริกร
ด้าน น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา กล่าวว่า กฎหมายของประเทศไทย ไม่มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมตั้งแต่สมัยเปิดประเทศ เพื่อป้องกันพวกล่าอาณานิคม ในขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่โครงสร้างเนื้อหาสาระของกฎหมาย ไม่ได้ปรับไปตามสภาพสังคม สัดส่วนคณะกรรมการตามกฎหมายมีสัดส่วนของข้าราชการประจำจำนวนมาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง และยังมีการออกกฎระเบียบที่เอื้อให้กลุ่มทุน กลุ่มการเมือง และกลุ่มข้าราชการ รวมถึงกฎหมายยังให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
“ขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง หากประเทศไทยไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนา คงจะไม่เหลืออะไร ดังนั้นนักกฎหมายควรจะคำนึงว่า เป็นผู้ที่สร้างความเป็นธรรม มิใช่เนติบริกรรับใช้ทุนและนักการเมือง จากการศึกษากฎหมายต่างๆ นั้น กฎหมายส่วนใหญ่เอื้อให้กับการลงทุน เช่น กฎหมายลงทุนทางเศรษฐกิจ จะออกเร็วมาก ในขณะที่กฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนนั้นออกช้า อย่างเช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งประชาชนเรียกร้องเกือบ 20 ปี แล้ว”
ตุลาการไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม
นอกจากนี้น.ส.ศยามลยังกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยเฉพาะแนวคิดหลักของกฎหมายในประเด็นทรัพยากรนั้น กฎหมายจะเข้าไปควบคุม จัดการและใช้ทรัพยากรอย่างทำลาย ในขณะที่อำนาจบริหารนั้นจะใช้อำนาจรัฐมนตรีไม่ได้อยู่บนหลักนิติธรรม แต่กับอิงแอบระบบราชการที่ไม่มีการปฏิรูปการบริหาร และส่วนของตุลาการไม่ได้อยู่บนฐานการวิเคราะห์ความไม่เป็นธรรมทางโครงสร้างของสังคม ที่สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม
“ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินที่บทบาทของกฎหมายไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มประชาชนที่รวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีทรัพย์สินเกือบ 70 เท่าของกลุ่มที่จนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ แต่ประเทศไทยกับไม่เคยมีกฎหมายที่ก่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน หรือไม่มีการใช้มาตรการทางภาษีเก็บจากคนที่มีทรัพย์สินมาก กระจายให้คนไม่มีทรัพย์สิน”
น.ส.ศยามลกล่าวต่อว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรนั้น สร้างความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรระหว่างชาวบ้านกับรัฐมากขึ้นอีก กฎหมายแยกส่วนตามประเภททรัพยากร ตามการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ ในขณะที่กฎหมายเชิงอนุรักษ์ ควบคุม ปราบปราม แยกคนกับธรรมชาติ และที่สำคัญกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรไม่รับรองสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และไม่คุ้มครองพื้นที่ผลิตอาหารและทรัพยากร
ทนายความไม่เข้าใจปัญหาสังคม
“ทนายความยังขาดความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาของสังคมไทยโดยรวม และความเข้าใจต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการทำความเข้าใจกับกฎหมายที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินช่วยเหลือคดีให้กับทนายความ มีมาจากหลายที่ แต่เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งมีปัญหาล่าช้าในการเบิกจ่ายงบสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือคดีได้ทันสถานการณ์ นอกจากนี้การพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ทั้งในวิธีพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาใช้ระบบกล่าวหา สร้างความไม่เป็นธรรมต่อจำเลย หรือผู้เสียหายมาก และยังมีวิธีพิจารณาคดีปกครอง ที่ใช้ระบบไต่สวน ที่ยังติดเงื่อนไขตามกฎหมายและระเบียบขั้นตอนของระบบราชการ”
น.ส.ศยามลกล่าวด้วยว่า นักกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมาย ต้องมีจุดยืนต่อสังคม ในสถานการณ์ความเป็นไปของโลก และต้องเข้าใจบริบทของสังคม ซึ่งตน ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายที่ให้มีองค์กรอิสระต่างๆ เพราะคนไทยไม่เก่งเรื่องการควบคุม กฎหมายควรจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดประชาชน โดยเนื้อหากฎหมายไม่ต้องยาวมาก เข้าใจง่าย เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน
ผู้พิพากษาเสนอติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน
นอกจากนี้ ในเวที “นิติรัฐ การเข้าถึงความยุติธรรม การสร้างพลังกฎหมายแก่ประชาชนและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ดร.ดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยคือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งที่จริงแล้วประเทศไทยมีกฎหมายที่ล้ำหน้ามาก เช่นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว แต่ต้องยอมรับว่ากฎหมายบางฉบับแก้ไขแล้วติดเงื่อนไขบางประการ ขณะเดียวกันต้องดูด้วยว่านักกฎหมายตีความกฎหมายนั้นๆ อย่างไร
ประเด็นสำคัญคือประชาชนต้องเข้าถึงการใช้กฎหมาย จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย เช่น การให้ประชาชนเสนอชื่อ 10,000 รายชื่อ หรือการทำประชาพิจารณ์ เราพยายามทำ แต่บางครั้งมีคนเข้าร่วมแค่ 20 คน ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นต้องหาวิธีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้
“การติดอาวุธทางปัญญาให้ความรู้ทางกฎหมายกับประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ประชาชนวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองได้ ซึ่งปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้อาจจะดีขึ้น ถ้าประชาชนมีองค์ความรู้พอที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำหน้าที่ในการให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งไทยกับต่างประเทศมีบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ประเทศไทยมีชุมชนที่เข้มแข็งไม่มาก รัฐต้องสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน ให้กระจายไปทั่ว นั่นคือ ความยุติธรรมที่มีส่วนร่วม”
ด้าน นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ระบบการศึกษามีการสร้างนักกฎหมายรุ่นใหม่ แต่นักกฎหมายไม่พัฒนาตนเอง ตามไม่ทันบริบทและปัญหาทางสังคม เราสร้างตัวบทกฎหมาย แต่ไม่มีความรู้เรื่องสังคม ขาดประสบการณ์ ซึ่งจะทำอย่างไรให้หลักสูตรชั้นสูงไปเรียนรู้เรื่องสังคม ที่สำคัญคือการสื่อสารเรื่องกฎหมายให้กับประชาชน ต้องคิดว่าจะใช้การสื่อสารรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
เสนอชุมชนออกกฎหมายเองเริ่มที่ข้อบัญญัติท้องถิ่น
ส่วนในประเด็นที่ว่าด้วย “การปฏิรูปกฎหมายและบทบาทของกฎหมายต่อปัญหาท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจการเมือง” นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ระบบงานยุติธรรมต้องเชื่อมโยงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเข้าด้วยกัน และโยงไปสู่ชุมชนให้ได้รับรู้ ทั้งนี้การปฏิรูปกฎหมายต้องปฏิรูปเชิงสถาบัน ที่ส่งผลในเชิงโครงสร้างให้ได้และต้องเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ต้องมีการปรับทัศนคติโดยปรับเป็นสถาบันที่ส่งเสริมกระบวนการทางสังคม เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยมากกว่านี้
“ส่วนกระบวนการปฏิรูปกฎหมายกับสิทธิพลเมือง กระบวนการนิติบัญญัติต้องมีขั้นตอนของประชาชนในการเขียนกฎหมายของตนเอง ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของข้อบัญญัติ กฎระเบียบ ที่เข้าใจง่าย เสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง และประชาชนต้องมีพลังในการกำหนดนโยบายสาธารณะเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายนิติบัญญัติ เน้นกระบวนการทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมาความพยายามของภาคประชาชนที่จะไปสู่นโยบายถูกขัดขวาง ซึ่งน่าจะมาจากกระบวนการไม่ได้รับการยอมรับ ยังมีช่องว่างระหว่างชุมชนพื้นที่และนโยบาย อันนี้เป็นการบ้านของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่ควรจะทำหน้าที่เชื่อมสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน”
งานวิจัยพบหลายปัจจัยชาวบ้านไม่ชอบไปศาล
ด้าน รศ.ณรงค์ ใจหาญ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปฏิรูปกฎหมายว่า สิ่งที่เราขาดในการปฏิรูปกฎหมายคือ การพิจารณากฎหมายที่มีอยู่ว่าสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมหรือไม่ ทั้งนี้การสร้างกฎหมายที่เหมาะสมต้องกลมกลืนกับค่านิยมของสังคมไทย ต้องมีการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งมุมวิชาการและมุมที่สะท้อนสังคม และการร่างกฎหมายใหม่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้กฎหมายใหม่จะต้องคำนึงถึงกลไกในการบังคับใช้กฎหมายและพิจารณาเรื่องการรับใช้สังคมมากกว่าตัวบุคคล
“การทำวิจัยในหลายจังหวัดเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน พบว่าหลายเรื่องชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี ขณะที่ชาวบ้านไม่ไปศาล แต่ได้รับความเป็นธรรมคือสามารถตกลงกันได้ง่ายกว่า ชาวบ้านหลายคนเลือกที่จะไม่ไปศาล และไม่ใช้กฎหมาย ในการแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องดังกล่าว มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชาวบ้านกลัวที่จะต้องขึ้นศาล ห่างไกลจากพื้นที่ ฐานะยากจน นอกจากนี้ยังมีปัญหาในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น มีบุคลากรน้อย มีการคอร์รัปชั่น ล่าช้า ค่าตอบแทนต่ำ ซึ่งข้อสรุปจากการทำวิจัยในหลายพื้นที่ กล่าวได้ว่า กฎหมายไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมและกฎหมายบางฉบับขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ