ระดมเปิดแผนสันติภาพ4ประเด็น จับมือแก้ปัญหา3จังหวัดภาคใต้

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) 22 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2527 ครั้ง

เปิด 4 ข้อเสียงสันติจากหมู่บ้าน

 

วันที่ 20 พ.ค. ที่หาดวาสุกรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เครือข่ายประชาหารือสู่สันติภาพชายแดนใต้ จัดมหกรรมสันติภาพ “เสียงท้าทายจากกัมปง” เพื่อนำเสนอข้อค้นพบและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการจัดเวทีประชาหารือกว่า 100 เวทีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสรุปเป็นหนังสือชื่อว่า รวมข้อเสนอและข้อถกเถียงอันหลากหลายเพื่อปูทางสู่สันติภาพ “เสียงท้าทายจากกัมปง”

 

นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานโครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย เปิดเผยว่า มูลนิธิเอเชียได้รับข้อเสนอมากมาย ในการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่จริงๆ ในการแก้ปัญหาพื้นที่ของตัวเอง มูลนิธิจึงจัดโครงการจัดทำข้อเสนอแผนสันติภาพฉบับประชาชน “เสียงท้าทายจากกัมปง” ขึ้นมา เมื่อจัดเวทีแล้วพบว่า ประชาชนสามารถก้าวข้ามความกลัว ในการที่จะสะท้อนความวิตกกังวลต่างๆ ในชีวิตของตัวเอง

 

สำหรับสาระสำคัญของ ข้อเสนอแผนสันติภาพฉบับประชาชน “เสียงท้าทายจากกัมปง” มี 4 ประเด็น ได้แก่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กระบวนการยุติธรรม ยาเสพติด และการศึกษา โดยเวทีประชาหารือกว่า 100 เวทีดังกล่าว จัดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ถึงธันวาคม 2554 แต่ละเวทีมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 30 คน

 

 

ศอ.บต.ชี้คำตอบของปาตานีอยู่ที่หมู่บ้าน

 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวในพิธีเปิดว่า หวังว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะมีทางออกใหม่ๆ ซึ่งทางออกหนึ่งให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือคนมลายูปาตานี เป็นคนแก้ปัญหา ซึ่งคนในพื้นที่เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ โดยไม่ต้องนำปริญญาบัตรมาเปรียบเทียบ ในพื้นที่มีปอเนาะเป็นที่หล่อหลอมคนดี

การสร้างสันติภาพของภาคประชาชนที่มองคือ ยาเสพติด การศึกษากระบวนการยุติธรรม และความปลอดภัย ซึ่งต่างจากรัฐที่มองเรื่องความมั่นคง เรื่องแรก คือการแก้ปัญหายาเสพติด เป็นเสียงเรียกร้องถูกต้อง เพราะยาเสพติดไม่กลัวทหาร ตำรวจ แต่กลัวชุมชนกับศาสนา ส่วนการศึกษานั้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องการเรียนตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ขึ้นอยู่กับการวัดผลด้วยระบบโอเน็ต แต่เป็นการให้คนเป็นคนดี

 

เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า ขณะที่เรื่องกระบวนการยุติธรรม จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้คนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้มากที่สุด เพราะจะไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยจะทำอย่างไรให้มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในพื้นที่ เพราะกระบวนการนี้แค่เริ่มต้น ก็ไม่มีค่าทนายเหมือนกระบวนการยุติธรรมปกติ ส่วนเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย ต้องโอนภารกิจนี้ไปอยู่ในหมู่บ้าน เพราะคนที่รู้ปัญหาดีว่าใครเกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคง คือคนในหมู่บ้าน ส่วนเจ้าหน้าที่บางครั้งจับคนมาโดยไม่วิเคราะห์ว่า เป็นเรื่องอะไร แต่บอกว่าเป็นเรื่องความมั่นคง ทั้งๆ ที่ในพื้นที่มีปัญหาอื่นๆ อยู่ด้วย ซึ่งหากตั้งโจทย์ผิด ความเดือดร้อนก็จะตกอยู่กับประชาชน ดังนั้นการทำให้มีความสุขได้นั้น คำตอบสุดท้ายอยู่ที่หมู่บ้าน

 

ติงพูดถึงอนาคต-ความมั่นคงเกินไป

 

ด้านนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวในเวทีสะท้อนและวิพากษ์ข้อเสนอแผนสันติภาพฉบับประชาชน “เสียงท้าทายจากกัมปง” ว่า หากเป็นข้อเสนอจากกัมปง (หมู่บ้าน) ต้องเขียนเป็นภาษามลายูด้วย เพื่อให้ชาวบ้านได้อ่าน เป็นการสื่อสารจากภายในและเป็นความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่ ข้อเสนอแผนสันติภาพฉบับนี้ ไม่พูดถึง 4 ประเด็น คือ 1.มีการพูดคุยเรื่องอนาคตของปาตานีน้อยเกินไป 2.มีการพูดคุยเรื่องความมั่นคงน้อยเกินไป เพราะพื้นที่นี้มีปัญหาความมั่นคง 3.ข้อเสนอนี้ไม่พูดถึงความยุติธรรมเชิงอำนาจ และ 4.เป็นประเด็นสำคัญ คือ การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติโดยหมู่บ้านจะทำได้อย่างไร ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

 

นายมูฮำมัดอายุบเสนอด้วยว่า ต้องมีการพูดคุยกับกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างด้วย อย่าคุยกันเอง และคนที่ร่วมวงคุย ต้องเป็นคนในพื้นที่จริงและมีความมุ่งมั่นที่จะพูดคุย เพื่อให้สามารถสะท้อนปัญหาที่แท้จริงให้ได้ โดยต้องสร้างรูปแบบสันติภาพที่เป็นจริงที่คนในหมู่บ้าน (กัมปง) อยากได้ ซึ่งในเรื่องการพูดคุยมี  3 พวกที่จะทำคือ รัฐ เรา และขบวนการ อย่าปล่อยให้รัฐทำอย่างเดียว ถ้าโอกาสเปิดชาวบ้านต้องร่วมทำ ทำไปแล้วถ้ามีข้อเสนอเพิ่มก็ช่างมัน ในเมื่อเป็นข้อเสนอจริงจากกัมปง

ขณะที่ ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ นายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ วิจารณ์ว่า ข้อเสนอดังกล่าว เป็นข้อเสนอของคนในพื้นที่ซึ่งน่าสนใจ แต่ข้อเสนอหลายอย่าง ค่อนข้างประนีประนอม เกรงใจอยู่ ไม่มีการฟันธงชัดเจน ส่วนข้อเสนอทั้ง 4 ประเด็น ต่างจากการศึกษาวิจัยขององค์กรอื่นที่เพิ่มประเด็นเศรษฐกิจด้วย แต่ทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว ก็เป็นปัญหาหัวใจหลัก ที่แสดงให้เห็นว่า คนในพื้นที่คิดอย่างไร พร้อมเสนอทางออกให้ด้วย ซึ่งต่างจากคนนอกพื้นที่ ที่มองอย่างมีอคติ

 

 

 

แนะยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ ถ้าทำไม่ได้ให้ถอนทหารออก

 

ต่อมาเวลา 14.00 น. มีการเสวนาในประเด็นใจกลางและทางออกของปัญหาทั้ง 4 ประเด็น ดำเนินรายการโดยนางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

 

นายอิสมาแอ เต๊ะ อดีตจำเลยคดีความมั่นคง กล่าวว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทหารทั้งหมด 150,000 นาย เฉลี่ยต่อประชากรในพื้นที่จะพบว่า มีเจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อประชากร 10 คน แต่เหตุรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการลงพื้นที่พบว่า ประชาชนต้องการให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แต่ถ้าไม่สามารถยกเลิกได้ ก็ควรถอนทหารบางส่วนออกไปจากพื้นที่

 

นายอิสมาแอกล่าวต่อว่า ส่วนกองกำลังท้องถิ่น โดยเฉพาะทหารพรานมาจากคนในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ แต่ต้องการมีอำนาจ จึงมาสมัครเป็นทหารพราน เพราะสามารถถืออาวุธได้ ทำให้เป็นภาพลบต่อทหาร การให้ชาวบ้านในท้องถิ่นตัวเองจริงๆ มาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะทำได้ดีที่สุด

พ.อ.สุรเทพ หมูแก้ว หัวหน้าแผนยุทธการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า การยกเลิกกฎหมายพิเศษไม่ได้ขึ้นอยู่กับทหาร แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล กองทัพมีหน้าที่เพียงบันทึกสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การให้ความร่วมมือของประชาชนกับทหาร และหน่วยข่าวกรองในพื้นที่รายงานว่า ยังมีการเคลื่อนไหวของขบวนการก่อความไม่สงบอย่างไร ซึ่งทั้ง 3 ประเด็น เป็นตัวประเมินว่าควรจะต่ออายุการใช้กฎหมายพิเศษต่อไปหรือไม่ ขณะนี้ตนกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) โดยยังอยู่ระหว่างรวมรวบความเห็นจากคนในพื้นที่ว่า ควรยกเลิกหรือไม่ คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2555

 

รัฐเปิดช่องชาวบ้านสอบเจ้าหน้าที่

 

ทางด้าน นายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายพิเศษในการซักถาม แล้วนำผลการซักถามไปแจ้งข้อหาและส่งฟ้องศาล แทนที่จะใช้เพื่อนำไปสืบสวนหาข้อเท็จจริง ทำให้คำฟ้องไม่มีน้ำหนัก ส่งผลให้มีคดีที่ถูกยกฟ้องจำนวนมาก ซึ่งเป็นการลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และยังพบว่า เจ้าหน้าที่ยังมีการละเมิดสิทธิผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษอยู่ ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขในความไม่เป็นธรรมให้คนในพื้นที่

นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ศอ.บต.รู้ว่าเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายพิเศษ ที่สร้างความไม่เป็นธรรมกับประชาชน หรือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้อง เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ควรปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เข้าถึง เข้าใจและพัฒนา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้กฎหมาย เช่น หลายกรณีที่ให้ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบเหตุ ที่เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ

 

 

ทหารยอมรับยาเสพติดระบาดหนัก 2 พันหมู่บ้าน

 

นายนิอาลี นิแว จากกลุ่มพีซมีเดียกรุ๊ป กล่าวว่า จากการลงพื้นพบว่า ชาวบ้านเห็นว่าระหว่างคดียาเสพติดกับคดีความมั่นคง คดียาเสพติดต่อสู้ง่ายกว่า หากเป็นปัญหายาเสพติดในส่วนของชาวบ้าน แก้ง่ายกว่า แต่ถ้ายาเสพติดเป็นของซึ่งชาวบ้านระบุว่า คือ “นาย” เจ้าหน้าที่จะจับหรือไม่ จากการสังเกตพบว่า ทำไมพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง มักไม่มีปัญหายาเสพติด แต่พื้นที่ที่มีความสงบแต่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง และจากการเก็บข้อมูลในสถานพินิจเด็กและเยาวชน รวมทั้งจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม พบว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง ไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ซึ่งขัดแย้งกับที่เจ้าหน้าที่รัฐ ระบุว่า กลุ่มก่อความไม่สงบเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ด้านพ.อ.สุวรรณ เชิดฉาย หัวหน้าศูนย์ป้‡องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริง ซึ่งกำลังพยายามจัดการอยู่ ทั้งนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนคนติดยาเสพติดมากที่สุดในประเทศไทย มีสัดส่วน 28 คน ต่อ 1,000 คน โดยสัดส่วนปกติของประเทศ คือ ผู้ติดยาเสพติด 3 คน ใน 1,000 คน และ 94 % ของ 2,000 หมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหายาเสพติด โดยผู้เสพยาเสพติดรายใหม่มีอายุน้อยลงมาก

 

เสนอใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯปราบยาเสพติด

 

พ.อ.สุวรรณกล่าวต่อว่า ทางออกคือการปราบปราม แบบสั่งมาจากข้างบน บางครั้งมีการจัดฉากในการสร้างผลงาน ข้อเสนอคือบางพื้นที่ควรใช้คนนอกเข้าไปแก้ปัญหา ที่ผ่านมาแม้มีด่านตรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 200 ด่าน แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีข้อมูลรถขนยาเสพติด และในพื้นที่ที่มีการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด แต่มักพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรงด้วย เพราะผู้ค้ายาเสพติดได้ว่าจ้างทนายมาแก้ต่าง ซึ่งต้องใช้เงินสู้คดีจึงยิ่งต้องเพิ่มยอดขายยาเสพติด หากจะใช้กฎหมายพิเศษเช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้แก้ปัญหายาเสพติดจะเอาด้วยหรือไม่ เพราะสามารถปิดล้อมตรวจค้นได้

 

สลดเด็กโควตาพิเศษถูกจากมหาวิทยาลัย 4,000 คน

 

นอกจากนี้ นายมาหามะ มะแซสะอิ ตัวแทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ศอ.บต.ได้รับจัดสรรโควตาพิเศษจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ให้นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,496 ที่นั่ง มีผู้มาสมัคร 1,500 คน แต่ส่วนใหญ่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ถามว่าการที่เด็กมีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ เป็นความผิดของใคร ที่ผ่านมานักเรียนที่ได้โควตาพิเศษตั้งแต่ปี 255-2554 ถูกรีไทร์ (ออกกลางคัน) จากมหาวิทยาลัยแล้วกว่า 4,000 กว่าคน ซึ่งศอ.บต.ได้เรียกเด็กที่ถูกรีไทร์มารายงานตัว เพื่อช่วยหาที่เรียนแห่งให้ใหม่ แต่เด็กมารายงานตัวเพียง 100 คน เด็กที่เหลือไม่ยอมกลับบ้าน ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจว่ายังเรียนอยู่และได้ส่งเงินไปให้ทุกเดือน

น.ส.พัชรา ยิ่งดำนุ่น เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี เสนอว่า ต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ ทุ่มเทงบประมาณในการสนับสนุนการจัดการศึกษาในพื้นที่ สร้างความไว้วางใจในการพัฒนาสถาบันการศึกษา เช่น ปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และสร้างหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยแก่บุคลากรทางการศึกษา

สำหรับเครือข่ายประชาหารือสู่สันติภาพชายแดนใต้ ประกอบ ด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ จำนวน 12 องค์กร ได้แก่ สมาคมผู้หญิงกับสันติภาพ (We Peace) เครือข่ายอาสาสมัครสื่อสันติภาพชายแดนใต้ (SPM) เครือข่ายบัณฑิตอาสาพัฒนาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ (GDST) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (SFST) ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS) สำนักข่าวอามาน (AMAN) เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและการเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (SPAN) กลุ่มสันกาลาคีรี (SK) ศูนย์พิทักษ์วัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดชายแดนใต้ (CCPD) เครือข่ายประชาสังคมนราธิวาส (CSN-N) เครือข่ายวิทยุชุมชนปัตตานี (PCRN)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: