เปิดโปงค้า'แรงงานประมง-แก๊งขอทาน' สลดแม่ถูกตร.จับ-แก๊งชั่วเอาลูกมาให้เช่า จนท.รับส่วยนายทุน-ทำให้ช่วยเหยื่อยาก

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 22 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 4612 ครั้ง

นอกจากรูปแบบของการนำเหยื่อที่เป็นเด็กและผู้หญิง เข้าสู่กระบวนการค้าประเวณีที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั่วทุกภาค จนกลายเป็นปัญหาด้านการค้ามนุษย์ที่มองเห็นได้ชัดเจนแล้ว ยังมีปัญหาขบวนขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานด้านการประมง ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญที่สหรัฐอเมริกา ยังคงจับตามอง และยังระบุว่าเป็นรูปแบบของขบวนการค้ามนุษย์ ที่ดูจะยังรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และเป็นประเด็นที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ และยังใช้เป็นเงื่อนไขในการจับตามองประเทศไทยเป็นพิเศษด้วย

 

 

‘เด็กขอทาน’ ค้ามนุษย์อีกแบบที่เป็นปัญหาสำคัญ

 

 

จากสถิติการให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ของศูนย์ปฏิบัติงานต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา เผยแพร่บนหน้าเว็บไซต์ของมูลนิธิ ระบุว่า ในจำนวนกรณีที่เข้าให้ความช่วยเหลือ 252 กรณี ตลอดการช่วยเหลือในปัจจุบัน พบว่า เป็นกรณีการบังคับขอทานมากที่สุด 182 กรณี ตามมาด้วยปัญหาการเอาเปรียบแรงงานประมง 43 คดี และ การบังคับค้าประเวณี 15 กรณี ซึ่งหากเทียบจากข่าวการบุกทลายขบวนการนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาบังคับขอทานในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา จำนวนมากกว่า 20 ประเด็นข่าวแล้ว จึงน่าสรุปได้ไม่ยากว่า การค้ามนุษย์ในรูปแบบของการบังคับขอทานยังคงมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน

 

รายงานระบุว่า การนำตัวเด็กออกเร่ร่อนขอทานตามสถานที่ต่างๆ มีทั้งที่เป็นลักษณะของขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงการลักพาตัวเด็กไปตระเวนขอทานยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังพบการนำเด็กออกขอทานในพื้นที่ จ.ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, พระนครศรีอยุธยา, จันทบุรี, ลำพูน และราชบุรี จากการทำงานพบว่า หลายจังหวัดในพื้นที่ตะวันออกของไทย เป็นปลายทางสำคัญ ที่ขบวนการนำเด็กมาขอทาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเศรษฐกิจดีรองจาก กรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ขบวนการขอทาน ถูกการกวาดล้างอย่างหนัก ซึ่งกระบวนการทำงานของกลุ่มคนที่หาประโยชน์จากการใช้เด็กเป็นเครื่องมือขอทาน ยังมีการจัดตั้งกันเป็นรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจนและยังมีระบบป้องกันการจับกุมที่อาจจะสาวไปถึงต้นตอของนายหน้าเหล่านี้อีกด้วย

 

 

ลวงเขมรให้จนท.จับแม่ เอาลูกมาปล่อยให้เช่าขอทาน

 

 

                “จากการลงพื้นที่ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหาเด็กขอทานจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ทำให้ทราบว่า มีนายหน้าที่คอยเรียกรับผลประโยชน์จากขอทาน ที่จะเข้าไปขอทานในพื้นที่ถนนคนเดินพัทยาใต้ (walking street) และบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งนายหน้าบางคนยังใช้วิธีการหาเด็กจากประเทศกัมพูชามาปล่อยให้เช่า โดยจะนำเด็กพร้อมครอบครัวมาจากประเทศกัมพูชา จากนั้นก็จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม ซึ่งนายหน้าจะเก็บเด็กไว้เพื่อไม่ให้ถูกจับไปด้วย และนำเด็กมาปล่อยให้เช่า โดยคิดราคานั้นก็กำหนดตามอายุ เช่น หากเด็กอายุ 7 ปี ก็จะมีค่าเช่าอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท แต่ถ้าอายุ 10 ปี ก็จะคิดค่าเช่า 10,000 บาท เป็นต้น”

 

 

เสนอแพคเกจเดินทาง-ที่พัก-ขอทานในไทย

 

 

นอกจากนี้กระบวนการนำคนจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาขอทานในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นมีเขตชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ยังพบรูปแบบที่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่การเรียกรับค่าหัวเพื่อพาเข้าประเทศไทย หาห้องเช่าให้พักอยู่รวมกัน และยังนำไปส่งตามพื้นที่ผู้คนพลุกพล่าน เพื่อให้ขอทานได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย เช่น การจับกุมคดีนายหน้านำกลุ่มชาวกัมพูชาเดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อออกตระเวนขอทานในพื้นที่ จ.ระยอง การจับกุมครั้งนั้น ทำให้ทราบว่า ชาวกัมพูชาที่เป็นเหยื่อ จะต้องเสียเงินค่าพาเดินทาง เข้าประเทศไทย รายละ 3,500 บาท แต่หากยังไม่มีเงิน ก็จะหักค่านายหน้าจากการขอทานไว้วันละ 400 บาท จนกว่าจะครบอีกด้วย

 

 

ส่วนรูปแบบการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน ยังพบในลักษณะของการนำเด็กตระเวนเร่ร่อนขอทานไปตามที่ต่างๆ โดยนายหน้าจะทำทีเป็นคนขายลูกโป่งบังหน้า เฝ้าเด็ก เพื่อให้ขอทานตามระยะเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า ตั้งแต่ 05.00-14.00 น. และช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น.  แต่เมื่อถูกจับกุมนายหน้ากลับอ้างว่า ได้รับการว่าจ้างมาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่มูลนิธิกระจกเงาพบที่พื้นที่รังสิต จ.ปทุมธานี นอกจากนี้ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ พบว่าเด็กบางคนยังถูกนายหน้าล่วงละเมิดทางเพศด้วย

 

 

แฉภาคเหนือก็โหดไม่แพ้กัน นำเข้าตั้งแต่เด็กยังแบเบาะ

 

 

สำหรับสถานการณ์การนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขอทานในประเทศไทยนั้น ไม่เพียงจะเกิดขึ้นกับเด็กชาวกัมพูชาเท่านั้น แต่ในพื้นที่ภาคเหนือยังพบว่า เด็กชาวพม่าก็เป็นอีกกลุ่ม ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำมาหาประโยชน์ด้วยเช่นกัน

จากรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของ มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก ระบุว่า มีการนำเด็กชาวพม่ามาขอทาน พบตามสถานที่ท่องเที่ยว ตลาดกลางคืน ตลาดนัด ถนนคนเดิน พบเด็กที่ถูกนำมาขอทานตั้งแต่วัยทารก จนถึงอายุประมาณ 10 ขวบ เด็กส่วนใหญ่เข้าสู่กระบวนการโดยการติดตามมากับครอบครัวหรือญาติ มีเอเย่นต์เข้าไปติดต่อชักชวนมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เข้ามาทาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย บางครั้งหลบเลี่ยงด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ โดยการเดินป่าอ้อมจุดตรวจแล้วขึ้นรถโดยสารประจำทาง จากนั้นเข้ามาพักในบ้านเช่าใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และเชียงราย นายหน้าจะจัดสรรพื้นที่และบางครั้งจะต้องจ่ายค่าเช่าที่สำหรับขอทานด้วย ซึ่งจะมีรายได้จากการขอทานวันละประมาณ 150-1,000 บาท หากเป็นเด็กจะมีรายได้ต่อวันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ส่วนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จะส่งเด็กไปขอทานที่กรุงเทพฯ

 

 

ชี้คนไม่สนใจเพราะไม่กระทบกับตัวเอง

 

 

                    “ประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องที่อาจจะสร้างความเข้าใจและเข้าถึงปัญหากับคนไทยได้ยากกว่าเรื่องยาเสพติด เพราะเรื่องการค้ามนุษย์เป็นเรื่อง ที่ไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับประชาชนโดยตรง แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม เป็นเรื่องนามธรรม ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับคนอื่น นอกจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เช่น เรื่องของเด็กขอทาน หรือการกดขี่แรงงานต่างๆ ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าจะต้องเร่งแก้ไข เพราะมิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อตัวเขาด้วย แตกต่างกับเรื่องของยาเสพติดที่ผู้คนในสังคมวิตกกันว่า สักวันจะมากระทบกับตัวเองอย่างแน่นอน

 

 

                  “การสร้างการรับรู้หรือรณรงค์ในเรื่องนี้ จึงค่อนข้างเป็นเรื่องยาก ทุกวันนี้จึงจะพบเห็นว่า ในทุกๆ ที่ในประเทศไทยมีแต่ขอทานเต็มไปหมด แต่คนในสังคมก็มองเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามจากการทำงานของเรามาตลอดหลายปี จากที่เมื่อก่อนเราต้องพยายามป่าวประกาศ ร้องบอกให้คนรู้ว้าเรื่องนี้เป็นปัญหา เพื่อให้คนรู้ว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา มาถึงวันนี้คนเริ่มรับรู้และเข้าใจมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้มูลนิธิมักได้รับร้องเรียนเรื่องขอทานมากที่สุด และมีการร้องเรียนผ่านมาทุกวัน” นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าโครงการศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงภาพรวมของสถานการณ์ค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในประเด็นของการนำเด็กมาขอทาน ซึ่งเขามองว่า แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะพยายามชี้แจงกับสังคมโลกว่า ได้พยายามแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์มากขึ้นแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย เพราะถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้นจริงแล้ว ในสังคมจะต้องไม่พบขอทานได้ง่ายๆ ตามท้องถนน

 

                 “ในวันก่อนที่จัดงานการค้ามนุษย์ที่โรงแรมแห่งหนึ่งกลางเมือง มีการพูดกันบนเวทีว่า จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาจนความรุนแรงลดลง ภาครัฐแสดงเจตนารมณ์ต่างๆ แต่เมื่องานเลิกเดินลงมาด้านล่าง บนท้องถนนเรากลับพบว่า มีขอทานนั่งเรียงรายอยู่หน้าโรงแรม หน้าศูนย์การค้านั่นเอง มันเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง” นายเอกลักษณ์กล่าว

 

 

แรงงานประมงเถื่อนมีเกือบล้านคน

 

 

นอกจากนี้ยังมีการค้ามนุษย์ที่ตกเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ ในประเทศที่ดูเหมือนจะยากต่อการแก้ไขอีกประเด็นหนึ่ง คือ การเอาเปรียบแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานประมง ซึ่งจากรายงานของมูลนิธิกระจกเงา ฉบับเดียวกัน ระบุถึงประเด็นสำคัญนี้ และเนื้อหาบางส่วนก็ตรงกับรายงาน RIP ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเอารัดเอาเปรียบแรงงานชาวพม่า

 

สถิติของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวต่างด้าว เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว พม่า กัมพูชา ที่เข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย  886,507 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานชาวพม่า ลาว  กัมพูชา ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สูงถึง 82,822 คน ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในธุรกิจประมง ทั้งการออกเรือหาปลาในทะเล และทำงานแปรรูปวัตถุดิบการประมง ซึ่งเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา นางอองซาน ซูจี ยังถือโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนแรงงานชาวพม่าเหล่านี้ ในระหว่างเดินทางเข้าร่วมประชุมในงานเวิร์ล อีโคโนมิค ฟอรั่มในประเทศไทย ซึ่งครั้งนั้นมีแรงงานพม่า มารอต้อนรับเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะมาต้อนรับกับการมาเยือนของผู้นำคนสำคัญแล้ว แรงงานพม่ายังยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อขอให้นางซูจี ช่วยเหลือเกี่ยวกับสวัสดิการและสวัสดิภาพ ในการทำงานของชาวพม่าที่อยู่ใน จ.สมุทรสาคร อีกด้วย

 

ขบวนการหลอกคนลงทะเลยังไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

สำหรับประเด็นปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในแรงงานประมง ยังคงเป็นเรื่องการถูกหลอกลวงของนายหน้า เพื่อนำแรงงานมาทำงานในธุรกิจการประมง ซึ่งเป็นงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มแรงงานที่พยายามจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย เหยื่อจำนวนมากเป็นสัญชาติพม่า ให้การหลังได้รับความช่วยเหลือว่า ถูกนายหน้าหลอกลวงว่า สามารถพามาเพื่อทำงานสบาย รายได้ดี ในจ.สมุทรสาคร โดยต้องเสียค่านายหน้าจำนวนมาก เพื่อเดินทางมายังจุดหมายปลายทาง หลายครั้งจึงมักพบข่าวความยากลำบาก ในระหว่างการเดินทางหลบเข้าเมืองของชาวพม่า เช่น ต้องแออัดยัดเยียดอยู่ในรถตู้ขนส่งสินค้า พืชผัก หรือ อาหารแช่เย็น ที่ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุจนถึงเสียชีวิต แต่เมื่อมาถึงจุดหมายแล้ว กลับถูกบังคับให้ลงเรือไปทำงานประมงกลางทะเล โดยจะมีการนำตัวแรงงานขายให้กับผู้ควบคุมเรือราคาตั้งแต่ 7,000-30,000 บาท เมื่อลงเรือไปแล้วก็ไม่สามารถจะกลับขึ้นฝั่งได้เป็นเวลานาน และยังถูกบังคับให้ทำงานหนัก ในเรือประมงกลางทะเล บางรายเมื่อทนไม่ไหว หรือมีปัญหากับไต้ก๋งเรือ อาจถูกทำร้ายจนเสียชีวิต แล้วโยนศพทิ้งกลางทะเล ดังที่เคยตกเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มักจะไม่เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากภาครัฐและผู้คนในสังคมมากนัก

 

นอกจากนี้ในรายงานของศูนย์ปฏิบัติงานต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ยังระบุอีกว่า การบังคับใช้แรงงานไม่เพียงแต่เป็นส่งลงเรือด้วยการบังคับโดยตรงแล้ว ยังมีการบังคับใช้แรงงานประมงในลักษณะแรงงานขัดหนี้ (Debt Bondage) โดยมีร้านคาราโอเกะตามท่าเรือประมง ใช้กลอุบายในการหลอกล่อให้ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นลูกเรือประมง เข้าไปใช้บริการในร้านคาราโอเกะ โดยไม่ต้องชำระเป็นเงินสด แต่สามารถติดเครดิตกับทางร้านไว้ได้  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ร้านคาราโอเกะเหล่านี้ มักคิดค่าใช้จ่ายแพงเกินความเป็นจริงไปมาก ลูกเรือจึงต้องตกอยู่ในสภาพลงเรือประมง ไปทำงานชดใช้หนี้ให้กับร้านคาราโอเกะ โดยมีมูลค่าหนี้ ตั้งแต่ 12,000 – 30,000 บาท ลูกเรือจึงไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานที่ตนเองทำลงไป  ทำให้การทำงานถูกบีบบังคับโดยสภาพ  เหยื่อไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน และประสงค์จะออกจากสภาพการทำงานดังกล่าว แต่มักถูกปฏิเสธจากผู้ควบคุมเรือ ทำให้เป็นการบังคับใช้แรงงานในที่สุด

 

 

วิจัยชี้เจ้าหน้าที่รัฐตัวการรับส่วย

 

 

ในเอกสารวิชาการ เรื่อง สถานการณ์แรงงานอพยพข้ามชาติในประเทศไทย ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เมื่อปี 2552 อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ยุทธศาสตร์การอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร (SURVIVAL STRATEGIES OF MIGRANT WORKERS FROM MYNMAR CASE STUDY IN BANGKOK, THAILAND) ของบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ศศ.ม. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในขบวนการนายหน้า นายหน้าจะทำงานได้ต้องมีความสัมพันธ์ หรือมีความสามารถในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น การจ่ายส่วยค่าผ่านทาง จนถึงการเป็นหุ้นส่วนในการนำพาแรงงานเข้าเมือง

 

                    “หลายครั้งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้นำแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เดินทางข้ามชายแดน เข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ การจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อหลบหนีเข้าเมืองมาหางานทำ มิได้เป็นหลักประกันความปลอดภัย เพราะแรงงานข้ามชาติ ต้องเดินทางแบบหลบซ่อนในรูปแบบต่างๆ เช่น ซ่อนตัวอยู่ในรถขนส่งสิ่งของ พืชผักต่างๆ ค่อนข้างยากลำบากอันตราย และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต แรงงานหญิงหลายคนเสี่ยงต่อการถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศจากนายหน้า หรือเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อถูกจับกุมได้ ขบวนการนายหน้าบางส่วนทำหน้าที่เป็นเสมือนพวกค้าทาสในอดีต แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะผู้หญิงมักจะถูกนายหน้าหลอกไปขายให้แก่สถานบริการ และบังคับให้แรงงานหญิงเหล่านี้ ค้าบริการทางเพศหรือขายบริการให้แก่ชาวประมง ที่ต้องออกทะเลเป็นเวลานาน การจ่ายค่านายหน้าโดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีเก็บเงินโดยตรงที่นายจ้าง และนายจ้างจะหักจากค่าแรงของแรงงานอีกต่อหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างของนายจ้างที่จะไม่จ่ายค่าแรงให้แก่แรงงาน ทำให้หลายกรณีที่แรงงานข้ามชาติทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเลย”

 

ซึ่งจากรายงานหลายฉบับที่ทำขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ดูจะไม่มีความแตกต่างจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงกลายเป็นหลักฐานและข้อมูลสำคัญ ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้ในการพิจารณาจัดสถานะของประเทศไทยในเชิงลบออกเผยแพร่ทั่วโลกนั่นเอง

 

รัฐไม่จริงใจแก้ปัญหา ชอบจัดประชุมสัมมนา เกิดเรื่องก็ขยับครั้งหนึ่ง

 

 

ในประเด็นเหล่านี้ นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข ยังแสดงความคิดเห็นกับศูนย์ข่าว TCIJ เกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ ที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง ทั้งจากการจับตามองของสหรัฐฯ หรือสังคมโลกขณะนี้ว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาการค้ามนุษย์มักจะเกิดขึ้นทั่วโลก แบบแปรผันตามเศรษฐกิจของประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ดีกว่า ก็จะพบว่ามีการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงาน จากประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยย่อมเกิดขึ้นมาก หากมองเป็นเรื่องปกติหรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง สหรัฐฯก็ย่อมที่จะยอมรับได้ แต่สิ่งที่ปรากฏในรายงานคือ เรื่องของกระบวนการในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐมากกว่า ที่สหรัฐฯพิจารณาว่าไทยมีความจริงจังต่อการแก้ปัญหาได้จริงจังแค่ไหน เพราะแม้ว่าจะมีจำนวนการจับกุมที่ลดลง ก็ไม่ได้หมายความปัญหาค้ามนุษย์จะลดลง

 

                      “สิ่งที่รัฐบาลพยายามดำเนินการ ดูเหมือนจะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่แท้จริงแล้วทุกอย่างกลับยังคงนิ่งอยู่กับที่ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างชัดเจนโดยภาครัฐเลย จะมีเพียงการสรุปจากกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอ ที่ทำงานด้านนี้โดยตรงเท่านั้น ไม่มีการจัดทำตัวเลข หรือแผนงานที่เป็นในเชิงปฏิบัติ และเชื่อว่าหากไม่มีรายงาน TIP Report ของสหรัฐฯ  ก็เชื่อว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวอื่นๆ เพราะในประเทศไทย ไม่ได้มีแค่เพียงปัญหาของการค้าประเวณีเถื่อน ปัญหาเด็กขอทาน หรือปัญหาการเอาเปรียบแรงงานทางด้านการประมงเท่านั้น แต่ปัญหาค้ามนุษย์ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก ทั้งการส่งหญิงไทยไปทำงานค้าประเวณีต่างประเทศ การนำเด็กชายมาค้าประเวณี การส่งออกแรงงานไปทำงานชั้นต่ำในต่างประเทศ หรือ การใช้แรงงานเยี่ยงทาสในประเทศไทยก็ตาม การทำงานจึงควรเป็นไปอย่างมีระบบ จริงจังและมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ และเอ็นจีโอเพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้” นายเอกลักษ์กล่าว

 

และหลายครั้งที่เราพบว่า ภาครัฐทำงานในเชิงของการจัดสัมมนา จัดเวทีในภูมิภาค ประเทศต่างๆ เป็นการนำคนจากส่วนกลางไปพูดคุยกัน แต่ไม่ได้ลงลึกหรือทำงานกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เมื่อมีการรณรงค์ครั้งหนึ่งก็กวาดล้างขึ้นครั้งหนึ่ง ซึ่งการทำงานของคนที่เข้าพื้นที่จริงจะรับรู้ว่าแท้จริงแล้วสถานการณ์เป็นอย่างไร

 

 

ระบบส่วย-อุปถัมภ์จากนายทุนทำให้ทำงานลำบาก

 

 

นอกจากนี้ ขณะนี้สิ่งที่ยากลำบากที่สุดของคนทำงาน ด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะจากการทำงานของมูลนิธิกระจกเงา นายเอกลักษณ์กล่าวว่า อยู่ที่เรื่องของความไว้วางใจต่อการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาหลายครั้งพบว่า การทำงานเพื่อเข้าให้การช่วยเหลือเหยื่อมักเกิดสถานการณ์ข่าวรั่วเกิดขึ้น นั่นหมายถึงในทุกครั้งที่จะต้องดำเนินการเข้าช่วยเหลือ ทีมทำงานจะต้องพิจารณาเพื่อคัดเลือกหน่วยงานที่จะขอความร่วมมือหรือทำงานร่วมกัน เนื่องจากความไม่ไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะไม่ต้องการเอาชีวิตของผู้เสียหาย เข้าไปเสี่ยงกับการทำงานที่ไม่มั่นใจ เพราะหากขั้นตอนผิดพลาดผู้เสียหายอาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลือและถูกกักขังทำร้าย หรือหากร้ายแรงกว่านั้นก็อาจจะถึงขั้นถูกทำให้เสียชีวิตได้

 

                       “ระบบโครงสร้างของสังคมไทย ยังคงฝังรากลึกในระบบการอุปถัมภ์อยู่ สถานประกอบการรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ มักจะมีอิทธิพลและอยู่ภายใต้ระบบนี้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของนายทุนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเราพบว่ามีทั้งในระบบทางตรง ที่รับเงินจากผู้ประกอบการโดยตรง และในทางอ้อมที่เป็นระบบอุปถัมภ์ ค้ำจุน สนับสนุนกันมากับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น บาร์ คาราโอเกะ หรือ โรงงานใหญ่ๆ ล้วนแต่อยู่ในระบบนี้ทั้งสิ้น มีอยู่ครั้งหนึ่งเราเคยประสานงาน เพื่อไปช่วยเหลือแรงงานประมงที่สะพานปลาแห่งหนึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพบว่า เจ้าของกิจการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้จักคุ้นเคยกันดีหลายฝ่าย มีการพูดคุย ทักทายและยกมือไหว้กัน และไม่ใช่ที่นี่แห่งเดียว แต่เกิดขึ้นเกือบทุกที่ ดังนั้นสิ่งที่ยากที่สุดคือ การจะเลือกอย่างไร เพื่อให้การทำงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่เกิดอุปสรรคเหล่านี้ขึ้นมา” นายเอกลักษณ์กล่าว

 

 

สังคมต้องช่วยกันเพื่อแก้ปัญหาค้ามนุษย์

 

หลังจากการประกาศสถานะใหม่ของประเทศไทยในกรณีการแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทยนี้ คงต้องจับตาดูว่า จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านกลไกการปฏิบัติของภาครัฐได้หรือไม่ เพราะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า แม้สังคมจะให้ความสนใจกับปัญหานี้แต่กลับพบว่า ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาในเชิงปฏิบัติอย่างจริงจังนัก

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสอดส่องช่วยเหลือ แจ้งข่าวเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้รัฐหันมาจริงจังในเรื่องนี้ที่แม้จะมีเพิ่มขึ้น แต่หลายฝ่ายยังมองว่ายังไม่ได้เข้มข้นมากนัก  และหากยังปล่อยให้เป็นการแก้ไขแบบที่เป็นไปทุกวันนี้ ก็เชื่อได้ว่าจะไม่มีอะไรดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ภูมิภาคกำลังจะเชื่อมต่อกันอย่างเสรี ปัญหาการค้ามนุษย์จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นเกินความเยียวยาได้อีกต่อไปนั่นเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: