เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ยื่นหนังสือคัดค้านมติความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA) “โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย” ของ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ด้วยเหตุผลว่า กระบวนการพิจารณาและการให้ความเห็นชอบโครงการไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายผังเมือง ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หนังสือดังกล่าวระบุว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ที่คชก. ให้ความเห็นชอบ มีความบกพร่องในข้อมูลและข้อเท็จจริง 5 ประการ ได้แก่ 1.การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ 2.การกำหนดขอบเขตพื้นที่เพื่อศึกษาผลกระทบของโครงการไม่ครอบคลุมพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แท้จริง 3.การดำเนินโครงการจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะทางทะเลและชายฝั่งของพื้นที่อ่าวท่าศาลา ซึ่งเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นหัวใจของชุมชนประมง แต่กลับไม่ได้รับการกล่าวถึงในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ
นอกจากนี้การพิจารณาเห็นชอบโครงการ ละเลยข้อมูลด้านการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ ขัดต่อเจตนารมณ์ตามร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามมิให้มีอุตสาหกรรม กิจกรรมการเก็บ-ลำเลียงวัตถุอันตราย
ขณะที่ นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยืนยันว่าคชก.ได้พิจารณารายงานโดยรอบคอบแล้วในทุกด้าน ตามรายงานและข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ณ ขณะที่พิจารณา อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีนักวิชาการหลายกลุ่มออกมาให้ความเห็นว่ายังมีข้อมูลและข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ของพื้นที่อีกจำนวนมากที่คชก. ไม่นำมาประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายงาน EHIA ของโครงการ
“การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ได้พิจารณารายงานโดยรอบคอบแล้วในทุกด้าน ตามรายงานและข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ณ ขณะที่พิจารณา”
นายสุพร โต๊ะเสน นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า วันนี้สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ได้ยื่นหนังสือต่อสผ. ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการที่ยังขาดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ซึ่งสผ.กลับเห็นว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานรอบครอบทุกด้านแล้ว ดังนั้นแนวทางการต่อสู้ของชาวบ้านต่อไปคงจะต้องใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนปกป้องทรัพยากร วิถีชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชน
“แนวทางการต่อสู้ด้วยการนำเสนอข้อมูลวิชาการของพื้นที่ที่ผ่านมา ไม่เพียงพอที่จะทำให้สผ.หันมารับฟังได้ และไม่เพียงพอที่จะปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารอ่าวท่าศาลา ดังนั้นแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปของสมาคมและเครือข่ายอื่น ๆ จะใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนปกป้องทรัพยากร วิถีชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน รวมพลังเพื่อการยืนยันเจตนารมณ์รักษาอ่าวท่าศาลาไว้เป็นพื้นที่ผลิตอาหาร”
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวว่า การที่เครือข่ายคนท่าศาลาออกมาคัดค้านการผ่านรายงาน EHIA โดย คชก. นั้นไม่เพียงเป็นการปกป้องคนท่าศาลาเท่านั้น แต่ยังปกป้องแหล่งอาหารให้กับคนทั้งประเทศ ด้วย ในขณะที่ภาวะวิกฤติด้านอาหารกำลังจะเกิดขึ้น แต่คชก.ยังผ่านโครงการที่คาดว่าจะทำลายแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของประเทศ
นอกจากนี้การทำหน้าที่ของคนท่าศาลาจึงเป็นการทำหน้าที่เพื่อคนไทยทุกคน ประเทศไทยไม่ควรทำลายศักยภาพของตนเองในความเป็นผู้มั่งคั่งด้านการผลิตอาหาร ในกรณีนี้สผ.มีสิทธิที่จะดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของสหประชาชาติ หรือจะสนองเจตนารมณ์ของบริษัทข้ามชาติ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาแล้วทั่วโลกก็ทำได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ