พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ด้านปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าภารกิจ ช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ
ถาม : ปัญหาป่าไม้ที่ดินในทุกวันนี้มีเยอะมาก แล้วจะแก้ไขอย่างไร
พ.ต.ท.ประวุธ : คดีเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ มักเป็นข้อพิพาทที่มีการอ้างสิทธิครอบครองกันไปมา ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สถานการณ์คนรุกป่า-ป่ารุกคนวันนี้บอกได้เลยว่าเยอะมาก หากไม่ทำอะไร คาดว่าอีกไม่เกิน 20 ปี เราจะเจอกับภัยพิบัติจากธรรมชาติที่จะรุนแรงกว่าที่ผ่านมาหลายเท่า ตัวอย่างเช่น ปัญหาดินถล่มตามเชิงเขา ที่ลาดชัน ซึ่งตอนนี้มีหลายบริษัททางภาคใต้ ไปกว้านซื้อที่ดินทางภาคเหนือ บริเวณรอบนอกของจ.ลำปาง และเชียงใหม่ เพื่อปลูกสวนยางพารา
นอกจากนี้กระแสการเปิดประชาคมอาเซียน ทำให้มีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและพาณิชยกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เมื่อใช้ที่ดินพื้นราบหมดแล้วต่อไปก็จะเริ่มมีการบุกรุกพื้นที่ราบเชิงเขาที่มีความลาดชัน ชาวบ้านอาจจะโดนฮุบที่ดิน หรือโดนอะไรหลาย ๆ อย่าง ล้วนเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ในวงกว้าง รวมทั้งการใช้อิทธิพลเพื่อได้มาไม่ว่าจะโดยถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง สิ่งที่จะตามมา คือ การบุกรุกขึ้นไปบนพื้นที่ภูเขาทำให้พื้นที่ป่าไม้หมดไป เกิดผลกระทบทั้งสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป เมื่อฝนตกก็จะมีปัญหาดินถล่มตามมา สำหรับประเทศไทยมีหลายคดีที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ และดีเอสไอลงไปทำงานจะพบว่า มีการบุกรุกถากป่ากันไปถึงยอดเขา และเป็นการบุกรุกอย่างรวดเร็ว บางแห่งใช้เวลาเพียง 2 เดือน ก็ทำให้เขาทั้งลูกกลายเป็นเขาหัวโล้น และเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถปราบปรามได้หมด
ถาม : กระบวนการของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ คิดว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
พ.ต.ท.ประวุธ : สิ่งที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯดำเนินการ มุ่งที่การช่วยเหลือและป้องกัน ขณะดีเอสไอช่วยตรวจสอบและปราบปราม การป้องกันก่อนเกิดเหตุคือ การให้ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการทำงานเราได้พัฒนาโปรแกรมดีซี่แมพ (DSI MAP) ที่ใช้งานได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อตรวจสอบข้อมูลขอบเขตการครอบครองพื้นที่เบื้องต้นว่าเป็นพื้นที่ที่คาบเกี่ยวหรือทับซ้อนกับพื้นที่ป่า หรือพื้นที่ของรัฐหรือไม่ ก็อยากนำเครื่องมือนี้ไปเผยแพร่ให้กับประชาชนใช้ได้ด้วย จะช่วยป้องกันยับยั้งไม่ให้ทำผิดบุกรุกป่าโดยไม่ตั้งใจ และยังช่วยตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ด้วย การป้องกันจึงเป็นการช่วยยับยั้งก่อนทำผิด ขณะที่ประชาชนที่ถูกฟ้องร้องว่ากระทำผิดเกี่ยวกับที่ดินเมื่อถูกศาลตัดสินลงโทษ และมาร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ช่วยเหลือฯ เราก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถของบุคลากรในกรมสอบสวนคดีพิเศษและผู้เชี่ยวชาญจากต่างหน่วยเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องอีกชั้นหนึ่งเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ร้อง ซึ่งในเบื้องต้นเราใช้โปรแกรมดีซี่แมพมาตรวจสอบเบื้องต้นด้วย หากพบว่าผู้ร้องสุจริตจริง ก็จะนำเสนอผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาให้การเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการพักการลงโทษหรือเสนอขอพระราชทานอภัยโทษของกรมราชทัณฑ์ให้กับผู้ที่สุจริตต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มีกลไกของความช่วยเหลือ
คดีด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีทั้งที่เป็นคดีเล็กน้อยดำเนินการในพื้นที่และคดีใหญ่ที่เป็นคดีพิเศษซึ่งดีเอสไอดำเนินการ ปรากฏว่ามีผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งที่ติดคุกด้วยคดีเหล่านี้ และหลายคนยอมติดคุกเพราะไม่สามารถหาพยานหลักฐานหรือพิสูจน์สิทธิที่แท้จริงได้เพราะข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลภาครัฐ อีกทั้งจะต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นข้อจำกัดของประชาชนโดยทั่วไปที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยง่าย ขณะที่การบุกรุกหลายพื้นที่มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยภาพรวมปัญหาของประชาชนจำนวนมาก ที่มีการส่งเรื่องเข้ามาทางศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ เกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนด้วยกัน ด้วยปัจจัยที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐที่จะพิสูจน์ความจริงในเรื่องของสิทธิในที่ดินเพื่อให้ศาลได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับคู่กรณีได้ อีกทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินไม่ทั่วถึง ปัญหาที่ดินทำกินของคนยากจน รวมถึงกฎหมายที่สงวนหวงห้ามที่ดินนั้นเกิดขึ้นภายหลัง ในขณะที่ชาวบ้านได้เข้าไปทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว มีการขีดเขตแผนที่สงวนในแผนที่โดยไม่ได้มีการสำรวจว่าชาวบ้านได้อาศัยอยู่ในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว การบังคับใช้กฎหมายกับคนจนเข้มงวดเงินไป
ทั้งนี้ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2554 มีผู้ต้องขังในทัณฑสถานทั้งหมด 197 ราย จาก 40 เรือนจำ มีรูปแบบการกระทำผิดหลากหลาย เช่น การออกเอกสารสิทธิในพื้นที่สงวน การไปบุกรุกประเภทรายเดียว หรือแบบเป็นกลุ่ม การขาดเจตนากระทำผิดเพราะความยากจนหรือไม่รู้แนวเขตสงวนหวงห้าม เป็นต้น
ถาม : ปัจจุบันมีชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อมากน้อยแค่ไหน และจะช่วยอย่างไร
พ.ต.ท.ประวุธ : ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ซึ่งได้รับมอบภารกิจจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ดำเนินการอย่างเข้มข้นด้วยความยุติธรรมและเป็นธรรม โดยในส่วนนี้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ได้มีการสำรวจโดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่สุจริต นอกเหนือไปจากการให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ โดยมีการทำแบบสอบถามไปสำรวจผู้ต้องขังว่ามีผู้ต้องการให้ศูนย์ฯไปช่วยพิสูจน์สิทธิที่อ้างว่ามีการทำประโยชน์ก่อนเพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการต่อสู้พิสูจน์สิทธิ์หรือไม่ พบว่า มีผู้ต้องขัง 9 รายที่อ้างว่าอยู่ก่อนการประกาศเป็นเขตที่ดินของรัฐ อยู่ในเรือนจำจังหวัดตรัง น่าน และทุ่งสง ซึ่งทางศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ มีโครงการที่จะเข้าไปพิสูจน์สิทธิให้กับผู้ต้องขังดังกล่าว หากพบว่าสุจริตจริงก็จะเสนอผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาให้การเยียวยาตามมาตรการของกรมราชทัณฑ์ จะดำเนินการช่วยเหลือตามแนวทางต่อไป
นอกจากนี้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯได้มีการจัดทำงานวิจัยเพื่อกรองกลุ่มของผู้ต้องขัง จากกรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลกรณีบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยคณะวิจัยประกอบด้วยภาคประชาชน อัยการ ผู้พิพากษา ตำรวจ ทนายความ มุ่งหาหลักเกณฑ์ในการพักการลงโทษ การขอพระราชทานอภัยโทษ และศึกษาหาแนวทางงดการบังคับคดี เพื่อดูว่าผู้ต้องหารายใดเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือหรือให้ความเป็นธรรม ผลการศึกษาพบว่าข้อเท็จจริงของคดีมีหลากหลาย เช่น ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินก็เข้าไปยึดที่ดิน ราษฎรขาดเจตนาในการกระทำผิด ไม่รู้แนวเขตหรือบางคนก็จงใจกระทำผิด บางรายเป็นนายทุนรายใหญ่ มีการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการบุรุกแต่บางรายเป็นเจ้าของที่ดินมาก่อนการประกาศเขตสงวนหวงห้าม บางรายเป็นลูกจ้างของนายทุน เป็นต้น
ผลศึกษาระบุ ตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าพบว่าชาวบ้านมาอยู่ก่อนการประกาศเป็นเขตป่าสงวนส่วนใหญ่จะยกฟ้อง ถ้าพบว่าชาวบ้านอยู่หลังก็จะถูกจำคุก จากการศึกษาพบด้วยว่าทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยที่รัฐต้องกำหนดนโยบายในการปฏิบัติให้ชัดเจนและควรมีการพิสูจน์สิทธิให้กับชาวบ้าน สำหรับคนจนที่ขาดเจตนากระทำผิดหรือเพราะเหตุแห่งความยากจนควรใช้การเจรจาประนีประนอมให้คืนพื้นที่ให้กับรัฐ ส่วนคนรวยที่มีเจตนาในการบุกรุกที่ชัดแจ้งให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ควรใช้หลักเกณฑ์การพักการลงโทษควบคู่ไปกับการพิจารณาลักษณะการกระทำผิดทางคดี
โดยผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าควรใช้มาตรการพักการลงโทษ และการขอพระราชทานอภัยโทษ ในการช่วยเหลือผู้ต้องขัง ผู้ที่อยู่ก่อนการประกาศเขตสงวนฯ ควรให้ความช่วยเหลือ การออกเอกสารสิทธิทับที่สงวนหรือบุกรุกเกินกว่า 50 ไร่ ไม่ควรให้ความช่วยเหลือ ผู้บุกรุกที่มีลักษณะเป็นนายทุน ใช้คนมาก มีการบุกรุกที่ดินจำนวนมาก มีการตัดไม้ทำลายป่าโดยเครื่องมือหนัก ไม่ควรให้ความช่วยเหลือ ส่วนผู้ที่เป็นลูกจ้างหรือบุกรุกที่ไม่รู้แนวเขตหรือทำไปเพราะความยากจน เห็นควรให้ความช่วยเหลือ
ที่สำคัญรัฐต้องทำการพิสูจน์สิทธิให้กับผู้ที่อ้างว่ามาอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าฯ และต้องมีการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และควรชดเชยให้กับผู้เสียหายทุกด้าน และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโดยมิชอบ ส่วนเรื่องการบังคับคดีแพ่ง เสนอให้มีการศึกษาหาแนวทางการช่วยเหลือด้วยการงดการบังคับคดี โดยมีการจำแนกกลุ่มผู้กระทำผิด เช่น อยู่ก่อนเขตหวงห้าม บุกรุกไม่เกิน 25 ไร่ ฯลฯ ซึ่งควรออกเป็นนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ มิฉะนั้นจะกลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
การศึกษายังได้ข้อเสนอแนะในเชิงปฏิบัติคือ การเสนอให้มีการไกล่เกลี่ยก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รื้อฟื้นคดีพิสูจน์สิทธิ รัฐควรมีระบบข้อมูลเกี่ยวกับแนวเขตที่ชัดเจน นำผลการวิจัยไปใช้กับเรื่องอื่นที่คล้ายกัน เช่น การบังคับใช้กฎหมายกับพนักงานสอบสวน การพิพากษาของศาลในกรณีพิพาท เป็นต้น
พ.ต.ท.ประวุธกล่าวด้วยว่า คนที่เดินเข้ามาขอความช่วยเหลือกับศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ ส่วนใหญ่มักอยู่ในลักษณะถูกดำเนินคดีไปแล้ว และหมดหนทาง หน้าที่เราคือการตรวจสอบและช่วยเหลือในการหาพยานหลักฐาน การทำงานของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ทำตรงไปตรงมาบนหลักฐาน และวิธีการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐาน ทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏส่วนผู้ร้องจะนำไปใช้ต่อหรือไม่ก็เป็นสิทธิของเขาขึ้นอยู่กับว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นผลดีหรือผลเสียกับเขา ถ้าเป็นประโยชน์เขาก็คงพอใจและเอาไปใช้ แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์กับเขาก็คงไม่เอาไปใช้และคงไม่ชอบเรา แต่หน้าที่ของเราคือทำความจริงให้ปรากฏ อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน สมดังเจตนารมณ์ ของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ว่า “ความยุติธรรมต้องมี ความเป็นธรรมต้องเกิด”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ