เปิดปมไล่รื้อรีสอร์ตวังน้ำเขียว-ทับลาน เกมชำระแค้นของนักการเมืองถูก'ชักดาบ' โวยหลักเขตไม่ชัด-ตอนสร้า

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 23 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3865 ครั้ง

 

จากการนำกำลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กว่า 3,000 นาย บุกเข้ารื้อรีสอร์ต “บ้านทะเลหมอก” ในพื้นที่ ต.นาดี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตามมาด้วยการสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ใน จ.ภูเก็ต และแผนการตรวจสอบแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ระบุว่า กำลังถูกกลุ่มนายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าอีกหลายแห่งทั่วประเทศ ของนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กลายเป็นประเด็นร้อนตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และดูท่าจะยังไม่จบลงง่าย ๆ

 

เพราะขณะนี้การขยายการตรวจสอบพื้นที่ เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการขยายลงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้นายดำรงระบุว่า พบพื้นที่อุทยานแห่งชาติถูกบุกรุกจำนวนมาก และยากต่อการแก้ปัญหา ขณะที่ปัญหาการไล่รื้อรีสอร์ตที่ อ.วังน้ำเขียว ก็จะยังดำเนินต่อไป และจะยังใช้เหตุการณ์ การทุบทำลายรีสอร์ตขนาดใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ เป็นโมเดลตัวอย่าง ให้เกิดความเกรงกลัว ไม่ให้เกิดมีการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำประโยชน์เชิงธุรกิจต่อไปอีกในอนาคต

 

แม้การยึดพื้นที่คืนของกรมอุทยานฯ จะขยายวงการตรวจสอบไปยังที่อื่น ๆ มากขึ้น แต่สำหรับการไล่รื้อรีสอร์ตในพื้นที่วังน้ำเขียว ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซัง ยังไม่จบ เพราะแม้กระแสการสนับสนุนจะเกิดขึ้นมากมาย ถึงขนาดมีการเรียกร้องให้ต่ออายุราชการของนายดำรงค์ ซึ่งจะหมดลงในเดือนกันยายนนี้ออกไปอีก 5 ปี

 

 

แต่อีกมุมกลับเกิดคำถามขึ้นว่า วิธีการรื้อรีสอร์ตในพื้นที่วังน้ำเขียว ด้วยการบุกเข้าทำลายทรัพย์สินในยามวิกาลเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ไม่มีวิธีการอื่นที่นุ่มนวลกว่านี้หรือ และที่ผ่านมาทำไมอุทยานแห่งชาติทับลานจึงไม่ดำเนินการขัดขวางตั้งแต่รีสอร์ตดังกล่าวเริ่มก่อสร้าง การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะแผนรองรับอื่น ๆ เพื่อทำให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าถูกรังแกจากหน่วยงานของรัฐ

สำหรับปัญหาในพื้นที่วังน้ำเขียว หากย้อนอดีตกลับไปค้นข้อมูลเก่า ๆ พบว่า ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปี หลังการรื้อคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติของกรมป่าไม้เท่านั้น หากแต่ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องแนวเขตป่า เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ปัญหาหลักคือ การประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดและหลายพื้นที่

 

 

 

 

 

 

 

ย้อนอดีตวังน้ำเขียวก่อนที่ดินบูม

 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลพบว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เชื่อมต่อกับ จ.ปราจีนบุรี  ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่ารก สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน จนเชื่อว่าหลายจุดกลายเป็นที่แทรกซึมของกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ทำกิจกรรมอยู่ในพื้นที่อย่างลับ ๆ ประกอบกับความยากลำบากของการคมนาคมทำให้ในพื้นที่บริเวณรอยต่อนี้ ไม่พบว่ามีชาวบ้านดั้งเดิมมาอาศัยอยู่แต่อย่างใด ต่อมากรมป่าไม้ได้จัดให้พื้นที่ป่าไม้ในบริเวณนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และเปิดให้เอกชนเข้ารับสัมปทานจำนวนหลายหมื่นไร่ ทำให้เริ่มมีประชาชนเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อทำการเกษตร

 

จากการตัดโค่นป่าไม้ในครั้งนั้นทำให้กลายเป็นพื้นที่โล่ง ต่อมาเป็นพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่เริ่มอพยพเข้ามาอาศัยทำมาหากิน ส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี รวมไปถึงจังหวัดที่มีพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สระบุรี ปราจีนบุรี ฯลฯ ซึ่งจากการสังเกตจะไม่พบว่า ในบริเวณนี้ไม่มีวัฒนธรรม ประเพณี หรือภาษาท้องถิ่นเฉพาะ แต่จะมีความหลากหลายแล้วแต่พื้นถิ่นและความเป็นมาของถิ่นกำเนิด แม้จะเกิดเป็นชุมชน แต่เป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก  โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามาแต่เริ่มแรก ยึดอาชีพทำเกษตรกรรม ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น

 

 

จุดเริ่มต้นปัญหา-ประกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน

 

 

ต่อมาในปี 2524 กรมป่าไม้ (ขณะนั้น) เสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าบริเวณป่าวังน้ำเขียวและป่าครบุรี ในท้องที่ต.สะแกราช ต.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย ต.ครบุรี ต.จระเข้หิน ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี และต.สระตะเคียน ต.โนนสมบูรณ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ต.บุพราหมณ์ ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศ โดยระบุว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวยังมีความอุดมสมบูรณ์ของป่า และยังเป็นป่าลานจำนวนมาก โดยการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติขณะนั้น จะเป็นการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าของชาวบ้าน เพื่อใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

อย่างไรก็ตามการประกาศพื้นที่อุทยานฯ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียว และป่าครบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2524 ได้กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องต่อมา โดยเฉพาะในพื้นปกครองของ อบต.ไทยสามัคคี หมู่ 1-11 อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยประชาชนในพื้นที่ต่างระบุว่า การประกาศเขตอุทยานฯ ดังกล่าว เป็นการขีดแนวเขตพื้นที่ทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งเข้ามาทำมาหากินในพื้นที่มาก่อน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 โดยได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินที่ทับซ้อนกันอยู่ ทำให้ต่อมาได้มีการสำรวจแนวเขตพื้นที่อุทยานฯ เพื่อเป็นการพิสูจน์แนวเขตที่ชัดเจนอีกครั้ง

 

โดยเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมป่าไม้ ฝ่ายปกครอง หน่วยงานในพื้นที่ และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีข้อตกลงในการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ ขึ้นใหม่ จนได้ข้อสรุปที่น่าพอใจร่วมกัน แต่การปรับปรุงแนวเขตในปี 2543 กลับยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และมติคณะรัฐมนตรี มีเพียงการนำหลักปูนแนวเขตอุทยานแห่งชาติ และการทำถนนเป็นแนวแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างที่ดินทำกินของชาวบ้านกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ทำให้ปัจจุบันในการตรวจสอบแนวเขตตามกฎหมายต่าง ๆ จึงยังคงยึดการใช้แนวเขตเดิม เมื่อปี 2524 นับเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะนี้

 

 

ปัญหาที่ดินยังไม่จบรัฐบาลชาติชาย-บิ๊กจิ๋วส่งเสริมท่องเที่ยว

 

 

แม้ว่าปัญหาที่ดินในพื้นที่วังน้ำเขียวจะอยู่ระหว่างการต่อสู้ของชุมชน กับกรมป่าไม้ แต่ในระหว่างนั้นก็กลับมีปัจจัยอื่นเข้าถาโถมเข้าปีอีก ทำให้ความซับซ้อนของปัญหาดูจะมีมากขึ้นในเวลาต่อมาปี 2530-2531 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายเปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ในเขตภาคอีสาน เริ่มกลายเป็นที่จับตาของนายทุน เพื่อหวังได้ประโยชน์จากนโยบายสำคัญนี้ ในที่สุดราคาที่ดินในหลายพื้นที่ถูกปั่นให้สูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ต่อเนื่องมาถึงบริเวณรอบๆ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ถูกมองว่าจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งธุรกิจสำคัญ ต่อการดำเนินนโยบายนี้ ที่ดินจำนวนมากจึงถูกนายทุนเข้าจับจอง ซื้อขายกันอย่างคึกคัก ทำให้ราคาสูงขึ้นมาก การขยายพื้นที่จากที่ดินทำเลทองบริเวณรอบๆ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงถูกขยายวงมาจนถึงบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านในเขต อ.วังน้ำเขียว ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประกอบกับเมื่อรัฐบาลยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เดินทางมาประชุมครม.สัญจร ที่อ.วังน้ำเขียว เมื่อปี 2540 ก็ได้ประกาศว่า จะส่งเสริมให้เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่แห่งนี้ เนื่องจากเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของ อ.วังน้ำเขียว ที่มีความเหมาะสมในทุกด้าน ไม่ว่าจะ ภูมิประเทศที่สวยงาม และ สภาพอากาศเย็นตลอดปี ถึงกับประกาศว่า “จะเนรมิตให้วังน้ำเขียวเป็นสวิสเซอร์แลนด์แห่งแดนอีสาน”

 

มติคณะรัฐมนตรีให้เร่งพิสูจน์การครอบครอง เพื่อดำเนินการรับรองสิทธิทำกิน โดยมอบหมายให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือผ่อนผันการใช้ประโยชน์ ด้วยการให้รับรองสิทธิพิเศษ อีกทั้งมีการเร่งรัดให้สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.-สมัยนั้น) ตัดถนนลาดยางสาย 2028 บ้านศาลเจ้าพ่อ อ.วังน้ำเขียว-บ้านหนองคุ้ย อ.ปากช่อง ระยะทาง 25.5 กิโลเมตร พร้อมกับเปิดช่องให้มีการเข้าไปดำเนินการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ มากมาย ในพื้นที่นี้ได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา

 

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร มีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 และพื้นที่ที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ทำให้พื้นที่อ.วังน้ำเขียว กลายเป็นที่หมายตาของนายทุนมากขึ้น พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านหลายแห่งมีการประกาศซื้อขายกันอย่างคึกคัก ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินของ ชาวบ้าน กับ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ถูกมองข้ามไปโดยสิ้นเชิง

 

 

กว้านซื้อที่ดินไม่สนใจเอกสารสิทธิ์

 

 

จากพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ที่ยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์แนวเขตอุทยานฯ บ้านพักตากอากาศของคนในเมือง คนจากกรุงเทพฯ รีสอร์ต ขนาดเล็กใหญ่ สวนเกษตร สถานที่ปฏิบัติธรรม กลับถูกสร้างขึ้นจำนวนมาก นายทุนต่างถิ่นโยกย้ายเข้าไปหาประโยชน์ในที่ดินที่มีสถานภาพไม่ชัดเจนนี้จำนวนมาก และหลากหลายรูปแบบ ทั้งขอซื้อ ขอเช่า จากเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ในการทำมาหากิน โดยเปลี่ยนมือใน ราคาถูกให้กับเจ้าของรีสอร์ต นายทุน นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และข้าราชการ เป็นเหตุให้มีการก่อสร้างโรงแรมรีสอร์ต รองรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นมากมายมากกว่า 100 แห่ง ขณะที่เกษตรกรเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ก็กลับกลายสภาพไปเป็นลูกจ้างในรีสอร์ต รองรับการท่องเที่ยวที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ท่ามกลางปัญหาแนวเขตที่ดินที่ยังค้างคา กระทั่งมีการเปิดประเด็นขึ้นมาถึงเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รวมไปถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติ และการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือสปก.

 

กระทั่งมีการรื้อฟื้นการตรวจสอบพื้นที่ป่าตามกฎหมายขึ้นมา ทำให้พบว่า ที่ดินจำนวนมากถูกเปลี่ยนมือเปลี่ยนเจ้าของนำไปก่อสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ต และบางพื้นที่ยังบุกรุกเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ มีการสร้างฝายกันลำน้ำตามธรรมชาติ เพื่อนำน้ำมาใช้เฉพาะในรีสอร์ตส่วนตัว ทำให้มีการฟ้องร้องบังคับใช้กฎหมาย ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่ป่า และการต่อสู้คดีของกลุ่มผู้ประกอบการ สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประกอบการและชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง สินค้าพื้นเมือง รวมทั้งพืชผลทางการเกษตรขายไม่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักอนุรักษ์ชี้ปัญหาแนวเขตไม่ชัด-นโยบายรัฐต้นเหตุความขัดแย้ง

 

 

โชคดี ปรโลกานนท์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้า ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ในพื้นที่นี้มากว่า 20 ปี แสดงความคิดเห็นต่อปัญหาที่เกิดขึ้นว่า สาเหตุสำคัญทำให้ปัญหาในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว บานปลาย สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางขณะนี้ เกิดจากปัญหาความไม่สอดคล้องกันของนโยบายรัฐหลายอย่าง โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในเชิงนโยบายที่ไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ว่าจะจัดการพื้นที่นี้ให้ออกมาในรูปแบบใด ทั้งในเรื่องของการจัดการแนวเขตพื้นที่ และนโยบายการจัดเขต ไม่มีความชัดเจนว่า จะให้เป็นเขตอนุรักษ์ หรือว่าจะส่งเสริมเป็นเขตการท่องเที่ยว

 

การที่รัฐบาลในอดีตส่งเสริมให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมุ่งสร้างให้เกิดเศรษฐกิจเกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้กระแสสังคมเปลี่ยนจากภาคเกษตรไปสู่การท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดด การเปลี่ยนมือเจ้าของที่ดินเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการอนุญาตให้จัดสรรสาธารณูปโภคเข้าไปอย่างเต็มที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และอุทยานแห่งชาติทับลาน ก็ปล่อยปละละเลย ไม่เคยปฏิบัติใช้ตามกฎหมายมานาน ปัญหาจึงลุกลามมากขึ้น โดยไม่มีการแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น ขณะเดียวกันชุมชนบริเวณพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ส่วนใหญ่เป็นชุมชนใหม่ ไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะเรื่องของความผูกพันกับพื้นที่ เมื่อเห็นว่าสามารถได้เงินจากการเปลี่ยนมือจากที่ดินเกษตรกรรมให้กับนายทุน ทำแล้วรวยก็จะขายที่ดินทันที โดยไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ ในที่สุดที่ดินก็กลายไปเป็นรีสอร์ตมากมาย ทุกอย่างเดินมาไกลมากแล้ว จนทำให้แก้ไขลำบากมากขึ้น

 

 

                      “ปัญหาเรื่องของแนวป่า ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ เพราะจนถึงขณะนี้แนวเขตป่าอุทยานแห่งชาติทับลานก็ยังไม่ชัด โดยเฉพาะข้อขัดแย้งเรื่องของแนวเขต ที่มีการกำหนดร่วมกันในปี 2543 ซึ่งขณะนั้นมีความพอใจกันทุกฝ่าย แต่กลับไม่มีการชี้ชัดหรือมีมติครม.ประกาศใช้ออกมา ทำให้ต้องไปยึดตามแนวเขตในปี 2524 ที่เป็นข้อขัดแย้งกันมา ประกอบกับปัญหาหลายอย่าง เมื่อจะมารื้อทุบกันตอนนี้ จึงย่อมเป็นปัญหาที่ยากจะพูดคุยแก้ไขกันได้” โชคดีระบุ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เห็นด้วยไล่ผู้บุกรุกแต่เจ้าหน้าที่ก็ผิดที่ปล่อยปละละเลย

 

 

เมื่อถามถึงการกระทำของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่นำกำลังจำนวนมากมาไล่รื้อรีสอร์ต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โชคดีไม่ได้ให้คำตอบชัดเจนนัก แต่ระบุว่า การไล่รื้อ ทุบทิ้งอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นการทำที่ได้ประโยชน์น้อย และเห็นว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่อยากให้มองที่ต้นเหตุของปัญหาและเพื่อการแก้ไขที่ยั่งยืนมากกว่า แต่ก็ไม่ได้คิดว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไม่ถูกต้อง เพราะแท้จริงแล้วหากมองตามข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่มีสิทธิที่จะดำเนินการตามหน้าที่ได้ เพราะกระบวนการทางศาลได้ยุติเสร็จสิ้นแล้ว และเจ้าหน้าที่เองก็จะต้องปฏิบัติไปตามหน้าที่ แต่ถ้าถามว่า จะให้เขาไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรืออธิบดีกรมอุทยานฯ หรือไม่ ก็คงไม่ทำ

 

 

                      “เรื่องนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า ใน อ.วังน้ำเขียว มีอุทยานฯ เขาใหญ่ กับ ทับลาน แต่ทำไม อุทยานฯ เขาใหญ่ไม่มีปัญหาบุกรุกพื้นที่ของรีสอร์ต ก็เพราะแนวเขตมันชัดเจนอยู่แล้ว แต่เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ประกาศก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2524 จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้กี่ปีแล้ว แนวเขตอุทยานฯ ยังไม่เคยถูกทำให้ชัดเจนเลย แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการไปปรับปรุงร่วมกัน ในปี 2543 มีการไปทำกันเป็นขั้นเป็นตอนแต่ก็ไม่มีอะไรชัดเจน จนมาถึงตอนนี้ถามว่าเป็นหน้าที่ใครที่จะต้องทำ แต่ไม่ทำ เมื่อมาถึงตอนนี้มันก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมา และผมไม่ได้เข้าข้างใคร แต่ถามว่าการสร้างรีสอร์ต เขาเอาหินเอาทรายใส่กระเป๋าเสื้อเข้าไปหรือ เจ้าหน้าที่จึงไม่เห็น และทำไมไม่มีการตักเตือนหรือจับกุมกันระหว่างก่อสร้างก่อนหน้านี้ ปล่อยให้เขาทำ แล้วมาทำแบบนี้”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นตรง เจ้าหน้าที่ละเลยจนเกิดปัญหา

 

 

สำหรับประเด็นเรื่องของความไม่ชัดเจนในการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งหมดตามที่โชคดีระบุนั้น สอดคล้องกับการพิจารณาของคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้ร่วมพิจารณากรณีนี้ด้วย โดยนายศรีราชา เจริญพานิช กล่าวแถลงความคิดเห็นของคณะผู้ตรวจการว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ นโยบายแต่ละหน่วยงานไม่สอดคล้อง เกิดความขัดแย้ง ทำให้เกิดแบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายปกครองและท้องถิ่น สนับสนุนพร้อมทั้งรับรองสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินของราษฎร ส่งเสริมและกำหนดให้การท่องเที่ยวในเขต อ.วังน้ำเขียว เป็นยุทธศาสตร์ของอำเภอส่งผลให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และการเกษตรเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ ไม่ได้ออกสำรวจตรวจสอบ เพื่อบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง แต่กลับปล่อยปละละเลยให้มีราษฎรเข้ายึดถือครอง และทำประโยชน์อยู่อาศัยทำกิน ทำการเกษตร ก่อสร้างที่พักอาศัย และใช้ประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลานาน จนทำให้ราษฎรที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ หรือราษฎรผู้รับโอนสิทธิการครอบครองต่อนั้น อาจเข้าใจ หรือเชื่อโดยสุจริตว่าสามารถกระทำการเช่นนั้นได้

 

 

                      “นอกจากนี้ ยังไม่มีการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามที่ได้มีการรังวัดกันออกให้แล้วเสร็จตามมติครม.เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2540 แต่กลับเร่งรัดดำเนินการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรในพื้นที่ หากดำเนินการให้เรียบร้อย พื้นที่ดังกล่าวก็ไม่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกต่อไป ซึ่งคงต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาจากสาเหตุเหล่านี้ด้วย” ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แฉปมแค้นนักการเมืองถูกเบี้ยวซื้อที่ดิน

 

 

อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าวของ ทีมข่าว TCIJ ได้รับข้อมูลอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ โดยระบุถึงสาเหตุเบื้องลึกของปัญหาการเข้ามาบุกจับ กวาดล้าง ที่ดินซึ่งมีเอกสารไม่แน่ชัดดังกล่าว โดยระบุว่า มาจากปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งอันเกิดจากการหาประโยชน์ในที่ดินอ.วังน้ำเขียว ที่ไม่ลงตัวกันของนักการเมืองระดับชาติ หลังจากมีนักการเมืองระดับชาติคนหนึ่ง ต้องการซื้อที่ดินในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จำนวนหลายพันไร่ โดยผ่านทางข้าราชการระดับสูงคนหนึ่ง ซึ่งข้าราชการคนดังกล่าวจึงสนอง “นาย” ด้วยการออกกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านจำนวนมหาศาล ทั้งซื้อตรงและผ่านนายหน้า โดยมีการวางเงินมัดจำไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ปรากฏว่าถึงที่สุดมีการ “ชักดาบ” เงินจำนวนดังกล่าวขึ้น และที่เจ็บแค้นหนักขึ้นไปก็คือ ที่ดินก็ไม่ได้ด้วย ทำให้เสียทั้งเงินและที่ดิน สร้างความขุ่นเคืองให้กับนักการเมืองสอบตกรายนั้นเป็นอย่างมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สั่งลูกน้องแก้แค้นแทน

 

 

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ความแค้นดังกล่าวไม่ได้ยุติเพียงนั้น แต่กลับมีประโยคเด็ดจากข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งระบุว่า “เบี้ยวเงินนายเรา วังน้ำเขียวเดือดร้อนแน่” แต่ไม่ได้สร้างความหวั่นใจให้กับนักการเมืองท้องถิ่น และกลุ่มนายหน้าค้าที่ดินที่เป็นคู่กรณีแต่อย่างใด หลังจากนั้นไม่นานการขุดคุ้ยเรื่องเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ก็เริ่มขึ้น ตามมาด้วยการไล่ติดประกาศ รื้อถอน บ้านพักตากอากาศ รีสอร์ต ไปแล้วหลายแห่ง

                   “เรื่องนี้ไปขุดประวัติปัญหาวังน้ำเขียว เขาแผงม้าดูได้ ว่ากรมไหนเปิด กรมไหนขุดขึ้นมา ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องของการมองทิศทางลม คือ เป็นการรักษาเก้าอี้ตำแหน่ง เพราะรู้แน่แล้วว่า นายเก่าไม่มาแน่  แต่พรรคไหนจะมาก็ต้องดู นั่นคือถ้าลงมาทำเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับอยู่แล้ว เป็นการทำเรื่องของการอนุรักษ์ผืนป่า ถ้าตัวเองทำจริง มีกระแสสังคมรองรับ ก็จะสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ใครเป็นใครก็ไปดูกัน คนที่นี่เขารู้กันหมด ความขัดแย้งของนักการเมืองใหญ่ แต่คนเล็กคนน้อยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ก่อนหน้านี้มีการรื้อคดีที่ไปจับชาวบ้านที่แก่งกะอาม ก็มีเสียงว่า ทำไมไปจับชาวบ้าน นายทุนไม่จับ คราวนี้ก็เลยต้องทำมาทำที่ทะเลหมอก เมืองในหมอก ไร่กฤษณวรรณ ลองไปรื้อคดีดู พวกนี้มีมาตั้งแต่สมัยปี 2543-2544

มันเป็นปัญหาทางการเมือง ส่วนหนึ่งเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจ บางคนต้องรักษาฐานอำนาจ สร้างผลงาน อีกส่วนหนึ่งไม่มีหลักฐานคือ อาจจะมีการซื้อขายที่ดินกันในทางลับๆ พอไม่ได้ดั่งใจ หรือไม่ได้ที่ดินก็เลยเอากฎหมายมาว่ากัน เพราะตัวเองถือกฎหมายเรื่องเหล่านี้มีข้อมูลทางลับยืนยันอยู่” ผู้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวระบุ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: