พลิกปมครบ10ปีเบื้องหลังคดีบริษัทยาฉาว แอบเปลี่ยนข้อมูลสิทธิบัตร'ยารักษาเอดส์' ชี้ระบบจดทะเบียนมีปัญหา-จี้รัฐเร่งแก้ไข

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 23 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2488 ครั้ง

“ถ้าเราไม่สู้เพื่อตัวเราเอง เราจะให้ใครมาสู้เพื่อตัวเรา เราเกิดมาเพื่อสู้ ในเมื่อเราถูกรังแก เราถูกปิดกั้นการมีชีวิตอยู่ สิ่งที่เราทำได้คือเราต้องลุกขึ้นมาสู้”

 

ถ้อยคำระลึกความหลังเมื่อ 10 กว่าปีก่อนของกมล อุปแก้ว อดีตประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ที่เขาอาจไม่ได้คาดคิดว่า 10 กว่าปีต่อมา การตัดสินใจคัดง้างและฟ้องบริษัท เพื่อการมีชีวิตของเขาและเพื่อน ๆ ณ วันนั้น จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการสาธารณสุขของไทย ณ วันนี้

 

ถอยไปถึงพ.ศ.2530 โลกและไทยยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี/เอดส์มากเท่าปัจจุบัน ผู้ป่วยจึงถูกทอดทิ้งและเสียชีวิตดังใบไม้ร่วง แม้ว่าต่อมายาต้านไวรัสจะถูกผลิตขึ้น แต่ผู้ป่วยก็ยากที่จะเข้าถึง เนื่องจากยามีราคาแพงมาก อันเป็นผลสืบเนื่องจากติดสิทธิบัตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“ยาดีดีไอ” คือ หนึ่งในยาต้านไวรัสที่ถูกผลิตขึ้น แต่ก็เกิดปัญหาตามมา จากคำขอสิทธิบัตรของบริษัทยาที่ไม่ตรงไปตรงมา ทำให้ภาคประชาชน เอ็นจีโอ นักวิชาการ นักกฎหมายต้องจับมือกันฟ้องคดี ซึ่งผลของคดีได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นหลายประการในแวดวงสาธารณสุขของไทย ถึงวันนี้นับจากคำพิพากษาออกมาก็เท่ากับ 10 ปีพอดี บรรดาผู้มีส่วนร่วมในครั้งนั้นจึงจัดเสวนาพูดคุยถอดบทเรียนจากอดีตสำหรับการขับเคลื่อนในปัจจุบัน

 

 

ย้อนอดีตเงื่อนงำขอสิทธิบัตร ‘ดีดีไอ’

 

 

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ยาดีดีไอที่สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพของสหรัฐฯ วิจัยพบ แต่ไม่สามารถผลิตเองได้ จึงขายสิทธิให้แก่บริษัท Bristol-Myers Squibb (BMS) หรือ บีเอ็มเอส บริษัทดังกล่าวจึงขอสิทธิบัตรสูตรตำรับยาในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการรวมยาดีดีไอและยาลดกรดให้อยู่ในตัวเดียวกัน ซึ่งหน่วยงานของสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตร เนื่องจากเห็นว่า ยาดังกล่าวไม่มีความใหม่ และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น บีเอ็มเอสต้องยื่นขอถึง 3 ครั้ง จึงได้รับสิทธิบัตร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2542 เป็นการได้สิทธิบัตร หลังจากประเทศไทยให้สิทธิบัตรไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2541 ดร.จิราพร ตั้งข้อสังเกตว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะต้องมีความเชี่ยวชาญมากกว่าหน่วยงานของสหรัฐฯ มาก จึงสามารถออกสิทธิบัตรได้ก่อนสหรัฐฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จุดตั้งต้นของสิทธิบัตรยาดีดีไอ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 บีเอ็มเอสได้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรสูตรตำรับยาต้านไวรัสดีดีไอในประเทศไทย ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีช่วงขนาดการใช้ยาอยู่ที่ประมาณ 5-100 มิลลิกรัมต่อหน่วยขนาดใช้ยา วันที่ 22 มกราคม 2541 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสิทธิบัตรเลขที่ 7600 ให้แก่บีเอ็มเอส แต่ปรากฏว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญกล่าวคือ “ช่วงกำหนดหน่วยขนาดใช้ยา 5-100 มิลลิกรัม หายไปจากข้อถือสิทธิ”

 

อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ถ้าช่วงขนาดการใช้ยาดีดีไอของบีเอ็มเอสในสิทธิบัตรอยู่ที่ 5-100 อย่างน้อยบริษัทยาในไทย หรือองค์การเภสัชกรรม ก็ยังสามารถผลิตยาดีดีไอที่มีราคาถูกกว่า ในช่วงขนาดการใช้ยาอื่น ๆ ได้ เช่น 101-200 เป็นต้น แต่เมื่อสิทธิบัตรออกมาแบบนี้ ย่อมหมายความว่า บีเอ็มเอสเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาดีดีไอทุก ๆ ช่วงขนาดการใช้ยา

 

ทั้งที่ก่อนหน้านั้นสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ได้เริ่มวิจัยยาดีดีไอมาตั้งแต่ปี 2535 และกำลังเตรียมการผลิต นี่ย่อมเท่ากับบีเอ็มเอสปิดประตูตายใส่หน้าองค์การเภสัชกรรม ซึ่งภายหลังบีเอ็มเอสได้ส่งจดหมายเตือนถึงองค์การเภสัชกรรม ว่ามิให้ผลิตยาดีดีไอ เนื่องจากตนเป็นเจ้าของสิทธิบัตร

 

 

               “บีเอ็มเอสยื่นขอสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยาดีดีไอในไทย วันที่ 7 กรกฎาคม 2535 ถามว่าขอได้อย่างไร เพราะตอนนั้นประเทศไทย แก้กฎหมายให้จดสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2535 แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะถึงวันที่ 30 กันยายน 2535 นั่นหมายความว่า ณ ขณะนั้นยังต้องใช้กฎหมายเก่าที่อนุญาตให้จดเฉพาะสิทธิบัตรในกระบวนการผลิต หมายความว่า สูตรตำรับยานี้ขอสิทธิบัตรไม่ได้แล้ว แต่ทำไมบีเอ็มเอส ไม่ยื่นสิทธิบัตรในเดือนกันยายน นั่นเพราะมีข้อยกเว้นว่า ถ้ายื่นขอสิทธิบัตรในต่างประเทศแล้ว จะต้องกลับมายื่นในไทยภายใน 12 เดือน เขายื่นขอในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 ดังนั้น เขาจึงรอมายื่นในไทยในเดือนกันยายนไม่ได้ ยาจะหมดความใหม่ เขาจึงต้องมายื่นในวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 คำถามคือ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐรับได้อย่างไร” ดร.จิราพร อธิบายความไม่ชอบมาพากลของการยื่นขอสิทธิบัตรยาดีดีไอในอดีต

 

กติกาอีกประการหนึ่งคือ หากยาตัวนั้น ๆ มีการใช้ในประเทศแล้ว จะถือว่ายาตัวนั้นไม่มีความใหม่ ซึ่งตรวจสอบพบว่า โครงการ HIV Net ของจุฬาฯ ได้นำยาตัวนี้มาให้แก่ผู้ป่วยแล้วก่อนหน้าประมาณ 2 เดือน

 

 

10 ปีคำพิพากษาสร้างบรรทัดฐานใหม่ไทย-นานาชาติ

 

 

ในห้วงเวลานั้น ผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ในไทย ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากการเข้าไม่ถึงยาตัวดังกล่าว จึงมีการเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) ในยาดีดีไอ แต่กระทรวงสาธารณสุข ปฏิเสธ เพราะเกรงว่าจะทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ วันที่ 7 พฤษภาคม 2543 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงนำข้อมูลความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ที่ค้นพบ ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือต่อสภาทนายความ เกิดการตั้ง ‘คณะทำงานพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อยกเลิกสิทธิบัตรยาดีดีไอในประเทศไทย’ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยแยกฟ้องเป็น 2 คดี

 

คดีแรกเป็นการฟ้องบีเอ็มเอสและกรมทรัพย์สินทางปัญญา เกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรโดยมิชอบ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำขอ กระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ศาลพิพากษาให้บีเอ็มเอสและกรมทรัพย์สินทางปัญญาแพ้คดี และต้องแก้ไขข้อถือสิทธิ์โดยให้ระบุช่วงขนาดการใช้ยา 5-100 มิลลิกรัม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนอีกคดีซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ร่วมกันฟ้องบีเอ็มเอส และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ในฐานะผู้เสียหาย เนื่องจากต้องใช้ยาราคาแพงจากการผูกขาดโดยสิทธิบัตรยาที่ออกให้โดยมิชอบ เพื่อให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรดีดีไอในประเทศไทย ประเด็นสำคัญของคดีนี้ ที่ทั้งจำเลยและโจทก์หยิบยกขึ้นมาต่อสู้อยู่ที่คำว่า ‘ผู้เสียหาย’ เพราะดูเหมือนว่าฝ่ายจำเลยพยายามหว่านล้อมศาลให้เห็นว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย ซึ่งที่ผ่านมาการตีความผู้เสียหายมักหมายถึง ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง แต่คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาตีความว่า องค์กรเพื่อสาธารณะและผู้ป่วยถือเป็นผู้เสียหาย นับเป็นการตีความที่ก้าวหน้ามากในยุคนั้น และกลายเป็นบรรทัดฐานต่อมา ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังหมายรวมถึงในระดับนานาชาติ

 

 

            “นี่คือคดีแรกของโลกที่ยืนยันว่าผู้ป่วยและองค์กรที่เกี่ยวข้อง สามารถเป็นโจทก์ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และยังเป็นตัวอย่างให้ต่างประเทศสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาได้จากคดีดีดีไอนี้เอง” กมลกล่าว

 

เมื่อผนวกเข้ากับผลของคดีแรก คดีหลังจึงจบลงด้วยการที่บีเอ็มเอสตกลงเจรจายอมความ โดยทางบีเอ็มเอสยินยอมถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอในประเทศไทยแลกกับการถอนคำฟ้อง

 

 

เอ็นจีโอชี้ระบบสิทธิบัตรของไทยมีปัญหา เอื้อบริษัทยาผูกขาดยาต่อเนื่อง

 

 

บทเรียนจาก 10 ปี ก่อนยังช่วยให้ขบวนการภาคประชาสังคมเรียนรู้และเท่าทันกระบวนการผูกขาดที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และอียู หรือระบบการพิจารณาสิทธิบัตรของไทยที่ยังเป็นปัญหา เป็นต้น

 

 

              “เราพบประเด็นสำคัญประการหนึ่ง คือกระบวนการให้สิทธิบัตรบ้านเรามีปัญหา จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไข มีสิทธิบัตรแบบที่ไม่ควรได้รับเยอะมาก ซึ่งทำให้เกิดการผูกขาดและการเข้าไม่ถึงยา ดังนั้น กระบวนการพิจารณาสิทธิบัตรจึงเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะไม่อย่างนั้นเราจะต้องวิ่งไล่ดูว่ายาตัวไหนใกล้หมดก็มาขอใหม่อย่างกรณีเอเวอร์กรีนหรือสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งทำให้การผูกขาดยาไม่รู้จักจบสิ้น” สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ซึ่งเคยร่วมต่อสู้เรียกร้องกรณีดีดีไอเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

 

 

สุภัทธายังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัจจัยเอื้อให้เกิดความสำเร็จ ในการจับตาดูกระบวนการออกสิทธิบัตรยาอยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง-ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพ ที่รับรองสิทธิการเข้าถึงการรักษาของประชาชน ระบบจึงต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงยาที่จำเป็น สอง-ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง เกิดการเชื่อมเครือข่ายกับกลุ่มผู้ป่วยไตและโรคมะเร็ง และได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการ สาม-ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตยาใช้เองภายใน ซึ่งองค์การเภสัชกรรมถือว่าไม่ด้อยไปกว่าใคร สามารถช่วยให้ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้

 

 

ระบุกฎหมายทรัพย์สินฯของไทยก้าวหน้าเกินเหตุ

 

 

อย่างไรก็ตาม การติดตามและต่อสู้ด้านสิทธิบัตรในเมืองไทย ยังติดอุปสรรคอยู่บางประการ ดร.คมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญากลาง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาน้อยมาก ทั้งที่โดยสถิติแล้ว การฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตร 100 คดี ศาลพิพากษาให้เพิกถอนถึง 80 คดี ถึงกระนั้นก็พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่แพ้คดี เป็นเพราะทนายความไม่มีความรู้ด้านสิทธิบัตรเพียงพอ ซึ่งหากต้องการทนายความที่เชี่ยวชาญ ค่าใช้จ่ายย่อมสูงตามไปด้วย ซึ่งภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องนี้อาจไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ

 

 

               “ขณะนี้มีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขหลายฉบับ ต้องฝากให้ช่วยดูด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือสหรัฐฯ บีบให้หลายประเทศแก้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ไทยก็กำลังแก้ ซึ่งต้องฝากให้ภาคประชาชนเฝ้าระวังเรื่องนี้ด้วย เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ศาลก็ต้องว่าไปตามนั้น”

 

 

ประเด็นสำคัญที่ ดร.คมน์ทนงชัยทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรกับการเข้าถึงยาของแม่ว่า มีผลอย่างไรต่อทารกพบว่า ประเทศใดที่มีการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด เช่น ประเทศไทยที่ถือว่าบังคับใช้อย่างเข้มงวดมาก จะมีอัตราการตายของทารกสูงผิดปกติ

 

 

             

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

              “ประเทศไทยเรายังไม่พร้อมขนาดนั้น ถ้าดูกฎหมายสิทธิบัตรของไทยทุกมาตรา เปรียบเทียบกับของอินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งของสหรัฐฯ เราจะเห็นได้เลยว่า กฎหมายของเราก้าวหน้าเกินเหตุ เราต้องมีระดับการใช้ชีวิตหรือคุณภาพชีวิตดีกว่าญี่ปุ่น 2 เท่า ถึงจะมีกฎหมายสิทธิบัตรแบบนี้ แต่จริง ๆ เรายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่กฎหมายเราสมบูรณ์แบบยิ่งกว่าสหรัฐฯ เสียอีก”

 

 

ทั้งหมดนี้ถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาในระบบทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตรของไทยได้เป็นอย่างดีว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องปรับปรุง และเป็นอิสระจากแรงกดดันของประเทศตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่กำลังบีบไทยด้วยข้อตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็มีทีท่าโอนอ่อนผ่อนตามโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมาแต่อย่างใด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: