แฉบิ๊กทส.แก้กฎ-ไฟเขียว นักการเมืองขุดถ่านหิน

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 23 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2541 ครั้ง

แร่เป็นทรัพย์ของแผ่นดินการดำเนินการใดใด เพื่อการสำรวจหรือทำเหมืองแร่ จึงต้องได้รับอนุญาตตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่ใช้บังคับในกิจการเกี่ยวกับทรัพยากรแร่คือ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ในส่วนที่เกี่ยวกับการสำรวจนั้น มีบทบัญญัติในมาตรา 25 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดสำรวจแร่ในที่ใด ไม่ว่าที่ซึ่งสำรวจแร่นั้นจะเป็นสิทธิของบุคคลหรือไม่ เว้นแต่ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หรืออาชญาบัตรพิเศษ”

 

เห็นได้ว่า ก่อนที่จะมีการทำเหมืองแร่ ต้องขอสิทธิในการสำรวจก่อน ความหมายโดยทั่วไปของการสำรวจแร่คือ การเจาะ หรือการขุด หรือการกระทำด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายวิธี เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่มีแร่อยู่หรือไม่เพียงใด โดยใช้วิธีการทางธรณีวิทยา ธรณีเคมี และธรณีฟิสิกส์

 

ส่วนการทำเหมืองแร่ มีบทบัญญัติในมาตรา 43 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำเหมืองในที่ใด ไม่ว่าที่ซึ่งทำเหมืองนั้นจะเป็นสิทธิของบุคคลใดหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร ซึ่งการขอสิทธิทำเหมืองแร่จากรัฐ ทำได้โดยการยื่นคำขอประทานบัตร การทำเหมืองแร่ หมายถึง การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าบนบกหรือในน้ำ เพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายวิธี แต่ไม่รวมถึงการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน ตามหมวด 5 ทวิ และการขุดหาแร่รายย่อยหรือการร่อนแร่ ตามกฎกระทรวง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ทุกครั้งก่อนที่จะสำรวจเพื่อทำเหมืองแร่ พื้นที่จะต้องถูกสำรวจ จะต้องได้รับอาชญาบัตรตามมาตรา 6 ทวิ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลองการศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของอำนาจคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่ใด ๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้

 

ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

 

 

‘อนงค์วรรณ’แก้กฎกระทรวงเปิดทางเด็กภูมิใจไทยขุดเหมือง

 

 

ในสมัยที่นางอนงค์วรรณ  เทพสุทิน เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องยกเลิกเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม  ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2551 เป็นแรงจูงใจให้เอกชนเข้าไปลงทุนสำรวจและพัฒนา เพื่อนำแร่ถ่านหินมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน แต่ยังคง 2 พื้นที่ ที่เป็นแหล่งถ่านหินลิกไนต์ขนาดใหญ่ คือที่แหล่งถ่านหินแอ่งเวียงแหง จ.เชียงใหม่ และแอ่งสะบ้าย้อย จ.สงขลา สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

 

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในทางปฏิบัติแล้ว หากหน่วยงานที่รับผิดชอบกับการจัดหาพลังงาน ต้องการเข้าไปพัฒนาแหล่งแร่นั้น ๆ สามารถขอให้ออกประกาศกฎกระทรวง มาตรา 6 ทวิ ได้อยู่แล้ว อย่างเช่น หาก กฟผ.สามารถขอยกเลิกมาตรา 6 ทวิ เพื่อเข้าไปพัฒนาแหล่งถ่านหินลิกไนต์ได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่สิ่งที่ผิดปกติในการออกกฎกระทรวง เพื่อยกเลิกมาตรา 6 ทวิ สมัยของนางอนงค์วรรณ คือการเร่งประกาศออกกฎกระทรวง ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน ทำให้พื้นที่บ้านแหง อ.งาว แหล่งถ่านหินลิกไนต์ใน จ.ลำปาง เป็นพื้นที่ที่ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงครั้งนั้นด้วย ซึ่งบริษัทที่ขอสัมปทานทำเหมืองแร่ คือ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด มีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อคนหนึ่ง ของพรรคภูมิใจไทย เป็นเจ้าของ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กว้านซื้อที่ดินหลังได้สัมปทานเหมืองลิกไนต์

 

 

นางแววรินทร์ บัวเงิน แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านแหง เล่าว่า เดิมที่ดินในพื้นที่จะเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิทำกิน (สทก.) ที่ไม่สามารถซื้อขายได้ แต่จะตกทอดไปยังลูกหลานได้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ทยอยออกเอกสารสิทธิให้ระหว่างปี พ.ศ.2548-2550  และประมาณปี 2551 เริ่มมีการกว้านซื้อที่ดินอย่างไม่เปิดเผย ในช่วงแรกการซื้อขายจะเป็นสองทอดคือ ผู้ที่รู้ข้อมูลหรือเรียกว่าคนวงใน รู้ว่าจะมีการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จะกว้านซื้อที่ดินเก็บไว้ แล้วขายต่อให้นายทุนอีกครั้งหนึ่ง บริษัทใช้วิธีกว้านซื้อโดยรอบด้านนอกเข้ามาและปล่อยให้ที่ดินด้านในเป็นที่ตาบอด เพื่อบีบให้ชาวบ้านขายในราคาถูก รวมที่ดินที่ซื้อทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่   โดยบริษัทแจ้งกับอบต.ว่า จะซื้อที่ดินเพื่อปลูกต้นยูคาลิปตัส และทำเกษตรแบบผสมผสาน แต่ไม่ได้แจ้งกับอบต.และชาวบ้านว่า จะนำไปเพื่อขอสัมปทานทำเหมืองถ่านหิน  และมีการกว้านซื้อที่ดินมากขึ้นในปี 2552

 

และในปี 2552 นั่นเอง อบต.บ้านแหงชี้แจงกับชาวบ้านว่า มีบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งในตอนนั้นชาวบ้านยังไม่ทราบว่าเป็นบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ จำนวน 5 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 1,000 กว่าไร่ และอบต.ได้ติดประกาศการขอประทานบัตรของบริษัทดังกล่าว เพื่อให้ชาวบ้านคัดค้านภายใน 20 วัน

 

แววรินทร์กล่าวว่า ในขณะที่บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้แจ้งกับอบต. เรื่องการขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่ จากนั้นเริ่มขึงลวดหนามปิดล้อมที่ดินรอบนอกที่กว้านซื้อไว้ พร้อมกับตั้งสำนักงาน และยังติดต่อขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านต่อไปด้วยข้ออ้างเดิม แต่ชาวบ้านเริ่มสงสัย เมื่อมีการกว้านซื้อมากขึ้น และเมื่อเริ่มมีข่าวออกมาว่า บริษัทซื้อที่ดินไปทำเหมือง ชาวบ้านเริ่มคัดค้าน เพราะเห็นว่ามันเยอะมากขึ้น  ยิ่งพอรู้ว่าเป็นเหมือง ชาวบ้านยิ่งคัดค้าน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เหมืองแอบอ้างทำประชาคมเท็จยัดไส้อบต.อนุมัติ

 

 

ต่อมา วันที่ 25 กันยายน 2553 บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้เข้ามาจัดประชุมที่บ้านแหง เพื่อชี้แจงรายละเอียดการเข้ามาขอสัมปทานทำเหมืองในพื้นที่ และผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับ ซึ่งการประชุมครั้งนั้นมีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมด้วย ซึ่งบริษัทได้สรุปรายงานเสนอกับอบต.ว่า การประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมเพื่อขอประชามติจากชาวบ้าน ว่าเห็นด้วยกับการทำเหมืองหรือไม่ ซึ่ง รายงานดังกล่าวเป็นการทำประชามติเท็จ เนื่องจากที่ประชุมไม่มีการถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหมือง และส่งให้อบต.เพื่อขอคำรับรอง ซึ่งอบต.ได้รับรองแล้ว

 

 

              “รายงานเขียนว่า มีการลงมติเห็นด้วย 316 เสียง แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ออกเสียงเลย เพราะมีชาวบ้านจากที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย คือไกลจากพื้นที่ประทานบัตรเกิน 500 เมตร มาจากที่ไหนไม่รู้มายกมือ ซึ่งตอนนี้เราพยายามทำเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ” แววรินทร์กล่าว

 

 

สถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ขณะนี้  หลังจากที่บริษัทนำใบการขอประทานบัตรการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์มาปิดในพื้นภายใน 20 วัน เมื่อชาวบ้านเห็น จึงทำหนังสือคัดค้าน

 

 

ชาวบ้านหวั่นวิกฤติมลพิษเหมือง-แย่งน้ำทำเกษตร

 

 

แววรินทร์กล่าวว่า สิ่งที่ชาวบ้านเป็นกังวล หากจะมีเหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่คือ ปัญหาน้ำและปัญหามลพิษที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วจากที่แม่เมาะซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินเหมือนกัน ทั้งนี้บ้านแหงมีบ้านเรือนประมาณ 500 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร และพื้นที่ที่บริษัทซื้อเพื่อทำเหมืองแร่จะอยู่เหนือหมู่บ้านขึ้นไป และมีลักษณะเป็นแอ่งกะทะ ตรงกลางเป็นตาน้ำ มีเส้นทางน้ำไหลผ่านลงสู่น้ำแหงและน้ำเมือง หากมีการทำเหมืองเกิดขึ้นลำน้ำจะต้องไหลลงเหมือง ก่อนจะไปถึงหมู่บ้าน ซึ่งการทำเหมืองแร่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเกรงว่าจะลำน้ำจะแห้ง ไม่มีน้ำทำการเกษตร นอกจากนี้พื้นที่เหมืองที่จะขอประทานบัตรบางส่วน ยังปิดทางสาธารณะของหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านต้องใช้สัญจรเพื่อไปทำเกษตรในพื้นที่

 

ทั้งนี้นอกจากปัญหาเรื่องน้ำแล้ว ปัญหามลพิษตกค้าง คือประเด็นปัญหาสารพิษจากการทำเหมืองแร่ เนื่องจากพื้นที่ที่ขอประทานบัตรจะอยู่เหนือหมู่บ้านขึ้น ด้านล่างเป็นที่นาทั้งหมด ซึ่งนาจะใช้น้ำจากฝายและอ่างเก็บน้ำ หากมีเหมืองเกิดขึ้น โอกาสที่จะมีโลหะหนักปนเปื้อนมากับน้ำนั้นมีสูงมาก

 

 

             “เหมืองลิกไนต์จะไม่เหมือนกับเหมืองอื่น ที่โลหะหนักจะปนเปื้อนในน้ำ ในดิน ถ้าชาวบ้านไม่ดื่ม ไม่ใช้น้ำ ไม่ทำอะไรกับดินก็จะปลอดภัย แต่เหมืองลิกไนต์นั้น แม้จะไม่ได้ทำอะไร แต่ถ่านหินจะสันดาป คือลุกไหม้ตัวเอง เมื่อเราหายใจเข้าออก เราก็จะต้องสูดมันเข้าไป แล้วแบบนี้เหมืองจะอยู่ในหมู่บ้านกับเราได้อย่างไร” แววรินทร์กล่าว

 

 

นอกจากนี้ ด้วยสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านที่เป็นแอ่งกระทะ อยู่ระหว่างภูเขาสองลูก เมื่อลมผ่านเข้ามาทางหมู่บ้านจะปะทะกับภูเขาอีกลูกหนึ่ง จะกลายเป็นลมหมุนที่พัดวนอยู่ในหมู่บ้าน และหากมีเหมืองเกิดขึ้นอากาศมลพิษจากการทำเหมืองจะวนอยู่ในหมู่บ้าน และผู้ที่รับผลกระทบมากที่สุดคือคนในหมู่บ้าน

 

 

บ้านแหงแหล่งโบราณทางประวัติศาสตร์ของลำปาง

 

 

ทั้งนี้ข้อมูลเมื่อปี 2529 จากการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ โดย ผศ.ดร.ทิวา ศุภจรรยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งสำรวจแหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณบริเวณภาคเหนือตอนบน พบว่า ที่หมู่ 1 ต.บ้านแหง ปัจจุบันคือ หมู่ 1 และหมู่ 7 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน เป็น 1 ใน 17 แหล่งโบราณคดีสำคัญของ จ.ลำปาง โดยมีคันดิน คูดินล้อมรอบ ซึ่งมีภาพถ่ายทางอากาศแสดงหลักฐานว่าเป็นชุมชนโบราณ

 

หลังจากนั้น หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดลำปาง ได้ลงพื้นที่สำรวจโดยการเดินเท้าเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม มีการบันทึกไว้ว่า เมืองโบราณแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเนินดินธรรมชาติ ภายในบริเวณเป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ความสูงของเนินดินประมาณ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่ภายในเมืองโบราณเป็นที่ทำเกษตรกรรมของชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านแหงเหนือ เนื่องจากมีแหล่งน้ำคือแม่น้ำแหงและแม่น้ำจอนไหลผ่านทางทิศตะวันตกของเมืองโบราณ สภาพพื้นที่บริเวณที่ไม่ได้ทำเกษตรกรรมจะเป็นป่าโปร่งต่อเนื่องไปจนถึงภูเขา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: