ชีวิตคนไทยเสี่ยงตายบนท้องถนน จี้ลดอุบัติเหตุ-สถิติ‘รถตู้’มากที่สุด ระบุขั้นตอนชดเชยอืด-ยอดเงินต่ำ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 23 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2749 ครั้ง

 

ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา สถานการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารประจำทาง ทั้งรถโดยสารปรับอากาศ หรือรถทัวร์ และรถตู้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย ถึงแม้บางรายจะไม่ถึงชีวิต แต่ต้องทุพพลภาพไปตลอดชีวิตก็มี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดสภาเวทีเพื่อผู้บริโภค “เรื่องทุกข์ของผู้โดยสาร ต่อบริการรถสาธารณะ” เพื่อหาข้อสรุปแนวทางที่จะเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

 

 

เผยสถิติอุบัติเหตุรถตู้สูงสุด 33 เปอร์เซ็นต์

 

 

น.ส.สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เก็บข้อมูลจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นพบว่า มีอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะกับรถตู้โดยสารสาธารณะ ภาพรวมอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 – ตุลาคม 2555 ปรากฏว่า รถตู้สาธารณะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 33 เปอร์เซ็นต์  รองลงมาคือรถโดยสารปรับอากาศ 30 เปอร์เซ็นต์ รถโดยสารนำเที่ยว 11 เปอร์เซ็นต์ รถโดยสารระหว่างจังหวัด 8 เปอร์เซ็นต์ รถรับส่งพนักงาน 10 เปอร์เซ็นต์ รถเมล์ 7 เปอร์เซ็นต์ และรถแท็กซี่น้อยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากข้อมูลบ่งบอกว่ารถโดยสารที่ประชาชนใช้บริการอยู่นั้นไม่มีความปลอดภัย

 

 

                  “มีประชาชนร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังมีรถตู้ที่มีคนยืนในรถ รับผู้โดยสารต่อเที่ยวประมาณ 20-22 คน ในขณะที่รถมีที่นั่งเพียง 12 ที่นั่ง ซึ่งนอกจากเสริมเก้าอี้แล้ว ยังให้ผู้โดยสารยืนด้วย โดยเฉพาะช่วงเทศกาล เย็นวันศุกร์ที่ผู้โดยสารต้องการเดินทางกลับบ้าน เส้นทางที่พบบ่อยคือ กรุงเทพฯ -สุพรรณบุรี กรุงเทพฯ-อยุธยา กรุงเทพฯ-อ่างทอง จึงอยากจะตั้งคำถามไปที่กรมการขนส่งทางบกว่า เคยมีการตรวจสอบบ้างหรือไม่” น.ส.สารีกล่าว

 

 

 

ตายจากอุบัติเหตุ ได้ค่าชดเชยไม่ถึง 4 แสนบาท

 

 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ตัวเลขอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตู้สาธารณะ สอดคล้องกับการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถตู้ ซึ่งคำถามคือ “หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการตรวจสอบและดูแลรถโดยสารดังกล่าวบ้างหรือไม่” ที่ผ่านมาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค เข้าไปให้ความช่วยเหลือหลังจากที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้ว ด้วยการให้คำปรึกษา แนะนำ ฟ้องร้องคดี จัดทนายความอาสาช่วยเหลือสนับสนุนผู้ฟ้องร้องคดี โดยมูลนิธิฟ้องศาลคดีอุบัติเหตุจากรถทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 137 คดี

 

เป็นคดีรถโดยสารประจำทางมากที่สุด 55 คดี รองลงมาคือ รถโดยสารนำเที่ยว 30 คดี ผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าชดเชยเฉลี่ยประมาณ 340,000 บาท ขณะที่กรณีบาดเจ็บสาหัส สูญเสียอวัยวะพิการตลอดชีวิต ได้รับค่าชดเชยประมาณ 480,000 บาท แล้วแต่กรณี และการพิจารณาของศาลถือว่าน้อยมาก

 

ทั้งนี้ค่าชดเชยที่ได้รับนั้นไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ได้รัยบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้รับค่าเสียหายน้อยกว่าที่ควรจะได้ มาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะขั้นตอนการดำเนินการทางคดีที่ล่าช้า ตั้งแต่กระบวนการชั้นสอบสวนถึงศาล กระบวนการเรียกร้องค่าเสียหาย เน้นการพิสูจน์ถูกผิดก่อนที่จะพิจารณาเรื่องค่าเสียหาย ที่สำคัญคือผู้เสียหายไม่รู้ในมูลค่าความเสียหายที่ควรจะได้รับ และความไม่เชื่อมั่นต่อการเรียกร้องสิทธิ

 

 

                  “ค่าชดเชยที่ได้รับน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประเด็นสำคัญผู้บริโภคไม่มีความรู้ ในมูลค่าความเสียหายที่ควรจะได้รับ และไม่เชื่อมั่นต่อการเรียกร้องสิทธิว่าเรียกร้องไปแล้วจะได้หรือไม่ ทำให้ผู้เสียหายยินยอมรับค่าเสียหาย ตามที่ผู้กระทำผิดเสนอ ซึ่งไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่ต้องเลี้ยงคนพิการตลอดชีวิตหรือต้องสูญเสียคนที่รัก”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เสียเวลาฟ้องร้องคดี ไม่มีผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือ

 

 

นอกจากนี้ค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัยได้รับจากกรมธรรม์ประกันภัยและกรมการขนส่งทางบก ไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายที่แท้จริงทั้งหมด เช่น ไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินที่เสียหายหรือสูญหาย การเสียโอกาสในการเดินทาง การเสียโอกาสในการทำงานหารายได้ต่อไปในอนาคต รวมถึงสภาพจิตใจที่เสียไปด้วย

 

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสะท้อนด้วยว่า การฟ้องร้องของผู้เสียหายจากกรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร ยังขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น พนักงานสอบสวน หรือหน่วยงานที่มีความรู้ด้านกฎหมาย เช่น สภาทนายความ ในการเรียกร้องสิทธิ หรือการดำเนินการด้านคดี

 

 

              “การฟ้องคดีในคดีผู้บริโภคแต่ละครั้ง ใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี แม้จะชนะคดีในศาลชั้นต้นแล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย เนื่องจากจำเลยจะต้องอุทธรณ์คำพิพากษา ทำให้ภาพรวมของคดียาวนานเกินกว่า 2 ปี”

 

 

กระบวนการทางคดีทั้งหมด สร้างภาระให้กับผู้เสียหายมาก ตั้งแต่การฟ้องคดี การดำเนินการทางคดีสืบพยาน รวมถึงขั้นตอนการบังคับคดี ทำให้ผู้เสียหายท้อแท้และยินยอมที่จะรับค่าเสียหายทั้งที่ไม่ใช่ค่าเสียหายที่เหมาะสม

 

 

แนะไม่ขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่ขนส่งถ้าไม่แก้ปัญหา

 

 

                “จากการทำงานที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่า ควรจะทำงานป้องกันมากกว่าแก้ปัญหา เพื่อจะทำอย่างไรไม่ให้มีคนเสียชีวิต หรือบาดเจ็บ พิการจากการโดยสารรถประจำทาง หรือหากมีการเสียชีวิตต้องมีการเรียนรู้และแก้ไข ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการศึกษาเลย อย่างเช่นจุดที่เกิดอุบัติเหตุ พบว่ายังเป็นจุดเดิมๆ ซ้ำซาก การแก้ปัญหายังล่าช้าเหมือนเดิม”

 

 

ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเสนอต่อกรมการขนส่งทางบก ว่าควรออกประกาศบังคับให้รถขนส่งสาธารณะ เช่นรถตู้ รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ทำประกันภัยเพิ่มเป็นประกันภัยชั้น 1 ซึ่งจะเป็นการเยียวยาผู้เสียหายให้คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากประกันภัยบุคคลที่ 3 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้วงเงินที่ได้รับไม่เพียงพอในการชดใช้เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น นอกจากนี้ควรจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ เช่น เข็มขัดนิรภัยต้องมีทุกที่นั่ง จำนวนที่นั่งของรถตู้โดยสารต้องไม่เกินตามที่ระบุไว้ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และควรจัดทำมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ เช่น โครงสร้างอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย  ที่สำคัญไม่ควรจะอนุมัติให้ขึ้นเงินเดือนพนักงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะ ที่เกิดปัญหา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             

                   “มูลนิธิเสนอว่า ต้องแก้ที่กรมการขนส่งทางบกที่เป็นผู้ดูแล เช่นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่อนุมัติ ตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะ ต้องรับผิดชอบด้วยการไม่ขึ้นเงินเดือน คุณจะได้ไปกวดขันกับบริษัท กับผู้ประกอบการให้มากขึ้น เพื่อลดอุบัติเหตุและความสูญเสีย และควรจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลผู้ประสบภัยจากรถด้วย”

 

 

นักวิชาการ ชี้ไทยเก็บเบี้ยประกันสูง ชดเชยต่ำ

 

 

ทางด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าแม้ว่ารถทุกคันจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่วงเงินคุ้มครองค่อนข้างจำกัดซึ่งเยียวยาได้แค่เบื้องต้นเท่านั้น  โดยค่าเสียหายที่ได้จากพ.ร.บ.นั้นถ้าบาดเจ็บจะได้รับ 50,000 บาทต่อราย และหลังจากมีการพิสูจน์ถูกผิดแล้วทั้งกรณีจะได้รับไม่เกิน 200,000 บาท และหากผู้เสียหายต้องการมากกว่านี้ ต้องฟ้องร้องจากผู้กระทำผิดโดยตรง

 

 

                  “ปัญหาที่เกิดคือ ถ้าค่ารักษาพยาบาลเกินกว่าวงเงินที่ พ.ร.บ.กำหนดภาระในการรักษาพยาบาลจะตกไปอยู่กับกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนประกันสังคม คิดว่าเป็นการใช้เงินแบบผิดฝาผิดตัว เพราะอุบัติเหตุนี้เกิดมาจากผู้ใช้รถใช้ถนน ดังนั้นผู้กระทำผิดควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ”

 

 

ปัญหาของกองทุนผู้ประสบภัยจากรถนั้น ยังมีปัญหาจากการเก็บเบี้ยประกันที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่เงินที่ใช้จ่ายเพื่อการเยียวยาผู้ประสบภัยยังต่ำ เช่นเก็บเบี้ยประกัน 100 บาท แต่จ่ายเป็นเงินชดเชยออกไปประมาณ 60 บาท อีก 40 บาท เป็นค่าบริหารจัดการ ค่ากองทุนต่าง ๆ ถ้าเทียบกับต่างประเทศจะพบว่า ประกันภัยบุคคลที่ 3 ในต่างประเทศ อัตราการจ่ายต่อเบี้ยประกันที่เก็บเข้ามา จะอยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่างประเทศจะมีการปรับปรุงเบี้ยประกันให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ในขณะที่ประเทศไทยการจ่ายออกไปค่อนข้างต่ำ หากจะวิเคราะห์อาจจะเป็นได้ 2 แบบคือ เก็บเบี้ยประกันมากไป หรือจ่ายออกน้อยเกินไป  ซึ่งหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า เบี้ยประกันจ่ายออกน้อยเกินไป ซึ่งสามารถจ่ายออกได้มากกว่านี้

 

 

                 “ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จะเห็นว่าประเทศไทยจะอยู่ที่ประการหลังคือ จ่ายเงินในการประกันภัยออกน้อยเกินไปถ้าจ่ายได้มากกว่านี้ จะสามารถบรรเทาความทุกข์ของผู้ประสบภัยได้ดีกว่าที่เป็นอยู่”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เสนอศาลปรับปรุงค่าชดเชยความเสียหาย

 

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นค่าเสียหายที่ทางศาลได้พิพากษาออกมา หลังจากมีการต่อสู้คดีกันแล้ว ค่าเสียหายที่ได้รับค่อนข้างต่ำ  ค่าเสียหายต่อชีวิตอยู่ที่ 700,000 บาทต่อราย ถือว่าต่ำมาก ในขณะที่ถ้าทุพพลภาพค่าเสียหายจะสูงกว่า ทั้งนี้ศาลอาจจะพิจารณาถึงการต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ที่ทุพลภาพด้วย ซึ่งมาตรฐานเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ให้ระบบการชดเชยผู้เสียหาย เนื่องจากถ้าเสียชีวิตจะได้ค่าชดเชยต่ำ ถ้าทุพพลภาพจะได้ค่าชดเชยสูง ซึ่งผู้กระทำผิด อาจจะคิดว่าถ้าผู้เสียหายเสียชีวิตอาจจะดีกว่าทุพพลภาพ เพราะจ่ายน้อยกว่า ซึ่งคงต้องมีการพิจารณาปรับปรุงการคิดมูลค่าความเสียหายของศาลด้วย ซึ่งในยุโรป มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าผู้เสียหายจากอุบัติเหตุจะได้รับค่าชดเชยค่อนข้างสูง แต่จากการสำรวจผู้ประสบเหตุในยุโรป ทั้งครอบครัวที่เสียชีวิตและทุพลภาพ พบว่ากระบวนการทางกฎหมายไม่ยุติธรรม ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่ได้รับความเสียหายต้องคิดว่า สิ่งที่ได้รับไม่สมกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น

 

 

                  “ดังนั้นคงจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการตัดสินของศาลว่า ศาลต้องตัดสินอย่างไรให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าเหมาะสม คงเป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน”

 

 

ไทยติดอันดับค่าชดเชยต่ำ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไม่กำหนด

 

 

นอกจากนี้ ดร.สุเมธยังกล่าวถึงการจ่ายค่าชดเลยความเสียหาย หรือวงเงินคุ้มครองประกันภัยบุคคลที่สาม ซึ่งประเทศในสหภาพยุโรปนั้นสามารถกำหนดวงเงินขั้นต่ำได้เอง แต่ต้องไม่น้อยกว่าที่ข้อกำหนดตั้งไว้ คือ ความเสียหายต่อการบาดเจ็บส่วนบุคคล ต่อคน คือ 1,000,000 ยูโร หรือ 40 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทย กำหนดที่ 200,000 บาทต่ออุบัติเหตุ สหภาพยุโรปกำหนดไว้ 5,000,000  ยูโร หรือ 200 ล้านบาท ประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 5,000,000 บาท สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล 10,000,000 บาท สำหรับรถโดยสาร และสหภาพยุโรปยังกำหนดค่าความเสียหายต่อทรัพย์สินไว้ที่ 1,000,000 ยูโร หรือ 40 ล้านบาท แต่ประเทศไทยไม่ได้กำหนด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กรณีศึกษาในประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อย่างเช่นประเทศอังกฤษ ตั้งค่าชดเชยไว้ที่ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   กรีก กำหนดไว้ที่ 7 แสนดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศในแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าสนใจ คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไม่จำกัดวงเงินในการจ่ายค่าชดเชย เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศนี้มีรูปแบบการประกันสุขภาพที่ชัดเจน  ส่วนเกาหลี กำหนดไว้ที่ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และไต้หวันกำหนดที่ 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศไทยกำหนดที่ 200,000 บาท ซึ่งสูงกว่าฟิลิปปินส์กำหนดที่ 30,000 บาท และอินโดนีเซีย 6,800บาท

 

 

                “การชดเชยก็คือการชดเชย ไม่สามารถทดแทนสิ่งที่สูญเสียไปได้ทั้งหมด ดังนั้นควรจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งการตั้งเงินชดเชยที่สูง อาจจะทำให้ผู้ประกอบการหันไปปรับปรุงทุกอย่างให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือทำอย่างไรเมื่อเกิดแล้วให้เสียหายน้อยที่สุด”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: