เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ชาวบ้านกว่า 400 คน จาก 6 หมู่บ้าน ในต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ในนาม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ซึ่งได้รับผลกระทบ จากการการทำเหมืองแร่ทองคำ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน เดินขบวนรณรงค์รอบเมืองเลย เพื่อสะท้อนปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการดำเนินกิจกรรมของเหมืองทองบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จากนั้นเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดเลย เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เร่งให้ดำเนินการปิดเหมืองทันที ตามคำสั่งของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน เพื่อแก้ปัญหาเหตุบ่อเก็บหางแร่ ซึ่งปนเปื้อนไซยาไนด์ และโลหะหนักอื่น ๆ จำนวนมากรั่วไหล และให้หยุดการดำเนินการอันไม่ชอบธรรมเพื่อขยายเหมืองทองดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการคัดค้านการขยายเหมืองทองคำ และกระบวนการ EHIA ดังกล่าว ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอ้างว่า พบความไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการจัดทำรายงานไต่สวนเพื่อตรวจสอบพื้นที่ประกอบการขอประทานบัตรฯ ไม่ได้ระบุถึงทางน้ำสาธารณะในพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของชุมชน และการประกอบกิจการเหมืองแร่ทับทางน้ำ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนเป็นอย่างมาก
ซึ่งความไม่ไว้วางใจของชุมชน เป็นผลจากความบกพร่องของเหมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ โดยเฉพาะการรั่วไหลของบ่อเก็บกากแร่ลงสู่ที่นา และแหล่งน้ำสาธารณะ ที่ตรวจพบตั้งแต่ปี 2552 ที่สำคัญพบว่า ลำห้วยและแหล่งน้ำบาดาลบริเวณรอบเหมืองปนเปื้อนด้วยโลหะหนัก เช่น ไซยาไนด์ สารหนู ตะกั่ว และปรอท ตั้งแต่ปีแรก ๆ ของการทำเหมือง จนถึงกับต้องประกาศปิดบ่อบาดาลและเตือนไม่ให้ประชาชนกินหอยจากลำห้วย อีกทั้งในปี 2553 ยังมีการตรวจพบการปนเปื้อนของไซยาไนด์ ปรอท และตะกั่วเกินค่ามาตรฐานในเลือดของประชาชนผู้อาศัย และทำกินรอบเหมืองจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วย และในปี 2555 เริ่มพบว่า มีชาวบ้านที่ทำนาในบริเวณร่องห้วยเหล็ก ซึ่งอยู่ใต้น้ำของบ่อเก็บกากแร่ ซึ่งเก็บน้ำเสียและตะกอนที่มีไซยาไนด์ปริมาณเข้มข้นและโลหะหนักอื่น เริ่มมีอาการป่วยปรากฎเด่นชัดเช่นกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขาลีบเล็กผิดปกติ
นอกจากนี้เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ในพื้นที่โครงการพังทลาย และจากการตรวจสอบของหน่วยงานราชการ พบความบกพร่องในการปูพื้นบ่อ เป็นเหตุให้สารไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและที่นาของชาวบ้าน ส่งผลให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย มีคำสั่งด่วนเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ให้บริษัทฯ หยุดการทำเหมืองทันทีและแก้ไขปัญหาจนกว่าจะยุติ
อย่างไรก็ตามบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำสั่งดังกล่าว และขณะนี้เรื่องยังค้างอยู่ที่การพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อนึ่งบ่อเก็บกากแร่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงประกอบโลหกรรม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภูทับฟ้า และใบอนุญาตโรงดังกล่าวหมดอายุไปแล้วในวันที่ 15 สิงหาคม 2555 โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า กำลังอยู่ระหว่างยื่นขอต่ออายุกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งชาวบ้านจะดำเนินการยื่นคัดค้านการต่ออายุต่อไป
สำหรับประเด็นที่ชาวบ้านร้องเรียนคือ 1.กรณีรายงานไต่สวนประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 104/2538 เป็นเท็จ เรียกร้องให้จังหวัดเข้ามาตรวจสอบและจัดทำรายงานใหม่ให้ถูกต้องก่อนจัดเวที public scoping ซึ่งไม่ได้รับคำตอบจากปลัดอย่างชัดเจนในการดำเนินการ
2.เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทยังไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีแม้แต่ข้อเดียว การประกอบกิจการเหมืองแร่รวมทั้งการต่อประทานบัตรจะต้องหยุดดำเนินการก่อน ซึ่งหากบริษัทยังจะจัดเวทีในวันที่ 21 ธันวาคม อีก ย่อมถือเป็นการจัดทำ EHIA ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ทางจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดทำหนังสือคัดค้านการจัดเวทีอย่างเป็นทางการไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะส่งหนังสือตามไปอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ตัวแทนจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด กลับเห็นว่า บริษัทมีสิทธิดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ในการจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ โดยมีหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำได้เพียงเข้าไปสังเกตการณ์ แต่หน่วยงานรัฐจะมีความเห็นในการพิจารณาไม่แตกต่างจาก มติครม.
3.ให้ประเมินผลความคุ้มค่าของฐานธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 4.กรณีสันเขื่อนบ่อเก็บกักเก็บไซยาไนด์แตกรั่วจนทำให้น้ำปนเปื้อนไซยาไนด์และโลหะหนักชนิดอื่นไหลลงนาข้าวชาวบ้านนั้นทางอุตสาหกรรมจังหวัดรับว่าจะเข้าไปในพื้นที่เพื่อกันเขตพื้นที่ปนเปื้อนก่อน ส่วนปริมาณสารพิษในไร่นาและแหล่งน้ำต้องรอผลการตรวจจากกรมควบคุมมลพิษ
5.ให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ อันเกิดจากการทำเหมืองและแต่งแร่ทองคำ อย่างเร่งด่วนโดยผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชน จนประชาชนกลับมามีสุขภาพที่ดีและสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ดังเดิม
6.เรื่องใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมซึ่งสิ้นอายุ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555 ซึ่งชาวบ้านแสดงเจตนาคัดค้านการต่ออายุ โดยจะทำหนังสืออย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ ตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจงกับชาวบ้านว่า การขออนุญาตต่ออายุใบอนุญาตของโรงประกอบโลหะกรรมขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดไม่มีอำนาจ ซึ่งตามพระราชบัญญัติแร่ กำหนดให้ขณะยื่นต่ออายุ ยังดำเนินการได้อยู่ อย่างไรก็ตาม ปลัดจังหวัดได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งคำคัดค้านของชาวบ้านไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ด้วย
หลังการเจรจาตัวแทนชาวบ้านได้มอบหนังสือร้องเรียนต่อปลัดจังหวัด และนักศึกษาจากกลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มอบต้นสักทองเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้หน่วยงานรัฐอยู่เคียงข้างประชาชนและสิ่งแวดล้อม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ