ชี้ไม่จริงใจตั้ง'องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค' รัฐบาลเตะถ่วงอ้างงานเยอะทำไม่คืบหน้า   วุฒิฯหวั่นหมอต้าน-ตีตกประเด็นฟ้องแทน มพบ.สู้ต่อหวังคุ้มครองคนไทยระยะยาว

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 23 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2526 ครั้ง

 

ท่ามกลางการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย คละเคล้ากับกระแสการปรับรื้อองค์กรอิสระ ด้วยเหตุผลว่าเป็นผลไม้จากต้นไม้ผิด และไม่ยึดโยงกับประชาชน องค์กรอิสระบางแห่งถึงกับต้องออกมาแถลงโต้ถึงความจำเป็นของการมีอยู่ของตน

วันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา วุฒิสภา ผ่านร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.... ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางมาตรา ก่อนส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้ง นับเป็นร่างกฎหมายที่ทอดตัวผ่านรัฐบาลหลายยุค ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ทว่า ปัจจุบันกลับมีแนวโน้มสูงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้แสดงตนเป็นไม้เบื่อไม้เมากับองค์การอิสระ จะเพิกเฉยต่อกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง

 

ดันตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคยังไม่คืบ

 

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนร่วมกันล่ารายชื่อตั้งแต่ 5,000 ชื่อตามรัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึง 10,000 ชื่อตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และถือเป็นกฎหมายจากภาคประชาชนฉบับแรก ที่ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่ถึงกระนั้นน.ส.สารีก็ยอมรับว่า เป็นกฎหมายที่เผชิญความยากลำบากมากมายกว่าจะถึงจุดนี้

 

“ส่วนหนึ่งที่ทำให้กฎหมายนี้ผ่านยากเพราะมีความเข้าใจผิดว่าเป็นกฎหมายเอ็นจีโอ ซึ่งไม่ใช่ แต่มันเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระจากรัฐ ทุน และการเมือง” สารีกล่าว

 

ห้วงเวลาการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง จึงเกิดแนวคิดเรื่ององค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 57 ไว้เพียงสั้นๆ เมื่อต้องแปรเป็นกฎหมายลูก จึงมีข้อถกเถียงค่อนข้างมากถึงความไม่ชัดเจน จนไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ จวบจนรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีกลงด้วยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549

 

รัฐธรรมนูญปี 2550 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค โยกย้ายไปอยู่ในมาตรา 61 และกำหนดความเป็นอิสระ บทบาทหน้าที่ และแหล่งที่มางบประมาณไว้ชัดเจนกว่าเดิม จึงเดินทางมาสู่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่ากฎหมายจะผ่านสภาออกมาหรือไม่

 

ปัจจัยอีกประการที่เหนี่ยวรั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ สารีกล่าวว่า เป็นเพราะแรงกดดันจากฝ่ายธุรกิจ การเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ไม่ต้องการให้องค์การอิสระมีอำนาจบางประการในมือ เช่น การเปิดเผยรายชื่อของธุรกิจที่มีปัญหา หรือการฟ้องแทนผู้บริโภค เป็นต้น

 

ชี้รัฐคุ้มครองผู้บริโภคล้มเหลว

 

ประเทศไทยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภคอยู่แล้ว เหตุใดจึงยังต้องมีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคอีก สารีให้เหตุผลถึงความจำเป็นว่า

 

“ที่ผ่านมาต้องพูดว่า รัฐล้มเหลวในการคุ้มครองผู้บริโภคมาตลอด 30 ปี เรายังมีปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าอันตราย ปัญหาความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น กรณีรถตู้ รถโดยสาร ทุกอย่างบ่งชี้ว่ารัฐล้มเหลวในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเข้ามาคุ้มครองตนเอง ที่สำคัญคือองค์การที่ดูแลสิทธิผู้บริโภคจะต้องเป็นอิสระจากการเมือง รัฐ และทุน”

 

และไม่ได้เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับสคบ. เนื่องจากไม่ใช่องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ ที่สามารถจับหรือปรับบริษัทที่ละเมิดผู้บริโภคได้ แต่จะทำหน้าที่ให้ความเห็น และตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐอีกทีหนึ่ง รวมถึงการทำงานศึกษาวิจัยและเสนอแนะแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคแก่หน่วยงานรัฐ

 

เปิด 8 ภารกิจหลักองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค

 

ภารกิจขององค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคแบ่งได้เป็น 8 ประการ คือ 1.การให้ความเห็นประกอบการพิจารณาการใช้กฎหมายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 2.ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ

3.ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภคได้ ซึ่งสามารถระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้ อำนาจส่วนนี้เองที่ภาคธุรกิจไม่ต้องการให้มี แต่ในมุมสิทธิของผู้บริโภคถือเป็นสิทธิพื้นฐาน เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการจับกุมหรือเสนอข่าวสินค้าไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน กลับไม่เคยมีการประกาศว่าเลยสินค้านั้นๆ ชื่ออะไร แล้วจะให้ประชาชนปกป้องสิทธิของตนได้อย่างไร

 

4.สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 5.กรณีที่เห็นว่าการดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมก็สามารถยื่นฟ้องดำเนินคดีได้ 6.สนับสนุนองค์กรผู้บริโภคด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง 7.ส่งเสริมการศึกษาและวิจัย จัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ และ 8.จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินและติดตามตรวจสอบการดำเนินงานขององค์การ

 

เปิดเบื้องหลังหมอจ่อต้าน-ถ้าให้ฟ้องร้องได้

 

น.ส.สารีกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ถูกปรับในชั้นวุฒิสภา 4 ประเด็น คือ คณะกรรมการสรรหากรรมการอิสระเพื่อผู้บริโภค ให้เพิ่มอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาเข้าไปด้วย, เพิ่มบทลงโทษคณะกรรมการ หรือกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่ของตนไม่เป็นอิสระ, เพิ่มเงินงบประมาณ ซึ่งเดิมกำหนดประชาการหัวละ 3 บาท เป็นหัวละ 5 บาท และสุดท้ายคือ การตัดอำนาจการฟ้องร้องออกไป

 

“ร่างกฎหมายเดิมของภาคประชาชน ให้อำนาจองค์กรนี้สามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง เป็นส่วนที่ถูกตัดออกในสภาผู้แทนราษฎร แต่ในชั้นกรรมาธิการวุฒิสภาอำนาจการฟ้องถูกนำกลับเข้าไปอีก แต่พอเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ก็มีการคัดค้านจากกลุ่มแพทย์ หมอคนหนึ่งลุกขึ้นพูดว่า ถ้าผ่านให้มีการฟ้องคดีได้ ตอนนี้มีหมอหมื่นคนพร้อมจะเข้าชื่อยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ แม้จะมีคนพยายามอธิบายว่านี่ไม่ใช่การทำคดีปัจเจกของหมอ แต่เป็นเรื่องการทำคดีสาธารณะ แต่สุดท้ายมาตรานี้เป็นมาตราที่มีวุฒิสมาชิกมาโหวตมากที่สุด และเราก็แพ้”

 

เมื่อวุฒิสภาปรับแก้ร่างกฎหมาย จึงจำเป็นต้องส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง แต่ผ่านไปเกือบ 2 เดือน ก็ยังไม่มีวี่แววออกไรออกมา ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยระบุว่า มีการสอบถามถึงกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่ฝ่ายการเมืองเกรงว่ากฎหมายจะอำนาจให้ประชาชนเป็นใหญ่จึงดองไว้

รัฐบาลยื้อดันกฎหมายเพราะไม่เข้าใจ-อ้างงานเยอะ

 

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้รับหน้าที่ดูแลด้านผู้บริโภค ระบุว่ากฎหมายตกไปแล้ว ทั้งที่ไม่เป็นความจริง แหล่งข่าวรายนี้ยังอ้างคำพูดของนายวรวัจน์ด้วยว่า รัฐบาลมีเรื่องต้องทำมาก เช่น ต้องแก้รัฐธรรมนูญและเมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะยังคงปรากฏอยู่หรือไม่

 

ดูเหมือนว่านายวรวัจน์ไม่เข้าใจว่า องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคเริ่มมีครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ใช่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นผลไม้พิษ จึงก่อความกังวลแก่ภาคประชาชนที่ร่วมกันเสนอกฎหมายว่า ถึงที่สุดแล้วรัฐบาลจะมีความจริงใจเพียงใด ในการผลักดันองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค

 

หากนับย้อนไปเมื่อปลายปี 2554 รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจไม่นำ ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ.....ที่ค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา กลับมาสู่สภา ส่งผลให้ร่างกฎหมายที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางที่สุดฉบับหนึ่ง และจะเป็นทางออกให้แก่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและรัฐ-ทุน ต้องตกไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 92

 

ศูนย์ข่าว TCIJ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า การที่รัฐบาลไม่นำกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา อาจเพราะต้องการถากถางเส้นทาง ให้แก่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ที่รัฐบาลต้องการผลักดัน เพราะหากเกิดคณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ขึ้นมา อาจเป็นก้างขวางคอชิ้นสำคัญทำให้การขับเคลื่อนโครงการต้องล่าช้าออกไป

 

สารียันเดินหน้าต่อแม้จะหลุดจากรัฐธรรมนูญ

 

ขณะที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.เพื่อไทย จ.นนทบุรี และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า รัฐบาลจริงใจกับประชาชน แต่ไม่แน่ใจว่าคนที่อ้างประชาชนแล้วมาทำตัวเป็นองค์กรต่างๆ เหล่านี้จะเป็นอย่างไร จะมีที่มาจากประชาชนจริงหรือไม่ จึงต้องขอดูในรายละเอียดก่อน เพราะอำนาจมากเหลือเกินต้องระวัง ซึ่งขณะนี้กำลังดูว่า จะนำร่างกฎหมายที่ผ่านชั้นวุฒิสภาฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาเมื่อใดและอย่างไร เนื่องจากที่สภาขณะนี้มีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา ทั้งวุฒิสภายังได้แก้ไขร่างกฎหมายหลายประเด็น ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่เห็นด้วย และอาจต้องตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่

 

ทางด้านผู้ที่เคยทำจดหมายคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ไปยังวุฒิสภาอย่าง พ.ญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยใน 2 ประเด็น คือ ไม่ควรให้องค์การอิสระแห่งนี้มีอำนาจในการฟ้องร้อง คิดว่าเหมาะสมแล้วที่ตัดอำนาจส่วนนี้ออกไป นอกจากนี้เห็นว่าคณะกรรมการที่จะเข้ามาทำงาน อาจเป็นคนของกลุ่มเอ็นจีโอ ขาดการยึดโยงกับประชาชน และจะมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบ

 

“คนที่เป็นประธานคือพวกเขาเลือกกันเอง ไม่ยึดโยงกับประชาชน เป็นอิสระจริงๆ จนขาดการตรวจสอบ เราเกรงว่าถ้าออกมาแบบนี้จะไม่ยึดโยงกับราชการ ไม่ยึดโยงกับผู้แทนประชาชน พวกนี้เป็นใครก็ไม่รู้ คิดแต่จะเขียนกฎหมายขึ้นมา แล้วก็เลือกพวกตัวเองขึ้นเป็นกรรมการ และใช้งบประมาณของเรา แล้วระบบตรวจสอบอยู่ตรงไหน”

ขณะที่น.ส.สารีกล่าวอธิบายในประเด็นนี้ว่า ขณะนี้กลไกการคัดเลือกกันเองหรือการสรรหาผู้แทน ยังไม่มีรูปแบบไหนดีที่สุด จึงพยายามจะพัฒนากระบวนการนี้ไปเรื่อยๆ ในร่างกฎหมายฉบับแรกของเรา เราไม่สนใจใครเลย คัดเลือกกันเอง ไม่มีคณะกรรมการสรรหาด้วย แต่เพื่อเป็นการประนีประนอมจึงมีคณะกรรมการสรรหามาช่วยคัดเลือกคนที่จะมาเป็นกรรมการ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ถามว่าเราจะไว้ใจคณะกรรมการสรรหาได้หรือไม่ ตอนนี้ต้องบอกว่าไม่รู้ ต้องไปดูกัน

 

นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายยังวางกลไกการตรวจสอบไว้ว่า คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องรายงานการดำเนินงานต่อรัฐสภาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่คอยตรวจสอบด้านการเงิน ทั้งยังมีสมัชชาผู้บริโภค ซึ่งมาจากประชาชนคอยกำกับอีกชั้นหนึ่ง และในชั้นวุฒิสภายังได้เพิ่มบทลงโทษคณะกรรมการเข้าไปอีก ดังที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น ถึงที่สุดแล้ว หากเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลไกตรวจสอบและองค์การอิสระบางองค์การถูกรื้อหายไปจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจรวมถึงองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค

 

“เราเคยเจอคำถามนี้ ก็บอกว่าไม่กลัว เราอยู่กับปัจจุบัน เราถือว่าเราทำหน้าที่ของเรา ถ้าคุณคิดว่ารัฐบาลนี้ยังทำไม่สำเร็จ เราก็ต้องทำงานกับรัฐบาลต่อไป เรื่องผู้บริโภคมันไม่ใช่เรื่องสีเสื้อ ทุกคนต้องขึ้นรถตู้เหมือนกัน การต่อสู้นี้ยังไม่จบ ทุกรัฐบาล เราไม่ได้มาด้วยการไม่ทำอะไรเลย เราหารายชื่อ 50,000 ชื่อตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กระทั่งรัฐธรรมนูญ ปร 2550 เราก็หา 10,000 ชื่อ ต้องถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนยื่นหมื่นชื่อแล้วสำเร็จ แต่มันก็ไม่ง่ายเลย” น.ส.สารีกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: