จ่อร้องปปช.-สตง.ตรวจงบ‘เขื่อนแม่วงก์’ แค่8เดือนพุ่งจาก9พันล.เป็น1.3หมื่นล้าน แฉอนุมัติลัดขั้นตอนมั่ว-ย้ำแก้น้ำท่วมไม่ได้

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 23 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2838 ครั้ง

 

วันที่ 10 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณ 13,280 ล้านบาท ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ การก่อสร้างดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียพื้นที่ผ่าที่อุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำถึง 11,000 ไร่ ที่ระดับน้ำปกติ และ 12,375 ไร่ ที่ระดับน้ำสูงสุด โดยกรมชลประทานระบุว่าจะสร้างพื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรได้ถึง 291,000 ไร่ แต่เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลหยิบยกขึ้นมา เพื่อเรียกการสนับสนุนจากมวลชนในครั้งนี้คือ การแก้ปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

การดำเนินโครงการนี้หลายฝ่ายอาจมองว่าสมควรเร่งดำเนินการ แต่ขณะที่ทั้งประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม กลับมองว่าเป็นการไม่สมควร เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์นับเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศ และยังเป็นป่ากันชนให้แก่ผืนป่ามรดกโลกเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ทำงาน เฝ้าระวัง และปกป้องมากว่า 20 ปี ทั้งยังมีเครือข่ายเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ภาคประชาสังคม และกลุ่มก้อนในโซเชียลมีเดีย ที่ผนึกกำลังกันคัดง้างโครงการนี้อย่างเข้มแข็ง ขณะที่ภาครัฐกลับยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า เขื่อนแม่วงก์สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริงหรือไม่

นอกจากนี้ ศูนย์ข่าว TCIJ ได้เดินทางลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพื่อติดตามข้อมูล ทั้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อน ข้าราชการส่วนอื่นๆในพื้นที่ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ เพื่อหาคำตอบและข้อมูลทั้งสองด้านว่า ป่าแม่วงก์มีประโยชน์อย่างไร ก่อนหน้าที่ยังไม่มีเขื่อนหรือในปัจจุบันมีสภาพอย่างไร หากมีเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนอย่างไร ลุ่มน้ำแม่วงก์ส่งผลกระทบต่อปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างไร และเพราะเหตุใดเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีอยู่ถึง 3 แห่ง ในบริเวณดังกล่าว จึงไม่ได้ช่วยป้องกันน้ำท่วมหรือช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในบริเวณดังกล่าว ฯลฯ โดยจะนำเสนอต่อเนื่องกันในสัปดาห์นี้เป็นต้นไป

 

 

 

อีไอเอไม่เคยผ่าน-กรมชลประทานยังยื้อผุด‘เขื่อนแม่วงก์’

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นัดหารือในหมู่เอ็นจีโอและภาคประชาสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ต่างๆ ทั้งนอกและในพื้นที่ เพื่อแบ่งปันข้อมูลและวางแนวทางในการเคลื่อนไหว เพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว และเพื่อเปิดข้อมูลอีกด้านให้กับประชาชนได้รับทราบ

สำหรับแนวคิดการพัฒนาโครงการชลประทานของลุ่มน้ำสะแกกรังเริ่มต้นขึ้นในปี 2527 มีการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อยมา กระทั่งปี 2537 กรมชลประทาน เสนอรายงานต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้มีความเห็นต่อรายงานดังกล่าว ภายหลังจึงมีการตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนแม่วงก์ขึ้นในต้นปี 2543 แต่ท้ายสุด ที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545 มีมติครั้งที่ 10/2545

“ไม่เห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และมอบหมายให้กรมชลประทานหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการและทำการศึกษาเพิ่มเติม ในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ แล้วนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง”

 

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้เสนอทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ได้แก่ เขื่อน แก้มลิง ฝาย (Check Dam) และบูรณาการ เพื่อให้มีการจัดการหลายรูปแบบรวมกัน แต่กรมชลประทานตีความการจัดการน้ำแบบบูรณาการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติว่า คือการเลือกพื้นที่การสร้างเขื่อน และนำพื้นที่เขาสบกกและเขาชนกันมาเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย

 

“ปี 2547-2548 ตัวผมเป็นคณะทำงานผู้ชำนาญการอ่านอีไอเอที่สผ. จึงรู้เหตุการณ์ตลอดว่ากรมชลประทาน มีความพยายามที่จะไม่ทำตามคำสั่งของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พยายามจะใส่เขื่อนแม่วงก์เข้ามาตลอด ช่วงปี 2551-2552 เขาก็เอาโครงการเขื่อนแม่วงก์เข้าไปในการประชุมของคณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง” นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าว

จุดสร้างเขื่อนเดิมชี้ชัดของนักการเมือง-จ่ายชดเชยไม่คุ้มค่า

 

นายศศินกล่าวว่า เดิมทีมีการคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ 2 แห่ง คือบริเวณเขาสบกกและเขาชนกัน ซึ่งจากการศึกษาของบริษัท พอล คอนซัลแตนท์ จำกัด เปรียบเทียบปริมาณน้ำที่สามารถจุได้พบว่า การสร้างเขื่อนบริเวณเขาชนกัน จะสามารถเก็บกักน้ำได้มากกว่าการสร้างเขื่อนบริเวณเขาสบกก และสามารถลดน้ำท่วมในอ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ได้ 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การสร้างเขื่อนบริเวณเขาสบกกกลับลดน้ำท่วมได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ในยุคที่ประเทศไทยยังมีการให้สัมปทานป่าไม้พบว่า มีประชาชนอพยพเข้าไปอาศัยบริเวณพื้นที่เขาชนกัน ด้วยแรงหนุนของนักการเมืองระดับชาติ ทำให้การสร้างเขื่อนแม่วงก์ บริเวณเขาชนกันมีต้นทุนการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่สูงกว่าจึงไม่คุ้มค่า

 

ด้านนายอดิศักดิ์ จันทวิชานุวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า พื้นที่ 40,000 ไร่ บริเวณเขาชนกัน เดิมทีเป็นพื้นที่สัมปทานของนักการเมือง ปัจจุบันพื้นที่ฝั่งใต้ลำน้ำแม่เรวาที่ไหลออกจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประมาณ 20,000 ไร่ มีประชาชนอาศัยอยู่ ขณะที่ด้านเหนือลำน้ำ 20,000 ไร่ ตระกูลนักการเมืองครอบครองอยู่

นายอดิศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการสร้างเขื่อนบริเวณเขาชนกันที่ดิน 20,000 ไร่ ของนักการเมืองตระกูลนี้จะต้องจมน้ำ ในอดีตนักการเมืองตระกูลนี้ เคยอ้างแผนที่ฉบับหนึ่งว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะกับการสร้างเขื่อน ประกอบกับช่วงนั้นนักการเมืองผู้นี้ดำรงตำแหน่งรมว.ยุติธรรม การก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่เขาชนกันจึงตกไป

 

ครม.อนุมัติมั่วทั้งที่ทำผิดขั้นตอน-ข้อมูลไม่ครบ

 

อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งหมดที่กรมชลประทานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติ กลับเป็นข้อมูลจากอีไอเอชุดเก่า ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตีกลับ จนถึงขณะนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์ ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณา และยังไม่มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) แต่อย่างใด อีกทั้งกฎหมายปัจจุบันยังระบุให้โครงการเขื่อน ที่มีความจุน้ำตั้งแต่ 100 ล้านลบ.ม.ขึ้นไป ถือเป็นกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรง ต้องผ่านการพิจารณาขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม (กอสส.) เสียก่อน

หมายความว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์ขณะนี้ ยังไม่ผ่านกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งหากสังคมปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินไปได้ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า

 

“ถ้าเป็นแบบนี้ อีไอเอจะไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะคุณให้ความเห็นชอบ ก่อนที่อีไอเอจะเสร็จ มันเป็นไสยศาสตร์ทางวิศวกรรม การที่คุณจะอนุมัติเงินขนาดนี้ เพื่อสร้างเขื่อน ต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนว่าจะป้องกันน้ำได้กี่เปอร์เซ็นต์ น้ำไหลเท่าไหร่ สังคมต้องการคำตอบ”

 

หากพิจารณาจากข้อกำหนดทางกฎหมายแล้ว ก่อนอีไอเอจะเสร็จจำเป็นต้องมีการทำประชาพิจารณ์ก่อนอย่างน้อย 1 ครั้ง แล้วจึงเข้าสู่การพิจารณาของกอสส. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากผ่านไปได้ ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากการสร้างเขื่อนในเขตอุทยานไม่สามารถทำได้

 

“คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจะใช้วิธีเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ที่จะมีการสร้างเขื่อน แล้วจึงสร้าง เมื่อสร้างเสร็จจึงผนวกผืนน้ำกลับเข้าเป็นอุทยานเหมือนเดิม หากคณะกรรมการอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้สร้างก็สร้างไม่ได้ ถ้าดันทุรัง ก็ต้องฟ้องศาลปกครอง” นายศศินกล่าว

เตรียมร้องปปช.-สตง.ตรวจสอบงบสูงผิดปกติ

 

ขณะที่ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า ถ้าถึงตอนนั้น ยังคงมีศาลปกครองอยู่

 

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงกล่าวยืนยันว่า จะดำเนินการฟ้องร้องคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เพราะถ้าปล่อยให้รัฐบาลสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ รัฐบาลก็จะสามารถสร้างเขื่อนที่อื่นได้

นอกจากนี้นายศรีสุวรรณยังระบุว่า งบประมาณการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ยังสูงผิดปกติด้วย

 

“มติครม.ออกมาก็ฟ้องได้แล้ว ข้อสงสัยคือถ้าครม.อนุมัติงบประมาณแล้วไม่มีรายละเอียด คุณอนุมัติไปทำไมตั้ง 13,000 ล้าน ซึ่งมันมากผิดปกติ เพราะตอนเสนองบประมาณครั้งแรกไม่ถึง 3,000 ล้านบาท ข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมชลประทานเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ระบุว่า 9,000 ล้านบาท แต่ 8 เดือนผ่านไปขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาท เรื่องนี้ต้องตรวจสอบ ผมต้องยื่น ปปช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) ว่า เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร”

 

นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า จะรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ และใช้รายชื่อดังกล่าวเสนอร่าง พ.ร.บ.จำกัดการสร้างเขื่อน พ.ศ.... ด้วย โดยเนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวคือการห้ามสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ

 

เปิดข้อมูลแย้ง-เขื่อนแม่วงก์แก้น้ำท่วมไม่ได้

 

ส่วนประเด็นเรื่องการป้องกันน้ำท่วมนั้น นายหาญณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) วางแผนอะไร รัฐบาลไม่เคยท้วงติง แต่รับหมด เป็นเหตุให้เขื่อนที่เคยวางแผนแล้วไม่ได้สร้าง วันนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหมด ซึ่งเขามองว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ

 

“ปีที่ผ่านมาน้ำในส่วนของแม่วงก์ที่อยู่ใกล้กับเขื่อนทับเสลา เขื่อนทับเสลาน้ำไม่เคยเต็ม ขณะที่เขื่อนอื่นน้ำล้น แล้วพอถึงเวลาบอกว่า ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อควบคุมน้ำที่จะไหลสู่เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยาน้ำไหลประมาณ 3,800-4,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ถ้าไหลต่อวันมากกว่า 300 ล้านลบ.ม. ถ้ามากขนาดนี้ น้ำในเขื่อนแม่วงก์ที่มีความจุเพียง 200 กว่าล้านลบ.ม. แทบไม่มีนัยสำคัญต่อการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเลย” นายหาญณรงค์กล่าว

 

อีกประการที่สำคัญคือ เขื่อนแม่วงก์อยู่ในโซนตะวันตก เป็นพื้นที่อับฝน ซึ่งในช่วงฤดูฝนฝนจะไล่มาทางฝั่งตะวันออกก่อน จากภาคอีสานเข้าภาคกลางแล้วจึงไปฝั่งตะวันตก การจะควบคุมปริมาณน้ำฝนต้องเริ่มควบคุมตั้งแต่ฝนเข้ามา

 

“เหตุผลของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาให้สะดวกขึ้น ผมคิดว่าไม่มีเหตุผลรองรับ ถ้าดูปริมาณน้ำทั้งหมด และจากตัวเลขที่คุณอดิศักดิ์กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำผ่านจ.นครสวรรค์ประมาณ 40,000 ล้านลบ.ม. แม่วงก์มีน้ำต่อปีประมาณ 200 กว่าล้านลบ.ม.เท่านั้น และประเด็นที่อ้างคือ ถ้ามีเขื่อนแม่วงก์จะสามารถบริหารน้ำในเขื่อนแม่วงก์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม คือจะมีแหล่งกักเก็บ จัดการจราจรน้ำได้ น้ำไหนจะมาก่อน มาทีหลัง แต่เรากำลังมองว่า ข้ออ้างนี้ไม่น่าจะเป็นจริง เพราะปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสะแกกรังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงไม่มีนัยสำคัญที่บอกว่าจะบริหารได้ดีขึ้นเลย”

 

นอกจากนี้ นายศศินยังได้อ้างคำพูดของ ผศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลุ่มฐานทรัพยากร ที่พูดไว้บนเวทีการทำอีไอเอ ซึ่งเป็นการยอมรับในระดับหนึ่งว่า เขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้มากนัก แต่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในด้านชลประทาน

 

ทำลายพื้นที่ขยายตัว ‘เสือโคร่ง-นกยูง’

 

ความสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงมิได้คือ ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่วงก์ ซึ่ง ดร.รุ้งนภา พูลจำปา จากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประจำประเทศไทย กำลังทำวิจัยเสือโคร่งในพื้นที่ดังกล่าวกล่าวว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองลานและอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรของเสือโคร่ง

 

“ขณะนี้นอกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่มีประชากรเสือโคร่งค่อนข้างมากในภูมิภาคนี้แล้ว ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน เสือโคร่งก็เริ่มแพร่พันธุ์มา”

 

จุดที่จะสร้างเขื่อนและจุดที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำ เดิมทีเคยเป็นพื้นที่ทำไม้และพื้นที่เกษตรที่ชาวบ้านบุกรุกเข้าไป หลังจากประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์มาเกือบ 30 ปี สภาพป่าไม้กำลังฟื้นตัว มีต้นสักอายุ 30 ปี ประชากรของกวางป่าเพิ่มขึ้น นกยูงซึ่งเคยสูญพันธุ์ไปจากบริเวณนี้ก็กลับมา โดยการนำนกยูงในกรงเลี้ยงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ขณะที่ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล (WCS) ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ประชากรเสือทั้งโลกขณะนี้เหลือประมาณ 3,000 ตัว ในประเทศไทยเหลือประมาณ 250 ตัว แต่ 100 กว่าตัวอยู่ในผืนป่าตะวันตก ซึ่งรัฐบาลก่อนๆ ตั้งเป้าว่าอีก 10 ปี จะฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งกลับขึ้นมาอีก 50 เปอร์เซ็นต์

 

“ป่าแม่วงก์เป็นพื้นที่ที่เราให้คำมั่นกับทั่วโลกว่า จะเป็นพื้นที่ที่เราฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของโลก แต่อยู่ดีๆ ถ้าเรามากลับคำ ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่เราต้องคิดด้วย ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมโลก”

 

ภาพเสือโคร่งที่นักวิจัยบันทึกไว้ได้

ดร.อนรรฆเปิดเผยว่า เคยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่า อีก 10 ปีข้างหน้า หากสามารถฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และป่าไม้กลับขึ้นมาได้ อาจจะสามารถผนวกป่าแม่วงก์เป็นพื้นที่มรดกโลกขยายต่อจากห้วยขาแข้งได้

 

ชี้ถ้ามีเขื่อนกระทบสัตว์ป่าหายากอีกเพียบ

 

“ความสมบูรณ์จากจุดที่น้ำท่วมยังมีอยู่สูงมาก ปัจจุบันถ้าเดินเลยจากจุดที่น้ำท่วมขึ้นไปยังมีป่าสักดั้งเดิมอยู่ เสือโคร่งก็เริ่มกลับเข้ามาในพื้นที่ เป็นจุดความหวังที่สามารถฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งให้แก่โลกได้อีกมาก ยังมีนกเงือกคอแดง กระทิง สมเสร็จ แม้สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเก้งหม้อก็พบ หากมีการสร้างเขื่อนบริเวณนี้น้ำท่วมหมดแน่นอน ผลกระทบที่ตามมาคือ คนที่จะเข้ามาลักลอบล่าสัตว์ ตัดไม้ นอกแนวอ่างเก็บน้ำ จะเข้ามาอีกมหาศาลเลย และต้องไม่ลืมว่าจุดนี้เป็นผืนป่าที่เชื่อมโยงกับมรดกโลก การจะไปทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงความต่อเนื่องของธรรมชาติต้องระวังให้มาก” ดร.อนรรฆกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: