แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันเรียบร้อยแล้ว สำหรับการจัดสถานะล่าสุดของประเทศไทยในรายงาน Trafficking in Persons Report 2012 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ยังคงสถานะให้ไทยอยู่ในประเทศในกลุ่ม Tier 2 watch list ต่อไปเป็นปีที่ 3 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยต่อไปอีกหนึ่งปี ท่ามกลางความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ของกระบวนการค้ามนุษย์ที่ผิดกฎหมาย ในช่วงเวลาต่อจากนี้ รัฐบาลไทยจะเพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไข ปราบปราม ขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้ได้อย่างจริงจัง ดังที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังสหรัฐอเมริกาหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป
“ไม่รู้กฎหมาย” อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญปัญหาค้ามนุษย์
อย่างไรก็ตามในประเด็นของอุปสรรคด้านการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ นอกเหนือจากภาพรวมหลักที่องค์กรเอกชนมองว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สามารถเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึง เพราะไม่เพียงเหยื่อที่ถูกกระทำในขบวนการนี้เอง ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องของกฎหมาย แม้กระทั่งกฎหมายพื้นฐานทั่วไปแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ หรือ อัยการเอง ก็มีข้อมูลชัดเจนว่า ไม่สามารถที่จะเข้าใจประเด็นเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
น.ส.ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เจ้าของรางวัลอโชก้า ประจำปี 2549 แสดงความคิดเห็นปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับความรู้ด้านกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในประเด็นด้านการค้ามนุษย์ ว่า ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย คดีความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการค้ามนุษย์ ถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของอัยการ ที่จะต้องเป็นผู้ทำเรื่องส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาอีก เมื่อแต่ละคดีมีผู้เสียหายจำนวนมาก ในขณะที่พนักงานสอบสวนเอง ก็มักจะมองเห็นว่าเป็นคดีปกติ จนทำให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เหยื่อถูกกระทำทารุณ ที่หากไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน ผู้กระทำผิดก็สามารถต่อสู้จนหลุดจากคดีไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
จี้ใช้ป.อาญา 312 ความผิดฐานเอาคนมาเป็นทาส
ในคดีที่เหยื่อหรือผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายอย่างทารุณ เราพยายามที่จะกลับไปค้นข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพบว่า ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 และ 312 ทวิ ที่ระบุว่า ผู้ใดเพื่อจะเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาส นำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พามาจากที่ใด ซื้อ ขาย จำหน่าย รับหรือหน่วงเหนี่ยวซึ่งบุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท และมาตรา 312 ทวิ ที่ระบุว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 310 ทวิ หรือมาตรา 312 เป็นการกระทำต่อเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งการกระทำความผิดนี้ มีทั้งการทำให้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย มีโทษถึงประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ซึ่งกฎหมายนี้ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้เห็นว่า ประเทศเราจะไม่มีการใช้บุคคลเยี่ยงทาส หรือไม่มีทาสอีกต่อไปแล้ว และยังบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เคยถูกนำมาใช้เลย
ในหลายคดีมีลักษณะการกระทำกับเหยื่อหรือผู้เสียหายแบบนี้ แต่ที่ผ่านมากลับปรากฏว่า กฎหมายมาตรานี้ไม่เคยถูกนำมาบังคับใช้เลย เพราะมีความเชื่อกันว่า การเป็นทาสถูกยกเลิกกันไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันจึงไม่มีทาสอีก และไม่ได้มีการตีความ พนักงานสอบสวนเองก็ทำไม่ถูก เพราะไม่มีความเข้าใจ ทั้งๆ ที่หลายคดี มีการกระทำผิดต่อเหยื่อหรือผู้เสียหายที่อย่างรุนแรง บังคับ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกายจิตใจ ซึ่งเป็นลักษณะเป็นทาสหรือคล้ายทานอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะผลักดันให้กฎหมายนี้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง
แฉนายจ้างโหดทารุณลูกจ้างวัย 14 จนสลบ
เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องของกฎหมายในมาตรา 312 ที่เกี่ยวกับการเอาคนลงไปใช้เป็นทาส ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปัญหาการค้ามนุษย์เป็นส่วนใหญ่แล้ว น.ส.ศิริวรรณได้ยกกรณีตัวอย่าง ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 นับเป็นคดีแรกของการนำข้อกฎหมายนี้มาใช้ในการต่อสู้คดีว่า ต้นเหตุของคดีเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงอายุ 14 ปี จากภาคอีสานคนหนึ่ง ที่เดินทางเข้ามาทำงานที่บ้านของนายจ้างในกรุงเทพฯ เด็กถูกบังคับให้ใช้แรงงานทำงานบ้านอย่างหนัก และนายจ้างยังทุบตี ทำร้ายร่างกาย ไม่ให้กินข้าว หากทำงานไม่เสร็จ ซึ่งเป็นการดำเนินการเหนือร่างกาย และจิตใจของเด็ก ในลักษณะของการบังคับใช้เหมือนทาส เพราะเด็กอยู่ในบ้านของนายจ้าง ที่จะคอยดูแลควบคุมทุกอย่างทั้งร่างกายและจิตใจ
“สิ่งที่โหดร้ายกว่านั้นคือ การที่นายจ้างใช้เครื่องมือ ประเภท สายเข็มขัด เก้าอี้ซักผ้า หรือแป๊บน้ำ ทำร้ายทุบตีเด็กจนได้รับบาดเจ็บอยู่เป็นประจำ โดยไม่เคยนำเด็กไปรักษาเลย ทุกครั้งที่ไม่พอใจ หรือเด็กทำงานได้ไม่ถูกใจ นายจ้างก็จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ทุบตีเด็ก ในบริเวณเดียวซ้ำๆ หลายครั้งจนเกิดเป็นบาดแผลช้ำไปทั่วตัว ครั้งหนึ่งนายจ้างไม่พอใจเด็กที่ทำงานยังไม่เสร็จ จะใช้แป๊บน้ำตีเด็ก แต่เด็กเอามือป้องกัน นายจ้างคิดว่าเด็กจะต่อสู้ จึงเอาแป๊บน้ำกระทุ้งไปที่หน้าอก จนกระทั่งเด็กสลบ เมื่อเด็กฟื้นขึ้นมาก็นำตัวส่งขึ้นรถไฟกลับบ้าน แต่ระหว่างที่แม่ไปรับที่สถานีรถไฟ ปรากฎว่าจำลูกของตัวเองไม่ได้ เพราะเด็กผมยาวขึ้น และหน้าตาบวมช้ำ แม่จึงมองเลยผ่านไป ในที่สุดเด็กไปนั่งรอผู้ปกครองที่สถานีขนส่ง จนกระทั่งมีคนไปพบเข้าจึงแจ้งมายังผู้ปกครองไปรับตัว เมื่อเห็นสภาพลูกแล้ว แม่เด็กจึงนำเด็กเข้าแจ้งความ เด็กถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์ต้องผ่าตัดเอาเลือดคั่งในบาดแผลออก เพราะเด็กไข้ขึ้นสูง ถ้าหากช่วยไม่ทันเด็กอาจจะเสียชีวิตได้”
แจ้งความดำเนินคดีแต่เจอตำรวจที่ไม่เข้าใจกฎหมาย
หลังจากที่ผู้ปกครองเด็กเข้าแจ้งความแล้ว น.ส.ศิริวรรณได้รับการติดต่อประสานงานจากศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โดยร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์ เป็นทีมสหวิชาชีพ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องกฎหมายให้กับคดีนี้ ซึ่งจากการพูดคุยสอบถามเด็ก เพื่อดำเนินคดีกับนายจ้างในข้อหากระทำผิดในมาตรา 312 ในประมวลกฎหมายอาญา คือนำคนลงเป็นทาส เพราะการกระทำของนายจ้างเข้าข่ายตามที่กฎหมายระบุไว้ทั้งหมด แต่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนแจ้งกลับว่า ปัจจุบันไม่มีทาสแล้ว จึงไม่สามารถจะใช้กฎหมายข้อนี้ได้ ทำให้ทีมทนายความต้องกลับไปสืบค้นข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงคำบรรยายของนักกฎหมายในอดีต รวมไปถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องมาประกอบ จนทำให้ในที่สุดสามารถนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ และมีการพิจารณาตามขั้นตอนมาตามลำดับตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จนปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการใช้กฎหมายนี้มากขึ้นกับอีกหลายๆ คดีที่มีลักษณะเดียวกัน
“สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่า การที่เหยื่อหรือผู้เสียหายถูกกระทำทารุณในลักษณะนี้ ผู้กระทำผิดก็ควรจะได้รับโทษตามกฎหมายที่ได้ถูกบัญญัติไว้แล้ว และผู้บังคับใช้กฎหมายเอง ก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเหยื่อ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ปัจจุบันผู้ที่ทำงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการค้ามนุษย์มีอยู่น้อยมาก โดยเฉพาะทนายความ เพราะงานด้านนี้มีอุปสรรคอยู่ที่ ส่วนใหญ่มองว่า คดีการค้ามนุษย์เป็นหน้าที่ของอัยการที่จะดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง นอกจากนี้ยังเป็นคดีที่ยุ่งยากในการหาพยานหลักฐาน รวมถึงเป็นคดีที่ไม่ทำเงินจึงทำให้ไม่เป็นแรงจูงใจให้นักกฎหมายหันมาให้ความสนใจประเด็นนี้กันมากนัก ทำให้ขาดบุคลากรที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมาย หรือการทำคดีคืบหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น”ทนายความเจ้าของรางวัลอโชก้ากล่าว
หาทางออกช่วยกลุ่มเด็กทำงานรับใช้ในบ้าน
นอกจากเรื่องของการขาดความเข้าอกเข้าใจในเนื้อหากฎหมายที่ชัดเจนของบุคลากรแล้ว น.ส.ศิริวรรณยังกล่าวด้วยว่า ยังมีกลุ่มเหยื่อหรือผู้เสียหายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์บางกลุ่มที่ กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองไปถึง เช่น ประเด็นของกลุ่มเด็กทำงานภายในบ้าน ที่ทำงานในลักษณะของการกินอยู่กับนายจ้างภายในบ้าน โดยไม่มีระยะเวลาการทำงานที่แน่นอน ในขณะเดียวกันคนทำงานในลักษณะนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุน้อย และอาจจะเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ แม้ทางด้านกฎหมายอาญาจะคุ้มครอง แต่ด้วยความที่เหยื่อหรือผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นเด็ก ที่ไม่สามารถจะร้องขอความช่วยเหลือได้ หรือบางส่วนเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ก็ไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะสามารถช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร หรือบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้กระทำผิดได้อย่างไร เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปขบคิดและหาทางแก้ปัญหา
ชี้เข้าเมืองผิดกฎหมายแจ้งความได้หากถูกรังแก
น.ส.ศิริวรรณระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะไม่ได้ติดตามสถิติของจำนวนคดี หรือจำนวนเหยื่อที่เกิดจากการค้ามนุษย์ ว่ามีจำนวนที่แท้จริงอยู่เท่าไหร่ แต่จากประสบการณ์การทำงานโดยตรงพบว่า ในแต่ละเดือนพบกรณีที่มีการกระทำผิดในลักษณะเหมือน หรือคล้ายกันอยู่อีกจำนวนมาก ที่เห็นได้บ่อยๆ คือ การบังคับใช้แรงงานต่างด้าวทั้งในการทำงานในบ้านเรือนทั่วไป และการทำงานในโรงงานที่มีลักษณะปิด ซึ่งพบว่ามีการเอาเปรียบแรงงาน ในลักษณะของกักขัง ทำร้าย ไม่จ่ายค่าจ้าง เนื่องจากส่วนใหญ่กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย นายจ้างจึงใช้เป็นคำขู่ว่า หากไปฟ้องร้อง หรือแจ้งตำรวจ ตัวเหยื่อเองจะถูกดำเนินคดีและจะไม่ได้รับค่าจ้างอีกเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของค่าจ้าง ในแง่ของกฎหมายนั้นกฎหมายแรงงานไม่ได้มีข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน แต่คุ้มครองทุกคนที่ทำงาน จะต้องได้รับค่าจ้าง รวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพ ร่างกาย และชีวิต กฎหมายไทย ก็ให้การคุ้มครองทั้งหมด
โดยหากถูกทำร้าย แม้จะเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้อยู่แล้ว มิฉะนั้นก็จะเกิดกรณีการฆ่าคนต่างด้าวตายได้อย่างเสรี แต่การพิจารณาก็ต้องแยกกันระหว่างข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย กับคดีที่ถูกทำร้ายหรือถูกหลอก หากในกรณีไม่ได้เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย และไม่อนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยอีก แต่ถ้าเป็นกรณีค้ามนุษย์พวกนี้จะถูกหลอกหรือนำพาไปโดยไม่สมัครใจอยู่แล้ว ตามหลักสากลกฎหมายก็ต้องคุ้มครอง โดยเฉพาะแรงงานเด็ก เหยื่อหรือผู้เสียหายจะถูกส่งต่อไปยังสถานคุ้มครอง ในกรณีที่ทำงานแล้วไม่ได้ค่าแรง ก็จะมีการเรียกร้องค่าจ้างค่าแรงให้กับกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งกฎหมายแรงงานไม่ได้ยกเว้น เพราะทำงานแล้วจะต้องได้ค่าจ้าง
“เคยเกิดกรณีหนึ่งเมื่อปี 2542 มีกรณีแรงงานในเขตบางบอน กรุงเทพฯ เป็นกลุ่มแรงงานหญิงชาวพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองมา แล้วถูกนายจ้างกักขังทารุณให้ทำงาน จนกระทั่งได้รับการช่วยเหลือ ครั้งนั้นมีข้อถกเถียงกันในกลุ่มของคนทำงานว่า กรณีนี้จะสามารถเรียกร้องขอค่าจ้างตามกฎหมายได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีคำกล่าวกันที่ว่า “มือไม่สะอาดไปศาลไม่ได้” ซึ่งจากการพูดคุยถกเถียงกัน มีข้อสรุปว่า การทำงานก็คือการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นก็ควรจะได้รับการคุ้มครองและได้ค่าจ้างตามกฎหมาย แต่ในกรณีที่กระทำผิดเรื่องการเข้าเมืองมา ก็ต้องถูกดำเนินคดีต่างหากออกไป”
เชื่อทำงานแบบบูรณาการจะแก้ปัญหาได้
น.ส.ศิริวรรณยังแสดงความคิดเห็นต่อการสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยขณะนี้ว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน แต่ต้องยอมรับว่า กระบวนการทำงานของผู้กระทำผิดก็ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตามไม่ทัน จึงเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องยังแก้ได้ยาก ไม่ว่าเป็นเรื่องของการค้ามนุษย์ในรูปแบบของประเวณี ขอทาน หรือแรงงาน รวมไปถึงแรงงานที่ทำงานตามบ้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำคนมาเป็นทาสด้วย ซึ่งหากรวมกับปัญหาทางด้านนโยบาย การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ด้านกฎหมายแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานจะต้องเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อหาจุดบกพร่อง แก้ไขให้ถูกจุดที่สุดเพื่อให้การทำงานด้านการปราบปรามมีประสิทธิภาพสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง
เผยทนายด้านค้ามนุษย์เสี่ยงแต่ท้าทาย
ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนยังกล่าวถึงปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับวิชาชีพของตัวเอง ซึ่งส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ด้วยว่า ในส่วนของตนที่ทำงานในด้านของกฎหมาย ก็พบปัญหาสำคัญดังที่กล่าวมาแล้วคือ การขาดแคลนกลุ่มทนายความรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ทำงานเรื่องของปัญหาด้านการค้ามนุษย์ หรือ คดีที่เกี่ยวข้องด้านสังคม น้อยมาก เพราะสาเหตุหลายอย่าง ทั้งเรื่องของความยากของรูปคดี การทำงานร่วมกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังไม่เข้าใจประเด็นปัญหาเพียงพอ รวมถึงเรื่องของรายได้ ที่ไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้ทนายความรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงานด้านนี้มากนัก จึงทำให้กลุ่มทนายความต่อสู้ให้กับผู้เสียหายในเรื่องการค้ามนุษย์มีอยู่เพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
“การทำงานจึงค่อนข้างหนัก และอาจจะต้องเสี่ยงกับการถูกข่มขู่ในหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่ทำให้ทนายความทุกคนที่ทำงานด้านนี้ยังคงเดินหน้าที่จะต่อสู้ให้กับผู้เสียหายคือ ความภาคภูมิใจที่จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สังคมและประเทศชาติได้ แม้จะไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้รับก็ตาม ถามว่าคุ้มไหม มันก็คงไม่คุ้มหรอกในแง่ของรายได้ เพราะรายได้ที่เราได้ล้วนแต่มาจากการสนับสนุนของเอ็นจีโอเท่านั้น ในขณะที่ต้องเสี่ยงกับอันตรายด้วย มีครั้งหนึ่งเคยถูกถามว่า “เคยถูกอุ้มไหม” เราก็ตอบไปว่า ทำไมล่ะ ถึงอุ้มเราไปคดีก็ไม่จบหรอก ก็ต้องมีคนอื่นมาทำต่อไป หรือบางทีเวลาที่เราไปต่างจังหวัดเพื่อหาพยานหลักฐาน ก็ต้องเปลี่ยนโรงแรมกันบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดตาม ซึ่งในส่วนของทนายความเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองทนาย จะมีก็แต่กฎหมายคุ้มครองพยาน ที่สามารถร้องขอตำรวจคุ้มกันได้ ดูแล้วมันจึงไม่คุ้มกับการเสี่ยงชีวิตแน่นอน แต่เราก็ภาคภูมิใจ ที่จะทำงานนี้ เพราะมันเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และอย่างเรื่องการเอาคนลงเป็นทาสนี้ก็เป็นงานหนึ่งที่ท้าทายและเราจะต้องผลักดันต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาก็รู้สึกภูมิใจที่เริ่มจะมีการนำกฎหมายนี้มาใช้ในการพิจารณาบ้างแล้ว เพราะจริงแล้วเจตนารมณ์ของกฎหมายคือต้องการจะบอกชาวโลกว่า ประเทศเราจะไม่มีการใช้แรงงานทาสอีกแล้ว และเรามีกฎหมายป้องกันปราบปราม ซึ่งการผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเข้มงวดจริงจัง จะเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาความรุนแรง โหดร้ายในการค้ามนุษย์ลดน้อยลงได้” น.ส.ศิริวรรณกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ