บุกสวนปาล์มอินโดฯ-ตัวการทำลายป่าฝน เร่งผลิตน้ำมัน50ล้านตัน-อ้างโลกต้องการ รัฐหนุนสร้างภาพลักษณ์-บรรษัทดังแห่ซื้อ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 23 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5982 ครั้ง

 

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว TCIJ เดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย พร้อมกับ มูฮำมัดซาฟียัน ลือแบซา ล่ามชาวอินโดนีเซีย ด้วยทุนสนับสนุนของ South East Asia Press Alliance (SEAPA) เพื่อพบกับบุคคลที่หลากหลาย ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีปัญหา และได้รับผลกระทบจากการปลูกปาล์ม ซึ่งให้ข้อมูล ให้สัมภาษณ์ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อเขียนรายงานชิ้นนี้ ความยาว 3 ตอน

 

 

3 ธุรกิจหลักหล่อเลี้ยง ‘อินโดนีเซีย’

 

 

ข้อมูลของธนาคารราโบ อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ระบุว่า ค่าเฉลี่ยการใช้น้ำมันปาล์มของโลกพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าผลผลิตของโลกตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีความต้องการ 2.5 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ผลผลิตมีเพียง 2.4 ล้านตันต่อปี ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มต้องเร่งผลิตให้มากขึ้น เนื่องจากอุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน โดยผู้ผลิตน้ำมันปาล์มต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อย 640,000 เฮกเตอร์ต่อปีเพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของโลก

 

เมื่อพิจารณาแล้วพื้นที่ปลูกปาล์มของประเทศอินโดนีเซีย น่าจะอยู่ต่อไปอีก 12 ปี เนื่องจากยังมีพื้นที่อีกประมาณ 16-17 ล้านเฮกตาร์ ที่สามารถใช้เพาะปลูกต้นปาล์มได้ ในขณะที่อินโดนีเซียมีปาล์มที่โตเต็มที่เพียง 17 % เท่านั้น บ่งบอกได้ถึงศักยภาพการผลิตของประเทศในอนาคต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Rizka Afrianditha Edmanda ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในเมืองปอนติอานัก จังหวัดกาลิมันตันตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า เงินที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรเกือบ 300 ล้านคนแห่งนี้ มาจาก 3 ธุรกิจหลัก ๆ ได้แก่ บุหรี่ เหมือง และปาล์มน้ำมัน จึงไม่แปลกที่อินโดนีเซียคือ ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก สร้างเงินและสร้างงานให้แก่คนอินโดนีเซียกว่า 3.5 ล้านคน ทว่า อีกด้านของเหรียญทองคำเหรียญนี้คือ ผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ผืนป่า แม่น้ำ และผู้คน ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจปาล์มน้ำมัน ทั้งโดยจงใจแลและจำใจ

 

ปาล์มน้ำมันจึงเป็นทั้งนักบุญผู้หว่านโปรยเงินแก่ระบบเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และเป็นปีศาจที่คอยกัดกร่อนประเทศนี้ไปพร้อม ๆ กัน

 

นับจากปี 1911 หรือ 101 ปีก่อน การค้าปาล์มน้ำมันเริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับสินค้าเกษตรอื่นๆ บริเวณชายฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา เมื่อสิ้นสุดยุคนายพลซูฮาร์โต ผู้นำเผด็จการ ที่ครองอำนาจยาวนาน ในปี 1998 ประมาณการว่า อินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากถึง 2.5 ล้านเฮกตาร์ ก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียว อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันก็กลายเป็นอุตสาหกรรม ที่ทรงอิทธิพลของอินโดนีเซียไปแล้ว ถูกครอบครองโดยกลุ่มทุนใหญ่เพียง 4 กลุ่มคือบริษัท  Astra, Salim, Sinar  Mas และ Raja Garuda ซึ่งครอบครองทรัพย์สินถึง 2 ใน 3 ของอุตสาหกรรมนี้

 

 

ผืนป่าอันอุดมที่เป็น ‘เข็มขัดมรกตแห่งเส้นศูนย์สูตร’

 

 

จากสนามบินสุวรรณภูมิสู่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย ต่อเครื่องบินมาลงที่สนามบิน Supadio เมือง Pontianak บนเกาะบอร์เนียว เกาะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นที่ตั้งของ 3 ประเทศ-มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย ซึ่งครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะ คนอินโดนีเซียเรียกที่นี่ว่า กาลิมันตัน

 

ถ้าเปิดแผนที่โลกดู เกาะใหญ่เกาะน้อยกว่า 17,000 เกาะของอินโดนีเซีย (ประเทศที่มีเกาะมากที่สุดในโลก แต่มีเกาะเพียงประมาณ 6,000 เกาะเท่านั้นที่มีผู้คนอาศัยอยู่) ทอดตัวเป็นแนวยาวเดียวกันกับเส้นศูนย์สูตร นอกจากจะครอบครองความเป็นที่สุดหลายเรื่องแล้ว อินโดนีเซียยังครอบครองพื้นที่ป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนได้รับการเรียกขานอย่างงดงามว่า “เข็มขัดมรกตแห่งเส้นศูนย์สูตร”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้วยความที่เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีพื้นที่บนบกถึง 2,027,087 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศมีแม่น้ำทั้งสายใหญ่สายย่อยจำนวนมาก และสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุก อินโดนีเซียจึงเป็นสวรรค์ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ที่ต้องปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน และยังต้องมีปริมาณน้ำมากเพียงพอป้อนให้ปาล์มที่กินจุถึงวันละ 8 ลิตร

 

 

ตั้งเป้าผลิตปาล์มให้ได้ปีละ 50 ล้านตันในปี 2020

 

 

และเพื่อครอบครองความเป็นหนึ่ง ด้านการเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มต่อไป รัฐบาลอินโดนีเซียจึงกำหนดนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มจากเดิมอีก 4 ล้านเฮกตาร์ หรือ 25 ล้านไร่ ภายในปี 2015 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย ยังกล่าวด้วยว่า ภายในปี 2020 อินโดนีเซียจะผลิตน้ำมันปาล์มดิบให้ได้ 50 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มมากกว่า 400 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับยอดการผลิต 11.8 ล้านตันในปี 2007

 

รายงานเรื่อง The Biofuel Boom and Indonesia’s Oil Palm Industry: The Twin Processes of Peasant Dispossession and Adverse Incorporation in West Kalimantan ของ Land Deal Politic Initiative (LDPI) เขียนโดย Claude Joel Fortin ระบุว่า พื้นที่ปลูกปาล์มทั้งหมดในอินโดนีเซีย เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่เกาะกาลิมันตันแห่งนี้ และจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก ก็เป็นพื้นที่สำคัญที่มีเป้าหมายว่าจะเพิ่มพื้นที่สัมปทานการปลูกปาล์มให้ได้มากกว่า 5 ล้านเฮกตาร์ หรือ 31,250,000 ไร่ ภายในทศวรรษนี้ ตามแผนพัฒนาภูมิภาคของอินโดนีเซีย

 

เข็มขัดมรกตเส้นนี้จึงกำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง จวนเจียนจะขาดออกจากกัน ด้วยสีเขียวของต้นปาล์ม-มรกตปลอม

 

 

บรรษัทข้ามชาติชื่อดังซื้อน้ำมันปาล์ม เมินประเด็นทำลายป่าฝนเขตร้อน

 

 

ผลกระทบจากการขยายตัวของพื้นที่ปลูกปาล์ม ที่ดำรงอยู่คู่กับสังคมอินโดนีเซียมาตลอด 4 ทศวรรษ มีแนวโน้มจะหนักหนาสาหัสขึ้น เมื่อโลกต้องเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนและแรงกดดันจากการถีบตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันในปี 2007-2008 บีบให้มนุษย์ต้องเสาะแสวงหาหนทางออกจาก 2 แรงบีบนี้ น้ำมันปาล์มคือส่วนหนึ่งของคำตอบ

 

ในอดีต ตอนที่ผู้คนยังไม่รักโลกเท่าตอนนี้ น้ำมันปาล์มเป็นเพียงวัตถุดิบสำคัญ ในการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคหลายชนิด ตั้งแต่อาหารจนถึงลิปสติกที่เราใช้ทาปาก บรรษัทข้ามชาติผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ของโลกอย่าง Unilever, Procter & Gamble (P&G), Nestle และ Kraft คือ กลุ่มผู้เล่นหลัก ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่รับซื้อน้ำมันปาล์มจากผู้ผลิตชาวอินโดนีเซีย โดยเลือกที่จะไม่รู้ไม่เห็นว่า คนที่ขายของให้ตนนั้นทำลายพื้นที่ป่าฝนและป่าพรุไปมากมายเพียงใด

 

 

 

แล้วการแสวงหาพลังงานหมุนเวียนทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ยิ่งเพิ่มความต้องการน้ำมันปาล์มให้สูงขึ้นไปอีก เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลหรือ ไบโอดีเซล แล้วเรื่องราวก็เคลื่อนไปตามกฎเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ว่าด้วยอุปสงค์-อุปทาน เมื่อมีคนพร้อมจะซื้อ ย่อมมีคนพร้อมจะขาย และพร้อมจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อผลิตสินค้าออกมาป้อนตลาด

 

ว่ากันตามข้อเท็จจริงที่ผ่านมา อินโดนีเซียมิใช่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานแต่อย่างใด ในการสนับสนุนเชื้อเพลิงหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก แต่การทะยานขึ้นของราคาน้ำมัน ดูจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ ให้รัฐบาลอินโดนีเซียมองเห็นโอกาสและคิดใหม่ ทำใหม่

 

 

รัฐบาลอินโดฯหนุนชีวมวล สร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศ

 

 

ปี 2006 รัฐบาลอินโดนีเซียถึงกับกำหนดนโยบายแห่งชาติ ว่าด้วยเชื้อเพลิงชีวมวล บรรจุลงในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวมวล ให้เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพิ่มการสร้างงานในพื้นที่ชนบท เพิ่มความแข็งแกร่งแก่ภาคการเกษตร และพัฒนาโอกาสด้านการส่งออกใหม่ ๆ โดยตั้งเป้าหมายในประเทศว่า การบริโภคเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง ควรใช้เชื้อเพลิงชีวมวล 10 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2010 สร้างงานใหม่อีกหลายพันตำแหน่ง และทำให้หมู่บ้านต่างๆ ในชนบทสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้

 

Jeffri Saragih เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนจาก Sawit Watch องค์กรที่ติดตามปัญหาจากปาล์มในอินโดนีเซียมาอย่างต่อเนื่อง (Sawit ในภาษาอินโดนีเซียแปลว่า ต้นปาล์ม) มองว่า เป็นเพียงความพยายามสร้างภาพลักษณ์เขียว ๆ ของรัฐบาลอินโดนีเซียเท่านั้น

 

ไม่ใช่เพียงรัฐบาลอินโดนีเซียที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ สหภาพยุโรปหรืออียู (Europe Union: EU) ยังกระโดดเข้ามาเป็นตัวละครสำคัญ ผลักให้ความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปี 2009 EU’s Renewable Energy Directive กำหนดเป้าหมายโดยรวมว่า ภายในปี 2020 จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ ของแหล่งพลังงานที่ใช้ในอียู จะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ไบโอแมส พลังงานน้ำ ลม และแสงอาทิตย์ โดยระบุว่า การใช้พลังงานในภาคการขนส่งของแต่ละประเทศสมาชิก ต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์

 

การส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานยังได้รับการสนับสนุนโดยองค์กรระดับนานาชาติด้วย The International Federation of Agriculture Producers (IFAP) ซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกรเพื่อการค้าใน 80 ประเทศ ยกย่องว่า พืชพลังงานจะเป็นโอกาสที่ดีในการยกเครื่องเศรษฐกิจในชนบท และลดความยากจน ขณะที่ธนาคารโลก (World Bank) ได้กำหนดวาระ ‘เกษตรกรรมใหม่’ (New Agriculture) ไว้ในรายงานการพัฒนาโลก ปี 2008 ว่า

 

“การเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งระหว่างธุรกิจการเกษตร กับเกษตรกรรายย่อย สามารถลดความยากจนในชนบทได้”

 

 

ระบุชีวมวลส่งผลกระทบมากกว่าปิโตรเลียม-ฟอสซิล

 

 

ธนาคารโลกยังมองโลกในแง่ดีด้วยว่า ผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในที่ดินการเกษตรสามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ด้วยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการเข้าร่วมข้อกำหนดการปฏิบัติ (Code of Conduct) โดยสมัครใจ ซึ่งธนาคารโลกมั่นใจว่า จะช่วยให้ผู้ลงทุนและชุมชนในชนบทได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

 

ทว่า เชื้อเพลิงชีวะมวลคือคำตอบที่ถูกหรือไม่ ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ชัดเจน การวิเคราะห์ของ Mark A. Delucchi จาก Institute of Transportation Studies, University of California, Davis, California, USA เรื่อง Impact of biofuels on climate change, water use and land use ที่เขียนให้แก่ The New York Academy of Sciences ระบุว่า เป็นการยากที่จะวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการใช้น้ำ เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน สิ่งที่ทำได้ก็เพียงแค่การประเมินภาพรวมในเชิงคุณภาพเท่านั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากพืช อาจไม่สามารถทุเลาผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังจะทำให้ปัญหาการจัดหาน้ำ คุณภาพน้ำ และการใช้ที่ดินมีความรุนแรงขึ้นโดยเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงปิโตรเลียม เพราะการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล 1 หน่วย จำเป็นต้องใช้ที่ดินและน้ำปริมาณมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล

 

 

 

 

โค่นป่าอุดมสมบูรณ์ปลูกปาล์มน้ำมัน

 

 

หากยังจำกันได้ ช่วงแรกๆ ที่กระแสเชื้อเพลิงชีวมวลจุดติด จากการโหมประชาสัมพันธ์และส่งเสริม ในประเทศไทยถึงกับมีข่าวว่า เกษตรกรจำนวนไม่น้อยยอมตขาดทุน ปรับรื้อที่ดินใหม่โดยไม่ใยดีพืชผลที่ปลูกไปก่อนหน้า เพื่อจะใช้ที่ดินลงทุนปลูกพืชพลังงานแทน เกิดเป็นอาการตื่นทองแห่งศตวรรษที่ 21 เหตุการณ์ดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตด้วยความวิตกทั้งในระดับประเทศและระดับโลกว่า หากพื้นที่เพาะปลูกอาหารเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูก ‘น้ำมันรถ’ อาจไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว

 

รายงานของสหประชาชาติ (United Nation: UN) ในปี 2009 ระบุชัดเจนว่า การแย่งยึดที่ดินที่ส่วนหนึ่งถูกขับเคลื่อนจากกระแสของพืชพลังงาน ที่เริ่มต้นในปี 2003 มีส่วนเร่งให้เกิดวิกฤตอาหารในปี 2008 ในอินโดนีเซีย ปัญหาการแย่งยึดที่เพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์มดุเดือดกว่า และเต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบายกว่า (ซึ่งไม่ต่างกับหลายกรณีในเมืองไทย เพียงแต่ไม่ใช่เพื่อปลูกปาล์ม) เมื่อบริษัทแห่งหนึ่งมีแผนทำสวนปาล์มบนที่ดินในเขตป่า บริษัทจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า ใบอนุญาตใช้ประโยชน์จากไม้ และใบอนุญาตใช้เครื่องมือขนาดใหญ่

 

มีรายงานว่า บริษัทแห่งหนึ่งในอำเภอ Suhaid ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก ได้ส่งคนจากอำเภออื่นเข้ามาในเดือนเมษายน 2008 เพื่อตัดต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ในพื้นที่เป้าหมาย ที่จะใช้ปลูกปาล์ม รวมถึงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชาวบ้านด้วย การสูญเสียต้นไม้ขนาดใหญ่ ทำให้สูญเสียความเป็นพื้นที่ป่าในที่สุด และบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า อย่างน้อยก็ช่วยลดความยุ่งยากและขั้นตอนการทำธุรกิจไปได้มากโข

 

บางกรณี บริษัทปาล์มก็ใช้ผลประโยชน์เข้าหลอกล่อชาวบ้าน เช่น การยื่นข้อเสนอพิเศษ การจ้างงาน การจัดบริการด้านสุขภาพให้แก่ชาวบ้าน โดยไม่คิดค่าบริการ หรือการเสนอทริปเยี่ยมชมงานของบริษัทในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ความพยายามเหล่านี้ก็เพื่อดึงฝ่ายคัดค้านให้มาเป็นพวกเดียวกันกับบริษัท หรือบางกรณีชาวบ้านก็ถูกคนของบริษัทที่ชาวบ้านเรียกว่า เพื่อน มอมเหล้าและหลอกให้เซ็นชื่อมอบที่ดินให้แก่บริษัท

 

 

หัวใจแห่งบอร์เนียวท้าทายธุรกิจไร้สำนึก

 

 

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากธุรกิจปาล์มในอินโดนีเซีย ยังเป็นแหล่งสะสมความขัดแย้งที่รอวันแก้ไข แต่อีกหนึ่งผลกระทบ ที่ทำให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ต้องจับจ้องอินโดนีเซียเป็นพิเศษคือ ความวิตกกังวลต่อผืนป่าเขตร้อน สุดอลังการของประเทศนี้

 

 

 

 

อินโดนีเซียครอบคลุมป่าฝนเขตร้อน 10 เปอร์เซ็นต์ของโลก พื้นที่แห่งนี้เป็นบ้านของพืชกว่า 20,000 ชนิด คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของพืชพันธุ์บนโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 12 เปอร์เซ็นต์ กับนกอีก 17 เปอร์เซ็นต์ของชนิดพันธุ์ ที่มีอยู่บนโลก อาศัยป่าของอินโดนีเซียเป็นบ้าน ถ้ายังนึกภาพความยิ่งใหญ่และความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าอินโดนีเซียไม่ออก ให้ตีกรอบป่าเนื้อที่ 25 เอเคอร์บนเกาะบอร์เนียว คุณจะพบพืช 700 สายพันธุ์ในพื้นที่นั้น ซึ่งเท่ากับจำนวนสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมด ที่มีอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ

 

นอกจากบอร์เนียวจะเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว สิ่งมีค่าที่สุดประการหนึ่งของเกาะนี้คือผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น อุทยานแห่งชาติ Danan Sentarum ในอำเภอ Kapuas Hulu ตั้งอยู่ห่างจากเมืองปอนติอานักไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 700 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนอินโดนีเซีย-มาเลเซีย 4 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 132,000 เฮกตาร์ เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มและมีสัตว์ป่าอีกนับร้อยสายพันธุ์ ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น แต่นั่นก็ยังไม่ยิ่งใหญ่เท่าผืนป่าใจกลางเกาะซึ่งรวมเอาอุทยานแห่งชาติ Danan Sentarum เข้าไปด้วยที่ถูกเรียกขานอย่างจับใจว่า หัวใจแห่งบอร์เนียว (Heart of Borneo)

 

แม่น้ำ 14 จาก 20 สายหลักของเกาะเกิดจากผืนป่าดังกล่าว กินพื้นที่ลุ่มน้ำของเกาะถึง 54 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งรวมถึงแม่น้ำ Kapuas ที่เป็นเส้นเลือดของกาลิมันตันตะวันตก และเมืองปอนติอานักด้วย แม้จะเป็นผืนป่าที่ทรงคุณค่าต่อโลกถึงเพียงนี้ แต่หัวใจแห่งบอร์เนียวก็ยังต้องเผชิญความท้าทายใหญ่หลวงกับการขยายตัวของพื้นที่ปลูกปาล์ม

 

 

อุทยานแห่งชาติ-บ้านอุรังอุตังกำลังจะหายไป

 

 

ดังที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า พื้นที่จังหวัดกาลิมันตันตะวันตก คือพื้นที่เป้าหมายหนึ่งของนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มของรัฐบาลอินโดนีเซีย อภิโครงการที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของเกาะบอร์เนียว ถูกประกาศออกจากปากของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซีย เมื่อกลางปี 2005 ที่จะก่อตั้งสวนปาล์มขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตามแนวชายแดนอินโดนีเซีย-มาเลเซีย ซึ่งมีความยาว 1,782 กิโลเมตร กินพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และที่อยู่อาศัยของลิงอุรังอุตัง สัตว์เฉพาะถิ่นที่มีที่เดียวในโลก

 

โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติว่า น่าจะสร้างปัญหามากกว่าจะก่อประโยชน์ ในที่สุด 27 ตุลาคม ปีเดียวกัน ฯพณฯ จึงต้องออกมาแจ้งว่า ได้ส่งจดหมายถึงกระทรวงป่าไม้และรัฐของอินโดนีเซียว่า มีพื้นที่ชายแดนเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหมาะสมต่อการปลูกปาล์ม แต่ก็ไม่ได้บอกให้แน่ชัดว่าพื้นที่เหมาะสม 13 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้คือจุดใด

 

 

 

 

‘ไฟป่า-ดินทลาย-น้ำเสีย’ มลพิษจากสวนปาล์ม

 

 

รายงานของ WWF ระบุว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของจุดที่เกิดไฟไหม้ (Hotspot) ในปี 2002 ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก และกาลิมันตันกลางเกิดขึ้นในสวนปาล์ม สวนปาล์มจึงกลายเป็นสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่าในอินโดนีเซีย แต่สวนปาล์มหลายแห่งยังคงใช้วิธีจุดไฟเผาพื้นที่ เพื่อเคลียร์ที่ดินก่อนปลูกปาล์ม และการทำลายพื้นที่ป่าที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์สูง (High Conservation Value Forests: HCVF) และมลภาวะต่างๆ ที่เกิดกับแม่น้ำก็เป็นผลมาจากวิธีการนี้ด้วยเช่นกัน

 

แน่นอนว่า การที่พื้นที่ HCVF ถูกทำลายจากการขยายตัวของสวนปาล์ม ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ การที่พื้นที่ป่าถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ทำให้กระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายสายพันธุ์ เกิดการชะล้างและพังทลายของหน้าดิน รวมถึงกระทบต่อชีวิตผู้คนรอบๆ พื้นที่ป่าที่ต้องพึ่งพาของจากป่าเพื่อดำรงชีวิต

 

เมื่อตีกรอบพื้นที่เฉพาะ Kapuas Hulu อำเภอหนึ่งในจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำคาปูอัส เส้นเลือดสำคัญของจังหวัด และยังมีอุทยานแห่งชาติมากถึง 4 แห่ง ได้แก่ Betang Kerihun, Bukit Batutenobang, Bukit Baka และ Danau Sentarum ซึ่งเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำสำคัญของลุ่มน้ำ ผลกระทบใดๆ ที่เกิดแก่พื้นที่นี้ หมายถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำคาปูอัสถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในพื้นที่ Danau Sentarum พบว่า มีการทับซ้อนระหว่างพื้นที่กันชนของอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่สัมปทานปลูกปาล์ม มีถึง 7 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจากใช้ใบอนุญาตผิดประเภท ภาครัฐเชื่อว่าบริษัทเหล่านี้ต้องการเข้าไปตัดไม้มากกว่าปลูกปาล์ม Danau Sentarum นับเป็นพื้นที่หนึ่งที่เผชิญการลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมาย อันเป็นผลพวงจากการตัดถนนของสัมปทานสวนปาล์ม และตัดไม้ที่ถูกกฎหมาย

 

 

บรรษัททั่วโลกรวมตัวตั้งองค์กรปกป้องธุรกิจปาล์ม

 

ฉะนั้นควรกล่าวถึงด้วยว่า การสูญเสียพื้นที่ป่าขนานใหญ่ จากการขยายตัวของสวนปาล์ม ก่อให้เกิดการรณรงค์ปกป้องพื้นที่ป่าฝนขึ้น โดยกลุ่มเอ็นจีโอไปยังผู้ซื้อ ผู้บริโภค และกลุ่มการเงินในยุโรป ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ในปี 2000 ABM AMRO, Rabobank และ Fortis ธนาคาร 3 แห่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินหลัก ให้แก่การขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม ยุติการสนับสนุนบริษัทปาล์มน้ำมันของอินโดนีเซีย ที่ไม่ใส่ใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่เกิดจากสวนปาล์มของตน แรงกระเพื่อมจากการรณรงค์นี้ นำไปสู่การประชุมที่เป็นที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาที่เรียกว่า Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ที่จัดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2003 และกลายเป็นองค์กรที่ดูแลการทำธุรกิจสวนปาล์มอย่างยั่งยืนในที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนจาก WWF และกลุ่มธุรกิจในยุโรป

 

แต่สุดท้ายแล้ว RSPO กลับกลายเป็นเพียงเสือกระดาษ ที่คอยปกป้องธุรกิจปาล์ม ตามคำวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มเอ็นจีโอ เมื่อสมาชิกกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ คือบริษัทผู้ผลิตและผู้ใช้น้ำมันปาล์มในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Sinar Mas Group รายใหญ่แห่งอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน หรือบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Unilever ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธาน RSPO, Procter & Gamble, Nestle, Kraft, Burger King, Pizza Hut)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: