แนะยกกรณี‘วังน้ำเขียว’เป็นวาระแห่งชาติ จวกจนท.ละเลย-สุดท้ายใช้กฎหมายบังคับ จี้อย่าเลือกปฏิบัติ-จัดการทุกแห่งให้เท่ากัน

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3417 ครั้ง

จากปัญหาการบุกรุกที่ดินในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ดูท่าว่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ยังคงมีความเห็นต่าง ถึงการดำเนินการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อการมุ่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยล่าสุดศาลปกครองได้ตัดสินไม่คุ้มครองการรื้อถอน “บ้านทะเลหมอกรีสอร์ต” ทำให้นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานฯ ประกาศว่าจะเดินหน้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ที่บุกรุกพื้นที่ป่า อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นราษฎรที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 รวมถึงประชาชนที่ใช้พื้นที่ทำมาหากินเนื่องจากยากจนจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลากหลายแนวคิดจากหลายฝ่ายเพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน

 

 

แนะรัฐยกปัญหาที่ดินเป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

 

อย่างไรก็ตามไม่ว่าสาเหตุของปัญหา และปัจจัยที่ทำให้เกิดความซับซ้อน จะมีสาเหตุมาจากอะไรก็ตาม แต่ปัจจุบันหลายฝ่ายมองว่า ขณะนี้สถานการณ์ความขัดแย้ง และผลกระทบต่างๆ ในปัญหาที่ดินวังน้ำเขียวเดินทางมาไกล สิ่งสำคัญที่สุดคือ การหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ที่ทำมาหากินอย่างสุจริตในพื้นที่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

      พื้นที่อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องแนวเขตอุทยานแห่งชาติกับพื้นที่ชาวบ้าน

 

 

 

ในความคิดของโชคดี ปรโลกานนท์ นักอนุรักษ์ ที่ทำงานคลุกคลีในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มาเป็นเวลานาน เห็นว่า ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่อ.วังน้ำเขียว แต่เป็นปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้น ในเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเขามองว่า รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ และนำเรื่องนี้ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาในทุกมิติ เพราะลำพังจะใช้กฎหมายในการแก้ปัญหาอย่างเดียว คงจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ มิหนำซ้ำ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งลุกลามบานปลายต่อไปอย่างไม่มีทีสิ้นสุด ทั้งนี้จำเป็นจะต้องใช้การศึกษาวิจัยอย่างรอบด้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องเข้ามาร่วมกันคิด แก้ไขปัญหา อย่างบูรณาการร่วมกัน จะใช้กรมหนึ่งกรมใดเข้ามาแก้ไขปัญหาใหญ่ระดับนี้ไม่ได้แน่นอน เพราะภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบเกินความสามารถเกินไป

 

                 “เรื่องนี้ต้องดูว่ามีการอนุมัติงบฯ ลงไปสร้างถนน หนทาง สาธารณูปโภค ซึ่งตามกฎหมายอุทยานฯ แล้วทำได้อย่างไร สิ่งที่ลงไปก็ผิดหมด มันเป็นปัญหาใหญ่จะแก้อย่างไร ต้องมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาจะจัดการเรื่องที่ดิน ป่าไม้ และแยกออกเป็นกรณี ๆ ไป ถ้าปล่อยอย่างนี้อีรุงตุงนังอย่างนี้ต่อไป รังแต่มีปัญหาไม่สิ้นสิ้น กรณีที่รื้อที่ทุบไปแล้วจะทำอะไรได้ เพราะตรงนั้นก็เหมือนที่ไข่แดง แล้วพื้นที่ล่างๆ ลงมา ก็ผิดเหมือนกันจะจัดการอย่างไร ซึ่งถ้าหากบอกว่าให้ใช้ข้อตกลงแนวเขตในปี 2543 ก็อาจจะลดปัญหาได้อีกระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่มี ซึ่งผมอยากให้มองในทุกมิติ ทั้งเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ไปด้วยกัน”

 

 

ชาวบ้านสับสนหาจุดยืนไม่เจอ

 

 

โชคดียังเล่าต่อถึงสถานการณ์ปัจจุบันในฐานะคนในพื้นที่ว่า ขณะนี้ชาวบ้านสับสน ไม่รู้จะทำอย่างไร หรืออยู่ตรงจุดไหน ในส่วนของผู้นำท้องถิ่น หรือแม้ผู้นำทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นเขาเอง ก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปในทิศทางไหน แม้จะพยายามที่จะช่วยหาทางออก แต่ไม่สามารถลงลึกได้ เพราะหากลงลึกลงไปจริงๆ  ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะปัจจุบันในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มีผู้คนมากหน้าหลายตา ที่เข้ามาแฝงอยู่ในกลุ่มชาวบ้านจริง ๆ ด้วยเช่นกัน หากเคลื่อนไหวผิดทิศผิดทาง อาจจะกลายเป็นการเข้าไปช่วยกลุ่มคนที่กระทำผิด แต่หากจะสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมดก็ไมได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ที่ผ่านมาคนที่ปล่อยปละละเลย การทำหน้าที่มาเป็นเวลานานก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                  “จริงๆ ตอนนี้ ทัศนคติชาวบ้านกับป่าในระดับหนึ่งชาวบ้านมีความเข้าใจ ที่จะดูแลอนุรักษ์ผืนป่า แต่พอเกิดกรณีวังน้ำเขียว บางทีการเอาภาษากฎหมายมาสื่อสาร ทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวได้ เช่น บุกรุกป่า คือการบุกรุกที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ อาจจะไม่จำเป็นว่าต้องมีต้นไม้ มีป่าก็ได้ แต่เวลาการพูดออกไปตามสื่อ บอกว่าชาวบ้าน นายทุนบุกรุกป่า คนเมืองก็อาจจะเข้าใจว่า เป็นป่าที่มีต้นไม้เต็มไปหมด ทั้งที่ความจริงไม่มีต้นไม้แล้ว ขณะเดียวกันแนวเขตป่าอนุรักษ์ก็ทำไม่ชัดเจน ผมจึงบอกว่า การแก้ปัญหามันต้องเข้าใจ และมองในทุกด้าน จะให้ว่าอย่างไรก็คุณปล่อยปละ ละเลย คุณรับเงินเดือนภาษีประชาชน แต่ไม่ทำงาน ถึงแม้ปัจจุบันคนนอกจะถือที่ดินมากกว่า นั่นก็เป็นผลมาจากการปล่อยปละละเลย แต่เมื่อเกิดปัญหาจริงๆ กระทบหมด เช่น ชาวบ้านปลูกผักขาย คนไม่มาท่องเที่ยว ผักก็ขายไม่ได้ ไม่มีการก่อสร้างร้านวัสดุก็ขายไม่ได้ แรงงานก็ทำอะไรไม่ได้” โชคดีระบุ

 

 

พร้อมกับเพิ่มเติมต่อด้วยว่า วังน้ำเขียวโตเร็วก้าวกระโดด คนหลั่งไหลเข้ามา รัฐเองก็สนับสนุน แต่ไม่บูรณาการกัน เมื่อก่อนเราไม่พูดเรื่องท่องเที่ยว ก็หาว่าเราไม่สนับสนุนความเจริญ นั่นคือสาเหตุ ถ้าไม่บูมเกินเหตุ และทุกคนมีสติก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาเช่นนี้

 

โชคดียังตั้งข้อสังเกตถึงการหลั่งไหลของนายทุน เพื่อซื้อขายที่ดินในพื้นที่อ.วังน้ำเขียวด้วยว่า ส่วนใหญ่เป็นการหลงเชื่อโดยขาดข้อมูลที่ชัดเจน โดยเฉพาะการกระพือข่าวว่า พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ถือเป็นพื้นที่ที่มีโอโซนเป็นอันดับเจ็ดของโลก แต่กลับไม่มีข้อมูลอ้างอิงชัดเจนเลยว่า การจัดอันดับเหล่านี้มาจากไหน ใครเป็นคนจัด จึงอนุมานได้ว่า บางทีคนรวยก็ไม่ได้ฉลาด ทำให้แห่กันไปซื้อที่ดินโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ถูกผิด  ขณะเดียวกันการซื้อที่ดินขอนายทุนในบริเวณนี้ เป็นการใช้ไปเพื่อการฟอกเงิน ในช่วงที่ดอกเบี้ยธนาคารถูก ทำให้ในการซื้อที่นี้มีนอมินีหลายคน เพราะการซื้อทีแบบนี้เป็นกรณีที่ไม่ต้องแจ้ง ป.ป.ช. ไม่มีหลักฐานที่ดิน สามารถใช้ชื่อใครใส่เป็นเจ้าของก็ได้

 

 

‘ศรีสุวรรณ’จวกจนท.รัฐไม่ทำหน้าที่ตั้งแต่แรก

 

 

ด้าน ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แสดงความคิดเห็นในประเด็นเดียวกันว่า การเข้าไล่รื้อการบุกรุกในพื้นที่ป่าของกรมอุทยานฯ ด้วยการทำลายอาคารสิ่งปลูกสร้าง ดูจะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ถึงแม้จะเห็นด้วยว่าจะต้องรื้อออกไปก็ตาม แต่ในมุมหนึ่งเห็นว่า เมื่อพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย และมีการก่อสร้างจำนวนมากไปแล้ว เหตุใดรัฐจึงไม่ยึดเอามาเป็นของรัฐ แล้วให้เอกชนเช่าดำเนินการ โดยระบุเงื่อนไขเพิ่มขึ้น เช่น อาจจะต้องปลูกพื้นที่ป่าไม้ รักษาสภาพความเป็นป่า เพราะอย่างน้อยอุทยานฯ ก็ได้ใช้ประโยชน์ในการทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เพราะหากจะรื้อทำลายก็ควรจะรื้อมานานแล้ว ก่อนที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ประชาชนโดนรังแก แม้ว่าคนอีกจำนวนมากจะชื่นชมกับปฏิบัติการเหล่านี้ก็ตาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                   “จริงๆ มันเป็นเพียงข้ออ้างที่ใช้เป็นเหตุผล หรือการการสร้างน้ำหนัก ในการเข้าไปดำเนินการรื้อถอนมากกว่า ตามกฎหมายอุทยานฯ มันมีระเบียบว่าด้วยการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปเช่าพื้นที่ทำประโยชน์ให้กับอุทยานฯ ถ้ากรมอุทยานจะใช้หลักรัฐศาสตร์เนื่องจากบางพื้นที่ไม่มีสภาพป่าแล้ว ก็รับพื้นที่เหล่านั้นมาเป็นสมบัติของกรมอุทยานฯ เสียแล้วก็ให้เอกชนเข้าไปเช่าดำเนินการตามระเบียบ ก็เป็นได้ เพราะหลาย ๆ อุทยานก็เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปดำเนินการ เช่น ดอยสุเทพ ก็มีคนเข้าไปค้าขายกันมาก มันจะบังคับที่หนึ่งแล้วอีกที่หนึ่งไม่บังคับ มันก็สองมาตรฐาน ที่สำคัญกรมอุทยานฯ ต้องไปมุ่งเน้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยปะละเลยจนชาวบ้านไปสร้างรีสอร์ตเต็มไปหมด แล้วค่อยมาบังคับใช้กฎหมาย ตรงนี้ถือว่าเป็นการเอากฎหมายไปรังแกประชาชน” ศรีสุวรรณกล่าว

 

 

ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอรัฐบาลแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

 

ขณะเดียวกันสำหรับความคิดเห็นของคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้ติดตามประเด็นนี้พร้อมสืบค้นข้อเท็จจริงจากหลายฝ่าย ได้แนวทางการแก้ปัญหาต่อรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยเห็นว่า

 

1.กรณีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติ กับเขตปฏิรูปที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติกับเขตปฏิรูปที่ดิน และการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประสานงานเพื่อบูรณาการการปรับปรุงแก้ไขรูปแผนที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วย ตามแนวทาง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวง และพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดที่ดินของรัฐ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

 2.กรณีปัญหาการกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) บริเวณเขาแผงม้า ให้กรมป่าไม้ร่วมกับจ.นครราชสีมา แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อร่วมดำเนินการตรวจสอบแนวเขต และสภาพของพื้นที่ที่ได้กำหนดให้เป็นป่าโซน C ว่าเป็นการกำหนดที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และสภาพความเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร และดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.กรณีการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้ (Reshape) ซึ่งผลการดำเนินการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ คณะทำงานมาโดยลำดับ ตั้งแต่ พ.ศ.2537-2543 สรุปผลการดำเนินการเป็นพื้นที่กันออก เนื้อที่ 273,310.22 ไร่ และพื้นที่ผนวก เนื้อที่ 110,172.95 ไร่ แต่การดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณานำนโยบายการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้ กลับมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเรื่องแนวเขตระหว่างที่ดินของรัฐด้วยกัน และที่ดินของรัฐกับเอกชน ประชาชนให้เป็นรูปธรรมที่ถูกต้อง

 

 

แนะกรมอุทยานฯรังวัดพื้นที่ ชะลอการตรวจยึด-จับกุม

 

 

4.เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบ และจะดำเนินการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ที่ได้มีการรังวัดกันออก เพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน หากกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้แล้วเสร็จ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 แล้ว พื้นที่ดังกล่าวก็จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกต่อไป

 

ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงความเป็นธรรม และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จึงสมควรให้กรมอุทยานฯ ชะลอ หรือระงับการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรดังกล่าวไว้ก่อน เมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวเขตดังกล่าวข้างต้นแล้วเสร็จ ราษฎรที่ครอบครอง และทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินตามควรแก่กรณีอยู่แล้ว

 

5.กรณีผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อกำหนดพื้นที่ในการปฏิรูปที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบาย และยุทธศาสตร์ของอ.วังน้ำเขียว เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์สามารถประกอบกิจการที่เป็นการบริการ หรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจ และสังคมได้ตามข้อ 1.5 ของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 30 วรรคห้า พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 (ฉบับที่ 2)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เน้นให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่เดือดร้อน

 

 

นอกจากนี้ในกรณีการดำเนินการกับราษฎรที่ได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าการแก้ไขรัฐควรพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ 5 ข้อ คือ 1.การพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดินของราษฎรในเขตป่าไม้นั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อได้พิสูจน์สิทธิการถือครองดังกล่าว และได้ข้อยุติว่า ราษฎรได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว อยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ราษฎรดังกล่าวนี้ ย่อมต้องได้รับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินการออกหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินต่อไป

 

 

ชี้ถ้าบุกรุก-รับโอนหลัง 30 มิ.ย.41 ให้ถือว่าบุกรุก-เอาผิดได้

 

 

2.กรณีที่เป็นผู้บุกรุกเข้าแผ้วถางพื้นที่ป่าไม้ โดยเจตนาชัดแจ้ง ภายหลังที่มีมติครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ถือว่าเป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินในเขตป่าไม้โดยไม่สุจริต การบังคับใช้กฎหมายแก่บุคคลดังกล่าว รัฐควรต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และต้องดำเนินการทางด้านกฎหมายแก่ผู้บุกรุกโดยเฉียบขาด โดยจะไม่มีการพิจารณาให้สิทธิใด ๆ แก่บุคคลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

3.กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิจากผู้บุกรุกตาม ข้อ 2 โดยเป็นผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ หรือจ้างวาน หรือส่งเสริมให้มีการบุกรุก เพื่อที่จะรับโอนสิทธินั้นมาเป็นของตน ต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ไม่สุจริต ดังนั้นรัฐต้องดำเนินการทางกฎหมายโดยเฉียบขาดเช่นเดียวกัน

 

4.กรณีที่เป็นผู้รับโอนสิทธิมาโดยไม่สุจริต เช่น รู้อยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ หรืออยู่ระหว่างรัฐบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ยังขืนรับโอนสิทธิดังกล่าวมา ก็ควรที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกัน

 

5.กรณีราษฎรที่ได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อน หรือภายหลังการประกาศเป็นเขตป่าไม้ครั้งแรก แต่มีการโอนสิทธิไปยังบุคคลอื่น หรือที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว แม้หน่วยงานของรัฐจะได้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยการยึดพื้นที่คืนแล้วก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำการโดยสุจริต ก็ควรที่จะได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัย และทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ต่อไป ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ระยะเวลา 15 ปี ในกรณีทั่วๆ ไป หรือ 10 ปี หรือน้อยกว่า ในกรณีที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำ หรือพื้นที่ล่อแหลมต่อระบบนิเวศนั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้ง 2 กรณีจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขไม่ให้ก่อสร้างเพิ่มเติม และให้ปลูกต้นไม้ รวมทั้งปลูกป่าให้เต็มพื้นที่ตามที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เห็นสมควรกำหนด และไม่ให้มีการกระทำในลักษณะที่เป็นการคุกคามต่อระบบนิเวศ หากฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ก็จะต้องให้ออกไปจากพื้นที่ทันที เนื่องจากปัจจุบัน หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ยังมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะทำการฟื้นฟูรักษาป่า อีกทั้งอัตรากำลังบุคลากรไม่เพียงพอที่จะเข้าไปดำเนินการคุ้มครองป้องกัน และดูแลรักษาสภาพป่าไว้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอาจทำให้มีผู้บุกรุกพื้นที่ป่ารายใหม่เพิ่มเติมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงควรให้มีการแก้ไขปัญหาโดยวิธีที่เสนอดังกล่าวข้างต้นนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ด้วยกัน ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชน ซึ่งจะเป็นกรณีที่ทำให้รัฐได้พื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งยังเป็นกุศโลบายในการฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ขึ้นได้โดยวิธีการที่ประหยัดทั้งงบประมาณ และบุคลากรภาครัฐ

 

 

ก่อนรื้อทะเลหมอกเคยหารือดีเอสไอ-กรมอุทยานฯให้ชะลอแล้ว

 

 

ก่อนหน้าการเข้ารื้อ “ทะเลหมอกรีสอร์ต” คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เคยพูดคุยกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และอธิบดีกรมอุทยานฯ เพื่อให้ชะลอการดำเนินการกับผู้บุกรุกไว้ก่อน เนื่องจากคณะรัฐมนตรีกำลังจะมีการพิจารณาข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน และมีมติที่ชัดเจน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี

 

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวของประเทศถูกบุกรุกเป็นจำนวนมาก หากจะใช้แนวทางดังกล่าวมาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของราษฎร และการดำเนินการของรัฐที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติในเขตท้องที่ อ.วังน้ำเขียว เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎร และเป็นการแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอให้รัฐบาลพิจารณานำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นไปใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินการสำหรับที่ดินของรัฐอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม และป่าไม้ก็จะได้รับการฟื้นฟูให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยเร็ว อันจะเป็นผลดีต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคตด้วย

 

 

ป่าไม้อ้างเจรจาได้แต่จะกลายเป็นตัวอย่างของที่อื่น

 

 

ทั้งนี้ วิฑูรย์ ชลายนนาวิน ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า กรณีของวังน้ำเขียว เป็นเรื่องของคำพิพากษาศาล การปลูกสร้างพื้นที่เขตอุทยานต้องรื้อถอนออกจากพื้นที่  และถ้าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีคำสั่งให้ออกตามมาตรา 25 ต้องยึดพื้นที่คืนและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกอย่างเดียว ตามกฎหมายการรื้อถอนตามคำพิพากษา และยิ่งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์การให้เช่าหรือให้พื้นที่สัมปทานกฎหมายไม่อนุญาตอยู่แล้ว โดยในอ.วังน้ำเขียว มีพื้นที่อยู่ 2 ส่วน คือพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ และพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้ทางกรมป่าไม้ กำลังดำเนินการตามมาตรา 25 แต่ในส่วนอุทยานแห่งชาติที่รื้อไปหลายรายนั้น เป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาล

 

 

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจรีสอร์ตที่เข้าข่ายบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ นั้น ไม่ใช่ต้องรื้อถอนเสมอไป เพราะหากมีคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี ก็สามารถไกล่เกลี่ยเป็นกรณีๆ ได้เหมือนกัน ยกตัวอย่าง ให้สัมปทานนำเงินรายได้เข้ารัฐ โดยสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้คือ การประกาศเป็นเขตพิเศษ โดยหน่วยงานระดับที่มีรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการ หรือออกตามมติครม.

 

                “แต่สำหรับหน่วยงานของกรมป่าไม้ ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการ ทั้งนี้หากจะมีการประกาศเป็นเขตพิเศษก็ย่อมทำได้ แต่หากมีการเปิดโอกาสให้กับที่ใดที่หนึ่ง ก็อาจจะกลายเป็นกรณีตัวอย่างทำให้เกิดการบุกรุกในที่อื่นๆ ต่อไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งในกรณีที่ได้มีการยึดคืนกลับมาตามกฎหมายนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะเข้าปรับปรุงภูมิทัศน์คืนผืนป่าสู่ธรรมชาติตามเดิม” นายวิฑูรย์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ควรทำทุกแห่งให้เหมือนกัน-อย่าเลือกปฏิบัติ

 

 

หลังการดำเนินการในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว โดยกรณีการบุกรื้อ “ทะเลหมอกรีสอร์ต” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 นับเป็นการปฏิบัติการในพื้นที่ครั้งล่าสุดของของกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งนายดำรง พิเดช อธิบดีกรมอุทยานฯ ประกาศว่า จะยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อยึดคืนพื้นที่ป่าจากนายทุนกลับมาเป็นสมบัติของชาติต่อไป โดยลงพื้นที่สำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ถูกบุกรุกใน พื้นที่ภาคใต้ และ จ.ภูเก็ต ซึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นดูจะหนักหนากว่า ความผิดปกติในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มากมายนัก เพราะที่ดินใน จ.ภูเก็ต ที่ถูกนายทุนบุกรุกคืบ ล้วนมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น นับตั้งแต่การเข้าไปครอบครอง จนถึงการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินสาธารณะอย่างชัดเจน

 

 

 

จึงต้องติดตามต่อไปว่า การปฏิบัติหลังจากนี้จะดำเนินการต่อเนื่อง จริงจังต่อเนื่องต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่างไรเสีย การดำเนินการยึดผืนป่าหรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินสาธารณะ กลับคืนมาจากกลุ่มนายทุนที่กระทำการผิดกฎหมาย ย่อมได้รับการสนับสนุนจากคนไทยทั้งประเทศอยู่แล้ว

แต่หากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ ควรจะหันมาให้ความสำคัญต่อแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และควรปฏิบัติต่อคนไทยทุกคนเท่าเทียมเสมอกันทุกพื้นที่ โดยไม่มีเงื่อนไขและข้ออ้าง เหมือนกับที่กำลังเกิดความกังขาในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: