เด็กไทยน่าห่วง-สถิติ'อ้วน'พุ่งที่สุดในโลก กระทบสติปัญญา-ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จี้ขึ้นภาษีน้ำอัดลม-สกัดขนมหน้าโรงเรียน

นาฏินันท์ จันทร์ธีระวงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 6830 ครั้ง

แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีถึงพิษภัยของขนมกรุบกรอบ ที่จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในวัยเรียน แต่ปัจจุบันยังคงพบว่า การซื้อขายขนมหลากสี ไร้ประโยชน์เหล่านี้ ยังคงถูกวางขายล่อตาล่อใจเด็ก ๆ อยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะร้านค้าที่ตั้งขายอยู่บริเวณหน้าโรงเรียน รวมถึงร้านสะดวกซื้อที่เปิดขาย ทั้ง น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมกรุบกรอบ ลูกอมหมากฝรั่งสีสันสดใส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือแม้แต่ ของเล่นด้อยคุณภาพ ที่เปิดให้บริการโดยขาดการควบคุมอย่างจริงจัง

 

ปัญหาสินค้าหน้าโรงเรียน เป็นประเด็นหนึ่งที่เคยถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีผลวิจัยหลายชิ้น ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้สุขภาพเด็กไทยไม่แข็งแรง เกิดจากการได้รับอาหารที่มีประโยชน์ จากการบริโภคอาหาร หรือขนมไร้คุณภาพ ที่วางขายบริเวณหน้าโรงเรียน ซึ่งแฝงไว้ด้วยพิษภัยที่บรรดาผู้ใหญ่พร้อมใจกันหยิบยื่นให้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือเพราะขาดความรู้  กลายเป็นการสร้างปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคให้กับเยาวชนไทยได้แบบไม่คาดคิด

 

 

ห่วงเด็กไทยอ้วนพุ่งเร็วที่สุดในโลก

 

 

ล่าสุด ดร.ภญ.มาลิน จุลศิริ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะเภสัชกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัญหาภาวะโภชนาการในเด็กไทย ยังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง สาเหตุหลักนอกจากจะเกิดจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้หลายครอบครัวต้องซื้ออาหารจานด่วน ซึ่งส่วนใหญ่ขาดความสมดุลทางโภชนาการให้เด็กบริโภคอยู่ประจำแล้ว เด็กวัยก่อนเรียนคือ 4-5 ขวบ มักเริ่มบริโภคขนมและดื่มน้ำอัดลมอย่างต่อเนื่องกลายเป็นนิสัย ประกอบกับเมื่อเด็กโตขึ้น พ่อแม่ไม่มีเวลาพอที่จะให้ความสำคัญ ในการดูแลเรื่องอาหารให้กับเด็ก ทำให้เด็กจำนวนมากตกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็น โดย

 

 

 

จากข้อมูลพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็กไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตามสถิติอาจจะสรุปได้ว่า เป็นประเทศที่มีการเพิ่มจำนวนเด็กอ้วนเร็วที่สุดในโลก มีรายงานว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และเด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ทั้งยังพบว่า เด็กไทยมีเชาว์ปัญญาโดยเฉลี่ย ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐาน ที่ระดับ 90 มีมากถึง 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25

 

 

 

              “การเกิดปัญหาภาวะโภชนาการในเด็ก นอกจากส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของเด็กแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพของเด็กเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย โดยจะเกิดปัญหาโรคเรื้อรังง่ายขึ้น เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ข้อเสื่อม เป็นต้น" ดร.ภญ.มาลินกล่าว

 

 

‘นมเปรี้ยว-น้ำอัดลม’ ตัวการสำคัญของโรคอ้วน

 

 

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปดูข้อมูลของกรมอนามัย  ซึ่งจัดทำโดย ผศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ที่ได้ออกสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทยใน  20 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อ ปี 2551-2552 พบว่า สถานการณ์โรคอ้วนในเด็ก เริ่มมีแนวโน้มน่าเป็นห่วงมาหลายปีแล้ว โดยจากผลการสำรวจพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในพื้นที่ที่ออกสำรวจ บริโภคน้ำตาลเฉลี่ยสูงถึง 30.4 กรัม/คน/วัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณสูงสุดที่ควรบริโภค (24 กรัม/คน/วัน) ถึงร้อยละ 27  ส่วนใหญ่ได้รับน้ำตาลจากนมเปรี้ยวและน้ำอัดลม ขณะที่เด็กอายุ 6-14 มีพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มรสหวาน ขนมกรุบกรอบ อาหารประเภทไขมันสูง สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น

 

โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เด็กเกิดโรคอ้วน ล้วนมาจากการบริโภคอาหารที่มีแคลอรี่และน้ำตาลเกินขนาด รับสารโซเดียมคือ ความเค็ม และไขมันอิ่มตัว (saturated fat) สูง จากอาหารบรรจุซอง และอาหารสำเร็จรูป ของกรุบกรอบ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย มีแป้งมาก มีรสจัด คือหวานจัด มันจัด เค็มจัด ไม่ใช่อาหารสุขภาพ ทั้งนี้รวมทั้งอาหารจานด่วน หรือ ฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม ไอศกรีม ขนมหวาน และของว่างต่าง ๆ ทำให้เด็กติดรสหวาน และอยากเสพติดมากขึ้น อาหารที่มีประโยชน์จะเลือกกินน้อย โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใย

 

 

 

 

 

             “ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เด็กก่อนวัยเรียนและเด็กประถมมีปัญหาด้านโภชนาการ และเป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงมากที่สุด โดยมีความอ้วนพุ่งสูงขึ้น ถึง ร้อยละ 40 และกว่าครึ่ง ของจำนวนเด็กไทยที่อ้วน มีปัญหาไขมันสูงเกินมาตรฐาน ถึงร้อยละ 70 สมาคมเบาหวานระบุชัดเจนว่า ในรอบ 5 ปี มีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 12 ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคไต โรคหัวใจ และโรคข้อเสื่อมขึ้นในเด็กวัยนี้” รายงานระบุ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คาดอีก 2 ปี ในไทยเด็ก 5 คนจะมีเด็กอ้วน 1 คน

 

 

จากสถานการณ์ที่ดูจะกำลังกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพของเด็กไทยในอนาคตดังกล่าว ทำให้กรมอนามัยประมาณการเกี่ยวกับสัดส่วนของเด็กไทย ที่อาจจะเข้าสู่สภาวะเป็นเด็กอ้วน ไว้ว่า ในปีพ.ศ. 2558 เด็กวัยก่อนเรียนในประเทศไทย จะกลายเป็นเด็กอ้วน ในสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 5  และเด็กวัยเรียน จะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 1 ใน 10 ซึ่งถือข้อมูลการคาดการณ์ที่น่าตกใจ หากเทียบกับจำนวนเด็กในประเทศไทย

 

ขณะที่องค์การอนามัย ซึ่งให้ความสนใจเกี่ยวกับการนำหนักตัวของประชากรโลกในวัยผู้ใหญ่ คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2558 ประชากรกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป เกือบครึ่งหนึ่งจะมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน นั่นหมายถึงว่าในปี พ.ศ.2558 ทั้งประชากรเด็ก และประชากรวัยผู้ใหญ่ จะมีผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยดังกล่าว จะแสดงให้เห็นว่า เด็กไทยมีการเติบโตทางกายและภาวะโภชนาการดีขึ้น ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง มีส่วนสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เซนติเมตร ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ประเทศไทยยังเผชิญทั้งภาวะโภชนาการพร่อง และภาวะโภชนาการเกิน แม้ว่าภาวะเตี้ยและภาวะน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ จะลดลงตามลำดับ โดยเฉพาะในเด็กอายุ 6-14 ปี แต่บางภาค ความชุกก็ยังสูงกว่าร้อยละ 5 และในเด็กอายุ 1-15 ความชุกของภาวะเตี้ยยังลดลงช้ากว่าความชุกของภาวะน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ความชุกของภาวะเตี้ยบางภาคสูงร้อยละ 7.5 เมื่อรวมกันแล้วใน พ.ศ.2551-2 เด็กไทยอายุ  1-14 ปี 520,000 คนมีภาวะเตี้ย และ 480,000 คน มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ เสี่ยงต่อสุขภาพไม่แข็งแรง และมีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 2 ปี 18,000 คน ที่เตี้ยแคะแกรนรุนแรง เสี่ยงต่อระดับเชาวน์ปัญญาต่ำในวัยผู้ใหญ่ บั่นทอนคุณภาพประชากรในอนาคต

 

 

เด็กชนบทเสี่ยงเป็นเบาหวาน

 

 

ที่สำคัญโรคอ้วนกำลังเป็นภัยคุกคามใหม่ของเด็กไทยเข้าขั้นอันตราย ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเด็กในเขตชนบทเริ่มพบปัญหานี้เพิ่มขึ้น เด็กไทยอายุ 1-14 ปี 540,000 คนอ้วน ในจำนวนนี้ 135,000 คน เสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ปัญหาอ้วนในเด็กนี้ จะส่งผลให้พบปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นในผู้ใหญ่ เป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างรีบด่วน โดยการมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทุกระดับด้วยมาตรการในการป้องกัน ควบคุม คัดกรอง และบำบัดรักษา ที่ครอบคลุมกลุ่มปัจจัยด้านพฤติกรรมการบริโภค การมีกิจกรรมทางกายและปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมของบุคคล การแก้ปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนยังมีความท้าทาย ที่ต้องระวังไม่ให้ส่งผลสะท้อนกลับให้ปัญหาโภชนาการพร่องในเด็กบางกลุ่มกลับรุนแรง

 

จากข้อเท็จจริงพบว่า ถึงแม้พ่อแม่ผู้ปกครองจะคอยเลือกสรรอาหารที่มีประโยชน์ให้เด็กได้รับประทานในอาหารมื้อเช้าและมื้อเย็น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีพ่อแม่หลายคนที่ไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กรับประทานขนม หรืออาหารประเภทอื่น นอกเหนือจากอาหารจานหลักและของว่างที่ได้รับจากบ้าน และโรงเรียน ในมื้อกลางวัน เงินค่าขนมยังเป็นเรื่องจำเป็น และดูเหมือนจะถือเป็นหน้าที่ที่ต้องให้ลูกก่อนไปโรงเรียนทุก ๆ เช้า

 

 

ขนมหน้าโรงเรียนยังขายกระหน่ำแม้ถูกห้าม

 

 

โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กระดับอนุบาลจะได้รับเงินค่าขนมคนละ 10 บาทต่อวัน โดยประมาณ เพราะเป็นวัยที่ยังใช้เงินไม่เป็น รับประทานอาหารและขนมที่ทางโรงเรียนจัดให้ และผู้ปกครองเป็นคนนำไปซื้อ ส่วนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา จะใช้จ่ายเงินหมดไปกับค่าขนม เฉพาะเวลาเลิกเรียน 20-40 บาทต่อคนต่อวัน ส่วนเด็กชั้นมัธยมศึกษา ใช้เงินซื้อขนมและอาหารว่างหลังเลิกเรียนอย่างต่ำประมาณ 30-50 บาทต่อคนต่อวัน ถึงแม้บางสถานศึกษา จะมีการห้ามขายของบริเวณหน้าโรงเรียน แต่อีกหลายแห่ง ก็เป็นทำเลทองของพ่อค้าแม่ขาย ที่ต่างสรรหาของกินของเล่นแปลก ๆ ไว้ล่อตาล่อใจเด็กนักเรียน ที่จะพบเห็นได้แทบทุกริมทางเท้าหน้าโรงเรียน เช่น

-          น้ำหวานใส่น้ำแข็ง น้ำอัดลม น้ำแข็งไส น้ำปั่น ไอศกรีม

-          ของทอด ทั้งที่ชุบแป้งและไม่ชุบ เช่น ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ไส้กรอกทอด กล้วยทอด กุ้งทอด หมูยอทอด

-          ผลไม้ ทั้งผลไม้สดและผลไม้ดอง เชื่อม แช่อิ่ม

-          อาหารประเภทปิ้งย่าง เช่น ลูกชิ้นปิ้ง หมูปิ้ง ไก่ปิ้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

-          ขนมที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาล เช่น โดนัท เค้ก คุกกี้ วุ้น ขนมเบื้อง โรตีสายไหม รวมทั้งขนมโตเกียว เป็นที่นิยมมีขายทุกโรงเรียน

-          ขนมสำเร็จรูป เช่น ลูกอม หมากฝรั่ง เยลลี่ ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

-          ของว่างประเภทซูชิ ยำต่าง ๆ ส้มตำ แต่ปรุงรสที่คิดว่าเด็กชอบ คือให้มีรสหวานนำ และใช้วัตถุดิบราคาถูก

 

นอกจากนี้ บางโรงเรียนอยู่ใกล้ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือห้างสรรพสินค้า เด็กก็จะมีตัวเลือกเพิ่มในการหาของอร่อย ตามใจปากได้อีกมากมาย

 

 

เครือข่ายสุขภาพเด็ก จี้รัฐขึ้นภาษีน้ำอัดลม

 

 

นอกจากนี้ ท.ญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เปิดเผยกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อเสนอแนะให้ประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการทางภาษีอาหาร เพื่อจัดการกับวิกฤตโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน โซเดียม และพลังงานสูงซึ่งมีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่างๆ  โดย ท.ญ.จันทนาได้ให้ข้อมูลในส่วนของประเทศไทยว่า ทุกวันนี้คนไทยรับประทานน้ำตาลสูงกว่าเกณฑ์ ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 3 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น และยังพบว่าแหล่งอาหารที่มีน้ำตาลสูง คือเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ  จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลเพิ่มการจัดเก็บภาษีอาหารและเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูง เพื่อลดจำนวนการบริโภคของคนไทยให้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของคนไทย

 

ท.ญ.จันทนาระบุว่า จากหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า ระบบภาษีเป็นหนึ่งในมาตรการที่ได้ผล และมีความคุ้มค่า ซึ่งข้อมูลวิชาการจากต่างประเทศแสดงให้เห็นว่ารัฐ หรือประเทศที่มีการเก็บภาษีอาหารและเครื่องดื่มพลังงานสูงจะมีปัญหาภาวะโรคอ้วนน้อยกว่า และยังทำให้รัฐได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้เพิ่มภาระแก่ประชาชนอย่างที่อุตสาหกรรมน้ำอัดลมกล่าวอ้าง

 

 

ขณะที่ ท.พ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การปรับปรุงภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวานทั้งน้ำอัดลม และเครื่องดื่มอื่น ๆ ควรเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการมากที่สุด ก่อนจะขยายไปยังอาหารประเภทอื่น ๆ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว น้ำอัดลมในประเทศไทยมีราคาถูกมาก และยังมีความหวานมากกว่าอีกหลายประเทศ ยี่ห้อที่หวานมากเป็นยี่ห้อที่ครองตลาดสูงสุด ในแต่ละกลุ่ม หากขึ้นราคาน้ำอัดลมจะทำให้การบริโภคลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ

 

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ น.ส.สิรินทร์ยา พูลเกิด ผู้จัดการแผนงานนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่เห็นว่า ที่ผ่านมาระบบภาษีสรรพสามิตของไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสุขภาพ ซึ่งอัตราภาษีไม่ได้สะท้อนกับปริมาณน้ำตาล แต่กลับมีลักษณะส่งเสริมให้คนรับประทานน้ำตาลเพิ่มขึ้น โดยเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลต้องจ่ายภาษีที่สูงกว่าเครื่องดื่มรสหวาน และทำให้เครื่องดื่มรสหวานมีราคาต่ำกว่าเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพทั้งนี้ การเพิ่มราคาเครื่องดื่มน้ำอัดลม 10 เปอร์เซนต์ จะทำให้ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 0.034 เปอร์เซนต์ เท่านั้น จึงไม่มีผลต่อค่าครองชีพแต่อย่างใด

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: