แม้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การพนันบอล ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องเก่า เพราะยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย และกลายเป็นภัยเงียบที่สร้างปัญหา และสร้างผลกระทบในทุกๆ ด้านกับประชาชน แต่ในทางปฏิบัติของภาครัฐ ทั้งการป้องกัน การปราบปราม การรณรงค์ ฯลฯ หลายฝ่ายยังมองแบบสิ้นหวัง ไม่มีแนวทาง หรือเป้าหมายที่ชัดเจนในการเข้ามากำกับอย่างจริงจัง แม้แต่กระทรวงมหาดไทยเอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลในเชิงกฎหมายด้านการพนันเอง ก็ยังเคยยอมรับว่า เรื่องโต๊ะบอลเถื่อน เป็นเรื่องที่ดูแลยาก เพราะไม่สามารถหาหลักฐานชัดเจนว่า จะมีการเล่นพนันกันหรือไม่ และหากจะให้ดำเนินการในเชิงรุกเพื่อการป้องกันก็ทำได้ยากเช่นกัน ทำได้อย่างเดียวคือความพยายามรณรงค์ไม่ให้มีการเล่นพนันบอลเท่านั้น
นักวิชาการชี้รัฐต้องเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง
ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ติดตามและทำงานวิจัยเรื่องการพนันบอลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาพนันบอลตลอดช่วงที่ผ่านมาว่า สิ่งที่ภาครัฐทำได้ตอนนี้คือการปราบปราม และคงจะเป็นแนวทางเดียวที่พอจะทำได้ ซึ่งหากรัฐยังคงให้ความสำคัญกับกวดขันจับกุมอย่างเข้มงวด โดยเจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดได้ เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่ากฎหมายการพนันของไทยคือ พ.ร.บ.การพนัน 2478 เป็นกฎหมายที่เก่าไปแล้ว ทำให้ไม่ครอบคลุมการเล่นพนันที่เกิดขึ้นในภายหลัง และมีความทันสมัยมากขึ้นได้ โดยเฉพาะการเล่นพนันบอลที่มีปัจจัยด้านเทคโนโลยี สื่อต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องและมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน ดร.วิษณุ ยังเชื่อว่าการถกเถียงในเรื่องที่จะทำให้การพนันเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย สำหรับประเทศไทยคงต้องใช้ระยะทางเดินอีกไกล กว่าจะไปถึงข้อสรุป ที่สำคัญจะต้องมีการปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่
แนะยกระดับการพนันเป็นวาระแห่งชาติ
ทั้งนี้หากมองในเชิงของนักวิชาการที่ทำงานคลุกคลีกับข้อมูลการพนันเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่า หากจะหวังว่าให้การพนันหมดไปจากประเทศไทย จนเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ คงจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน แต่หากตั้งความหวังว่าจะทำอย่างไรให้การพนันในสังคมไทยลดจำนวนลง ก็น่าจะพอมีความหวังอยู่บ้าง ซึ่งแนวทางที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ คือต้องแบ่งการแนวทางการแก้ปัญหาออกเป็น 2 ระยะ คือ 1.การแก้ปัญหาระยะสั้น นั่นคือ การเร่งให้ภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มุ่งมั่นในการปราบปรามอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง แม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาการพนันให้มีการกวาดล้างจับกุมยากกว่าในอดีต แต่หากมีการเข้มงวด กวดขันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)ตำรวจ หรือหน่วยงานใดก็ตามที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะทำให้นักพนันมีช่องทางการเข้าถึงการเล่นที่ยากขึ้นได้
แนวทางที่ 2 ดร.วิษณุระบุว่า จะต้องเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว นั่นคือการยกระดับปัญหาการพนันให้ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเปิดเวทีให้มีการพูดคุยถกเถียงในเรื่องนี้มากขึ้น จริงจังขึ้น และทำให้ประเด็นผลกระทบจากการพนันกลายเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ เพื่อตระหนักถึงผลเสียต่างๆ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจกับคนไทยให้มากขึ้นว่า การพนันไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถือเป็นปัญหาสังคมในระดับชาติ ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันแก้ไข ไม่เช่นนั้นไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้เล่น ครอบครัว เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศชาติโดยรวมด้วย
“ส่วนประเด็นการแก้ไขกฎหมาย หรือการจะนำการพนันเข้าสู่กระบวนการธุรกิจที่ถูกกฎหมายนั้น ผมคิดว่า ทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จะต้องมาร่วมพูดคุย หารือร่วมกันด้วยเหตุด้วยผลโดยไม่มุ่งแต่เรื่องการเอาชนะกันอย่างเดียว เพื่อที่จะหาทางออกว่า ระหว่างผลดีกับผลเสียอะไรมากกว่ากัน ซึ่งต้องทำอย่างจริงจังไม่ ไม่สุดโต่ง เพราะผมเชื่อว่าทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่า การพนันกับสังคมไทยตอนนี้เป็นอย่างไร และคืออะไร และควรจะหาข้อสรุปให้ได้ โดยมีหน่วยงานหลักรับเป็นเจ้าภาพ ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็จะต้องจริงจังในเรื่องนี้อย่างแท้จริง” ดร.วิษณุ กล่าว
จี้ตำรวจจับแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ความเห็นของ ดร.วิษณุ สอดคล้องกับงานวิจัยของอาจารย์สายชล ปัญญชิต นักวิจัยด้านปัญหาสังคม และอาจารย์พิเศษคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่เห็นว่า แนวทางสำคัญที่เชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการเล่นพนันบอลในสังคมไทยลงได้ก็คือ การทำให้สังคมได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ โดยต้องยกระดับปัญหาให้เข้าสู่ความสนใจของสังคมให้มากขึ้น ควรมีการเปิดเวที เพื่อให้เกิดการถกเถียงพร้อมชี้ให้เห็นปัญหา ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการพนันชนิดนี้ ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงดล คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การปราบปรามการพนันบอลในปัจจุบัน ถ้าจะบอกว่าตำรวจจับไม่ได้เลยก็ไม่น่าจะใช่ เพราะหากตำรวจสามารถจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ ก็น่าจะจับกุมกลุ่มโต๊ะบอลเถื่อนเหล่านี้ได้ เพราะการจับกุมเหมือนกันไม่ได้แตกต่างกัน
“ถึงพวกนี้จะมีวิธีแอบซ่อนกับโดยการตั้งโต๊ะบอล ใช้วิธีการโทรศัพท์ หรือเปิดเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ แต่ผมเชื่อว่าตำรวจไทยมีความสามารถ ที่ผ่านมายังจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ พวกนี้ก็เหมือนกัน จับเหมือนกันและเมื่อจับแล้วอย่าใช้ข้อหาการพนัน แต่ต้องจับในคดีฟอกเงินไปเลย พวกนี้จะกลัวมาก แต่ที่สำคัญจะต้องทำอย่างจริงจัง” ดร.วิเชียรระบุ
นักการเมืองไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่ ดร.วิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ถือว่ามีอิทธิพลต่อการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายของปัญหาการพนันมากที่สุด คือ การเมือง ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า นักการเมืองหลายคนที่เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ หลายคนก็เกี่ยวข้องกับธุรกิจการพนัน ทำให้การแก้ปัญหาการพนันในทุกยุคทุกสมัยมักจะถูกบิดเบือนให้กลายเป็นปัญหาการเมือง หรือถูกซ่อนเอาไว้ ไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง บางครั้งจะเห็นได้ว่านักการเมืองต้องการเพียงหยิบยกขึ้นมา เพียงเพื่อต้องการเปิดโปงนักการเมืองอีกฟากฝั่งหนึ่ง หรือมีเป้าหมายเพียงเพื่อทำให้เกิดผลต่อตำแหน่งหน้าที่ของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ความหวังต่อการแก้ไขของภาครัฐจึงดูมืดมน จนบางครั้ง นักวิชาการ หรือ กลุ่มคนที่พยายามจะแก้ปัญหาอย่างแท้จริงรู้สึกท้อแท้
“ถ้าถามว่าคนทำงานจริงๆ ท้อไหม ต้องบอกว่าท้อเหมือนกัน บางทีก็กลับมาคิดว่า ตอนนี้นักวิจัยทำอะไรอยู่ พยายามที่จะหาข้อมูลอย่างยากเย็น แต่กลับพบว่าเรื่องแบบนี้คนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่โดยตรงกลับบอกว่า เขารู้กันอยู่แล้ว ที่นั่นที่นี่ รู้ละเอียดกว่าเรามาก เหมือนเราต้วมเตี้ยมไป แต่ก็พยายามให้กำลังใจกันเองในกลุ่มของนักวิจัยว่า อย่างน้อยการได้เก็บข้อมูลที่เป็นวิชาการ เป็นข้อมูลที่แท้จริงเหล่านี้ อาจจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในสักวันหนึ่ง หากสังคมจะลุกขึ้นมาเห็นความสำคัญเรื่องนี้” ดร.วิษณุกล่าว
รองนายกฯชี้แก้ยากเพราะกฎหมายโบราณ
ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบดูแลปัญหาการพนันในรัฐบาลปัจจุบัน ก็เคยออกมายอมรับว่า ขณะนี้การพนันด้วยเทคโนโลยีทันสมัยกำลังเข้าสู่เยาวชนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการพนันบอล ซึ่งรูปแบบการเล่นมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ในขณะที่กฎหมายการพนันของไทยที่มีอยู่ตามไม่ทัน ซึ่งการพัฒนามีเกินไปกว่าที่กฎหมายจะเข้าไปควบคุม หรือจับกุมได้ รวมไปถึงการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้มีการเล่นพนันมากขึ้น กฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจภาครัฐเข้าไปทำอะไรได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้พยายามประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบัญญัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งให้หน่วยงานด้านการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทำการศึกษาทั้งการพนันออนไลน์ และการพนันฟุตบอลผ่านเว็บไซต์ เพื่อหาแนวทางการปราบปราม เอาผิดกับกลุ่มนักพนัน และหากจะต้องออกเป็นกฎหมายจะต้องดำเนินการอย่างไรได้
“ปัจจุบันการแก้ปัญหาการเล่นพนันออนไลน์ เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงแค่การตรวจสอบธุรกรรมการเงินผ่าน ป.ป.ง.เท่านั้น หากพบว่าบัญชีผู้ใดมีความเคลื่อนไหวผิดปกติ เจ้าหน้าที่จะออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบสวน แต่เมื่อถูกเรียกมาเจ้าของบัญชีจะบอกว่าถูกอ้างชื่อ หรือเพื่อนยืมบัญชีไปใช้ ส่วนการป้องปรามด้วยการตรวจสอบไอพีแอดเดรส ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะเอาผิด เพราะเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ หากดำเนินการมากไปหรือปิดกั้นก็อาจจะทำให้กลายเป็นว่าเป็นการปิดกั้น และละเมิดสิทธิเสรีภาพ เพราะพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นต้องทำได้อย่างเสรี” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.การพนัน
ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2554 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.2 ฉบับ เกี่ยวกับการพนันและการเสี่ยงโชค ที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ...... และร่าง พ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค พ.ศ...... โดย ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนี้ได้ทำการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมมาจาก พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 เพื่อเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ทั้งเรื่อง การควบคุม การตรวจสอบ และการกำหนดบทลงโทษให้เกิดประสิทธิภาพ เนื่องจากการเล่นการพนันในปัจจุบันมีการเล่นที่ซับซ้อนมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาสนับสนุนในการเล่น ทำให้เยาวชนและประชาชนเกิดความลุ่มหลงมอมเมา รวมทั้งการลักลอบเล่นการพนันมากยิ่งขึ้น ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน และดูเหมือนจะเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน คือ การวิพากษ์วิจารณ์ต่อการตัดสินใจผ่านร่าง พ.ร.บ.การพนัน ทั้งสองฉบับของรัฐบาลในวันนั้น โดย เฉพาะเนื้อหา จาก พ.ร.บ.ฉบับเดิมในบางประเด็นที่เชื่อกันว่า อาจจะทำให้เกิดช่องว่างเป็นส่วนสนับสนุนคนไทยสามารถเล่นกันพนันกันได้อย่างเปิดเผย และถูกหมายมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
สำหรับเนื้อหาประเด็นที่หากจะลองสรุปจากร่าง พ.ร.บ.การพนัน ที่ถูกปรับเปลี่ยนจาก พ.ร.บ.ฉบับเดิม พ.ศ.2478 ในปัจจุบัน ตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยนั้น น่าจะมีประเด็นสำคัญๆ อาทิ
- กำหนดให้หนี้การพนันที่ได้รับอนุญาตสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้
- ให้อำนาจแก่ รัฐมนตรีมหาดไทยในการออกกฎกระทรวงเพื่ออนุญาตให้มีการเล่นพนันตามบัญชี ก (จากแต่เดิมที่ห้าม) เช่น คาสิโน ให้เล่นได้โดยการออกเป็นกฎกระทรวง
- ไม่มีบทบัญญัติที่เป็นมาตรการคุ้มครองเด็ก และเยาวชนที่แตกต่างจาก พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 แต่ยังคงอนุญาตให้เยาวชนหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถเล่นพนันประเภทสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ หรือล็อตโต้ได้
- ไม่มีมาตรการควบคุม ตรวจสอบการประกอบธุรกิจพัน ไม่มีบทบัญญัติที่เป็นมาตรการในการควบคุม ตรวจสอบผู้ที่ได้รับอนุญาตว่า ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือไม่ และไม่ว่ามีมาตรการลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม
- ไม่มีมาตรการทางภาษีเพื่อควบคุมธุรกิจพนัน โดยไม่ควรใช้อัตราภาษีเดิมที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478
- แยกเรื่องการจัดให้มีการให้รางวัลเสี่ยงโชคออกจากกฎหมายพนันโดยอ้างว่ามิใช่การเล่นเสี่ยงโชคอย่างการพนันแต่เป็นกิจกรรมทางการตลาด เช่น การเล่นเสี่ยงโชคด้วยความความสั้น (SMS) ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อชิงรางวัลต่างๆ เป็นต้น
จวกยิ่งลักษณ์ตามรอยทักษิณ
การปล่อยผ่าน พ.ร.บ.การพนันทั้ง 2 ฉบับของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่ดูเหมือนจะเปิดช่องให้ธุรกิจใต้ดินบางอย่าง ขึ้นมาอยู่บนดินได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่แตกต่างกับครั้งที่หวยใต้ดิน ถูกรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดโอกาสให้มีการซื้อขายกันได้อย่างถูกต้อง รวมถึงแนวความคิดที่จะเปิดโอกาสให้มีการเปิดบ่อนคาสิโนในประเทศขึ้นมาแต่ต้องล้มพับไปเพราะถูกต่อต้านอย่างหนักเมื่อไม่กี่ปีก่อน ทำให้การมีมติครม.ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าจะเป็นการสานต่อนโยบายของอดีตรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ เพราะนอกจากประเด็นเนื้อหาที่ถูกปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันแล้ว กระบวนการของการดำเนินการแก้ไขที่กระทำโดยกระทรวงมหาดไทยซึ่งถือว่ายังไม่ได้มีการเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้อย่างกว้างขวาง และช่วงเวลาในการเร่งรีบพิจารณา ในขณะที่ประเทศกำลังประสบอุทกภัยรุนแรง จนไม่มีใครมีเวลามาสนใจในรายละเอียดเนื้อหาของการประชุมครม.มากนัก จึงถูกสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา และยังคงมีเวทีแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องแม้จะไม่เป็นข่าวคึกโครมในหน้าหนังสือพิมพ์เท่าเรื่องอื่นก็ตาม
นักวิชาการแนะเปิดถกกว้างขวาง-ชัดเจน
ในการเสวนาเรื่อง “พ.ร.บ.การพนันผ่าน – หวยถูกกฎหมาย : ชุมชนคิดอ่านอย่างไร” จัดโดยโครงการสื่อสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนสังคมปลอดพนัน ภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงศ์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อการที่ กระทรวงมหาดไทย เสนอ พ.ร.บ.การพนัน และ ..... เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. จนสามารถผ่านมติไปได้ในที่สุด ว่า แม้โดยรวมเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ...จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงในหลักการที่ยังคงมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ คือ การทำให้หนี้พันเป็นหนี้ที่ถูกกฎหมาย, การเปลี่ยนแปลงในการอนุญาตการเล่นพนันที่เคยต้องห้าม โดยออกเป็นกฎกระทรวงแทนการออกพระราชกฤษฎีกาที่ทำให้ขั้นตอนอนุญาตง่ายขึ้น และประเด็นการแบ่งเงินภาษี รายได้ให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งสังคมยังตั้งข้อสงสัย ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องรับฟังความคิดเห็นของสังคมก่อนที่จะดำเนินการใด แต่ที่ผ่านมามักจะพบว่า กระบวนการในการตรากฎหมายของไทยมีค่อนข้างมีปัญหา เพราะไม่ค่อยเปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของคนในสังคม โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบทำให้เกิดคำถามต่างๆ ทั้งนี้ในประเด็นของ พ.ร.บ.การพนัน รัฐบาลจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจน และ ไปในรูปแบบของการเดินสายกลาง คือเรียนรู้ที่จะอยู่กับการพนันเพราะ อย่างไรเสียก็คงขจัดไม่หมด แต่ต้องจำกัดขอบเขตให้เหมาะสม
วิพากษ์รัฐบาลเปิดช่อง ‘บ่อนเสรี’
ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวในเวทีเดียวกันว่า เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.พนัน พ.ศ.2478 เพราะกฎหมายเดิมล้าสมัยแต่ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้การเล่นการพนันถูกกฎหมายอย่างเสรีมากขึ้น เพราะจะเกิดผลเสียมากเกินกว่าความคุ้มค่าของรายได้ที่รัฐจะได้รับ หากเนื้อหาสาระของกฎหมาย มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การทำเรื่องการพนัน ให้เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับเรื่องการพนันจะนำความเสียหาย เดือดร้อนและทำลายสังคม แม้มีมาตรการทางกฎหมายที่จะลงโทษควบคุม แต่ข้อเท็จจริงพบว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายของไทยอ่อนแอ ดังนั้นจึงมีกฎหมาย แต่ก็จะไม่สามารถควบคุมปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดจากการพนันได้อยู่ดี ดังนั้นจะนำไปสู่ปัญหาที่หนักหน่วงมากขึ้น ที่สำคัญเชื่อว่าการพนันเป็นปัญหาต่อสังคมมากกว่าปัญหายาเสพติด
“สังคมไทยควรจะมีความเป็นตัวของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีนโยบายเรื่องการพนัน เช่น การเปิดบ่อนการพนันตามประเทศเพื่อนบ้าน เราทราบว่าเพื่อนบ้านมีการเปิดให้มีการเล่นพนัน เราทราบว่าเขาอนุญาตให้เปิดบ่อนได้ แต่เราไม่ทราบหรือไม่สนใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนของเขา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเคยเห็นว่ามีคนไทยไปเป็นลูกค้าในบ่อนประเทศกัมพูชาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปินส์ มีแต่คนขับรถแท็กซี่เล่นจำนวนมาก ผมเห็นแต่ความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งไม่คุ้มค่ากับรายได้ที่รัฐจะได้รับแน่นอน” รศ.ดร.วรากรณ์ แสดงความคิดเห็น
ดร.วรากรณ์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การออกกฎหมายให้หนี้พนันเป็นหนี้ถูกกฎหมายจะนำไปสู่ปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ อาจจะทำให้เกิดช่องทางการตลาดของสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อสำหรับการเล่นพนัน ซึ่งจะทำให้การเล่นพนันขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และ ปัญหาการฟอกเงินของธุรกิจผิดกฎหมาย เงินทุจริตของนักการเมือง
ผลประโยชน์ตกกับพวกการเมือง-ขรก.
ในส่วนของสื่อมวลชนเองได้นำเสนอข่าว และบทความวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้อย่างกว้างขวางเช่นกัน โดยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันการที่ ครม.ยิ่งลักษณ์ นำพ.ร.บ.การพนันขึ้นมาพิจารณาในช่วงประเทศเกิดวิกฤตินี้น่าจะเป็นแรงผลักดันมากจากฝ่ายการเมือง ซึ่งเชื่อว่ากันหากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การพนันฉบับใหม่ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ย่อมตกอยู่ที่กลุ่มก้อนทางการเมืองทั้งสิ้น เพราะ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานค่อนข้างมากต่อการพิจารณาเรื่องของการพนัน ซึ่งอาจจะเป็นตำรวจหรือฝ่ายปกครอง ที่เกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมือง และย่อมเป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่อาจจะไม่สามารถประมาณการณ์ได้ ดังนั้นการปล่อยร่างพ.ร.บ.การพนันผ่านฉลุยของรัฐบาลในขณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา และหากถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายหลายฝ่ายจึงเป็นห่วงว่า อาจจะทำให้สถานการณ์การพนันในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันรุนแรงอยู่แล้วจะรุนแรงขึ้นไปอีกหรือไม่ จึงยังเป็นคำถามที่รัฐบาลจะต้องให้คำตอบที่ชัดเจนกับสังคมต่อไป
การนำเสนอข่าว “เจาะลึกพนันบอล” ของศูนย์ข่าว TCIJ อย่างต่อเนื่องตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ถ่ายทอดมุมมอง สถานการณ์ความรุนแรง ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ภายหลังการพนันชนิดนี้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก และกำลังค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเงียบๆ ในยุคที่โลกทั้งโลกอยู่ใกล้กันเพียงแค่นิ้วมือคลิก โดยหวังว่าประเด็นการพนันบอล จะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง และถูกให้ความสำคัญอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างชัดเจนและจริงจัง อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะไม่สามารถทำให้การพนันหมดไปจากสังคมไทยได้ แต่หากสามารถลดจำนวนนักพนันหน้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนลงได้ ก็น่าจะเป็นการบรรลุเป้าหมายสำคัญได้ส่วนหนึ่งแล้ว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ