กรมชลฯรับ‘เขื่อนแม่วงก์’แก้น้ำท่วมไม่ได้ ปัดไม่ตอบอีไอเอไม่เสร็จ-ลักไก่เข้าครม. อ้างแบบเก่าเสียป่าน้อย-ขยายพื้นที่เกษตร

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 24 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2738 ครั้ง

 

การอนุมัติสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นข้อถกเถียงขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทย หลังจากโครงการดังกล่าวถูกพับเก็บไปเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลของความไม่คุ้มค่า แต่ล่าสุดกรมชลประทานยังเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วม และขยายพื้นที่การเกษตร ทั้งที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เคยถูกตีกลับมาแล้ว ทำให้องค์กรด้านการอนุรักษ์ต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่ และป้องกันน้ำท่วมได้จริงตามคำกล่าวอ้างหรือไม่ และมองว่าน่าจะมีทางออกในการบริหารจัดการน้ำแบบอื่นที่นอกเหนือจากการสร้างเขื่อน

ศูนย์ข่าว TCIJ จึงติดตามนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้าน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งหาสาเหตุที่กรมชลประทานหยิบโครงการเขื่อนแม่วงก์ กลับมาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

 

กรมชลฯอ้างกันน้ำท่วม-มีน้ำใช้หน้าแล้ง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ ศูนย์ข่าว TCIJ  เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการเขื่อนแม่วงก์ ว่า  ประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง คงต้องบอกว่า ในการสร้างอ่างเก็บน้ำทุกอ่างของกรมชลประทาน จะต้องเป็นอ่างเก็บน้ำแบบอเนกประสงค์ คือจะต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง สิ่งแรกคือ ประโยชน์ทางการเกษตร สำหรับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ ประโยชน์ข้อที่สองคือการบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งจุดประสงค์ทั้งสองข้อนี้เป็นความชัดเจนอยู่แล้วในการสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือที่เรียกว่าเขื่อน ในกรณีของอ่างเก็บน้ำแม่วงก์นี้ มีจุดประสงค์ชัดเจนทั้งสองข้อคือ แก้ปัญหาในช่วงฤดูแล้งที่มีพื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ เนื่องจากแม้ว่าจะมีฝายเก็บน้ำที่ชาวบ้านสร้างไว้เพื่อเก็บกักน้ำ แต่ก็ไม่มีระบบส่งน้ำทำให้น้ำส่งไปไม่ถึง ในขณะที่ในฤดูฝนมีฝนตกลงมาในปริมาณมาก แต่ไม่มีอ่างกักเก็บน้ำมีเพียงฝายเล็กๆ ทำให้น้ำหลากลงมาท่วมพื้นที่กว่า 300,000 ไร่ ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน อ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนแม่วงก์ จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ และยังจะใช้เป็นน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ใกล้เคียงอีกด้วย

 

“หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า ในฤดูฝนที่ฝนตกมาก น้ำจะขึ้นแบบพรวดพราดทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่อย่างรวดเร็ว หากมีอ่างเก็บน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ พื้นที่บริเวณใต้อ่างจะลดปริมาณน้ำลงไป แต่อ่างเก็บน้ำแม่วงก์ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพราะมีความจุอ่างที่เก็บน้ำได้ถึงเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมด หมายถึงแม้จะมีอ่างเก็บน้ำก็จะไม่สามารถเก็บน้ำได้หมด เพราะมีน้ำจำนวนมากในฤดูฝน แต่ก็จะสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และจะมีระบบชลประทานสำหรับการทำการเกษตรอย่างแน่นอน และมีน้ำใช้ในการอุปโภค” นายสมเกียรติกล่าว

 

จุดเหมาะสม 2 จุด ในอุทยานฯ-พื้นที่ชาวบ้าน

 

สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเป็นจุดสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วงก์ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นายสมเกียรติกล่าวว่า จากการศึกษาของกรมชลประทานพบว่า จุดที่เหมาะสมสำหรับการสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวพบว่า มีจุดที่เหมาะสมอยู่ 2 แห่ง จุดแรกเป็นพื้นที่บริเวณตอนล่างของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งมีบริเวณขอบแคบ สามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี แต่มีปัญหาเรื่องการตั้งบ้านเรือนของชุมชนอยู่จำนวนมาก คือบริเวณเขาชนกัน

ส่วนอีกจุดคือเขาสบกก อยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีศักยภาพที่จะจัดการสร้างเขื่อนได้ แม้ว่าในทางวิศวกรรมจะดีไม่เท่ากับบริเวณเขาชนกัน แต่ก็เป็นทางเลือก เนื่องจากจะไม่กระทบต่อชุมชนชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ด้านล่าง แต่หากสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณนี้จะกลายเป็นแนวกันชน ระหว่างชุมชนกับผืนป่าได้ บริเวณนี้ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับจุดระบายน้ำออก แต่หากมีอ่างจะสามารถเก็บน้ำไว้ได้ แต่อาจจะต้องเสียผืนป่าจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับผืนป่าทั้งหมดในพื้นที่เขตอนุรักษ์ตะวันตกจะเสียไปประมาณ 0.12 เปอร์เซ็นต์ และหากมีน้ำแล้วก็จะเป็นจุดที่สร้างให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมา เพราะไม่ได้สร้างอยู่ในบริเวณกลางป่า และชัดเจนว่าน้ำจะทำให้พื้นที่ชุ่มชื้นขึ้น

เลือกอุทยานฯเพราะกระทบชาวบ้านน้อย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการคัดเลือกพื้นที่สำหรับการสร้างเขื่อน ใช้หลักการพิจารณาอย่างไร นายสมเกียรติกล่าวว่า กรมชลประทานได้สำรวจและคัดเลือกไว้ 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณเขาสบกก กับเขาชนกัน จากผลสำรวจและข้อเท็จจริงตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า บริเวณเขาชนกันด้านล่าง เป็นพื้นที่ทางวิศวกรรมที่ดีมาก เหมาะกับการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำได้อย่างดี แต่ปัจจุบันมีบ้านเรือนชุมชนไปตั้งอยู่มากแล้ว หากจะเข้าไปก่อสร้างก็จะทำให้เกิดผลกระทบด้านสังคมมากกว่า และเมื่อมาคำนวณในด้านต่างๆ แล้ว จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก ดังนั้นในทางเลือกที่สอง จึงต้องเลือกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่อาจจะต้องไปกระทบกับพื้นที่ป่า ในเขตอุทยานฯ ดังนั้นสองพื้นนี้มีศักยภาพและความเหมาะสมต่างกัน ด้านบนในเขตอุทยานฯ เป็นพื้นที่ที่กว้าง แบน กระทบต่อป่า ขณะที่ด้านล่างเหมาะสมด้านวิศวกรรม แต่มีปัญหาเรื่องสังคมจึงจำเป็นต้องเลือกด้านบนเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน

 

ยันจะปลูกป่าคืนให้อุทยานฯ 2 เท่า

 

นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนแม่วงก์ ที่แม้ว่าจะมีการดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้ว แต่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) กลับไม่ผ่านการพิจารณามาโดยตลอด เป็นสาเหตุมาจาก 3 เงื่อนไขด้วยกัน เงื่อนไขแรกคือ ประเด็นเรื่องของป่าไม้ ที่จะต้องสูญเสียไปจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ประเด็นนี้ต้องไปศึกษาว่า หากจะมีการสร้างเขื่อน จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไปเท่าใด ที่ผ่านมากรมชลประทานยังไม่เคยได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ ให้เข้าไปสำรวจพื้นที่จริงๆ เลย จึงได้แต่คำนวณจากภาพถ่ายทางอากาศ และใช้วิธีการประมาณการเท่านั้น ซึ่งการประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 8,000-10,000 ไร่ เมื่อยังไม่มีข้อมูลหลักฐานที่แน่ชัดเช่นนี้ จึงยังไม่เกิดความชัดเจน เพราะกรมอุทยานฯก็ต้องการที่จะทราบว่า ข้อเท็จจริงข้อมูลเกี่ยวกับการเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาหลังการสร้างเขื่อน แต่ตอนนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ไม่ได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมชลประทาน ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ เพื่อให้เข้าสำรวจในพื้นที่จริงแล้ว จึงสามารถที่จะสำรวจจำนวนป่าจริงได้ ซึ่งหากพบว่า จะต้องสูญเสียป่า 10,000 ไร่ ก็จะมีการปลูกป่าเพิ่มเติมคืนพื้นที่ให้กับกรมอุทยานฯ สองเท่าขึ้นไปนั่นคือ 25,000 ไร่ เพราะป่าบริเวณนั้นเป็นป่าเสื่อมโทรมทั้งสิ้น และเป็นบริเวณรอยต่อจุดที่เป็นขอบอุทยาน ซึ่งโครงการนี้ก็เป็นโครงการหนึ่งที่กรมชลประทาน และกรมอุทยานฯ จะได้ร่วมมือกันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

 

“เมื่อก่อนพอเราสร้างแล้ว ก็ไม่เคยจะคืนพื้นที่ป่าให้กรมอุทยานฯ แต่ตอนนี้เรามีแผนและโครงการที่จะต้องปลูกป่าและคืนป่าคืนให้ และยังให้เพิ่มมากกว่าที่สูญเสียไปด้วย ซึ่งจุดนี้จะยังเป็นบัพเฟอร์โซนระหว่างป่ากับชุมชน ป้องกันการเข้าไปทำลายป่าที่ก็ทราบกันอยู่ว่ามีอยู่จริง หลายคนถามว่า ทำไมไม่สร้างข้างล่าง มันทำไม่ได้ เพราะคนอยู่เต็มไปหมดแล้ว ถ้าไปทำมันก็กระเทือนทั้งหมด” นายสมเกียรติกล่าว พร้อมกับอธิบายต่อว่า นอกจากนี้หากพิจารณาการสร้างอ่างเก็บน้ำในจุดที่เหนือพื้นที่ขึ้นไป จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำให้กับฝายเล็กๆ จำนวนมากที่ชาวบ้านทำไว้แล้ว เพราะหากแม้จะมีฝายแต่เมื่อน้ำมามากๆ ก็จะไหลไปแบบตามมีตามเกิด เก็บได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้ามีอ่างเก็บน้ำจะสามารถกักเก็บน้ำเข้าฝาย และเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้กว้างขึ้น พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 160,000 ไร่ รวมกับพื้นที่เดิมจะอยู่ที่ประมาณ 290,000 ไร่

ยันลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้อย่างดี

 

สำหรับกระบวนการต่อไป นายสมเกียรติกล่าวว่า การศึกษาอีเอชไอเอจะแล้วเสร็จในเดือนก.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอข่าวสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป ซึ่งตอนนี้จะต้องรอดูผลของการรับฟังความคิดเห็น ที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงกับชาวบ้านว่า การสร้างเขื่อนจะกระทบอะไรบ้าง ไม่กระทบอะไรบ้าง ชาวบ้านจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งในส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มีแผนลดผลกระทบที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงมาก ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญที่ถูกวางไว้ เป็นการเพิ่มความเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหานี้เข้าไปเต็มที่ เช่นที่ผ่านมา โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีการใช้งบประมาณเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก และยังมีที่เขื่อนห้วยสโมงมีการเพิ่มความเข้มข้นเข้าไปเต็มที่ ทั้งนี้ในกรณีของแม่วงษ์จะมีการดำเนินการไปตามขั้นตอน หากพบว่าหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ปิดไม่เสนอ แต่ถ้ามีการพิจารณาร่วมกันว่าทำได้ ก็จะเดินหน้าทำต่อว่าจะต้องเตรียมการอะไรต่อไป

 

กรมอุทยานฯอยากให้ทำเขื่อนเล็กแทน

 

เมื่อถามว่าจากการหารือกับกรมอุทยานฯ มีประเด็นปัญหาหรือเงื่อนไขอื่นอีกหรือไม่ นายสมเกียรติกล่าวว่า สิ่งที่อุทยานฯห่วงคือ เรื่องของป่าที่จะหายไป ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพิจารณาร่วมกันว่า มีตรงไหนได้ที่จะปลูกทดแทนขึ้นได้ นอกจากนี้กรมอุทยานฯอยากให้สร้างเป็นเขื่อนเล็กๆ เพื่อไม่เสียพื้นที่ป่า แต่หากมีการสร้างเขื่อนเล็กๆ จะมีอันตรายมากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะหากน้ำมามากๆ เขื่อนจะรับไม่ไหว ดังนั้นจะต้องสร้างเขื่อนที่สามารถรองรับน้ำได้ ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายเขื่อนที่ถูกยกเลิกไป เพราะหากทำฝายหรือเขื่อนเล็กๆ ไปแล้ว หากไม่สามารถรับน้ำได้จะมีผลกระทบเยอะมาก และการจะทำให้ฝายขนาดเล็กกลายเป็นขนาดใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ยากมากเช่นกัน

 

‘อีไอเอ’ไม่สมบูรณ์ถูกตีกลับหลายรอบ

 

นอกจากนี้นายสมเกียรติยังอธิบายถึงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่มีการจัดทำตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า สำหรับการจัดทำอีไอเอที่ผ่านมา กรมชลประทานเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 โดยบรรจุเข้าไว้ ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อมาครม. มีมติให้กลับไปศึกษาเพิ่มเติม จึงว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาเพิ่มเติม ตั้งแต่ปี 2533 และจัดส่งรายงานให้กับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อปี 2537 คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ของสผ. มีการประชุมพิจารณาหลายครั้ง แต่ข้อมูลที่ส่งไปเป็นข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วน ทำให้มีมติออกมายาก เพราะการสำรวจไม่สามารถเข้าในพื้นที่อุทยานฯได้

อย่างไรก็ตามมีการดำเนินการไปตามขั้นตอน เมื่อถูกส่งไปที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า จะต้องศึกษาเพิ่มเติม หนึ่งในนั้นให้นำโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์บรรจุอยู่ในแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังอย่างบูรณาการ ในปี 2545 ซึ่งผลการพิจารณาของ สวล.ออกมาว่า ไม่เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กลับไปศึกษาเพิ่มเติมอีก เนื่องจากยังมีปัญหาเขย่งกันอยู่ระหว่างจุดทางเลือกที่หนึ่งกับทางเลือกที่สอง เพื่อให้เกิดความชัดเจน รวมทั้งจะต้องศึกษาแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบใหม่ นอกจากนี้ในปี 2547 กรมชลประทานยังต้องไปศึกษาทางกลยุทธ์การวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสังคม (SIA) อีก และทำรายงานกรรมสิทธิ์และสิทธิถือครองที่ดินด้วย ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการทั้งหมดแล้ว

คาดอีเอชไอเอเสร็จก.ค.แต่ต้องเดินหน้าก่อน

 

“ระยะหลังเมื่อประมาณ ปี 2553 ปรากฏว่า เราต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ด้วย เพราะเป็นโครงการที่มีมูลค่ามากกว่าร้อยล้านบาท เราก็ไปทำ ขณะที่สผ.ให้กรมชลประทาน เสนอข้อมูลเพิ่มเติมให้ชัดเจนอีกครั้งปีในเดียวกันว่า ลุ่มน้ำสะแกกรัง ต้องมีเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ ต้องมีหรือเขื่อนหรือเปล่า บริหารจัดการน้ำอย่างไร ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไรหรือไม่ เราก็ตอบชี้แจงไปแล้วจากผลการศึกษาของเรา ก็กลับมาให้เราทำรายงานเพิ่มเติมอีเอชไอเอเข้ามาใหม่ เราก็กำลังดำเนินการเกือบครบกระบวนการแล้ว ซึ่งจะเสร็จในเดือนก.ค.นี้” นายสมเกียรติระบุ

 

ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ทำรายงานอีเอชไอเอที่ผ่านมาหลายครั้งพบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ดูได้จากการที่จัดประชุมในทุกครั้ง จะมีการจัดทัพขบวนเข้ามาร่วมจำนวนมาก เพราะชาวบ้านต้องการจะเห็นการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งแต่ละขั้นตอนในการประชุมรับฟังความคิดเห็นมีผู้เข้าร่วมมากมาย ตั้งแต่ครั้งแรกเชิญชาวบ้านประมาณ 100 กว่าคน แต่มาเข้าร่วมถึง 4,000-5,000 คน เวทีที่สองที่เชิญเวทีละ 50 คน ซึ่งเป็นเวทีย่อยก็มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก และครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในเดือนก.ค.นี้ คาดว่าจะมีคนมาสนับสนุนมากเช่นกัน เนื่องจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านในหลายพื้นที่ ได้แก่ อ.แม่วงก์ อ.ลาดยาว อ,สว่างอารมณ์ และ อ.ขาณุวรลักษณ์บุรี

 

“อย่าถามผมว่า ทำไมไม่รอให้อีเอชไอเอทำเสร็จก่อนค่อยดำเนินการ อันนี้ผมไม่ตอบ ซึ่งหากรายงานอีเอชไอเอเสร็จสิ้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการของสผ.ตามปกติ” นายสมเกียรติกล่าว

 

เผยชื่อบริษัทจัดทำอีเอชไอเอ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ที่ทำเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ นายสมเกียรติกล่าวว่า เอชไอเอจะทำเสร็จในเดือนก.ค.นี้  ตอนนี้มีเพียงการศึกษาครั้งเดิม ซึ่งอีเอชไอเอที่ทำอยู่ในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะไปทำพับลิครีวิว (การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2) ซึ่งจะมีข้อเท็จจริงต่างๆ ไปแสดงให้เห็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องพื้นที่ป่า ที่ในอดีตยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เพราะเข้าพื้นที่ไม่ได้ แต่ตอนนี้เข้าได้ก็จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า พื้นที่ป่าเท่าไหร่ที่ต้องใช้ ซึ่งการเข้าไปสำรวจในพื้นที่นี้มีการขออนุญาตจากกรมอุทยานฯ เรียบร้อย การสำรวจจะต้องมีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ประกบเข้าไปด้วย สามารถเปิดเผยข้อเท็จจริงเพื่อนำมายืนยัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการดำเนินการจัดทำรายงานต่างๆ นั้นมีบริษัทใดเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการจัดทำอีเอชไอเอ ล่าสุดนั้น บริษัทที่ดำเนินการได้แก่ บริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา ที่เข้ามาจัดทำรายงานของโครงการเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเปลี่ยนผู้จัดทำรายงานฯ มาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำอีไอเอ ต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนมาถึงบริษัทครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด ดังกล่าว  ที่จะนำข้อมูลข้อเท็จจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณชน  โดยสิ่งที่กรมชลประทานต้องการที่สุดคือ ต้องการให้ข้อเท็จจริงอกมาอย่างชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้มีแต่การเดากันว่า สัตว์ป่ามีเท่าไหร่ ป่ามีเท่าไหร่ ป่าเป็นอย่างไร เมื่อก่อนไม่รู้แต่ใช้เทคโนโลยีสืบค้นแทน เมื่อสามารถทำได้ชัดเจนตอนนี้ก็ต้องเอาข้อมูลออกมาให้ได้ ซึ่งได้มีการกำชับกับบริษัทที่จัดทำไปว่าไม่ต้องเกรงใจ ให้ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะตอนนี้ทุกคนอยากจะรู้

 

“ถามว่าหนักใจหรือไม่ ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ตอนนี้ยังมีอีก 3 โครงการที่ยังมีปัญหา คือ เขื่อนชีบน เขื่อนห้วยสโมง เขื่อนคลองหลวง เราบอกกับที่ปรึกษาว่า ให้ผลออกมาอย่างเป็นข้อเท็จจริง ไม่ต้องเกรงใจให้ทำอย่างถูกต้องให้เอาข้อเท็จจริงออกมา ซึ่งสิ่งที่เห็นปัจจุบันเราดีใจคือ คนในพื้นที่สนับสนุน ซึ่งเราก็ต้องเอาข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาให้คนในพื้นที่ดู มีหลายที่ที่เขาไม่เห็นด้วยต้องม้วนเสื่อกลับมาก็มี มันก็ขึ้นอยู่กับเขา แต่เราดีใจว่าที่นี่เราได้รับการสนับสนุน เราก็เขียนรายงานเข้าไปว่า ผลมันออกมาอย่างนี้ เขาต้องยอมรับผลว่า สร้างแล้วเป็นแบบนี้ ไม่สร้างจะเป็นแบบนี้ก็ว่าไป ถ้าเขายอมรับอะไรก็ว่ากันไปตามผลข้อเท็จจริง” นายสมเกียรติกล่าว

เขื่อนก็ไม่ได้ช่วยน้ำท่วมได้ร้อยเปอร์เซนต์

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากข้อมูลระบุว่า พื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงกันมีอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนอื่นๆ อยู่แล้ว เช่นเขื่อนทับเสลา เหตุใดจะต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นอีก นายสมเกียรติกล่าวว่า เขื่อนทับเสลาเป็นเขื่อนที่อยู่คนละลุ่มน้ำ โดยเขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองโพธิ์ ทั้งนี้ในพื้นที่บริเวณนั้น มีลุ่มน้ำอยู่ 3 ลุ่มน้ำย่อยด้วยกัน คือ คลองโพธิ์ ทับเสลา และลุ่มน้ำแม่วงก์ ซึ่งในส่วนของ ลุ่มน้ำคลองโพธิ์และทับเสลา ไม่เกี่ยวกับลุ่มน้ำแม่วงก์ โดยคลองโพธิ์จะวิ่งไปรวมกัน ในลักษณะคล้ายกับ แม่น้ำปิง วัง ยม น่านในภาคเหนือ หากจะเปรียบเทียบ ลุ่มน้ำแม่วงก์เป็นแม่น้ำปิง ทับเสลาก็จะเหมือนกับแม่น้ำวัง คลองโพธิ์ เป็นแม่น้ำยม แบบนี้เป็นต้น

ซึ่งถามว่าเขื่อนแม่วงก์จะมาช่วยได้ตรงไหน คำตอบก็คือในพื้นที่ของแม่วงก์เองจะได้รับประโยชน์เต็มๆ คือรับน้ำไว้เต็มๆ และจะยังเป็นส่วนการควบคุมหนึ่งของลุ่มน้ำคลองโพธิ์และทับเสลาด้วย เพราะจะทำให้มีเครื่องมือในการควบคุมโดยไม่ต้องรับแบบเต็มๆ เหมือนที่ผ่านมา จุดสำคัญคือต้องการเบรกน้ำไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การสร้างเขื่อนแล้วจะสามารถช่วยได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าหากน้ำมามากเหมือนปีที่แล้วก็จะช่วยบรรเทา ซึ่งน้ำมากๆ แบบนั้นก็ไม่ได้มีทุกปี

 

ยอมรับไม่ได้ช่วยแก้น้ำท่วมภาคกลาง-กรุงเทพฯ

 

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นการดำเนินการที่ไม่คุ้มค่า เพราะจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลาง นายสมเกียรติกล่าวว่า การคิดโยงประโยชน์ของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ลงมาพื้นที่ภาคกลาง เป็นการมองเข้าใจแบบผิด ที่จะคิดว่าสร้างแล้วจะทำให้น้ำภาคกลางไม่ท่วม เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ ซึ่งตนอยากให้มองภาพชัดๆ เช่น การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ประโยชน์มาไม่ถึงกรุงเทพฯแน่ แต่คนสุโขทัยจะได้รับประโยชน์เต็มๆ เขื่อนแม่วงก์ก็เหมือนกัน เพราะที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่น้ำท่วมเหมือนกัน เมื่อสร้างเขื่อนคนที่จะได้รับประโยชน์ก็คือคนในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามีแม่วงก์แล้วจะช่วยได้ทั้งหมดพื้นที่ภาคกลาง แต่มันเป็นการช่วยบรรเทาในจุดน้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคียงด้านล่างๆ ลงมา เพราะน้ำที่ท่วมพื้นที่ภาคกลางที่ไหลไปสมทบที่เจ้าพระยา ส่วนหนึ่งมาแม่น้ำสะแกกรัง แม่วงก์ คลองโพธิ์ ทับเสลา

ดังนั้นถ้าเราจัดการแม่น้ำ 3 สายนี้ได้ดีก็จะบรรเทาไปได้ ทั้งนี้ ไม่อยากให้มองแค่มิติของน้ำท่วมอย่างเดียว แต่ต้องมองในมิติของช่วงน้ำแล้งด้วย เพราะหากเป็นเรื่องน้ำท่วม ตรงนี้ช่วยไม่ได้อยู่แล้วมันเล็กน้อยมาก ถ้าเทียบกับปริมาณน้ำที่มาเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร แต่เขื่อนจุดได้เพียง 235 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ถือว่าเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว ถึงอย่างไรก็ช่วยได้ไม่มากนักเป็นแค่น้ำจิ้ม แต่จุดประสงค์คือการต้องการลดผลกระทบ และบรรเทาเหตุน้ำท่วมในพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำสะแกกรังกับเจ้าพระยาเป็นสำคัญ

 

เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 14 เปอร์เซนต์

 

นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า สิ่งที่จะต้องพิจารณาอีกก็คือ การศึกษาเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่กับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ว่าสูญเสียไปเท่าไหร่ ซึ่งมีพารามิเตอร์หลายตัว ที่จะมาคิดวิเคราะห์ระหว่างความสูญเสียกับประโยชน์ที่จะได้รับ กับความสูญเสียที่เราสามารถรองรับและแก้ไขได้ ที่ผ่านมากรณีน้ำท่วมอาจจะเห็นได้ชัดจากความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจ และความสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อม มันเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หากมีอ่างเก็บน้ำถามว่า สูญเสียสิ่งแวดล้อมหรือไม่ คำตอบคือยอมรับว่ามี แต่จะมีวิธีการแก้ไข และลดผลกระทบอย่างไรบ้าง ต้องลดความสูญเสียด้วยการปลูกเพิ่มเติมให้มากว่าเดิม กรณีของสัตว์ป่าก็มีการอพยพไปสู่ด้านบน ทั้งนี้การวัดมีอยู่หลายปัจจัย ซึ่งตนมั่นใจว่า การสร้างเขื่อนมีทั้งได้และเสีย แต่ต้องดูว่าเราจะเทรดมันอย่างไร อย่ามองเพียงมุมใดมุมหนึ่ง เมื่อวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ เรามองว่ามันได้อยู่ จากการศึกษาพบว่า มีถึง 14 เปอร์เซนต์ที่จะได้เพิ่มจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในพื้นที่

 

“มีคำถามอีกว่า แล้วทำไมเมื่อก่อนทำไม่ได้ ก็ต้องบอกว่า เมื่อก่อนปัญหายังไม่รุนแรง คนยังมองไม่เห็นว่าความเดือดร้อนมันเป็นอย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาสุกงอม แม้ว่าที่ผ่านมาเคยมีความพยายามในการแก้ไขมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำฝายขนาดเล็ก ที่ทำแล้วแต่ทำแล้วก็ไม่มีน้ำ ทำวิธีการต่างๆ แต่ทำแล้วก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ ตอนนี้ปัญหามันสุกงอม ได้เวลาของมันขณะที่หลายอย่างประกอบกันจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง” นายสมเกียรติอธิบาย

งบ 13,000 ล้าน จัดการสวล.560 ล้าน

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงงบประมาณของโครงการกว่า 13,000 ล้านบาท นายสมเกียรติกล่าวว่า ขณะนี้มีงบประมาณทั้งสิ้น 13,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงบประมาณด้านการจัดสร้างตัวเขื่อน 4,000 ล้านบาท การดูแลสิ่งแวดล้อม 560 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการจัดการเรื่องระบบและการบริหารจัดการ ซึ่งในส่วนของงบประมาณด้านการจัดการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณมากขึ้น แม้จะยังไม่ใช่การใช้งบประมาณมากที่สุด เพราะที่ใช้มากที่สุดคือโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่การเพิ่มความเข้มข้นด้านการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจและใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นไปตามความจำเป็นของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ใช้ข้อเท็จจริงต่อสู้กลุ่มคัดค้าน

 

สำหรับปัญหาการคัดค้านต่อต้านที่กำลังเป็นกระแสเกิดขึ้นในขณะนี้ นายสมเกียรติกล่าวว่า กรมชลประทานจะนำข้อเท็จจริงเข้าไปต่อสู้ ที่จะต้องเอาออกมาให้ทุกฝ่ายเห็น และสิ่งที่จะต้องนำมาเปิดเผยอีกได้แก่ ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมด ที่หลายอย่างจะยังไปไม่ถึง เช่น พับลิครีวิว (การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2  หลังจากมีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นแล้ว เพื่อจะทราบว่ามีข้อมูลประเด็นใดบ้างที่ยังไม่มีการศึกษาหรือศึกษาไม่ครบถ้วน) การผ่านขั้นตอนพิจารณาต่างๆ ที่จะต้องไปพิสูจน์ให้เห็นว่า มีการดำเนินการอย่างไร ส่วนสิ่งที่คนเป็นห่วงกันเรื่องของระบบนิเวศ จะต้องนำข้อมูลมาเปิดเผยด้วยเช่นกัน โดยเป็นการนำงานวิจัยที่กรมชลประทานเคยทำไว้ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ซึ่งผลวิจัยระบุอย่างชัดเจนว่า หลังการเกิดเขื่อนพบว่า ระบบนิเวศในบริเวณนั้นดีขึ้นมาก มีการคืนกลับมาของสิ่งมีชีวิตหลายอย่าง และยังมีการค้นพบนกอ้ายงั่ว นกหายากออกมาหากินในผืนป่า ซึ่งพบถึง 6 ตัวด้วยกัน และยังพบร่องรอยสัตว์ป่าลงมาหากินอีกด้วย

 

“ตอนนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยน กระแสเปลี่ยน เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าถ้าอะไรสร้างผลกระทบ มันจะกระทบวันยังค่ำ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะมีการบริหารจัดการแก้ไขหลายอย่างที่ดีขึ้น และ สผ.จะเป็นหน่วยงานที่คอยติดตามการทำงานของเรา หากมีอะไรผิดนิดหน่อยก็จะถูกท้วงติงแล้ว” นายสมเกียรติกล่าว

 

มั่นใจ‘เขื่อนแม่วงก์’เกิดได้แน่

 

เมื่อถามว่า จากการประเมินคิดว่าเขื่อนแม่วงก์มีโอกาสที่จะเกิดได้มากน้อยแค่ไหน นายสมเกียรติกล่าวอย่างมั่นใจว่า มองว่าโอกาสที่จะเกิดเขื่อนแม่วงก์มีความเป็นไปได้ เพราะจากการทำงานลงในพื้นที่พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนล้วนแต่เดือดร้อนจริงๆ ทำให้มีความต้องการเขื่อนสูงมาก ทำให้โครงการนี้ถูกจัดเข้าสู่แผนพัฒนาลุ่มน้ำมาหลายปี แต่ที่มายังไม่สามารถเดินหน้าโครงการนี้ แต่เชื่อว่าเหตุผลสำคัญคือยังไม่ถึงเวลา และความเดือดร้อนก็ยังไม่ถึงขั้นเพียงพอ ที่จะทำให้คนรู้ว่าความสำคัญและประโยชน์คืออะไร แต่มาถึงวันนี้ต้องยอมรับแล้วว่า ถ้าไม่ทำมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งจากการเสียโอกาสในการทำมาหากิน ส่งผลทางเศรษฐกิจ เพราะน้ำท่วมเสียหายทำอะไรไม่ได้ ซึ่งเป็นภาพที่เห็นชัด และน้ำที่ลงมามากก็สูญเสียไปโดยใช่เหตุ รวมไปถึงช่วงเวลาน้ำแล้งก็ทำอะไรไม่ได้เช่น ซึ่งถ้าเทียบกับโครงการแก่งเสือเต้น นับว่าโครงการนี้ง่ายกว่าและมีโอกาสเกิดได้มากกว่า ทั้งเรื่องขนาด ผลกระทบอื่นๆ และเชื่อว่าหากมีการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้ เขื่อนแม่วงก์ก็น่าจะมีรูปร่างขึ้นมาได้ไม่ยากนัก

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: