คนน้ำโขงจี้หยุด'เขื่อนไซยะบุรี' หวั่นกระทบวิถีชีวิต-พันธุ์ปลา

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 24 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2022 ครั้ง

 

เมื่อเวลา 9.00 น.วันที่ 24 เม.ย. ชาวบ้านเครือข่ายน้ำโขงจากภาคเหนือและอีสาน นำโดย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ พร้อมตัวแทนชาวบ้าน ซึ่งเดินทางจาก จ.เชียงราย,จ.หนองคาย,จ.เลย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.อำนาจเจริญ และ จ.มุกดาหาร เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่บริษัท ช.การช่าง ซ.อินทามระ 37 ถ.สุทธิสาร กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสื่อ กรณีผู้การลงนามสัญญาก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี กับบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ (ลาว) โดยระบุการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดมติที่ประชุม MRC ที่ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงหารือกันเมื่อเดือนธันวาคม 2554 ที่ระบุว่าจะต้องมีการจัดทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม

ทั้งนี้กลุ่มผู้คัดค้านได้กล่าวแถลงการณ์บริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่  โดยมีเนื้อหาระบุว่า ขอ ประณามการฝ่าฝืนมติ MRC ของบริษัท ช.การช่าง กรณีเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี:ซึ่ง ตามที่บริษัท ช.การช่าง ได้ลงนามกับบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ เพื่อลงทุน ก่อสร้าง และพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขงสายหลัก และวางแผนที่จะส่งไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทยนั้น เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จ.เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่ได้ติดตามกรณีการพัฒนาโครงการในแม่น้ำโขงมาตลอด มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี  

ทั้งนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงมองว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อ ระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง การอพยพของพันธุ์ปลา การประมง การเกษตร และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขง ที่มีแม่น้ำโขงเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต อันจะส่งผลไปสู่การบังคับให้อพยพย้ายถิ่น และการขาดแคลนอาหาร ตลอดทั้งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงดินแดนของประเทศด้วย

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับรู้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน 4 แห่ง ในประเทศจีน ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบน ที่แม้จะอยู่ห่างไกลกว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี แต่ได้สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างชัดเจน หากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีสำเร็จ จะเกิดผลกระทบไม่เพียงแต่ประชาชนในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อ ประชาชนริมแม่น้ำโขงในลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงคนริมฝั่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีจะทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขงหลายล้านคน เป็นความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง กว้างขวาง และไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้

ที่สำคัญการเดินหน้าก่อสร้างโครงการของ บริษัท ช.การช่าง ได้ละเมิดมติคณะมนตรีแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ซึ่งสมาชิก 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง อันได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ประชุมกัน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ที่ประเทศกัมพูชา โดยที่ประชุมมีมติให้ทำการศึกษาชิ้นใหม่ เพื่อประเมินผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงอย่างรอบด้าน และ 4 ประเทศสมาชิกเอ็มอาร์ซียังไม่ให้ฉันทามติ ต่อการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี แต่อย่างใด ซึ่งการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี การดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว จึงละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคได้ในระยะเวลาอันใกล้เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงขอเรียกร้องให้

1          บริษัท ช.การช่าง หยุดโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที พร้อมทั้งระงับการก่อสร้างในพื้นที่ จนกว่าการศึกษาผลกระทบของเอ็มอาร์ซี จะแล้วเสร็จ มีการเผยแพร่ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน และมีส่วนร่วม

2          การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากโครงการยังไม่ได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิก MRC ทั้ง 4 ประเทศ

3          ธนาคารกรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ ระงับและยกเลิกการปล่อยเงินกู้เพื่อการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เพื่อหยุดสนับสนุนการลงทุนที่ฉวยโอกาสจากประเทศเพื่อนบ้าน

4          ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียน ให้คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อแม่น้ำโขงที่ไหลอย่างอิสระ หล่อเลี้ยงผู้คนแห่งสุวรรณภูมิสืบต่อไป

ทั้งนี้ต่อมาได้มีผู้แทนของ บริษัท ช.การช่าง เดินทางลงมารับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งภายในระบุว่า ที่ผ่านมา บริษัท ช.การช่าง มีความพยายามยั่วยุและกระพือความขัดแย้งในพื้นที่ให้สูงขึ้น โดยพยายามให้ข้อมูลด้านบวกของโครงการเพียงด้านเดียว จะเห็นได้จากการพาผู้บริหารขององค์กรด้านสื่อสารมวลชนบางองค์กรไปเลี้ยงดูปูเสื่อในประเทศลาว เพียงเพื่อให้สื่อมวลชนเหล่านั้นเขียนเชียร์โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้ยากลำบากขึ้น ดังนั้นบริษัทฯ จึงควรหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ และ เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และกลายเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งในภูมิภาค กลุ่มผู้คัดค้านคาดหวังว่า บริษัทจะไม่คำนึงถึงผลประโยชน์เชิงธุรกิจของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยทำลายวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงกว่า 60 ล้านคน ที่สำคัญคือ ควรเคารพภูมินิเวศน์ วัฒนธรรมของชุมชน เพื่อให้สังคมสุวรรณภูมิอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากยื่นหนังสือให้กับตัวแทนบริษัท ช.การช่างแล้ว คณะทั้งหมดยังได้เดินทางต่อไปยัง อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ถ.พหลโยธิน เพื่อยื่นหนังสือกับตัวแทนธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนเงินกู้ในการดำเนินการโครงการดังกล่าวด้วย โดยระบุว่า ตามที่มีข่าวว่าธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับอีก 3 ธนาคาร ให้การสนับสนุนด้านการเงินโครงการเขื่อนไซยะบุรี แก่บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อผลิตไฟฟ้า และวางแผนที่จะส่งไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย ซึ่งในฐานะธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย กลุ่มผู้คัดค้านจึงอยากจะขอให้ธนคารไทยพาณิชย์คำนึงถึงธรรมภิบาลขององค์กร ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และยึดมั่นในหลักจริยธรรม โดยขอให้ระงับการสนับสนุนด้านการเงินโครงการเขื่อนไซยะบุรี เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และกลายเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งในภูมิภาคต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: