สถิติจากงานวิจัยของดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เมื่อปี 2544 ระบุว่า มีคนไทยเล่นหวยใต้ดินมากถึง 23.7 ล้านคน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นหรือปลุกเร้าให้คนหันมาเสี่ยงโชค หรือหวังรวยทางลัดนั่นคือ ความเชื่อในเรื่องโชคลางที่มีอยู่เดิมในสังคมไทย โดยมีสื่อมวลชนเป็นตัวกระตุ้นซ้ำหรือกระพือให้เกิดความคาดหวังมากขึ้น จนกลายเป็นสิ่งมอมเมาไปในที่สุด จะเห็นได้จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่มักให้ความสำคัญกับเรื่องประหลาด สิ่งแปลกปลอม เรื่องอาถรรพ์ ฯลฯ อยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ข่าวแมวมีลายคล้ายเลขบริเวณใต้ลำตัว ที่อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ข่าวต้นกล้วยออกลูกพร้อมกัน 3 เครือ ที่อ.พาน จ.เชียงราย ข่าวจรเข้หลวงปู่คำ จ.ชัยภูมิ ข่าวชาวบ้านจ.นครสวรรค์ พบปลาหมอสีทองในนาข้าว ข่าวผึ้งทำรังขนาดใหญ่ในบ้านอ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ และล่าสุดข่าวลูกกรอกเฮี้ยน บนสน.พลับพลาไชย 2 กรุงเทพฯ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ในทางวิทยาศาสตร์อาจถูกมองว่าเป็นความบังเอิญ แต่ในเง่ของคนเล่นหวยแล้วกลับมองเป็นเรื่องของโชคลาภ เมื่อสื่อมานำเสนอยิ่งกระตุ้นและสร้างความคาดหวังให้กับคนเล่นหวยมากยิ่งขึ้น โดยสื่ออาจมองเพียงว่าเป็นการตอบสนองต่อผู้บริโภคข่าวสาร แต่ในทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์กลับมองอีกมุมและคิดว่าสิ่งที่สื่อทำเป็นความเกินเลยในหน้าที่ และทำให้จริยธรรมของสื่อบิดเบี้ยวไป
สื่อมวลชนแหล่งข้อมูลตีเลขเด็ด
จากรายงานการวิจัย เรื่อง “พฤติกรรมการเล่นและเครือข่ายการสื่อสารของผู้เล่นหวยใต้ดิน” ที่ ชวนวล คณานุกูล ศึกษาพบว่า กลุ่มผู้เล่นหวยที่ใหญ่ที่สุดคือ ชาวบ้านที่มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง โดยอาศัยแหล่งข้อมูลในการหาเลขเด็ด 9 แหล่ง คือ สิ่งผิดธรรมชาติ พระสงฆ์ เกจิอาจารย์ ความฝัน เหตุการณ์รอบตัว เอกสาร ญาติพี่น้อง เพื่อนและนักเล่นหวยคนอื่น รวมถึง สื่อมวลชน
งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ถึงการหาข้อมูลเพื่อนำมาตีเลขด้วยว่า อาศัยการสื่อสารทั้งสิ้น 4 ระดับ คือการสื่อสารภายในตัวบุคคล เช่น การตีความ การสื่อสารระหว่างบุคคล เช่น การตอบโต้กันระหว่างพระสงฆ์กับนักเล่นหวย การสื่อสารแบบกลุ่ม เช่น การแนะนำหาเลขเด็ด หรือช่วยกันตีความในกลุ่มนักวิเคราะห์หวย รวมถึงสื่อสารมวลชน
ซึ่งการสื่อสารทั้ง 4 ระดับ พบเห็นได้ในสื่อมวลชนแทบทั้งสิ้น โดยนักเล่นจะผนวกการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือสื่อสารภายในตัวเอง ตีความก่อน จากนั้นจึงสื่อสารเป็นกลุ่ม เช่น อาศัยข้อมูลจากเจ้ามือหวยใต้ดิน คนเดินโพย คนเขียนหวย นักเล่นหวย หรือแม้แต่ข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ใบ้หวย อาทิ รายการโทรทัศน์ใบ้หวยที่เห็นได้ในสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม หรือเคเบิ้ลทีวีช่องต่างๆ รวมไปถึงการพิมพ์นิตยสารใบ้หวยรายปักษ์ หรือราย 15 วัน
นักวิชาการวิเคราะห์สื่อชี้ช่องหนุนคนเล่นหวย
ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชนกับการนำเสนอข่าวหวยและการออกนิตยสารใบ้หวยว่า การนำเสนอข่าวหวย มีลักษณะชี้ช่องทางให้ประชาชนตามต่อ อาทิ การนำเสนอภาพข่าว หรือรายละเอียดของรถยนต์ ป้ายทะเบียนรถของบุคคลสำคัญ ในกรณีต่างๆ โดยเฉพาะรถป้ายแดง สื่อจะใช้ลักษณะการซูมกล้องเข้าไปให้เห็นตัวเลข เพื่อให้คนจดจำ รวมถึงตัวพิธีกร หรือผู้เล่าข่าวพูดย้ำแล้ว ย้ำอีก เพื่อให้ประชาชน คนดูรู้สึกให้ความสำคัญและให้ความสนใจ
ดร.นิษฐากล่าวว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ หรืออุบัติเหตุ ช่างภาพจะโคลสอัพป้ายทะเบียนรถ ซึ่งการนำเสนอข่าวอุบัติเหตุมีหลายมุมให้นำเสนอ แต่ทางช่างภาพกลับเลือกนำเสนอป้ายทะเบียนรถ รวมทั้งกรณีอื่นๆ ที่สื่อมักนำเสนอสิ่งแปลกประหลาดทั้งต้นไม้ สัตว์ เช่น ตุ๊กแก ต้นกล้วยออกลูก โดยนำเสนอแบบเน้นย้ำไม่ใช่การรายงานข่าวธรรมดา คือพยายามชูความสำคัญของตัวเลข เช่น การระบุวันที่เกิดเหตุ เวลา บ้านเลขที่ หากสังเกตดูจะพบว่า คนดูรู้สึกได้ถึงการให้ความสำคัญเรื่องตัวเลข เหมือนจะชี้ช่องหรือบอกนัยๆ อีกทั้งเป็นการนำเสนอผ่านรายการข่าว ทำให้รู้สึกว่าน่าเชื่อถือ กลายเป็นการสนับสนุนให้คนนำเลขสำคัญเหล่านั้นมาเล่นพนัน และแทงหวย
สื่อทำเกินหน้าที่-มอมเมาคนเล่นหวย
อย่างไรก็ตามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น หากมองข้ามผ่านอาจเป็นเรื่องปกติธรรมดา เนื่องเพราะคนไทยมีความเคยชินกับการนำเสนอข่าวสารหรือภาพข่าวในลักษณะดังกล่าว และการเล่นหวยที่อยู่ในปกติวิสัย แต่หากมองในเชิงวิชาการด้านนิเทศศาสตร์สิ่งเหล่านี้กลับขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ดร.นิษฐาระบุว่า ทฤษฎีนิเทศศาสตร์จะมีทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ของสื่อมวลชน (Structural Functionalist Approaches) ซึ่งหมายความว่า สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่ได้รับความคาดหวัง ว่าจะทำหน้าที่อะไรบ้างให้กับปัจเจกบุคคลในสังคม มีบทบาทในการให้ข้อมูลข่าวสาร หากสื่อทำหน้าที่ดังกล่าวตามบทบาทหน้าที่ที่คาดหวังได้ นั่นคือ สื่อที่ทำงานได้ตามเป้าหมายหรือตรงตามวัตถุประสงค์ของวิชาชีพ แต่หากสื่อทำหน้าที่ที่เกินเลยไปจากความคาดหวัง ในที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ที่ผิดพลาดหรือล้ำเส้น ขณะที่สื่อปัจจุบันกำลังทำเกินหน้าที่ ไม่ได้รายงานข่าวธรรมดา แต่เป็นการเติมความฝัน ความหวังก้าวข้ามสถานะยากจนของคน
สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องที่เสียหายหรือเกินเลยหน้าที่ เช่น ในกรณีข่าวหวย สื่อทำหน้าที่ที่เกินจากการรายงานข่าวสารข้อมูล เพราะสื่อกำลังชี้ช่องในเรื่องของเลขเด็ดที่จะนำไปตีความ และนำไปแทงหวย ทำให้การแทงหวยซึ่งเป็นเรื่องของการพนันขันต่อ เป็นเรื่องมอมเมาสร้างนิสัยหวังรวยทางลัด กลายเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการยอมรับว่า เป็นความปกติและธรรมดาในสังคม ทำให้วัฒนธรรมเล่นหวยเจริญเติบโตแบบไม่มีติดเบรกในสังคมไทย
ต้องรู้เท่าทันสื่อ-เข้าใจวัฒนธรรมข่าวก่อนวันหวยออก
“การรู้เท่าทัน โดยเฉพาะการอบรมบ่มเพาะหรือ cultivation คือ สิ่งที่สื่อนำเสนอเนื้อหา โดยเฉพาะในเรื่องของหวย เช่น การใบ้หวยผ่านการชี้ช่องทางให้ดูเลขเด็ดนั้นมีมาก และบ่อยครั้งในช่วงใกล้วันหวยออก ซึ่งถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน จนกลายเป็นประเด็นหลัก ที่แซงกลบเนื้อหาข่าวอื่นๆ เพราะฉะนั้นคนที่เสพสื่อมากก็จะเรียนรู้ว่า นี่คือวัฒนธรรมข่าว ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมที่จะต้องเกิด แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการกระตุ้น อยากลอง ตีเลขหวย ลุ้นให้คนอื่นซื้อหวย หรือซื้อเอง รวมไปถึงล็อตเตอรี่ จึงกลายเป็นความเคยชินของสังคมไทย ที่ถูกนำเสนอให้ปรากฏการณ์อยู่ในทุกวันนี้ ไม่เว้นแม้แต่สื่อออนไลน์ หรืออินเตอร์เน็ต ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยคนจะอัพโหลดภาพลอตเตอรี่ ขึ้นปรากฏในโซเชียลเน็ตเวิร์คช่วงเย็นของวันหวยออก เป็นต้น” ดร.นิษฐากล่าว
อย่างไรก็ตามในมุมมองของผู้รับสาร อาจมองในแง่ของ Uses and Gratifications การใช้ประโยชน์และความพึงพอใจจากสื่อได้ ซึ่งในแง่ของผู้รับสาร การเล่นหวยหรือไม่เล่น หากพูดถึงหวยหรือข่าวที่เกี่ยวข้อง อาจจะถูกนำมาตีความให้เป็นเลขหวย โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับผ่านสื่อ ทั้งนี้อาจจะได้ประโยชน์เพื่อการแทงหวยจริงๆ หรือเพียงต้องการมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ เป็นประเด็นในการพูดคุยระหว่างคนในสังคมเท่านั้น
ติงสื่อทำรายการใบ้หวยผิดจรรยาบรรณ
ซึ่งไม่เพียงแต่การทำหน้าที่แบบเกินเลยของสื่อที่ถ่ายภาพด้วยความตั้งใจ ที่จะสอดแทรกไปในเนื้อหาของข่าวสารที่นำเสนอ ให้เห็นตัวเลขต่างๆ เพื่อชี้นำ มอมเมาผู้รับข่าวสารเท่านั้น แต่สิ่งที่ปรากฏชัดเจนมากขึ้นในทุกวันนี้ คือการนำเสนอรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์หลายแห่ง หลายรายการ ที่มีการใบ้หวยหรือให้เลขเด็ดกันอย่างเปิดเผย โดยไม่ได้สนใจต่อมาตรฐานวิชาชีพ จริยธรรม หรือแม้แต่ความผิดทางกฎหมาย ซึ่ง ดร.นิษฐามองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความผิดเพี้ยนในหน้าที่ของสื่อไปแล้ว เนื่องเพราะหน้าที่ของสื่อคือ 1.การให้ข้อมูลข่าวสาร 2.ให้ความรู้ 3.ให้ความบันเทิง ซึ่งปัจจุบันการให้ความบันเทิงของสื่อ ทำให้ประชาชนรู้สึกหลบหนีกับความปวดร้าวกับความยากจน และให้ข้อมูลที่จะนำไปสู่พฤติกรรมบริโภคนิยมในทางที่ผิด และถือว่าผิดบรรทัดฐานที่ควรจะเป็น ส่วนจะผิดจรรยาบรรณหรือไม่ เป็นเรื่องชัดเจนอยู่แล้วว่า สื่อเป็นเจ้าพ่อใบ้หวย ไม่ได้รายงานข่าวแต่เพียงอย่างเดียว กลายเป็นการมอมเมาคน ทำหน้าที่ในอีกรูปแบบหนึ่ง ถือว่าสื่อทำหน้าที่ผิดบรรทัดฐาน มาตรฐานไปอย่างแท้จริง
แนะกสทช.คุมสื่อเสนอเนื้อหาใบ้หวย
ถึงแม้สื่อจะถูกมองว่ากระทำในสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณ หรือมาตรฐานแห่งวิชาชีพ แต่การควบคุมดูแลจากองค์กรวิชาชีพด้วยกันเอง หรือหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบกลับเป็นสิ่งเลือนลางเต็มที ดังจะเห็นได้จากหลายกรณีหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีสื่อที่กระทำความผิดอย่างชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่แบบเกินเลย หรือผิดวิสัยแห่งวิชาชีพ แต่องค์กรวิชาชีพกลับไม่สามารถดำเนินการใดๆได้เลย มิหนำซ้ำบางกรณีอาจถูกตอบโต้อย่างรุนแรงไปยังองค์กรวิชาชีพด้วย
ดร.นิษฐาระบุว่า กรณีนี้ต้องแบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ สื่อดูแลกันเองหรือควบคุมกันเอง ในความเป็นจริงอาจเป็นไปได้ยาก ไม่เฉพาะสื่อที่ใบ้หวยในเคเบิ้ลทีวี แต่ลุกลามไปถึงสื่อทุกประเภท ทั้งสื่อกระแสหลัก หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ฟรีทีวี หรือแม้แต่รายการข่าว ทุกวันที่ 15 หรือก่อนสิ้นเดือน ก็จะพบเห็นว่ามีการนำเสนอข่าวในเชิงอภินิหาร อัศจรรย์ หรือเป็นไปในลักษณะใบ้หวย ให้ตัวเลข
“หากสื่อจะควบคุมกันเองคงเป็นเรื่องยาก แต่จะมีการเหน็บแนมกันเองผ่านเนื้อหาข่าว ผ่านวิธีการเล่าข่าว หรือในสกู๊ปข่าว ขณะเดียวกันประเด็นหลักๆ ในการควบคุมเรื่องดังกล่าวคิดว่าน่าจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับเนื้อหารายการโทรทัศน์ รายการข่าว รวมถึงมีบทลงโทษที่ชัดเจน เป็นไปในลักษณะเชือดไก่ให้ลิงดู จึงจะเป็นการควบคุมที่สามารถเห็นผล ซึ่งประเด็นข้างต้นในการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน อาจจะไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะจะไม่มีใครฟังใคร เป็นการเหน็บแนมกันเอง ส่วนหน้าที่ที่กสทช.จะเข้ามาควบคุมเนื้อหาโดยตรง ทั้งเนื้อหาที่ควรนำเสนอและไม่ควรนำเสนอ ซึ่งควรจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน เช่นกรณีการโฆษณาอาหารเสริม โฆษณาเกินจริง”
ประเด็นที่สองคือ ผู้บริโภค จะเห็นว่าคนไทยจะมีความคาดหวังมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้วันหวยออก ซึ่งการควบคุมอาจจะยาก โดยเฉพาะกับปัจเจกบุคคล แต่น่าจะตั้งความหวังกับบทบาทของมูลนิธิ หรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค แสดงให้เห็นว่าสื่อกำลังทำหน้าที่ผิดทิศ ผิดทาง
“แทนที่ประชาชน ผู้บริโภคจะได้รับวิตามินมาเสริมอาหารสมอง แต่กลับได้รับยาพิษ ทำให้คนมอมเมา คิดไม่ได้ คิดน้อยลง ขอให้กลุ่มองค์กรผู้บริโภคต่อต้าน และชี้แจงให้เห็นถึงข้อเสียของการเล่นหวยให้ประชาชนรับรู้”
ติงสื่อไม่เปิดกลโกงหวยตัวตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ
ขณะที่ น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ซึ่งดำเนิน “โครงการจัดการความรู้เพื่อสังคมปลอดพนัน” มองประเด็นการชี้นำเพื่อให้คนเล่นหวยของสื่อมวลชนว่า สื่อมวลชนอาจจะไม่ได้ชวนคนเล่นหวย แต่สื่อมวลชนไม่เคยชี้ให้เห็นโครงสร้างฉ้อฉลที่อยู่เบื้องหลังการเล่น สื่อมวลชนไม่เคยชี้ให้เห็นความบิดเบี้ยวของการจัดสรรเงินรายได้จากหวยหรือสลากฯ ว่ากระจายไปสู่ที่ใด และตอกย้ำความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น เช่น นำรายได้จากหวยหรือสลากฯ ไปสร้างตึกรักษาพยาบาลขนาดยักษ์ในโรงเรียนแพทย์ขนาดยักษ์ ทำให้เกิดการดึงดูดแพทย์ พยาบาล และทรัพยากรจำนวนมหาศาลเข้าสู่ตึกนั้น และทำให้ผู้ป่วยยากจนทั่วประเทศต้องขายที่ขายนา เพื่อหาค่าเดินทางไปที่ตึกนั้นหนักข้อกว่าเดิม สื่อมวลชนแทนที่จะชี้ให้เห็นความบิดเบี้ยวของการพัฒนาแบบนี้กลับตอกย้ำว่าการบริจาคเงินสร้างตึกผู้ป่วยเป็นการทำบุญได้กุศล ซึ่งไม่จริง
แผงหนังสือใบ้หวยรายได้ดีวันละเกือบแสน
อย่างไรก็ตาม นอกจากสื่อกระแสหลักที่เราสามารถพบเห็นการนำเสนอข่าว และข้อมูลบางส่วนที่แฝงเร้นถึงการใบ้หวยแล้ว สิ่งที่ปรากฏชัดเจนที่สุดในสังคมไทยคือ หนังสือใบ้หวย ให้เลขเด็ด ฯลฯ ซึ่งวางจำหน่ายบนแผงรวมกับหนังสือทั่วไป จำนวนเกือบร้อยฉบับ สนนราคาค่อนข้างสูงคือตั้งแต่ 20-25-30 บาท บางเล่มขยับสูงไปถึง 50 บาทก็มี หากเทียบกับขนาดของเล่ม จำนวนหน้า และคุณค่าของความเป็นหนังสือ จากการสอบถามเจ้าของร้านหรือแผงหนังสือทราบว่า หนังสือดังกล่าวมีปริมาณการขายที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหากเล่มใน ฉบับไหน ที่มีเลขเด็ดและเคยทำให้คนถูกหวยมาแล้ว จะยิ่งขายดีมากขึ้น และจะขายเกือบหมดในช่วงก่อนวันหวยออกราว 1-2 วัน เพราะเปรียบเสมือนโค้งสุดท้ายของคนเล่นหวย ที่จะหาเลขเด็ดมาแทง
เจ้าของร้านกิตติมาพารวย ย่านตลาดสด จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า หนังสือใบ้เลขที่ขายดีที่สุดคือ หนังสือหวยล็อต เล่มละ 20 บาท และนิตยสารใบ้หวย ฮีโร่ 2012 ซึ่งยอดขายจะอยู่ที่งวดละ 1,000 ฉบับ โดยเฉพาะนิตยสารหวยล็อตสร้างรายได้ให้กับเจ้าของร้านสูงถึงวันละ 70,000-80,000 บาท
ส่วนสิ่งพิมพ์อีกประเภทที่ขายดีไม่แพ้กันคือ ซองเสี่ยงโชคหวยเต่า มีลักษณะเหมือนซองจดหมาย ด้านหน้าระบุชื่อผู้ทำนาย ด้านในจะเป็นกระดาษขนาด เอ 4 หรือใหญ่กว่านั้น เขียนหมายเลขทั้งที่อ่านได้อย่างชัดเจน และวกไปวนมาให้ต้องตีความ ซึ่งเจ้าของร้านระบุว่า เลขดังกล่าวทำให้มีคนถูกกันมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีซองเลขชุดอื่นๆ เช่น สูตรมหาเทพ ,ชิวล์ ชิวล์ บน, สิบหน่วยบน, กระต่ายหยกขาว, หวยเด็ก, มังกรทอง, หวยโดนใจ, ฤษีลิงดำ, หลวงพ่อปากแดง เป็นต้น ซองเหล่านี้ก็จะมีชุดตัวเลขของอาจารย์ใบ้หวยแต่ละสำนักบอกเลขเด็ด
“ชาวบ้านส่วนใหญ่มาซื้อร้านเรา เพราะร้านเราให้เลขตรง อย่างหวยเต่า มีคนถูกกัน 4 งวดติดๆ เขาตามทุกงวด พอซื้อร้านเราแล้วเอาไปเก็งโดนตัวที่ออก มันก็ถูก เขาก็บอกกันปากต่อปาก คนก็มาหาซื้อ”
ช่วงอายุคนเล่นหวย 25-70 ปี ติดนิตยสารใบ้หวย
จากการสังเกตกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อนิตยสารใบ้หวย หรือซองใบ้หวยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มคนตั้งแต่อายุ 25-70 ปี โดยแต่ละคนจะใช้เวลาอยู่ที่แผงหนังสือใบ้หวย ประมาณ 20-30 นาที เพื่อเลือกนิตยสารสำนักพิมพ์ที่ชื่นชอบและให้เลขแม่นยำ บางรายมีการโทรศัพท์เข้ามาสอบถามถึงเลขเด็ดของสำนักใบ้หวยที่ตนติดตามมาเป็นระยะๆ โดยเจ้าของร้านจะมีเครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องรับโทรสารไว้คอยรับเลขเด็ด จากนั้นจะนำมาถ่ายเอกสารก่อนจะเย็บแล้วใส่ซองวางจำหน่ายทันที ซึ่งซองใบ้หวยชุดส่วนใหญ่ประกอบด้วย เลขใบ้หวย 2 ตัวบน, 2 ตัวล่าง, 3 ตัวบน,3 ตัวล่าง, และเลขเด่น ที่คาดว่าน่าจะออกประจำงวดนั้นๆ ซึ่งเลขใบ้หวยชุดมี 6 ซอง ราคาชุดละ 400 บาท
ส่วนหนังสือใบ้หวยส่วนใหญ่ จะเป็นการให้ข้อมูลตัวเลข เป็นการคาดการณ์ถึงตัวเลข และความน่าจะเป็น โดยมีการสรุปข้อมูลรางวัลที่ 1 3 ตัวเต็ง- โต๊ด และข้อมูลชุด 2 ตัวบน ส่วนข้อมูลเลขท้าย 2 ตัว จะมีการระบุตัวเลขชุด 2 ตัวเต็ง และชุด 2 ตัวรองเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีการนำข้อมูลการใบ้หวยของสำนักดังระหว่าง 2 สำนักมาเปรียบเทียบความเป็นไปได้ว่าน่าจะออกรางวัล พร้อมทั้งมีคำแนะนำเป็นชุดตัวเลขเด่น มานำเสนอด้วย
นอกจากนี้ในนิตยสารบางเล่มยังมีการลงโฆษณาหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนพยากรณ์ พร้อมตรวจสอบดวงชะตาและบอกเลขเด็ด 3 วันก่อนหวยออก ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1900-111-xxx หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 1900-111 –xxx พร้อมคำแนะนำวิธีการเลือกซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมไปถึงสลากออมสิน สลาก ธกส. และหวยมาเลย์ เป็นต้น และล่าสุดพบว่ามีการโฆษณาหมายเลขโทรศัพท์และเว็บไซต์ เพื่อให้คนหันมาให้แทงหวยใต้ดินผ่านทางเว็บไซต์ได้ด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ