ฟ้องนายกฯ-ก.เกษตรฯ-กรมชลฯ จี้เลิกมติครม.ผุด‘เขื่อนแม่วงก์’

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1642 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ศาลปกครองกลาง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับประชาชนรวม 151 คน ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี อธิบดีกรมชลประทานและรมว.เกษตรและสหกรณ์ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่อนุมัติให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ งบประมาณ 13,280 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2555-2562) ทั้งนี้การอนุมัติดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

 

นอกจากนี้ยังเป็นการสกัดแผนการจัดการน้ำมูลค่า 350,000 ล้านบาท ที่มีโครงการขนาดใหญ่ในการสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ ถึง 21 แห่ง ตามกรอบใน TOR ซึ่งนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เห็นว่าทั้งการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และโครงการจัดการน้ำ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังระบุด้วยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ร่วมกันหรือผลักดันให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้น ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงเป็นการจงใจ หรือเจตนาโดยชัดแจ้งที่จะฝ่าฝืนพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของชาติ ซึ่งหากมีการก่อสร้างเขื่อนได้จริงจะทำให้สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย ล้มตาย หรือ อาจเข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์เร็วขึ้น

 

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวถึงการป้องกันน้ำท่วมที่มีการหยิบยกขึ้นมาอ้างนั้น  โดยสภาพในทางภูมิ-อุตุนิยมวิทยาเป็นที่ยืนยันทั่วไปว่า พื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นพื้นที่อับฝน จึงมีกลุ่มฝนตกในพื้นที่ดังกล่าวน้อย แต่ฝนที่ตกมักจะตกและกระจายตัวอยู่ทั่วไปในพื้นที่ลุ่ม มิใช่ในหุบเขาต้นน้ำป่าแม่วงก์ ดังนั้นการสร้างเขื่อนในบริเวณต้นน้ำ จึงไม่สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้จริง โดยในคำฟ้องตอนหนึ่งระบุว่า หากมีการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวแล้ว จะนำหายนะมาสู่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงจนไม่อาจฟื้นกลับคืนมาได้

นอกจากนี้ยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง จัดทำประชามติรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ด้วย

นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องจัดทำประชามติ รับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: