‘ลาว’พลิกลิ้นผุด‘เขื่อนไซยะบุรี’ ฟ้องกฟผ.จี้ถอนสัญญาซื้อไฟ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3381 ครั้ง

 

‘ลาว’พลิกลิ้น เดินหน้าเขื่อนไซยะบุรี ช.การช่างอ้างทำตามสัญญาซื้อไฟ

 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทย ให้เพิกถอนสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทำการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยระบุว่า ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะองค์กรของรัฐ ได้ทำสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) จากเขื่อนไซยะบุรี กับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศสปป.ลาว เมื่อเดือนตุลาคม 2554 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนและเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่เขตก่อสร้างเขื่อนไป แล้วกันเป็นระยะ ๆ ซึ่งต่างนำข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆออกมาแสดงให้เห็นว่ามีการ เริ่มลงมือก่อสร้างโครงการเขื่อนไปแล้ว

 

สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวทางสื่อมวลชน ถึงท่าทีของรัฐบาลลาวว่า ตัดสินใจให้ชะลอโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง โดยจะทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเวียดนาม และกัมพูชา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบข้ามพรมแดนสู่ประเทศท้ายน้ำ แต่ในเวลาต่อมาผู้บริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ กลับให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนในอีกลักษณะหนึ่งว่า จะปรับเปลี่ยนแบบเขื่อน และการศึกษาเหล่านี้จะไม่กระทบแผนการก่อสร้างเขื่อนตามที่วางไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่า การเดินหน้าโครงการยังคงดำเนินต่อไป และเหตุผลสำคัญที่ผู้บริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด ใช้ในการเดินหน้าโครงการคือ สัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ยังไม่ได้ถูกระงับหรือยกเลิก

 

 

 

 

 

 

 

 

ทวงถามคุณธรรม 4 ธนาคารไทย ให้เงินกู้ทำลายแม่น้ำโขง

 

 

โครงการสร้างเขื่อน ไซยะบุรีเป็นประเด็นปัญหาในภูมิภาคมานานนับปี โดยเขื่อนแห่งนี้มีขนาด 1,260 เมกะวัตต์ งบประมาณลงทุนก่อสร้างสูงกว่า 1 แสนล้านบาท นำโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน จากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย 4 แห่ง ขณะที่ กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยจะรับซื้อไฟฟ้าประมาณร้อยละ 95 สู่ประเทศไทย แต่รายงานข้อเสนอแนะต่อแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP 2012) จากภาคประชาชน ระบุว่า ประเทศไทยไม่ต้องการไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีแต่อย่างใด และที่ผ่านมาภาคประชาชน ได้เคยทวงจริยธรรมและคุณธรรมของสถาบันการเงินในการ ปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ

 

เป็นที่ทราบกันดี ว่าเขื่อนไซยะบุรียังไม่ได้รับฉันทามติจาก 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อันได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ที่ได้กําหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ซึ่งกําหนดไว้ว่า ประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการร่วมของ MRC (Joint Committee) ในกรณีที่ประเทศมีความ ประสงค์ที่จะมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ (เช่น โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้า เขื่อน) บนแม่น้ำโขงสายหลัก หรือ แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างผลกระทบข้ามเขต แดนต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายน้ำ

 

 

วิตกผลกระทบเพราะลาวปิดกั้นลำน้ำโขง

 

 

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลลาวพยายามที่จะพิสูจน์ความจริงใจ โดยการนำประเทศพันธมิตร ที่ไปดูข้อเท็จจริงของการก่อสร้าง แต่กลับไม่มีข้อยืนยันถึงแผนที่จะชะลอโครงการเพื่อทำการศึกษาผลกระทบ และยืนยันต่อคณะผู้แทนว่า จะไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะที่มีหลักฐานชัดเจนจากสื่อมวลชนว่า มีการถมดินกั้นแม่น้ำโขงยาวหลายร้อยเมตร จนแทบปิดกั้นลำน้ำ ซึ่งภาพที่ออกมาสร้างความวิตกกังวลให้กลับหลายฝ่าย ที่สำคัญคือความคับข้องใจและความเคลือบแคลงสงสัยที่เกิดขึ้นจากท่าทีของรัฐบาลลาว

 

เครือข่ายประชาชน ไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วง พร้อมทั้งทักท้วงในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำ การอพยพของปลาแม่น้ำโขง การประมง ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน รายได้ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนตลอดลุ่มน้ำ

 

 

 

 

จี้รัฐบาลไทยระงับสัญญาซื้อขายไฟจากเขื่อนไซยะบุรี

 

 

ในวาระนี้เครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และดำเนินการผลักดันให้มีการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่น ๆ  ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรง และไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษาและการปรึกษาหารือ ตามที่ควร ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากล เป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วยหากไม่มีการระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านจึงเตรียมฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ที่กรุงเทพฯ

 

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์  ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers กล่าวว่า ความจริงการฟ้องร้องของชาวบ้าน มีกำหนดในวันนี้ แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสถานการณ์เกิดขึ้นมากมายที่ไซยะบุรี ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของลาว ได้ชะลอแผนการก่อสร้างออกไป ในขณะเดียวกันได้นำคณะผู้แทนจากประเทศในแถบยุโรป สหรัฐฯ ลงพื้นที่เขื่อนไซยะบุรี เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นการคืบหน้าของการก่อสร้าง และยังกล่าวว่า โครงการนี้จะไม่มีการทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน เพราะเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายเห็นว่า ถึงแม้เขื่อนจะถูกสร้างในประเทศลาว แต่ย่อมจะส่งผลกระทบถึงประเทศที่อยู่ท้ายน้ำอื่นๆ แน่นอน และเชื่อว่า หากไม่มีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าของ กฟผ. ก็จะทำให้ไม่สามารถสร้างเขื่อนได้ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิกถอนสัญญา เพราะระงับปัญหารวมทั้งเร่งดำเนินการศึกษาเพื่อเปิดเผยข้อมูลตามรัฐธรรมนูญด้วย

 

 

นานาชาติประชุมร่วมกับรัฐบาลลาว

 

 

นอกจากนี้ กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้แทนนานาชาติ ผู้บริจาคและองค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้ง WWF ร่วมประชุมกับรัฐบาลลาว เพื่อรับฟังการนำเสนอโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และเพื่อตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างเขื่อน ซึ่งที่ประชุมแสดงความวิตกและไม่เห็นด้วยในการถางพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง

 

ดร.เจี้ยน หวา เมิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนพลังน้ำเพื่อความยั่งยืนของ WWF กล่าวว่า การลงตรวจพื้นที่ก่อสร้างของรัฐบาลลาวเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งได้เห็นพร้อมกันแล้วว่า การก่อสร้างเขื่อนกำลังดำเนินต่อไป ตามรายงานของนายวีราโพน วีราวง รองรัฐมนตรีพลังงานและเหมืองของลาว ระบุไว้ว่า จะมีการสร้างเขื่อนขนาดเล็กกั้นลำน้ำไว้ชั่วคราว เพื่อใช้เปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำจากพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะสร้างขึ้นภายในปลายปีนี้ และเขื่อนขนาดเล็กที่กล่าวถึงนี้ จะเป็นการแทรกแซงเส้นทางที่น้ำไหลผ่านโดยตรงเป็นครั้งแรก และยังเป็นการสร้างหลักไมล์ของการก่อสร้างเขื่อนที่กำลังดำเนินอยู่ด้วย

 

 

                 “ขณะนี้จึงเป็นเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานของรัฐบาลทุกประเทศ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่จะต้องแสดงจุดยืนในการไม่เอาเขื่อนไซยะบุรี”

 

ตามคำกล่าวอ้างของนายวีราวง และ บริษัท ช.การช่าง โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี มีมูลค่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นี้กำลังเดินหน้าต่อไปตามแผนที่วางไว้ และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ จะดำเนินไปพร้อมกับการก่อสร้าง

 

การออกเยี่ยมสถานที่ก่อสร้าง ข้อมูลข่าวสารที่สับสนเกี่ยวกับสถานการณ์สร้างเขื่อน รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของลาว เพิ่งประกาศชะลอการก่อสร้าง ระหว่างเป็นเจ้าภาพต้อนรับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แต่นายอัศวิน คงสิริ ประธานกรรมการบริษัท ช.การช่าง อ้างว่า การก่อสร้างมีการชะลอจริง แต่โครงการก่อสร้างต้องแล้วเสร็จตามกำหนดในปี 2563

 

ดร.เมิง กล่าวอีกว่า รัฐบาลลาวกำลังคาดหวังให้ประเทศเพื่อนบ้าน ให้การสนับสนุนคำมั่นสัญญาปากเปล่า เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อน ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริง

 

 

ที่ปรึกษาน้ำฟินแลนด์อ้างเขื่อนไซยะบุรีไม่กระทบอะไรเลย

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้แทนนานาชาติที่เข้าเยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้าง ยังได้รับฟังการบรรยายสรุปของ Pöyry ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาด้านน้ำของฟินแลนด์ ที่ให้การปรึกษาด้านวิศวกรรมการก่อสร้างเขื่อน Pöyry รายงานว่า การศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบการก่อสร้างเขื่อน อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะทำถึงสิ้นปี 2555 และสรุปว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี จะไม่มีผลกระทบด้านลบใด ๆ ที่ยอมรับกันไม่ได้

 

Pöyry ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ให้รัฐบาลลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อ ทั้งที่ขัดต่อข้อมูลสำคัญทางชีววิทยา นิเวศวิทยา และการฟื้นฟูความเป็นอยู่ เช่นเดียวกับการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจต่อความวิตกที่มีต่อเส้นทางการอพยพของปลาในลุ่มน้ำโขง ซึ่งพบว่า มีมากกว่า 700 สายพันธุ์ รวมทั้งสัญลักษณ์ของแม่น้ำโขงคือ ปลาบึก

 

WWF ชี้ส่งผลกระทบต่อคนหลายล้านคนในลุ่มน้ำโขงแน่

 

ดร.เมิงเพิ่มเติมว่า การทำให้อนาคตของแม่น้ำโขงหยุดชะงัก ด้วยการวิเคราะห์ที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องและข้อมูลที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ น่าจะส่งผลที่เลวร้ายต่อความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านคน ที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำโขง การที่ต้องขึ้นอยู่กับผลการวิจัยที่ไม่มีความน่าเชื่อถือของ Pöyry เป็นการแสดงออกถึงการไร้ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

บรรดาผู้นำนานาชาติที่ลงพื้นที่ยังมีโอกาสรับฟังการนำเสนอจาก Compagnie Nationale du Rhône (CNR) บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ที่รัฐบาลลาวจ้างทำการวิจัย CNR ตีพิมพ์รายงานอธิบายถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ตะกอนเคลื่อนผ่านเขื่อน อย่างไรก็ตามรายงานทำขึ้นบนพื้นฐานของทฤษฎีที่ไม่เคยปรากฎว่าเป็นผลสำเร็จเลยสักครั้งในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ บริษัท CNR เองยังได้สรุปว่า ข้อมูลสนับสนุนทฤษฎีที่ว่านี้ ยังต้องรวบรวมต่อไปเพื่อหาความเป็นไปได้

ดร.เมิง กล่าวว่า ทรายจำนวนมหาศาลมีความจำเป็นในการรักษาความสมดุลให้กับระบบนิเวศและความสมบูรณ์ของสามเหลี่ยมลุ่มน้ำโขงเกิดจากการไหลผ่านของแม่น้ำโขง ผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากต่อโครงการสร้างเขื่อน

ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นหนึ่งในแม่น้ำธรรมชาติสายหลัก ที่ยังหลงเหลืออยู่ของโลก ให้การเลี้ยงดูประชากรโลกเกือบ 60 ล้านคน จากอาชีพการประมง แต่การอพยพของปลาในสายน้ำ ที่เคยกระโดดขึ้นลงตามแนวคลื่นในแม่น้ำโขง ต้องว่ายผ่านเขื่อนด้วยการกระโดดข้ามบันไดปลาโจนแทน

 

 

 

นักอนุรักษ์ปลาระบุไม่มีที่ใดที่ทำให้ปลาข้ามเขื่อนได้

 

ดร.เอริก บาราน แห่งศูนย์อนุรักษ์ปลาโลก ในกรุงพนมเปญ กล่าวว่า ไม่มีที่ใดในโลกเขตร้อน ที่จะทำทางผ่านให้ปลาข้ามได้ ในความสูงขนาดเท่าเขื่อนไซยะบุรี มันเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลที่คิดกันเอาเองว่า การสร้างบันไดปลาโจน เป็นทางผ่านให้ปลา ที่เสนอกันนั้นมีประสิทธิภาพ ความคิดนี้ไม่อยู่บนพื้นฐานความจริงที่ได้จากการศึกษาสายพันธุ์ของปลาท้องถิ่นเลยสักนิดเดียว

 

ในฐานะที่โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการแรกที่เข้าสูกระบวนการให้คำปรึกษาอย่างเป็นทางการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC เขื่อนไซยะบุรี จึงจะเป็นบททดสอบประสิทธิภาพของ MRC และมติเอกฉันท์ของบรรดารัฐมนตรี จะเป็นตัวกำหนดแนวทางที่สำคัญของโครงการก่อสร้างเขื่อนอีก 10 โครงการบนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

 

                      “ประเทศในลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ ควรจะร่วมตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อ หรือหยุดเขื่อน โดยควรตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่การคาดคะเนที่หวังแต่ผลเลิศ” ดร.เมิง กล่าว

 

WWF เรียกร้องให้บรรดารัฐมนตรียืดเวลาการตัดสินใจออกไปอีก 10 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มีข้อมูลและการวิเคราะห์ที่เชื่อถือได้ประกอบการตัดสินใจ WWF แนะนำให้ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง พิจารณาโครงการสร้างเขื่อนพลังน้ำเป็นทางออก ในการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบและความเสี่ยงน้อยกว่ามาก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: