เล่าเรื่องประชากรไทย นัยต่ออนาคต

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 25 มิ.ย. 2555


 

 

ที่มา: การประมาณการโดยองค์การสหประชาชาติ ปี 2553

 

รูปภาพที่เป็นเส้น 3 เส้นกับกราฟแท่งนี้ หลายท่านอาจจะคิดว่าไม่น่าสนใจ ออกจะน่าเบื่อหรือไม่ก็วิชาการเกินไป แต่แท้จริงแล้วรูปภาพนี้อธิบายเรื่องราวของคนไทยในอดีตและยังทำนายทายทักอนาคตประเทศไทยได้ด้วย

 

จะขอเล่าเรื่องแต่พอสังเขป ถ้าต้องการติดตามอย่างละเอียดต้องไปอ่านรายงานชีวิตคนไทยที่สนับสนุนโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี สสส.

 

ลองดูเส้นที่เขียนว่า เด็กอายุ 0-14 ปี จะเห็นว่าปี พ.ศ. 2493 ประเทศไทยมีเด็กอายุ 0-14 ปีเกือบ 10 ล้านคน มีน้อยกว่าผู้ใหญ่ (เส้นผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี) ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น ภายในเวลาประมาณ 30 ปีหลังจากนั้นจำนวนเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อจำนวนเด็กเพิ่ม เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็เลยทำให้จำนวนผู้ใหญ่สะสมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ครอบครัวสมัยก่อนนิยมมีลูกมาก เหตุผลหลักน่าจะเป็นการช่วยเหลือทำงานในครอบครัว ถ้าเป็นครอบครัวเชื้อสายจีนก็น่าจะมีเรื่องผู้สืบสกุลมาช่วยอธิบายด้วย ถ้าเป็นเหตุผลแบบนักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องบอกว่า มีลูกมากเพราะคาดว่าผลประโยชน์ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจและด้านความสุขทางใจที่จะได้จากการมีลูกนั้น มันสูงกว่า ต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตร

 

ในสมัยรัฐบาลยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยมีการส่งเสริมการมีบุตรด้วยมาตรการน่ารักน่าชัง เช่น คู่สมรสใหม่ได้ดูหนังฟรี 30 วัน คนท้องขึ้นรถเมล์ฟรี ลูกคนแรกได้รับการศึกษาฟรี การห้ามคุมกำเนิด หรือแม้กระทั่งเก็บภาษีชายโสดเพิ่มขึ้น แต่นโยบายเหล่านั้นก็ไม่น่าจะมีผลต่อการมีลูกดกเท่าไรนัก

 

กราฟเส้นผู้ใหญ่ 15-64 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 30-40 ปีที่ผ่านมา และทำให้ประชากรไทยเติบโตจาก 21 ล้านคนในปี 2493 เป็น 69 ล้านคนในปัจจุบัน (ตัวเลขจากองค์การสหประชาชาติ) ถ้าไม่เป็นเพราะความสำเร็จของการคุมกำเนิดอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน แล้วประชากรไทยคงจะมีมากกว่านี้ ความสำเร็จของการคุมกำเนิดเห็นได้ชัดเจนเมื่อปี 2523 ซึ่งเป็นปีที่มีจำนวนเด็กมากที่สุด และหลังจากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่องและไม่มีวี่แววว่าจะเพิ่มแต่อย่างไร

 

การมีประชากรเพิ่มทำให้ความต้องการสินค้าและบริการแทบทุกอย่างเพิ่มขึ้น เมื่อมีเด็กมากขึ้น ก็ต้องการของใช้เกี่ยวกับเด็กมากขึ้น ต้องการโรงเรียนมากขึ้น ต้องการแพทย์พยาบาลมากขึ้น เมื่อเด็กเป็นผู้ใหญ่ก็มีความต้องการงานทำงานขึ้น เมื่อจ้างงานมากขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นด้วย วัยผู้ใหญ่มีการขยายครอบครัว ต้องการสร้างบ้านใหม่ มีการขยายของเมือง ต้องการใช้ถนนหนทางมากขึ้น ต้องการอาหารมากขึ้น ทุกอย่างขยายหมด เมื่อเศรษฐกิจโต รายได้เพิ่ม ก็เกิดความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นไปอีก

 

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการย้ายถิ่นฐานทำมาหากิน สังคมเมืองขยาย ก็มีผลทำให้ครอบครัวและสังคมเปลี่ยนไปด้วย ในปัจจุบันมีเด็กประมาณ 60% ที่อยู่ในครอบครัวที่มีพ่อและแม่อยู่พร้อมหน้า ประมาณ 21% อยู่กับญาติโดยไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย และอีก 14% อยู่กับแม่แต่ไม่มีพ่ออยู่ด้วย

 

ภาพครอบครัวที่พ่อ แม่ ปู่ย่า หรือ ตายาย ลุง ป้า น้า อา อยู่ในบ้านเดียวกัน นั่งกินข้าวเป็นวงโตๆ เหลือน้อยเต็มที การเปลี่ยนแปลงครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลง มีการไปตั้งครอบครัวใหม่ ก็ทำให้ความต้องการที่ดินเพื่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ในปี 2563 เป็นปีที่ประเทศไทยมีประชากรอายุ 15-64 ปีสูงที่สุด 51 ล้านคน หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ประชากรวัยนี้เรียกว่าวัยทำงาน และเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชากรในวัยอื่นๆ เรียกว่าวัยพึ่งพิง ซึ่งต้องอาศัยคนวัยทำงานในการเลี้ยงดูทางเศรษฐกิจ

 

มาดูกราฟเส้น 65 ปีขึ้นไป จะเห็นว่ามีไม่ถึง 1 ล้านคน ในปี 2493 เพราะคนไทยอายุสั้น โดยเฉลี่ยชายไทยอายุ 49 ปี และหญิงไทยอายุ 53 ปีเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่าส่วนใหญ่ตายก่อนอายุ 65 ปี ความก้าวหน้าทางการแพทย์และด้านอื่นๆ ทำให้คนไทยอายุยืนขึ้น ในปี 2558 คนเด็กไทยที่เกิดมาจะสามารถมีอายุยืนไปถึง 75 ปี

 

การเกิดน้อยลง และการตายช้าลง ในที่สุดเราก็เสียสมดุลของโครงสร้างประชากร มันจะมีวันหนึ่งที่จำนวนผู้สูงอายุนั้นมากกว่าจำนวนเด็กและจำนวนคนวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ ดังเช่นในรูปภาพ เมื่อเส้นเด็กอายุ 0-14 ปีตัดกับเส้นผู้ใหญ่ 15-64 ปี และหลังจากนั้น เส้นเด็กอายุ 0-14 ปีก็ดิ่งหัวลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเส้นผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี

 

เมื่อประชากรลดลง ความต้องการสินค้าและบริการก็ลดลงด้วย แต่อย่างไรเสีย การที่คนไทยมีรายได้มากขึ้นก็จะยังทำให้ความต้องการสินค้าและบริการบางประเภทเพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ถ้าเราเปิดเสรียอมให้คนย้ายเข้ามาอยู่ประเทศไทยมากขึ้น ก็จะทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนไปได้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การแยกครัวเรือนของคนหนุ่มสาวเพื่อไปสร้างบ้านใหม่และครัวเรือนใหม่จะน้อยลง การขยายตัวของเมืองอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หัวเมืองใหญ่ในภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่จะสามารถดูดคนหนุ่มสาวให้ย้ายเข้าไปมากขึ้น เมืองเหล่านั้นจะได้เปรียบและมีโอกาสในการเติบโตเร็วกว่าเมืองอื่นๆ เรามักจะเห็นการเก็งกำไรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นอย่างบ้าระห่ำ

 

ส่วนเมืองที่เสียเปรียบ เราจะเห็นการเกิดขึ้นของโรงเรียนร้าง หรือหมู่บ้านที่มีแต่ผู้สูงอายุ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น

 

ถ้าเรายังปล่อยให้การโครงสร้างประชากรไทยในอนาคตเสียสมดุลตามที่เห็นในรูปภาพ ภาระทางเศรษฐกิจและการเลี้ยงดูประชากรสูงอายุจะตกแก่คนวัยทำงานสูงมาก เด็กที่เกิดในวันนี้ทุกคนจะมีภาระต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากกว่าผู้ใหญ่ในปัจจุบัน สังคมไทยพึ่งพาการดูแลจากผู้หญิงซึ่งก็จะทำให้หญิงไทยในอนาคตมีภาระการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย ในปัจจุบันพบว่าประมาณ 45% ของผู้สูงอายุที่อายุ 95 ปีขึ้นไปนั้นได้รับการดูแลจากลูกสาวหรือลูกสะใภ้ ตอนนี้ลูกสาวหลายคนยังสลับกันดูแลพ่อแม่ไหว แต่ในอนาคตนั้นแนวโน้มจะเป็นว่าลูกสาวหนึ่งคนต้องดูแลทั้งพ่อและแม่

 

ความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากรมีผลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จะปล่อยไว้เฉยๆ ให้รุ่นลูกหลานไปแก้ปัญหากันเองก็ใช่ที่ รุ่นที่ผ่านมาได้ถลุงทรัพยากรธรรมชาติจนแทบจะไม่เหลืออะไร แล้วยังไม่สนใจภาระใหม่ๆ ที่ได้ทิ้งไว้ให้ลูกหลานอีกเชียวหรือ

 

แต่ทว่าการปรับโครงสร้างประชากรก็มิใช่ของง่าย อยู่ๆ จะไปบอกให้คนมีลูกมาก ก็คงจะไม่เกิดผลอย่างแน่นอน หรือไปทำให้คนตายเร็วขึ้นก็คงไม่งามนัก มันต้องพยายามทำให้เห็นว่า มูลค่าที่จะได้ในเชิงเศรษฐกิจและความสุขทางจิตใจจากการมีบุตรนั้นสูงกว่าต้นทุนการเลี้ยงดูบุตร นโยบายรัฐช่วยได้ถ้าทำให้ต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรลดลง เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์เลยแล้วกัน ใครอยากมีก็ช่วยให้มี (หญิงมีบุตรยากทั้งหลาย) ใครไม่อยากมีก็ไม่ส่งเสริมให้มี (วัยรุ่นทั้งหลาย) ส่วนนโยบายที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของบุตรในเชิงเศรษฐกิจและความสุขทางจิตใจนั้นมันได้เปลี่ยนไป แต่อย่างไรเสียการสำรวจเมื่อปี 2550 เราพบว่าประมาณ 80% ของคนไทยยังหวังพึ่งบุตรให้ดูแลด้านการเงิน และการพาไปหาหมอเมื่อยามเจ็บป่วย ความพยายามเชิงนโยบายด้านนี้อาจจะไม่ยากนัก

 

เส้นทางลัดอีกทางในการสร้างความสมดุลของโครงสร้างประชากรคือ การเปิดรับคนวัยทำงานจากต่างประเทศ สมัยก่อนคนไทยเชื้อสายจีนก็เคยหอบเสื่อผืน หมอนใบ นั่งเรือจ้างมาอาศัยพระบรมโพธิสมภารที่สยามประเทศ คนไทยสมัยนี้ก็น่าจะมีจิตใจที่เปิดกว้าง อย่างไรเสียเราก็คนเหมือนกัน หรือว่ากันอีกอย่างมันก็พัฒนามาจากลิงด้วยกันทั้งนั้นแล

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: