ชี้กรมเจรจาการค้าเร่งถกเอฟทีเอไทย-อียู กระทบไทย-บ.ยาข้ามชาติผูกขาดนานขึ้น แถมทำให้ต้องแบกค่ายาเพิ่มอีก8หมื่นล้าน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 25 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1421 ครั้ง

 

ราวๆ เดือนมิถุนายน 2555 สหภาพยุโรปหรืออียู (European Union: EU) ส่งสัญญาณการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป หรือจีเอสพี (GSP : Generalized System of Preference) ของสินค้าไทยประมาณ 57 รายการ ในช่วงปี 2555-2556 และจะตัดจีเอสพีสินค้าทั้งหมดในปี 2557 เนื่องจากอียูเห็นว่าประเทศไทยยกระดับเป็นประเทศที่มีระดับรายปานกลางตามนิยามของธนาคารโลก คือ ประชากรมีรายได้ต่อหัวเกิน 3.9 พันดอลลาร์ ติดต่อกันเกิน 3 ปี จึงไม่จำเป็นต้องให้สิทธิพิเศษอีกต่อไป

 

พลันที่ข่าวนี้ปรากฏ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยต่างเรียงหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาทางเจรจาเพื่อคงสิทธิจีเอสพีต่อไป เพราะจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันต่อสินค้าไทย เนื่องจากสินค้าไทยต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า วิกฤตเศรษฐกิจในอียูปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องตัดจีเอสพีไทย แน่นอนว่ามวลเสียงที่เข้มและดังจากภาคการผลิตเหล่านี้เร่งให้ภาครัฐต้องลงมือกระทำการบางอย่างเพื่อคงยอดส่งออกและตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้าที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อสังคม

 

 

เร่งเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ก่อนถูกตัดจีเอสพี

 

 

แนวทางหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์เลือกใช้เป็นคำตอบคือ การเร่งเจรจาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (Free Trade Area) ไทย-อียู ศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสบายใจแก่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจไทยว่า เอฟทีเอไทย-อียูจะเป็นเครื่องมือทางการค้าที่ช่วยลดผลกระทบจากการถูกตัดจีเอสพี และยังสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดในอียู ในที่เศรษฐกิจอียูชะลอตัว โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูปและอสังหาริมทรัพย์ ในทางกลับกัน ยังช่วยเพิ่มการลงทุนของอียูในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้า ซึ่งปัจจุบันอียูคือผู้ลงทุนอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย รองจากประเทศญี่ปุ่น

 

วันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูง เพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย ได้วางกรอบรายละเอียดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู และเตรียมดันเข้าสู่คณะรัฐมนตรีภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อจากนี้ เพื่อให้ทันการพิจารณาของรัฐสภาในเดือนสิงหาคม

 

ทว่า ความเร่งรีบนี้กำลังซุกซ่อนปมที่ละเอียดอ่อน และผลกระทบน่าหวาดวิตกที่อาจเกิดขึ้นแก่สังคมไทยหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงยาของคนไทย เมื่อกรมเจรจาการค้าฯ มีความเห็นว่า ข้อเรียกร้องของอียูไม่กระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทย น่าแปลกที่ความเห็นนี้ขัดแย้งกับรายงานการศึกษา “แนวทางการเจรจาและผลกระทบของการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทยกับสหภาพยุโรป” ที่ทางกรมเจรจาการค้าฯ ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เป็นผู้ศึกษา ซึ่งระบุชัดเจนว่า เป็น “ข้อเรียกร้องที่ไทยไม่ควรยอมรับ”

 

นอกจากประเด็นการตัดจีเอสพีแล้ว ปัจจัยที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า ไทยควรเร่งเจรจาเอฟทีเอกับอียูคือ มองว่าไทยต้องพึ่งพาตลาดอียูในสัดส่วนที่สูง เพราะอียูเป็นคู่ค้าสำคัญ และตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย และอียูก็เป็นผู้ลงทุนในประเทศไทย มากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น กรมเจรจาฯ เชื่อว่า การเปิดเอฟทีเอกับอียู จะช่วยรักษาตลาดการส่งออกของไทย และดึงดูดการลงทุนในอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนก็ให้การสนับสนุน ปัจจุบันอียูมีความตกลงเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ แล้ว 27 ประเทศ และอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กำลังพยายามขอทำเอฟทีเอกับอียู ซึ่งอาจทำให้ไทยเป็นประเทศเดียว ที่จะไม่ได้ทำเอฟทีเอกับอียู

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สธ.-ภาคประชาชน ต้านข้อเสนออียูไม่เอาดีอี

 

ก่อนหน้านี้ศูนย์ข่าว TCIJ เคยนำเสนอข่าวการยกร่างกรอบเจรจา โดยมิได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นที่จัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ บรรจุไว้ในกรอบเจรจามาครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะข้อกังวลของภาคประชาชนต่อสินค้าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีสถิติในปี 2552 ว่า ประเทศไทยนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวม 6,896 ล้านบาท และสหภาพยุโรป (อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหลัก) คือประเทศ ที่ไทยนำเข้าสุรามากที่สุด มูลค่าประมาณ 5,107 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติมในหมวดบทความ) http://www.tcijthai.com/TCIJ/view.php?ids=1037 และ http://www.tcijthai.com/TCIJ/view.php?ids=1038

ส่วนรอบนี้ จุดสนใจพุ่งไปที่ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยา ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมและกระทรวงสาธารณสุขวิตกว่า หากยอมให้มีการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรยาอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของคนไทยได้ ดังนั้นทั้งภาคประชาสังคมและกระทรวงสาธารณสุข จึงมีจุดยืนร่วมกันว่า ประเทศไทยไม่ควรทำข้อผูกพันในเอฟทีเอเกินกว่าความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าหรือทริปส์ (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPs) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่วางกติกาขั้นต่ำ ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ รวมถึงสิทธิบัตรยา ทั้งยังให้อิสระแก่ประเทศสมาชิกในการใช้มาตรการคุ้มครองข้อมูลจากการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรมด้วย

 

ขณะที่ข้อเรียกร้องของอียูต้องการให้ประเทศไทยคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรือดีอี (Data Exclusivity: DE) อย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ได้รับการอนุมัติการวางตลาด และจุดนี้นี่เองที่กลายเป็นประเด็นร้อน เนื่องจากการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรือดีอีคือประเด็นที่สหรัฐฯ และอียูเรียกร้องมาโดยตลอด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทริปส์ผนวกหรือทริปส์พลัส เป็นข้อตกลงที่สองยักษ์ใหญ่ของโลกกะเกณฑ์ขึ้นโดยอ้างว่าเพื่อเพิ่มมาตรฐานด้านสิทธิบัตรและความเข้มงวดให้สูงขึ้นกว่าข้อตกลงทริปส์ ซึ่งทริปส์พลัสนี้เป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคมและกระทรวงสาธารณสุขปฏิเสธเรื่อยมา

 

 

ผูกขาดข้อมูลยากีดกันบริษัทชื่อสามัญไม่ให้เข้าตลาด

 

 

การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรือดีอีคืออะไร และจะส่งผลต่อการเข้าถึงยาอย่างไร

 

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรียกดีอีว่า การผูกขาดข้อมูลยา อธิบายว่า ตามปกติแล้วเมื่อบริษัทยาต่างประเทศสามารถคิดค้นตัวยาใหม่ๆ ที่เรียกว่ายาต้นแบบได้ เมื่อจะนำมาวางขายในประเทศไทยจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนยากับองค์การอาหารและยา (อย.) เสียก่อน

 

 

“สิ่งที่อย.ต้องการรู้ เมื่อคุณเป็นยาตัวแรกที่เข้ามาขายในตลาด คือยานั้นมีความปลอดภัยและประสิทธิผลหรือไม่ บริษัทจึงต้องเอาข้อมูลมาแสดง เพื่อยืนยันว่า ยาของคุณมีประสิทธิผล มีความปลอดภัย”

 

เมื่อบริษัทยาชื่อสามัญต้องการผลิตยาตัวเดิมนี้แต่หมดสิทธิบัตรแล้ว สิ่งที่บริษัทยาชื่อสามัญต้องทำเพื่อขึ้นทะเบียนยาก็คือ ทดสอบให้เห็นว่ายาชื่อสามัญนั้นมีคุณภาพเหมือนกับยาต้นแบบหรือไม่ โดยทำการทดลองที่เรียกว่า การศึกษาชีวสมมูลของยา (BIOEQUIVALENT STUDY)

 

 

             “ถามว่าการทำชีวสมมูลใช้ข้อมูลของบริษัทต้นแบบหรือไม่ เปล่าเลย เพียงแต่เอาคนไข้มา 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้ยาต้นแบบ กลุ่มหนึ่งได้ยาชื่อสามัญ แล้วทิ้งระยะออกไป แล้วแต่ว่ายานั้นอยู่ในร่างกายนานหรือไม่ แล้วสลับกลุ่มให้ยา แล้วก็ติดตามระดับยาในเลือด ถ้าเส้นกราฟทับกันพอดี ถือว่ามีชีวสมมูล หมายความว่ามีคุณภาพเท่ากับยาต้นแบบ สามารถขึ้นทะเบียนยาได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า บริษัทยาชื่อสามัญ ไม่ได้เอาข้อมูลของยาต้นกำเนิดมาใช้เลย อย.ก็ไม่ได้ใช้”

 

แต่บริษัทยาต้นแบบมักจะอ้างว่า การทดสอบชีวสมมูลของบริษัทยาชื่อสามัญ ใช้ข้อมูลของยาต้นแบบเพื่อเทียบเคียงคุณภาพและประสิทธิภาพของยา ถือเป็นการใช้ข้อมูลอย่างไม่เป็นธรรม ถ้ารัฐปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลยา ยาชื่อสามัญที่ต้องการขึ้นทะเบียนยา จะต้องทำการทดลองซ้ำใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีต้นทุนสูงและเสียเวลามาก ทั้งที่ อย. ไม่ได้เปิดเผยข้อมูล เพียงแต่พิสูจน์ว่ายาชื่อสามัญใช้ได้ผลเช่นเดียวกันยาต้นแบบ อีกทั้งการทดลองยาตัวเดียวกันซ้ำในมนุษย์ ยังเป็นการผิดจริยธรรมในการทดลองและวิจัยด้วย

 

 

ผูกขาดข้อมูลยาทำซีแอลไร้ผล-ทำแท้งยาราคาถูก

 

 

การอนุญาตให้มีการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรือดีอีเป็นเวลา 5 ปีตามที่อียูต้องการ ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยให้การคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นเวลา 20 ปี ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ถ้าระยะเวลาดีอี 5 ปีอยู่ในช่วงเวลา 20 ปีของการคุ้มครองสิทธิบัตร ซึ่งบริษัทยาชื่อสามัญก็ไม่สามารถผลิตยาได้อยู่ดี ในกรณีนี้การให้ดีอีย่อมไม่มีผลแต่อย่างใด มิใช่หรือ ประเด็นนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว

 

จริงอยู่ว่าหากดีอีอยู่ในช่วงที่มีการคุ้มครองอายุสิทธิบัตรอยู่แล้ว บริษัทยาชื่อสามัญย่อมไม่สามารถผลิตยาได้ ประเด็นอยู่ที่ว่า หากยาชนิดนั้นมีความจำเป็นต่อผู้ป่วยในประเทศ แต่มีราคาแพงจนผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาได้ ที่ผ่านมากรณีนี้ประเทศไทยเคยใช้การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) เพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญจากต่างประเทศ ซึ่งมีการประกาศซีแอลครั้งแรก ในยุคของน.พ.มงคล ณ สงขลา เป็นรมว.สาธารณสุข อย่างไรก็ตามกฎที่ว่า ยาที่จะนำเข้าและขายภายในประเทศ จะต้องทำการขึ้นทะเบียนยากับทางอย. แต่หากมีการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยานั่นก็คือ การกีดกันยาชื่อสามัญอื่นๆ ไม่ให้สามารถขึ้นทะเบียนยาได้ เมื่อขึ้นทะเบียนยาไม่ได้ การประกาศซีแอลก็ไร้ผลในทางปฏิบัติ

 

อีกกรณีหนึ่ง โดยปกติแล้วเมื่อบริษัทยาค้นพบสารใหม่ ๆ ที่มีความเป็นไปได้ที่จะผลิตเป็นตัวยาออกมาในอนาคต บริษัทก็มักจะจดสิทธิบัตรทันที แล้วจึงค่อย ๆ ทำวิจัยและทดลองกระทั่งได้ตัวยาออกมาสำหรับวางขายในท้องตลาด ซึ่งกว่านับตั้งแต่เริ่มจดสิทธิบัตรกระทั่งขึ้นทะเบียนยาเพื่อวางขาย ก็อาจอยู่ในช่วงท้าย ๆ ของการคุ้มครองสิทธิบัตร ตัวอย่างเช่น หากบริษัทยาต่างประเทศนำยามาขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ในปีที่ 18 ของการคุ้มครองสิทธิบัตรและไทยให้การคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา 5 ปี ตามที่อียูเรียกร้อง อายุการคุ้มครองจะเสมือนยืดออกไปเป็น 23 ปีโดยปริยาย ด้วยเหตุผลเหมือนกันกับกรณีซีแอลข้างต้น เพราะบริษัทยาชื่อสามัญไม่สามารถขึ้นทะเบียนยาได้ ทำให้การเข้าสู่ตลาดยาของยาชื่อสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่าต้องเนิ่นช้าออกไปอีก

 

 

ทีดีอาร์ไอชี้ชัด ไทยไม่ได้ประโยชน์ มีแต่เสีย ถ้ายอมอียู

 

 

ทว่า ข้อเสนอแนะที่กรมเจรจาการค้าฯ ส่งให้แก่รัฐบาลระบุว่า

 

‘กำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPS (TRIPS Plus) ในการจัดทำ FTA เนื่องจาก

            (1) การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาเพิ่มเติม 5 ปี จะไม่มีผลกระทบต่อราคาของยาในปัจจุบัน

            (2) การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (generic drugs) วางตลาดได้ช้าลง แต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อราคายามีจำกัด’

 

ดูเหมือนว่า ‘ผลกระทบต่อราคายามีจำกัด’ ของกรมเจรจาการค้าฯ จะมีนิยามที่แตกต่างไปจากมุมมองเชิงวิชาการไม่น้อย จากงานวิจัยล่าสุดของ รศ.ดร.จิราพร ที่ศึกษาผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยาล่วงหน้า 40 ปี พบว่า หากประเทศไทยยอมให้มีการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา 5 ปี เมื่อมาตรการนี้ดำเนินไปจนถึงปีที่ 5 จะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงถึง 81,356 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มเป็น 97,442 ล้านบาทต่อปีในปีที่ 10 ในปีที่ 15 เพิ่มเป็น 125,888 ล้านบาทต่อปี ในปีที่ 20 เพิ่มเป็น 156,390 ล้านบาทต่อปี และพุ่งขึ้นไปถึง 233,447 ล้านบาทต่อปีในปีที่ 30

 

จากรายงานการศึกษาของทีดีอาร์ไอระบุด้วยว่า การยกระดับการคุ้มครองยาต้นแบบให้สูงขึ้นตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่จะทำให้ระยะเลาผูกขาดของยาต้นแบบยาวนานขึ้น ซึ่งทำให้การเข้าสู่ตลาดของยาชื่อสามัญราคาถูกกว่า ถูกเลื่อนออกไปและรัฐบาลและประชาชน จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านยามากขึ้น จนอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา โดยเฉพาะยาสำคัญภายใต้สิทธิบัตร ขณะที่ประโยชน์โภชผลอันจะเกิดแก่อุตสาหกรรมยาไทยก็มีอย่างจำกัด แต่ผลประโยชน์เกือบทั้งหมดน่าจะตกอยู่กับบริษัทยาข้ามชาติ

 

 

กับดักในทริปส์ ถ้ายอมอียู ต้องยอมประเทศอื่นด้วย

 

 

นอกจากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ประเด็นที่ต้องใคร่ครวญให้จงหนักก็คือ กับดักที่ซ่อนเร้นอยู่ในข้อตกลง TRIPs มาตราที่ 4 ที่ระบุว่า ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ข้อได้เปรียบ ข้อเสนอด้วยความพอใจ ข้อเสนอพิเศษ หรือมาตรการป้องกัน ที่ให้แก่ประเทศสมาชิกหนึ่ง ต้องให้แก่ประเทศสมาชิกทุกประเทศทันทีและไม่มีเงื่อนไข

 

แปลความง่าย ๆ ก็คือ หากไทยตกลงยอมรับข้อเสนอการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาของอียู หรือข้อเสนออื่นใดก็ตามเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การทำเอฟทีเอของไทยกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ประเทศไทยก็ต้องให้สิทธิแก่ประเทศอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่ให้แก่อียูด้วย ดังนั้น ในอนาคต เมื่อการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ มีการฉายซ้ำหรืออาจจะแปลงรูปมาในข้อตกลงอื่น ๆ อย่างข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership Agreement: TPPA) ประเทศไทยย่อมไม่มีสิทธิบ่ายเบี่ยงข้อเสนอของสหรัฐฯ หากเป็นข้อเสนอเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้ให้แก่อียูไปแล้ว

 

น่ากังขาว่า มีเหตุผลใดอยู่เบื้องหลังที่ทำให้กรมเจรจาการค้าฯ เสนอความคิดเห็นต่อรัฐบาลเช่นนี้ ทั้งที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงจากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอที่กรมเจรจาการค้าฯ เป็นผู้สนับสนุนให้ทำการศึกษา และหากจะถามให้ไกลกว่านั้น-ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจไทยที่กำลังจะถูกตัดจีเอสพีคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งเจรจา ประเทศไทยพร่ำพูดถึงการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันมานาน ชวนสงสัยว่าเราไปได้ไกลถึงไหนแล้ว ทำไมภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจไทยจึงยังต้องหวังพึ่งพิงความเมตตาจากต่างประเทศเรื่อยมา กระทั่งละเลยและหลงลืมที่จะมองภาพอื่นๆ ซึ่งคงจะไม่กระไรนัก หากส่วนที่หลงลืมนั้นไม่ใช่ชีวิตของผู้คน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เส้นทางเอฟทีเอไทย-อียู

 

การเจรจาเปิดเขตเสรีการค้าหรือเอฟทีเอ (Free Trade Area) ระหว่างไทยในนามของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (Association of South East  Asian Nations: ASEAN) กับสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union: EU) เริ่มขึ้นเมื่อปี 2550 การเจรจาดำเนินไปถึง 7 รอบ แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติในประเด็นสำคัญได้ เพราะทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่แตกต่างกันมากในประเด็นของระดับการเปิดตลาดสินค้าและบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากมีระดับเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก ทำให้ต้องพักการเจรจาชั่วคราวเมื่อเดือนมีนาคม 2552

 

เหตุนี้อียูจึงหันเหจากการเจรจาแบบพหุภาคีปรับเป็นทวิภาคีกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นรายๆ ไป อียูได้ให้ความสนใจที่จะเปิดเจรจากับประเทศไทยมาโดยตลอด และหวังให้มีการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และการแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์กันในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานที่ไทยเปิดเสรีภายใต้อาเซียน (ASEAN Economic Community) และภายใต้กรอบเอฟทีเอของไทยกับประเทศอื่นนอกอาเซียน โดยเฉพาะด้านบริการ ขณะที่ไทยเองก็แสดงความกระตือรือร้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยอียูมีเงื่อนไขว่า จะต้องทำกรอบการเจรจา (Scoping Exercise) ให้เสร็จสิ้นก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการเจรจาจะบรรลุผล

 

ธันวาคม 2553 กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่างกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู และคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการจัดทำความตกลงการค้าเสรีภายใต้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  (กนศ.) ได้มีมติเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาเบื้องต้น และให้หารือร่างกรอบเจรจากับอียู ก่อนนำผลพร้อมร่างกรอบเจรจาเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาตามกระบวนการของมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ ทั้งไทยและอียูได้ทำการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างเอกสารกรอบการเจรจาและจัดทำไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยฝ่ายไทยมีประเด็นละเอียดอ่อนในการเจรจาหลายประเด็น เช่น การเรียกร้องให้ถอนสินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่ออกจากการเจรจ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา เป็นต้น

 

//////////////////////

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: