ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียน นับเป็นการจัดการประชุมครั้งสำคัญของกลุ่มองค์กร ที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากกลุ่มประเทศอาเซียน ที่เดินทางมาร่วมกันระดมความคิดเพื่อหาแนวทาง และกลไกสำคัญในการร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันในประเด็นสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะหลังการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ที่อาจจะได้รับผลกระทบอันเกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ ด้านการบริโภคสินค้าของผู้ผลิตในแต่ละประเทศ ที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เครือข่ายผู้บริโภคฯหากลไกแก้คุ้มครองสินค้าข้ามแดน
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการอำนวยการสภาผู้บริโภคอาเซียน และประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงเนื้อหาและประเด็นหลักของการประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียน ที่จัดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ว่า เป็นเวทีที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมคณะกรรมการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ เอซีซีพี ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด เพื่อหาแนวทางในการคุ้มครองกลุ่มผู้บริโภคอาเซียน ที่มองว่า ปัจจุบันยังไม่เข้มแข็งเหมือนกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่น และในการประชุมดังกล่าว ทำให้เกิดมีเวทีการประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียนขึ้นมา ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่รวมตัวกันขึ้น มีเป้าหมายในการสร้างความเข็มแข็งในกลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้น ในการมีสิทธิมีเสียงเพื่อออกความเห็นในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันเรื่องของสินค้าและบริการต่าง ๆ
สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยกันระหว่างสมาชิกนั้น มุ่งไปในเรื่องของการหากลไกในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศต่าง ๆ ที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ปัญหาเรื่องความปลอดภัย หรือ ความเป็นธรรม จึงควรจะได้รับการคุ้มครองอย่างเทียมกันในทุกประเทศ
“การรวมตัวกันเป็นสภาผู้บริโภคอาเซียน มีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งเป็นเสียงสู่ประชาคมในนามของผู้บริโภค เช่นประเด็นปัญหาเรื่องของสินค้าไม่ปลอดภัย การค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันในทุกประเทศสมาชิก เช่นกรณีประเทศหนึ่งห้ามนำเข้าสินค้าชนิดหนึ่ง เพราะไม่ปลอดภัย ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคจะต้องรู้ และควรห้ามนำเข้าด้วยเช่นกัน ซึ่งการประสานกันเหล่านี้จะทำให้ ผู้บริโภครู้เท่าทัน สินค้าไม่ปลอดภัย และสามารถหากลไกจัดการปัญหาได้ หรือ กรณีมีความผิดพลาดในการซื้อสินค้า จะทำอย่างไรในการส่งคืน หรือทำอะไรก็ตามซึ่งเราเชื่อว่าการรวมตัวจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง ทำให้สถานการณ์การบริโภคในประเทศดีขึ้น เป็นการถ่วงดุลให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น” ดร.จิราพรกล่าว
ชี้ผู้บริโภคอาเซียนยังไม่เข้มแข็ง ที่จะต่อสู้กับผู้ผลิต-บริการ
สำหรับการจัดประชุมสภาผู้บริโภคครั้งนี้ แม้จะเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งพิเศษ แต่ในมุมของคณะทำงานมองว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินหน้า เพื่อให้การประชุมเป็นที่ยอมรับ ได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจน และจริงจังจากฝั่งของภาครัฐมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในมุมของผู้บริโภคเอง โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ลาว พม่า และ กัมพูชา ซึ่งปัจจุบันการทำงานที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ การสร้างให้เกิดองค์กรที่จะเป็นเสียงของผู้บริโภค ในการติดตามตรวจสอบประเด็นต่าง ๆ องค์กรที่เกี่ยวกับผู้บริโภคทั้งภูมิภาคอาเซียนว่า ได้ดำเนินการอย่างครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงความร่วมมือกันในภูมิภาคในการทำการศึกษาวิจัยในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ เพื่อทำให้รู้ว่าสินค้าประเภทใดที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคบ้าง กลไกการดำเนินต่าง ๆ เช่น เรื่องการเรียกเก็บคืนสินค้า หรือกระบวนการนำเข้าส่งออกที่มีข้อจำกัดในประเทศต่าง ๆ เป็นต้น
การขับเคลื่อนในประเด็นปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียน แม้จะมีการจัดตั้ง และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มองค์กรเอกชนของแต่ละประเทศ แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า ความเข้มแข็งของการสร้างกระแส ให้ผู้ผลิตหันมาให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิของผู้บริโภค รวมไปถึง การสร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภคคำนึงของสิทธิของตัวเองมากขึ้น ยังไม่บรรลุเป้าหมายอย่างน่าพอใจนัก ผู้บริโภคจำนวนมากยังไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง จากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ผลิตสินค้า หรือบริการ ทำให้สถานการณ์ของผู้บริโภคในหลายประเทศ ยังคงอยู่ในสภาวะจำยอมในการยอมรับความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แม้จะมีความพยายามจากกลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาเคลื่อนไหวให้ความรู้กับประชาชนในประเทศของตัวเองมากขึ้นก็ตาม
องค์กรผู้บริโภค‘สิงคโปร์’ แข็งแกร่งสุดในอาเซียน
อย่างไรก็ตามหากเทียบความเข้มแข็งในการทำงานด้านนี้ ดร.จิราพรกล่าวว่า ยังมีระดับความเข้มแข็งที่ไม่แตกต่างกันมากนัก มีเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น ที่มีความชัดเจนในเรื่องของความเข้มแข็งในการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคของตัวเอง ปัจจุบันองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสิงคโปร์ เป็นองค์กรเดียวในภูมิภาคนี้ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากภาครัฐ ทำให้สามารถขับเคลื่อนกลไกการดูแลเรื่องความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการกับผู้บริโภคได้อย่างเป็นเป็นรูปธรรม และถือว่าเป็นการทำงานที่มีความเข้มแข็งที่สุด ในบรรดาองค์กรผู้บริโภคในประเทศอาเซียน และความเข้มแข็งของประเทศสิงคโปร์นี่เอง เป็นสิ่งที่องค์กรผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ ต้องการให้เกิดขึ้นในประเทศของตัวเองเช่นกัน
“สำหรับประเทศไทย ในมุมมองของประเทศสมาชิกด้วยกันเห็นว่า การทำงานของไทยอยู่ในระดับแนวหน้า แม้จะไม่เข้มแข็งเท่ากับประเทศสิงคโปร์ แต่ก็อยู่ในระดับผู้นำ ตามมาด้วย ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่สำหรับคณะทำงานยังเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนางานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นได้อีก โดยเฉพาะปัจจุบันเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มีความพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ให้เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐที่ชัดเจน และจะสามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่” ดร.จิราพรกล่าว
ระบุองค์กรบริการรัฐ-สถาบันการเงินละเมิดสิทธิผู้บริโภคมากที่สุด
ดร.จิราพรยังกล่าวด้วยว่า จากการทำงานร่วมกันกับองค์กรเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากประเทศสมาชิกอาเซียนขณะนี้พบว่า ปัญหาที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมด้านสินค้าและบริการ ของผู้ผลิต มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันนัก สาเหตุสำคัญเนื่องจากผู้บริโภคในประเทศแถบนี้ ยังไม่เข้มแข็งนัก จึงมักจะทำให้เกิดความเสียเปรียบในเรื่องของการต่อรองกับผู้ผลิต จนทำให้ไม่สามารถรักษาสิทธิของผู้บริโภคได้ โดยปัญหาส่วนใหญ่ เช่น เรื่องการเสียเปรียบด้านการเก็บค่าบริการต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ และ สถาบันการเงินเอกชน เรื่องของความไม่ปลอดภัยจากสินค้า ที่ทะลักเข้ามาจากต่างประเทศ ที่ขาดการตรวจสอบ หรือการให้บริการที่ไม่เป็นธรรมเป็นต้น
“ปัญหาที่คล้ายกันเช่น เรื่องของสารก่อมะเร็ง ที่ประเทศไทยกำลังทำอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการตื่นตัวไปทั่วภูมิภาค กรณีแบบเดียวกันนี้ เกิดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่น่าสงสารมาก เพราะประเทศเกิดภัยพิบัติมากมาย มีทั้งอุทกภัย แผ่นดินไหว หลังคาโรงงานแตก ทำให้สารฟุ้งกระจาย ผู้บริโภคต้องรับสารอันตรายเหล่านี้มากกว่า ดังนั้นหากเรามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อให้มีกลไกรณรงค์ในประเด็นเดียวกัน จะทำให้เสียงดังขึ้น และปัญหาถูกแก้ไขอย่างเท่าเทียมกัน” ดร.จิราพรกล่าว
ผู้บริโภคไทยตื่นตัวมากขึ้น แต่ยังไม่พอ
จากการทำงานของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ดร.จิราพรวิเคราะห์พฤตกรรมของผู้บริโภคไทยในปัจจุบันว่า เป็นสิ่งที่น่าดีใจ เพราะพบว่าประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องของการรักษาสิทธิของตัวเอง ในฐานะผู้บริโภคมากขึ้นในระดับหนึ่ง โดยมีความกล้าที่จะต่อสู้กับสิ่งที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มผู้ผลิต เพื่อทวงสิทธิของตัวเอง ซึ่งความกล้าที่จะต่อรองกับสิ่งที่ถูกกระทำเหล่านี้ จะทำให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบมากขึ้น
“เมื่อก่อนเรื่องของสินค้าหมดอายุ คนไทยจะไม่คิดจะร้องเรียน โดยมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเสียเวลา เงินไม่มากนักก็ปล่อยไป แต่เดี๋ยวนี้คนให้ความสำคัญมากขึ้น มีอยู่กรณีหนึ่ง เขาซื้อสินค้าจากชั้นในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แต่ปรากฎว่าพบว่าวันที่เขาซื้อกลับมานั้น ตรวจสอบพบว่าสินค้านั้นหมดอายุไปแล้ว เขาก็ได้กลับไปที่ห้างแห่งนั้นเพื่อร้องเรียน และนำของไปคืน ครั้งแรกนั้นฝ่ายขายไม่ยอมรับคืน เขาก็ต่อสู้ต่อขอคุยกับผู้จัดการ จนในที่สุดก็ได้คืนสินค้านั้น และห้างยังต้องจ่ายเงินค่ารถ ค่าเสียเวลาให้ด้วย และรับปากว่าจะกลับไปตรวจสอบสินค้าในชั้นขายสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยผู้บริโภคคนอื่น ๆ และทำให้ผู้ผลิตเองมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย”
เร่งหาเครื่องมือต่อสู้กติกาไม่เป็นธรรมของรัฐ
เมื่อถามถึงประเด็นปัญหาที่กำลังน่าเป็นห่วง สำหรับผู้บริโภคไทยในขณะนี้ ดร.จิราพรระบุว่า เป็นปัญหาเรื่องของการหากลไกหรือเครื่องมือ ในการจัดการกับกติกาบางอย่างที่รัฐกำหนดขึ้น แต่กลับเป็นการละเมิดสิทธิ์ของประชาชนหรือผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องการออกกติกาที่เกี่ยวข้องกับการที่รัฐละเมิดสิทธิ์ประชาชน แต่ขณะนี้ยังไม่มีเครื่องมือใดในการจัดการ แม้จะมีสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรให้กับผู้บริโภคได้ ดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคจึงพยายามเรียกร้องให้เกิดองค์กรอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะให้ข้อคิดเห็น และหามาตรการทางสังคม เพื่อให้ว่ารัฐทำไม่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนเข้มแข็งและมีกติกาที่เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกำหนดเครื่องมือ การให้ความรู้กับผู้บริโภคในการเข้าถึงข้อมูล รัฐ และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคคนไทย กล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์เหล่านี้ การพยายามผลักดันองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคเป็นวิธีหนึ่ง เพราะปัจจุบันยังไม่เกิดองค์กรนี้ ตั้งแต่การกำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2550 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มี จึงอยากฝากเรียกร้ององค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค จะได้ทำให้การทำงานดีขึ้นและจะส่งภาพโดยรวมเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต
“ตอนนี้ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนมองว่าเราเข้มแข็ง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเรื่องของการกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำขึ้นในทุกระดับ เรามีสื่อของเราเองในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค มีคลื่นวิทยุสำหรับการกระจายข่าวต่าง ๆ มีการทำในระดับนโยบาย ทั้งเรื่องของหลักประกันสุขภาพ เรื่องของเอฟทีเอ อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศอื่นจะมองว่าเราเข้มแข็ง แต่เราไม่ได้มองว่าเราเข้มแข็ง เรายังไม่ถึงกับระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งผู้บริโภคของเขาเข้มแข็งมาก สามารถทำให้ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบมากขึ้น อย่างเรื่องสลากสินค้า เมื่อเขาต่อต้านไม่ซื้อสินค้าที่ไม่รับผิดชอบ ทำให้ผู้ผลิตเสียหายจนต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตอนนี้เราไม่ได้ถึงขนาดนั้นแต่ก็พยายามทำให้ได้ แม้คนจะมองว่าเราค้านทุกเรื่อง แต่เรื่องที่เราค้านส่วนใหญ่เป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่ส่งผลต่อคนกลุ่มใหญ่ของประเทศทั้งสิ้น” ดร.จิราพรกล่าว
ประกาศปฏิญญาสภาผู้บริโภคอาเซียน
ทั้งนี้ หลังจากใช้เวลาในการประชุมในประเทศไทยร่วมกัน ในที่สุด สภาผู้บริโภคอาเซียน มีข้อสรุปเป็นข้อตกลงร่วมกันโดยเห็นชอบในการออกประกาศ ปฏิญญาสภาผู้บริโภคอาเซียน กรุงเทพฯ 2555 ในการร่วมกันปฏิเสธสินค้าแอสเบสตอส (แร่ใยหิน) และบีพีเอ เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้แบนสำเร็จแล้ว โดยยืนยันให้มีมาตรการอัตโนมัติ ที่ประเทศหนึ่งแบนสินค้าใด ประเทศอื่นในอาเซียนต้องแบนสินค้านั้นทันที ซึ่งถือเป็นผลสรุปที่องค์กรด้านการคุ้มครองในประเทศสมาชิกเห็นว่าจะได้ประโยชน์ที่ดีร่วมกัน
สำหรับเนื้อหาของ ปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 ระบุดังนี้
1.ขณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องร่วมกันทำงานกับรัฐบาลในอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ และก่อตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระในทุกประเทศของอาเซียน ซึ่งขณะนี้บางประเทศยังไม่มี และจะเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน (ACCP) 2.ให้ความสำคัญกับความร่วมมือและการประสานงานระหว่างรัฐบาลของประเทศในอาเซียน ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค 3.พวกเราสนับสนุนให้ปรับปรุงการประสานงานและทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรของรัฐในแต่ละประเทศอาเซียน
4.เรายืนยันที่จะร่วมมือกันคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคในทุกภาคส่วน และเราจะไปเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในขบวนการตัดสินใจเรื่องมาตรการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในอาเซียน
5.เราจะร่วมมือกันในการพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพของกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและชดเชยเยียวยา
เราขอเสนอการปฏิบัติการดังต่อไปนี้ 1.ให้ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนในการจัดการและกำจัดสินค้าที่เป็นอันตรายและไม่ปลอดภัยออกไปจากประเทศ เช่น การสั่งห้ามใช้วัสดุแอสเบสตอล และ บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A หรือ BPA)ในผลิตภัณฑ์ขวดนมเด็ก ซึ่งห้ามใช้ในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว 2.ให้มีการปรับปรุงมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์อันตราย และกฎเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกันกันในการคุ้มครองผู้บริโภคของภูมิภาคอาเซียน และเราขอเสนอให้มีการปรับปรุงมาตรฐานและกฎระเบียบที่ใกล้เคียงกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยหากประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียน ได้สั่งยกเลิกการใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์อันตรายชนิดใด ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต้องยกเลิกการใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์อันตรายนั้นเช่นเดียวกันโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศสมาชิก กลายเป็นที่รองรับสินค้าและผลิตภัณฑ์อันตรายเหล่านั้น 3.การทำข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี จะต้องไม่ให้เกิดทริปส์พลัส และไม่นำสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เหล้าและบุหรี่ มาเป็นสินค้าในการเจรจา โดยให้คำนึงถึงการคุกคามและความไม่สมดุลของข้อตกลงเขตการค้าเสรี
น.ส.อินดา สุขมานิวซิงค์ ประธานกรรมการบริหารสภาผู้บริโภคอาเซียน กล่าวว่า มีความยินดีที่มีโอกาสพบตัวแทนรัฐบาลไทย ซึ่งดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาณที่ดี ในเรื่องที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภคร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดปัญหากับผู้บริโภคในประเทศไหนในภูมิภาคอาเซียน เราทุกคนควรมองว่าเป็นปัญหาร่วมกันไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง
นายเซีย เซ็งชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงค์โปร์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างองค์กร สำคัญมาก เช่น งานประชุมนี้เราก็ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ ทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยไหนบ้าง อยากให้มีผู้บริโภคมาร่วมกันมากกว่านี้ เวลาที่ออกไปให้ความรู้ผู้บริโภคจะได้รู้ว่า พวกเขาพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคกันอย่างไร หรือได้รู้ว่ากฎหมายที่ออกมาเช่น LEMON LAW ของสิงคโปร์ เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
ด้านน.ส.โมฮานา ปรียา สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า เราจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและแลกเปลี่ยนเรื่องการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเท่าทันปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ