100 วันกองทุนสตรีฯ รัฐปล่อยเงินแล้วจังหวัดละ 20 ล้านบาท
เครือข่ายผู้หญิงเฝ้าระวังนโยบายสตรี ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อนหญิง เครือข่ายสตรี 4 ภาค และเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ในฐานะที่เป็นองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ประชุมเพื่อติดตาม ตรวจสอบความก้าวหน้าของนโยบายกองทุนบทบาทสตรี ในวาระครอบรอบ 100 วัน การคลอดนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของรัฐบาล ซึ่งเครือข่ายฯ ได้ติดตามมาโดยตลอด นับตั้งแต่รัฐบาลมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยขอเข้าพบรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ เพื่อยื่นข้อเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนและมีข้อสรุปร่วมกันในหลักการสำคัญคือ รัฐบาลจะทบทวนระเบียบกองทุนดังกล่าว
นอกจากนี้เครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเสนอ 10 ข้อ จากเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สิทธิของผู้หญิงทุกคน ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สำหรับความคืบหน้าของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม รัฐบาลได้ทำพิธีปล่อยเงินก้อนแรกให้จังหวัดละ 20 ล้านบาทในปีแรก เนื่องในโอกาสวันสตรีไทย 1 สิงหาคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี หลังจากที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนบทบาทสตรีแห่งชาติแล้ว ในขณะที่รายชื่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด ยังไม่ได้มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 5 คณะ เพื่อรับผิดชอบใน 5 ยุทธศาสตร์ ของการดำเนินการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประกอบด้วย 1.การเสริมสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อสตรี รวมถึงการยอมรับในความเสมอภาคระหว่างหญิงกับชาย 2.การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มโอกาสสตรีไทย 3.การพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิต ความมั่นคงของชีวิต โดยสตรีไทยต้องได้รับการดูแลสุขภาพตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส 4.การพัฒนาศักยภาพในการเพิ่มโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทั้งทางการเมือง การบริหารและการตัดสินใจในระดับต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็งและ 5.การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพกลไกของสตรีในระดับองค์กร และระดับชุมชน
ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายผู้หญิงติดตามเฝ้าระวัง นโยบายสตรีได้ติดตาม ตรวจสอบ เพื่อมิให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งเป็นกองทุนที่จะมีประโยชน์กับสตรีไทยทั้งประเทศ ตกอยู่ในมือของผู้หญิงเพียงแค่กลุ่มเดียว และนโยบายกองทุนฯ ต้องไม่กลายเป็นนโยบายเพื่อการหาเสียงให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ต้องเป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมเป็นเจ้าภาพ ทั้งภาคการเมืองไม่ว่าพรรคใดจะเป็นรัฐบาล ภาครัฐ องค์กรอิสระ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม
“เครือข่ายผู้หญิงเฝ้าระวังนโยบายสตรีและประเด็นสตรี ได้ทบทวน และขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนการดำเนินการกองทุนฯ ดังกล่าว และยุติการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอย่างสิ้นเปลือง เพื่ออ้างว่าผู้หญิง”
เสนอสัดส่วนภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการกองทุนฯ
สำหรับข้อเสนอ 10 ข้อ จากเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สิทธิของผู้หญิงทุกคน ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลทำตามข้อตกลงในการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยมีผู้แทนภาคประชาชน 5 คน 2.เนื่องจากคณะกรรมการประเมินผลที่แต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ขอให้เพิ่มจำนวนผู้แทนภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความสมดุลในการตรวจสอบ 3.ให้มีการทบทวนคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด และระดับชาติ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากการเลือกจากเครือข่ายภาคประชาชน โดยประชาชน และต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
4.ให้รัฐบาลปรับนโยบายกองทุนพัฒนาสตรีระดับจังหวัด และระดับชาติ โดยให้คณะกรรมการกองทุนฯมีสัดส่วนของเครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปร่วมบริหารจัดการและ 5.ให้นำเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดละ 20 ล้านบาทแรก สร้างเวทีเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และการพัฒนาฐานข้อมูลของสตรีในการเข้าถึงการช่วยเหลือสตรี ครอบครัว โดยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น สร้างความเข้าใจกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทั้งในระดับจังหวัดและภาค เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและเข้าถึงข้อมูลการบริหารจัดการกองทุนฯอย่างแท้จริง
เร่งผลักดันนโยบายกองทุนฯเป็นกฎหมาย
6.ให้รัฐบาลเร่งสนับสนุนนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นกฎหมายกองทุนพัฒนาสตรี เพื่อความยั่งยืนของกองทุนในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต สตรี ครอบครัว และชุมชน 7.ให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุน ให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีการบริหารจัดการที่ส่งเสริมการพัฒนากองทุนอื่น ๆ แบบต่อยอด เน้นการปลดหนี้ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มทักษะอาชีพมากกว่าเป็นกองทุนเพื่อการสร้างหนี้ รวมถึงการบริหารจัดการต้องยึดหลักธรรมาภิบาล โดยยึดแนวคิด สุจริต จริงใจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย เคารพชุมชน ปกป้องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
8.ให้รัฐบาลเร่งปรับแก้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นกองทุนเปิด ให้สตรีทุกคนสามารถเข้าถึงการได้รับประโยชน์จากกองทุนยกเลิกการต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ 9.เพื่อให้เกิดหลักประกันว่า การจัดสรรเงินกองทุนเพื่อให้เป็นเงินหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ย เป็นไปเพื่อการมุ่งแก้ปัญหาทำหนี้สินของผู้หญิง และเพื่อการเพิ่มรายได้ของผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลควรให้อำนาจคณะกรรมการระดับจังหวัด เป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์และสัดส่วนการใช้เงินในส่วนนี้ 10.ให้งบประมาณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีผ่านมายังคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในระดับพื้นที่โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานภาครัฐ ทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ ในขณะเดียวกันการออกระเบียบกองทุนระดับพื้นที่ พื้นที่ต้องเป็นผู้ออกระเบียบการบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อความสอดคล้องกับวิถีชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ