‘ม็อบปาล์ม’กระทุ้งรัฐส่งท้ายปีเก่า บีบทุ่ม1.9พันล.อุ้มแบบ'ข้าว-ยาง' เงินผ่านธกส.แล้วถึง6.6แสนล้าน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 25 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1935 ครั้ง

 

 

ถึงสิ้นปี 2555 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยการกำกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของพรรคชาติไทยพัฒนา มีภาระต้องอุดหนุนสินค้าเกษตรผ่านการแทรกแซง หรือรักษาเสถียรภาพราคา ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ไปแล้วถึง 6.6 แสนล้านบาท (ข้าว มัน ยาง ปาล์ม)

 

สัปดาห์สุดท้ายก่อนการฉลองปีใหม่ของรัฐบาล ต้องเจอกับโจทย์หิน ม็อบนายหัว-เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มจากหัวเมืองภาคใต้ ทั้งชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่

 

กลุ่มแกนนำนายหัวประชิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงทำเนียบรัฐบาล ยื่นข้อเรียกร้อง ในนามสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี และเกษตรกรชาวสวนปาล์ม 15 คน ยื่นไม้ตายตามมติที่ประชุมของตัวแทนเกษตรกร สมาคมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มทั่วประเทศเรียกร้องรัฐบาล 7 ข้อ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

1.ขอพยุงราคาปาล์มทะลายสุกไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท 2.ขอให้ชดเชยผลปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนโดยตรง ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 3.ขอให้รัฐจัดทำสต๊อกกลาง เก็บน้ำมันดิบไว้เพื่อส่งออก แปรรูป

 

4.ให้เร่งดำเนินการผลิตไบโอดีเซลบี b 5-b10 อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง หากยังเหลือน่าจะพิจารณา เผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า 5.ให้ใช้ b-100 ผสมกับ b-20 ให้กับเรือประมง รถไถนา รถอีแต๋น ให้ลดราคาลิตรละราคา 2.50 บาท

 

6.ให้มีคณะกรรมการตรวจเช็กสต๊อกน้ำมันปาล์ม ขึ้นมา 1 ชุด ขอตัวแทนชาวสวนปาล์มเป็นคณะกรรมการด้วย 7.ให้ช่วยเหลือเกษตรกรภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2555

 

จากนั้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2555 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) โดยนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประกาศมติ “ใช้เงินอุดหนุนกับโรงสกัดปาล์มเข้าไปรับซื้อผลปาล์มดิบในปริมาณ 100,000 ตัน ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ โดยกำหนดราคารับซื้อสำหรับปาล์มน้ำมันประเภทปริมาณน้ำมัน 17 เปอร์เซนต์ ที่ราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม และ 4.35 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับปาล์มน้ำมันประเภทปริมาณน้ำมัน 18.5 เปอร์เซนต์ โดยให้มีผลทันทีในวันที่ 20 ธันวาคม 2555

 

 

 

ขณะที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มภาคใต้จากสุราษฎร์ธานี ซึ่งรวมตัวกว่า 3,000 คน เคลื่อนไหวปิดถนน 3 วัน ใน จ.ชุมพร ประท้วงราคารับซื้อผลปาล์มดิบตกต่ำ ได้เปิดทางจราจรและพอใจในการมาตรการอุดหนุนราคารับซื้อปาล์มดิบของรัฐบาล

 

นายอภิชาตกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะใช้งบประมาณน้อยกว่า 1,900 ล้านบาท ที่มีการประเมินไว้แต่เดิมที่จะมีการรับซื้อปาล์มสดมากกว่า 100,000 ตัน เพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 80,000 ตัน อย่างไรก็ตามการรับซื้อปาล์มดิบจำนวน 100,000 ตัน ในครั้งนี้ จะทำให้ได้น้ำมันปาล์มดิบ ประมาณ 50,000 ตัน ที่จะส่งให้กับโรงกลั่นเพื่อนำไปแปรรูป โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงาน จะนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การนำไปผลิตไบโอดีเซลบี 100 เพื่อขายให้กับเกษตรกรที่ใช้เครื่องยนต์รอบต่ำ

 

ณ ปัจจุบัน (ธันวาคม 2555 ) สต็อกปาล์มสดทั่วประเทศมีประมาณ 3.4 แสนตัน ราคาตลาดประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ CPO ปัจจุบันอยู่ที่ 1.7 แสนตัน ขณะที่ปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.3 แสนตัน ซึ่งมีปริมาณที่เกินความต้องการประมาณ 40,000 ตัน ขณะที่ในเดือนต่อไป CPO ในสต็อกจะเหลืออยู่ที่ 1.2 แสนตันเท่านั้น เนื่องจากผลผลิตลดลง เมื่อรวมค่าดำเนินการและเผื่อเหลือเผื่อขาด คาดว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณอุดหนุนผลผลิตปาล์มอีกไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท
    
โดยนายสุพร อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง นำเผือกร้อน 7 ข้อ เข้าสู่มือของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง

 

เพื่อตั้งเรื่องเข้าสู่วาระการพิจารณาเงินอุดหนุนจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งการอุดหนุนตามคำเรียกร้องเช่นนี้ เป็นไปตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกยางและปลูกข้าวทั่วประเทศ ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว โดยในช่วงที่ราคายางไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้กิโลกรัมละ 120 บาท คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติวงเงินเพื่ออุดหนุนผ่านระบบสินเชื่อซื้อยางถึง 30,000 ล้านบาท นอกเหนือจากการปล่อยซอฟต์โลนให้ผู้ส่งออกยางกู้ไปใช้ในการรับซื้อยางดิบเก็บไว้ในสต๊อก โดยให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยส่วนต่าง ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้ง ๆ ที่ราคายางตกต่ำเพราะกลไกของตลาดโลก และนโยบายส่งเสริมการปลูกยางที่ผิดพลาดของรัฐบาล ผ่านสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)  ให้จัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกยางพาราระยะที่ 3 จำนวน 800,000 ไร่ทั่วประเทศ

 

เมื่อราคาตกแทนที่รัฐบาลจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ในขณะนั้นมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ชื่อ นายณัฐวุฒ ใสยเกื้อ จึงต้องรักษาหน้าด้วยการ “ลดพื้นที่ปลูก” เหลือ 600,000 ไร่ พร้อมกับการ “อุดหนุน” หรือแทรกแซงราคา 100-104 บาทต่อกิโลกรัม

 

 

 

โดยพยายามอ้างถึง ข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรองนายกรัฐมนตรี นายชุมพล ศิลปอาชา ในฐานะกำกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของโควต้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ชื่อ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง

 

ทั้งนี้การรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน และการขออนุมัติเพิ่มวงเงินกู้ตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง มีข้อเสนอที่สวยหรูว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยดำเนินการชะลอการจำหน่ายยางออกสู่ตลาดในช่วงที่ราคายางผันผวน

 

สนับสนุนวงเงินกู้ใช้รับซื้อน้ำยางสด หรือยางแผ่นดิบ หรือยางก้อนถ้วยมาแปรรูป หรือส่งขายให้องค์การสวนยางนำไปแปรรูปเป็นน้ำยางข้น ยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง ทำให้สถาบันเกษตรกรและหรือองค์กรสวนยางสามารถเก็บรักษายางไว้ได้เอง รอจำหน่ายเมื่อราคาเหมาะสม หรือเมื่อสิ้นสุดโครงการ เป้าหมายของโครงการคือ ลดอุปทานยาง เพื่อให้มีราคารับซื้อที่เหมาะสมและยั่งยืน อยู่ที่ระดับประมาณกิโลกรัมละ 120 บาท ระยะเวลาของโครงการ 1 ปี 3 เดือน (มกราคม 2555-มีนาคม 2556)

 

จึงขออนุมัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น สำหรับยางแผ่นรมควันของสถาบันเกษตรกร ที่ยังไม่สามารถขายได้ วงเงินรวม 1,039.687 ล้านบาท

 

จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยองค์การสวนยางกู้เงินจาก ธ.ก.ส.วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันการเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ส่วนค่าบริหารโครงการเห็นควรอนุมัติให้องค์การสวนยาง ใช้จ่ายจากเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามแผนการใช้จ่ายเงิน (เมษายน-กันยายน 2555) ภายในกรอบวงเงิน จำนวน 148,000,000 บาท

 

และให้ธ.ก.ส.ใช้เงินกู้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางวงเงินกู้ไม่เกิน 15,000 ล้านบาท

 

 

 

ให้หน่วยงานดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางคือ สถาบันเกษตรกรและองค์การสวนยางดูแลคลังสินค้า (Stock) ของโครงการฯ ไม่ให้มีการสูญหาย เว้นแต่จะมีการเสื่อมคุณภาพของสินค้าตามปกติ แต่หากมีการสูญหายหรือสินค้าเสื่อมคุณภาพ เพราะความบกพร่อง หน่วยงานดังกล่าวจะต้องชดใช้ให้แก่รัฐ เนื่องจากได้รับอนุมัติวงเงินจ่ายขาดสำหรับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าแล้ว

 

โดยมีเงื่อนไข ให้กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ ต้องพิจารณาความเห็นจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ ให้เร่งระบายผลผลิตให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ ส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำ และเพื่อจะได้รับรู้ผลกำไร/ขาดทุนของพืชแต่ละชนิดโดยแท้จริง

 

ดังนั้นเพื่อมิให้เป็นภาระแก่งบประมาณประจำปีมากจนเกินไป และควรพิจารณาวางแผน เพื่อเร่งระบายผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และแยกบัญชีการดำเนินงานให้ชัดเจน ตลอดจนรีบดำเนินการปิดบัญชีโครงการ เพื่อลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ที่จะต้องนำไปชำระเป็นต้นทุนเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

 

คำแนะนำของสภาพัฒน์ฯ ยังระบุด้วยว่า ควรสนับสนุนการนำผลผลิตที่รับจำนำ/ซื้อมาสร้างมูลค่าเพิ่มและแปรรูปสินค้า เพื่อจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา ดำเนินการลดต้นทุนการผลิตควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เมื่อมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 และเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดี นอกเหนือจากการรับจำนำผลผลิตหรือแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร

 

ทว่าโครงการนี้ มีการรายงานโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเวลาต่อมา (17 กรกฎาคม 2555) ว่า สำนักงบประมาณต้องตั้งงบประมาณชดเชยผลการขาดทุน กรณีการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางประสบภาวการณ์ขาดทุน วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งในการดำเนินงานต้องซื้อยางในราคาชี้นำตลาด เพื่อให้ราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 อยู่ในระดับประมาณ 120 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นการซื้อยางจะมีราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เมื่อรวมกับต้นทุนดำเนินงานแล้วทำให้มีต้นทุนขายสูงกว่าราคาซื้อขายในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้การดำเนินงานของโครงการฯ ประสบปัญหาขาดทุน

 

 

 

ซึ่งเป็นการขาดทุนจากการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือการแทรกแซงราคา ใน 52 จังหวัด มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 676 สถาบัน แบ่งเป็น นิติบุคคล 616 แห่ง วิสาหกิจชุมชน 49 แห่ง และกลุ่มชาวสวนยางของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง 11 แห่ง และองค์การสวนยางเปิดจุดรับซื้อยางตามโครงการเพิ่มขึ้น 11 จุด คือภาคใต้ 7 จุด ภาคตะวันออก 1 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จุด ปัจจุบันรวม 42 จุด สำหรับการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร

 

องค์การสวนยางซื้อยางไปแล้ว 61,762 ตัน คงเหลือพื้นที่โกดังเก็บยางได้อีก 13,000 ตัน ซึ่งองค์การสวนยางได้ประสานงานหาสถานที่เก็บยางเพิ่มอีก 8,000 ตัน แล้วส่วนการเบิกเงินกู้ องค์การสวนยางได้เบิกเงินเต็มจำนวน 10,000 ล้านบาท

 

กระทรวงเกษตรฯอ้างว่า มีผลการใช้วงเงินกู้ตามโครงการทำให้สามารถชะลอและยับยั้งราคายางของประเทศไทยไม่ให้ตกต่ำตามราคาของตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้สถาบันเกษตรกร เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์ มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีตัวเลขรายงานคณะรัฐมนตรีว่าเพิ่มขึ้นเท่าไร

 

ในขณะที่รัฐบาลต้องรับภาระเข้าบัญชีหนี้สาธารณะของประเทศทันที 17,000 ล้านบาท มาจากเงินที่ให้องค์การสวนยางกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพิ่มอีก 15,000 ล้าน โดยใช้วงเงินกู้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 วงเงิน 269,160 ล้านบาทเดิม รวมกับวงเงินส่วนของสถาบันเกษตรกร จำนวน 2,000 ล้านบาท

 

ตราบใดที่รัฐบาลยังคงนโยบายประชานิยมลด-แลก-แจก-แถม การตั้งงบประมาณ จากภาษีของทุกคนในประเทศเพื่ออุดหนุนสินค้าเกษตรหลักแสนล้าน ก็จะยังอยู่ในภาระหนี้สาธารณะของประเทศ ทุกรอบปีงบประมาณ

 

ขอบคุณภาพจาก Google, เดลินิวส์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: