‘หวยไม่มีวันตาย’(5)ข่ายผลประโยชน์อื้อ เอื้อทั้งคนเล่น-เจ้ามือ-ผู้มีอิทธิพล-ตำรวจ สังศิตชี้ปราบได้ใน48ชั่วโมงแต่ไม่มีใครทำ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 25 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 7750 ครั้ง

‘หวยใต้ดิน’ตายยากเพราะคนไทยนิยมเล่น

 

จากข้อมูลในประเด็นต่างๆ ของหวยใต้ดิน ที่ศูนย์ข่าว TCIJ มานำเสนอ นับตั้งแต่พฤติกรรมของคนในสังคมไทยที่มีการเล่นหวย พูดถึงเรื่องหวย ขายหวย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในบริบทต่างๆ จนกลายเป็นความเคยชินเสมือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายแล้ว การเผยแพร่อย่างเปิดเผยในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ การพยายามผลักดันของนักการเมืองที่จะให้เกิดหวยบนดิน หรือหวยออนไลน์ ที่ถึงขั้นกระตือรือล้นออกโรงแก้ไขกฎหมายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มากกว่าการแก้ไขปัญหาสังคมอื่นๆ ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “หวยใต้ดิน” ส่งผลกระทบต่อสังคมในทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเด็นผลประโยชน์ ที่มีวงเงินหมุนเวียนจำนวนนับแสนล้านบาท

 

จากงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจการพนัน และทางเลือกเชิงนโยบายของ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และคณะ ที่ได้สำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันของคนไทยในปี 2544 ที่ดูเหมือนจะเป็นรายงานข้อมูลด้านการพนันหวยใต้ดินฉบับเดียว ที่ให้ข้อมูลตัวเลขในเชิงเศรษฐศาสตร์ของการเล่นหวยใต้ดินของคนไทย พบว่า มีผู้เล่นหวยใต้ดินถึง 23.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 51 ของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป  ผู้เล่นประมาณครึ่งหนึ่ง เล่นหวยใต้ดินมานานกว่า 10 ปี ผู้เล่นเพียงประมาณ 4.7 ล้านคน หรือร้อยละ 20 จะเล่นหวยเกือบทุกงวด แต่ผู้เล่นร้อยละ 60 เล่นหวยเฉลี่ยประมาณ 6 ครั้งต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ผู้เล่นถึงร้อยละ 46 จ่ายเงินซื้อหวยใต้ดินในแต่ละงวดประมาณไม่เกิน 100 บาท แม้ต่อมาจะมีการสำรวจเรื่องการเล่นหวยใต้ดินของคนไทยเพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานวิจัยชิ้นนี้ เนื้อหาใจความหลักของงานวิจัย และการสำรวจ ล้วนสรุปตรงกันว่า “หวยใต้ดิน” ยังคงครองอันดับหนึ่ง ในบรรดาเกมเสี่ยงโชค และการพนันทั้งหลายของคนไทยในทุกระดับ

 

ขยับไปขายใต้ดินออนไลน์-เปิดอบรมเอเย่นต์

 

 

เมื่อหวยใต้ดินยังเป็นหนึ่งในการพนันของไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แทบไม่มีใครไม่รู้ว่า หากต้องการซื้อหวยใต้ดิน จะต้องไปหาซื้อได้ที่ไหน และใครจะเป็นผู้ให้คำตอบกับการหาซื้อเลขเด็ดของตัวเองได้ การซื้อขายหวยใต้ดินจึงไม่ใช่เรื่องยาก และมีผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการมากมาย มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างลงตัวในธุรกิจผิดกฎหมายนี้ ทำให้มีการมองว่านั่นคือสาเหตุสำคัญที่การปราบปรามไม่เคยเกิดขึ้นอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำ การขยายตัวของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกลับมากขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากการขายหวยใต้ดินแบบมีคนขาย ผ่านมือไปยังเจ้ามือระดับยี่ปั๊ว ก่อนส่งต่อกันอีก 2-3 ทอดเพื่อถึงเจ้ามือรายใหญ่ดังที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว ปัจจุบันหากเข้าไปค้นหาในเว็บไซต์ Google.com จะพบธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวโยงกับการขายหวยใต้ดิน นอกจากเว็บไซต์หวยใต้ดินออนไลน์แล้ว คือ การรับจ้างทำเว็บไซต์หวยใต้ดินออนไลน์ ที่มีการเปิดเผยผู้รับจ้างทำประหนึ่งว่าเป็นเรื่องถูกกฎหมาย นั่นแสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์ในวังวนนี้ย่อมมากพอ ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ยอมเสี่ยงที่จะเข้ามาร่วมกระทำผิดกฎหมายด้วย

 

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์หอข่าว ของนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือนก.พ.2555 ถึงการแพร่ระบาดของเว็บไซต์หวยใต้ดินออนไลน์ ที่เจ้าของเว็บไซต์กล้าท้าทายกฎหมาย ถึงขั้นเปิดหลักสูตรอบรมเอเย่นต์ เจ้ามือหวยใต้ดิน เพื่อหวังสร้างเครือข่ายลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นให้มากขึ้น

 

ดร.สังศิตระบุว่า ปัจจุบันวงการหวยใต้ดินมีเม็ดเงินสะพัดอยู่ในธุรกิจมากถึงหลายแสนล้านบาทต่อปี ผู้ที่เป็นเจ้ามือรายใหญ่ คือนักการเมืองท้องถิ่น ที่ต้องการเงินทุนไปใช้หาผลประโยชน์ทางการเมือง  มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา ให้การเล่นหวยใต้ดินสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้ระบบหวยใต้ดินเข้าไปแทรกซึมตามหน่วยงานราชการต่างๆ รวมไปถึงสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งวงการตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อย ภรรยาตำรวจต่างก็เล่นหวยใต้ดินกันอย่างทั่วถึง จึงยากที่จะปราบปราม

 

“ถ้าถามว่าจะปราบปรามได้หรือไม่ ผมว่าไม่เกิน 48 ชั่วโมงก็จัดการได้หมด แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเจ้ามือให้ส่วยตำรวจ ในทุกพื้นที่ตำรวจรู้ดีอยู่แล้วว่าใครเป็นเจ้ามือ แต่ไม่ปราบกัน รวมทั้งกฎหมายที่มีอยู่โทษก็ต่ำแค่ปรับก็จบ ถ้าผมเป็นเจ้ามือได้เงินมาล้านสองล้านโดนปรับไม่กี่พันผมก็ยอม และคนที่โดนจับตำรวจก็มาขอให้เป็นผู้ต้องหาให้ เพราะนอกจากได้เงินยังได้ความดีความชอบด้วย” นายสังศิตกล่าว

 

ผลประโยชน์ล่อตาดึงนักศึกษา 19-20 ปีเป็นเจ้ามือ

 

ส่วนประเด็นที่หวยใต้ดินออนไลน์พยายามเจาะตลาดวัยรุ่นมากขึ้น ดร.สังศิตกล่าวว่า ปัจจุบันพบเจ้ามือหวยใต้ดินรุ่นใหม่อายุเฉลี่ยเพียง 19-20 ปี เด็กเหล่านี้ไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวและการศึกษาที่ต่ำต้อย แต่กลับเป็นเด็กที่จบมาจากสถาบันการศึกษาชื่อดัง ทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ถูกชักจูงจากเพื่อนหรือคนรู้จักที่อยู่ในวงการหวยใต้ดิน โดยเริ่มจากการเป็นเด็กเดินโพย หรือรับจ้างช่วยคิดคำนวณหวยผลตอบแทนที่ได้จากการทำงานสูงถึงงวดละ 1,000-2,000 บาท การควบคุมเยาวชนให้ห่างไกลจากอบายมุขเหล่านี้คือ ต้องให้เยาวชนสร้างนโยบายร่วมกัน และพยายามเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องการพนันให้เป็นเรื่องอื่นที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับเยาวชน อย่างการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่สร้างสรรค์ พร้อมกับสนับสนุนด้านการศึกษาทุกแขนงวิชา และเปิดโอกาสให้เยาวชนเลือกกระทำในสิ่งที่ถูกอย่างอิสระ จึงจะช่วยลดจำนวนวัยรุ่นหลงผิด

 

สำหรับการแก้ปัญหาหวยใต้ดินทั้งระบบจะทำได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลแต่ละชุด รัฐบาลควรลดราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลลง โดยเฉพาะทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ควรทำสลากสองใบติดกัน เนื่องจากราคาจำหน่ายสูงเกินกำลังซื้อของประชาชน ที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจไม่สูงมาก วิธีการดังกล่าวจะช่วยลดจำนวนผู้เล่นหวยใต้ดิน พร้อมดึงเม็ดเงินจากวงการหวยใต้ดินเข้าสู่คลัง และนำผลกำไรที่ได้ไปทำสาธารณะประโยชน์ อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวยังไม่มีฝ่ายใดเห็นชอบร่วมกับตน

 

 

วิจัยระบุเป็นองค์กรขนาดใหญ่เร้นลับซับซ้อน

 

 

ขณะที่งานวิจัยของ นพนันท์ วรรณเทพสกุล เรื่อง “เศรษฐกิจหวยใต้ดิน มุมมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมไทยผ่านธุรกิจการพนัน” ระบุถึงผลประโยชน์ของหวยใต้ดินว่า หวยใต้ดินถูกดำเนินการจนกลายเป็นธุรกิจหนึ่งที่ทำให้เกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมากมาย กลายเป็นองค์การเร้นลับขนาดใหญ่ ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นผู้กำหนดทิศทางทางธุรกิจ เพราะกลุ่มเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการเติบโตและความอยู่รอดขององค์การหวยใต้ดินทั้งสิ้น ซึ่งในงานวิจัยระบุว่า ลักษณะขององค์การหวยใต้ดิน ถูกแบ่งออกเป็นระดับสำคัญใหญ่ๆ อยู่ 4 ระดับคือ 1.ระดับเจ้ามือใหญ่ ถือเป็นระดับสุดยอดของธุรกิจ คาดว่าน่าจะเป็นผู้มีหน้ามีตา มีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจสูง 2.ระดับเจ้ามือย่อย หรือยี่ปั๊ว รองลงมาจากเจ้ามือใหญ่ ที่จะมีลูกน้องคนเดินโพยในสังกัดอีกชั้นหนึ่ง  3.ระดับคนขายหัวหรือกั๊ก และระดับ 4.ระดับคนเดินโพยทั่วไป

 

ซึ่งในแต่ระดับจะมีค่าตอบแทนของผู้ขายเป็นเปอร์เซ็นต์จากต้นสังกัดของตัวเอง รวมถึงส่วนลดจากยอดขายต่อกันเป็นทอดๆ ไป ซึ่งค่าตอบแทนของเจ้ามือใหญ่ที่ให้กับยี่ปั๊วใน ปี 2553 อยู่ที่ 25-27 เปอร์เซนต์ เมื่อลงมาถึงระดับย่อยลงมา อัตราค่าตอบแทนจะลดลงเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ และลดน้อยลงไปตามลำดับ จนถึงคนเดินโพยทั่วไปที่มักจะอยู่ในอัตรา 10-15 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีการจูงใจมายังผู้ซื้อที่จะได้ส่วนลดเป็นเปอร์เซ็นต์อีกด้วย

ทั้งนี้จากการสำรวจของ TCIJ กับกลุ่มคนเดินโพยและผู้ซื้อหวยใต้ดิน พบข้อมูลตรงกันกับงานวิจัยชิ้นนี้แม้ว่าจะมีช่วงเวลาการสำรวจที่แตกต่างกันก็ตาม โดยค่าตอบแทนของผู้เดินโพยจะอยู่ที่ 10-15 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าอัตราค่าตอบแทนของการซื้อขายหวยใต้ดินในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก

 

คนเดินโพยต้องรักษาลูกค้าเพราะมีคู่แข่งมาก

 

 

“ปกติคนเดินโพยจะมีเป็นสายๆไป ตามละแวกหมู่บ้าน ถ้าเราซื้อกับคนนี้ก็จะได้ส่วนลดเท่านี้ บางคนสนิทกันก็จะมีส่วนลดให้มากขึ้น คนเดินโพยจะมีเจ้ามือของตัวเอง นำส่งตามกันไปโดยไม่เปิดเผยว่าเจ้ามือใหญ่เป็นใคร คนซื้อจะไม่รู้และไม่อยากจะรู้ แต่เราก็คาดเดากันว่า น่าจะเป็นเจ้าของร้านทองในตลาด และอาจจะมีตำรวจรวมอยู่ด้วย เพราะหากมีการกวาดล้างหรือจับคนเดินโพย เจ้ามือจะเข้าไปจัดการเดินเรื่องให้ไม่ยากนัก” นักเล่นหวยรายหนึ่งกล่าว

 

จากการสอบถามคนเดินโพยหวยใต้ดิน หรือคนขายหวยรายย่อย ทราบว่า การรับหวยมาขายจะได้เป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ร้อยละ 15 บาท ถ้ามีผู้เล่นซื้อหวยกับตน 10,000 บาท งวดนั้นจะได้เปอร์เซ็นต์ 1,500 บาท ซึ่งในพื้นที่จะมีคนเดินโพยอยู่ประมาณ 4-5 คน จะแข่งขันกันเอง เพื่อดึงลูกค้าให้ซื้อกับตัวเอง เช่น สามารถซื้อโดยไม่ต้องจ่ายเงินก่อนหรือจ่ายหลังจากหวยออกแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการลดราคา สำหรับลูกค้าชั้นดี คือซื้อจำนวนมากและจ่ายตรงเวลา ถ้าลูกค้าคนไหนเครดิตดี รู้ว่าจ่ายเงินแน่นอนจะให้ค้างจ่ายได้นานขึ้น บางคนจ่ายก่อนแทงงวดหน้าก็มี แต่บางคนที่รู้ว่าเครดิตไม่ค่อยดี จ่ายช้า ไม่ทวงก็ไม่จ่าย ก็จะไม่ให้ค้างหรือไม่ให้เครดิต ลูกค้าที่จ่ายเงินดีซื้อครั้งละมากๆ เราจะลดเปอร์เซ็นต์ให้ด้วย การลดเปอร์เซ็นต์มาจากเจ้ามืออีกทอดหนึ่ง ไม่ใช่เรามาลดเอง เพราะต้องดึงให้เขาซื้อกับเราเพราะปัจจุบันมีคนเดินโพยที่เป็นคู่แข่งมาก

 

 

คนเดินโพยเจ๊งเพราะเล่นเอง

 

 

สำหรับคนเดินโพยแต่ละคนจะมีลูกค้าประจำที่ซื้อขายด้วยกัน เช่น คนเดินโพยหวยคนหนึ่ง จะมีลูกค้าประจำประมาณงวดละ 10 คน ผู้เดินโพยจะได้จะได้เปอร์เซ็นต์ประมาณ 5,000-7,000 บาท แต่ส่วนใหญ่พบว่า เงินรายรับที่ได้เหล่านี้กลับหมดไปกับการซื้อหวยใต้ดินของตนเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า เหตุที่ต้องมาเป็นคนขายหวยใต้ดิน เพราะชอบเล่นด้วย ทำให้ได้รับการติดต่อจากเครือข่ายให้ช่วยรับซื้อแล้วส่งให้อีกทอดหนึ่ง ทำให้รายได้ที่ได้รับจากเปอร์เซนต์การขายตกไปอยู่ที่การซื้อหวยใต้ดินของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเดินโพยมักจะรับรู้เลขเด็ดของคนซื้อ ที่มาจากหลายแหล่ง เลขสวยเลขเด็ดต่างๆ ทำให้มีการซื้อตามกันไป เมื่อรวมๆ แล้วเปอร์เซ็นต์ที่จะได้จากการขายหวยก็จะหมดไป ดังนั้นจึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดเจ้ามือหวยใต้ดิน จึงมักจะยินดีต้อนรับคนเดินโพยในจำนวนมากขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถขยายเครือข่ายในการขายอย่างทั่วถึงแล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มมูลค่าการซื้อขาย ที่บางครั้งอาจจะไม่ต้องเสียเปอร์เซ็นต์ให้กับเด็กเดินโพยเลยก็ได้

 

เจ้ามือแบ่งสายชัดเจน-เงินหมุนเวียนจังหวัดละหลายสิบล้านต่องวด

 

 

นอกจากนี้เจ้ามือหวยรายย่อยรายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ จะมีการแบ่งสัมปทานพื้นที่การเป็นเจ้ามือขายหวยใต้ดิน โดยในพื้นที่หนึ่งๆ อาจจะมีผู้มีอิทธิพลและเงินทุนที่สามารถเป็นเจ้ามือหวยได้ โดยใช้วิธีเวียนกันเป็นเจ้ามือ เช่น อาจจะเวียนกัน ครั้งละ 5 งวดตามแต่ตกลง ซึ่งนอกจากการเวียนกันมาเป็นเจ้ามือแล้ว ยังมีวิธีการลงขันเงินก้อน สำหรับเป็นเจ้ามือหวยด้วยเช่น ลงขันคนละ 1 ล้านบาท ในพื้นที่หนึ่งอาจจะมีคนมีฐานะดี 10 คน รวมเป็น 10 ล้านบาท หากใช้วิธีการนี้ บรรดาเจ้ามือหวยจะใช้วิธีแบ่งสัมปทานพื้นที่กันไป ซึ่งดูจะแตกต่างจากการขายหวยใต้ดินในต่างจังหวัดที่เจ้ามือหวยมักจะผูกขาดการขายมาเป็นเวลานาน แต่ยึดถือขายกันอย่างต่อเนื่องเป็นกิจการของครอบครัวหรือของบรรพบุรุษ

 

ซึ่งเจ้ามือหวยรายหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก เปิดเผยว่า ในแต่ละจังหวัดจะมีเจ้ามือหวยที่รับกิจการตกทอดมาจากครอบครัวอย่างน้อย 4-5 ราย แต่ละรายจะมีคนเดินโพยมากกว่า 10 คน ซึ่งแต่ละคนจะขายได้งวดละหลายแสนบาท ทำให้ในแต่ละจังหวัดมีเงินที่หมุนเวียนจากการขายหวยใต้ดินแต่ละงวดหลายสิบล้านบาท ซึ่งเจ้ามือในจังหวัดเล็กจะส่งต่อไปยังเจ้ามือจังหวัดใหญ่ บางส่วนก็รับแทงเอง และบางส่วนส่งไปที่ประเทศมาเลเซียก็มี

 

เมื่อประมวลจากข้อมูลจากการสอบถามและสำรวจของศูนย์ข่าว TCIJ แล้ว อาจประเมินผลตอบแทนของเจ้ามือหวยใต้ดินได้ เช่นเดียวกับการศึกษาจากรายงานวิจัยของนพนันท์ ที่ระบุว่า “โดยปกติแล้วเงินค่าซื้อหวยประมาณร้อยละ 70 ถึง 75 จะกลับไปหาผู้เล่นในรูปของเงินรางวัลรวมกับส่วนลดที่ได้จากเจ้ามือ ถ้าหากใช้ตัวเลขนี้ประเมินวงเงินรายได้ของเจ้ามือหวยใต้ดิน จะทำให้คาดคะเนว่าเจ้ามือและบุคคลในเครือข่ายจะได้กำไรเท่ากับร้อยละ 25-30 และเจ้ามือใหญ่ เมื่อหักส่วนลดให้แก่บรรดายี่ปั๊วแล้ว จะคงเหลือส่วนต่างอย่างต่ำประมาณร้อยละ 3-5 ของวงเงินหวยใต้ดินเป็นค่าบริหารและค่าคุ้มครอง

 

 

ต้องจ่ายค่าคุ้มครองเพื่อรักษาธุรกิจเถื่อน

 

 

สำหรับค่าคุ้มครองเป็นเงินที่ต้องจ่ายเพื่อให้ธุรกิจผิดกฎหมายดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ถูกรบกวนทั้งจากหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบปราบปรามอบายมุขในพื้นที่ต่างๆ และผู้มีอิทธิพล นอกเหนือไปจากส่วนแบ่งรายได้ของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมดแล้ว

 

พนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในจ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นคนเดินโพยหวยใต้ดินเล่าว่า “ในแถบบ้านหนูไม่รู้ว่าเจ้ามือหวยใหญ่เป็นใคร แต่มีคนพูดกันมาว่า เป็นเจ้าของร้านขายยาร้านใหญ่หน้าปากซอย มีตำรวจร่วมหุ้นด้วย เพราะทุกครั้งที่มีการกวาดล้างจับกุม จะมีคนมาบอกว่าให้ระมัดระวัง เพราะได้ยินข่าวมาจากตำรวจ และหากมีใครเกิดพลาดพลั้งโดนจับไปก็จะมีคนไปเคลียร์ให้ทุกครั้ง พวกคนเดินโพยด้วยกันเลยเชื่อว่า ตำรวจน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย”

 

สอดคล้องกับการศึกษาของ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ในปี พ.ศ.2546 ที่ระบุว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ธุรกิจหวยใต้ดินขยายตัวเติบโตอย่างมาก โดยเจ้ามือหวยใต้ดินได้รับกำไรสูงสุด ทั้งนี้มีการประเมินว่า กำไรจากการซื้อขายหวยใต้ดินขั้นต่ำในขณะนั้นตกอยู่ในราว 92,000 ล้านบาทต่อปี และหากรวมวงเงินทั้งหมดอาจจะสูงถึงประมาณ 542,000 ล้านบาท โดยที่กำไรส่วนหนึ่ง ต้องตกไปเป็นส่วยที่ถูกส่งให้กับตำรวจที่เกี่ยวข้อง เป็นเงินราวปีละ 11,000 ล้านบาท

 

ตำรวจรับมีเงินส่วยบ้างเพราะต้องใช้ปราบยาเสพติด

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสัญญาบัตรในพื้นที่นครบาลรายหนึ่ง ถึงประเด็นที่ตำรวจมักถูกกล่าวหาว่ารับส่วยหวยใต้ดิน นายตำรวจรายนี้ ระบุว่า การรับส่วยของตำรวจอาจจะมีอยู่จริงในตำรวจบางราย แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าใครรับอะไรตรงไหน จนกว่าจะมีการจับและเป็นข่าวขึ้นมา จึงจะมีการสืบหาตัวกัน อย่างไรก็ตามปัจจุบันหวยใต้ดินเกิดขึ้นมากมายจนกลายเป็นเหมือนสิ่งปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เมื่อเห็นเล็กๆ น้อยๆ ตำรวจมักจะไม่เข้มงวดนัก หากไม่มีการกวาดล้างอย่างจริงจัง ส่วนปัจจุบันจะมีการรับส่วยมากน้อยแค่ไหนหรือไม่นั้น ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น แต่ก็เชื่อว่าหากจะกวาดล้างเอาจริงก็น่าจะมีอยู่เกือบทุกพื้นที่

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่งระบุว่า การรับเงินจากหวยใต้ดินอาจมีบ้าง เนื่องจากตำรวจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการปราบปรามยาเสพติดเป็นหลัก ซึ่งคิดว่าปัญหายาเสพติดสำคัญกว่าปัญหาหวยใต้ดิน เพราะหวยไม่อันตรายกับใครมากนักนอกจากคนเล่น แต่ยาเสพติดทำให้สังคมเสียหายมาก โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณในส่วนนี้น้อย แต่กลับต้องการผลงานมาก บางครั้งตำรวจต้องต้องขอรับการสนับสนุนจากส่วนอื่นบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งหากเทียบกันแล้วก็นับว่าดีกว่า

 

สอดคล้องกับงานวิจัยของนพนันท์ในประเด็นเดียวกันว่า หากต้องการให้กิจการหวยใต้ดินของตนดำเนินไปอย่างราบรื่น เจ้ามือหวยก็จำเป็นจะต้องจ่ายเงินให้กับตำรวจตำแหน่งสำคัญๆ ในพื้นที่จำนวนหนึ่งเพื่อเป็นค่าคุ้มครอง และยังต้องจ่ายเงินเป็นครั้งคราวสำหรับตำรวจนอกพื้นที่ด้วย ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกนับเป็นต้นทุนอีกตัวหนึ่งที่เจ้ามือต้องจ่าย เพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจการหวยใต้ดินต่อไปได้ ลดการถูกตรวจจับ นอกจากนี้ยังมีการมอบของขวัญเป็นสินน้ำใจ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ถือเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดเครือข่าย และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างทั่วถึง และไม่ทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจหวยใต้ดินอีกด้วย

 

 

สร้างความสัมพันธ์เอื้อผลประโยชน์-ซื้อใจลูกค้าในพื้นที่

 

 

นอกจากตำรวจที่จะต้องให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันแล้ว การสร้างเครือข่ายกับบุคคลอื่นๆ ในชุมชน ยังเป็นอีกภารกิจการสร้างเครือข่ายหนึ่งของ “เจ้ามือหวยใต้ดิน” ที่จะต้องสร้างขึ้น เพื่อการแบ่งปันผลประโยชน์ และไม่ทำให้เกิดการติดขัดในการซื้อขายหวยในแต่ละงวด อาทิ ข้าราชการบางกลุ่มในพื้นที่ ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน หรือผู้มีส่วนได้เสียในระดับหมู่บ้านในระดับอื่นๆ ส่วนในระดับชาวบ้าน เจ้ามือหวยใต้ดิน อาจจะใช้วิธีการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับครอบครัวที่ประสบปัญหา ซึ่งนอกจากจะได้ความสัมพันธ์ในลักษณะซื้อใจแล้ว ยังถือเป็นการรักษาลูกค้าอย่างยาวนาน ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นปัญหาลุกลามอีกด้วย

 

เจ้ามือรายใหญ่สร้างภาพให้น่าเชื่อถือ-ขยายเครือข่าย

 

 

งานวิจัยของ นพนันท์ วรรณเทพสกุล ยังระบุด้วยว่า เจ้ามือกับผู้เล่น มีความสัมพันธ์กับแบบตลาด เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่รู้กันว่า ควรจะแทงหวยที่ไหน มีที่ใดบ้างที่รับแทง ที่ไหนจ่ายเงินดี เจ้ามือหวยย่อยอยู่รอดและเติบโตได้จากการสร้างความน่าเชื่อถือ นอกเหนือจากการต้องสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน ซึ่งเจ้ามือหวยใต้ดินจะสร้างความนิยมในบรรดาคนเล่นหวย ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การแสดงให้เห็นว่า มีความมั่งคั่งในทรัพย์สิน และสถานภาพทางสังคม ที่เชิดหน้าชูตา มีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์หรูหรา สิ่งอำนวยความสะดวกราคาแพง

 

นอกจากนั้นมักจะดำรงตนเป็นเจ้าบุญทุ่ม ช่วยเหลือให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย ช่วยเหลือครอบครัวเมื่อเกิดปัญหาโดยไม่หวังได้รับเงินคืน หรือแสดงฐานะทางเศรษฐกิจ มักจัดงานเลี้ยงที่เชิญคนใหญ่คนโตของท้องถิ่น หรือจากภายนอกมาร่วมด้วยให้เห็นกันอยู่เสมอ แสดงการใช้จ่ายมือเติบ งานเลี้ยง งานบุญ งานประเพณีต่างๆ ฯลฯ เป็นส่วนของต้นทุนที่เจ้ามือหวยใต้ดินจะต้องเสีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างเครดิตให้กับตนเอง นับเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจให้ประจักษ์กับบรรดาผู้เล่นหวย

 

ข้อมูลจากรายงานดังกล่าว สอดคล้องกับการบอกเล่าของคนเดินโพยหวยใต้ดินรายหนึ่ง ที่ระบุว่า “มีอยู่บางคนเหมือนกัน ที่ซื้อขายกันมาเป็นเวลานาน เวลาใครมีปัญหาเราก็อาจจะต้องไปเยี่ยมเยียน บางทีก็ให้ค้างเงินค่าซื้อหวยงวดก่อนๆ ไว้ ถือว่าช่วยๆ กันไป เราก็ชอบเล่นหวย เขาก็ชอบคงจะเลิกเล่นไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ดีกับเขา เขาก็ไปเล่นกับคนอื่น แต่ส่วนใหญ่เป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียง หมู่บ้านเดียวกันก็มักจะช่วยเหลือกันอยู่แล้ว ส่วนเจ้ามือใหญ่เขาก็ยินดีถ้าเราจะขอความช่วยเหลือจากเขา”

 

 

ปัญหานี้แก้ไขได้อยู่ที่ “ใครจะเป็นคนเริ่ม”

 

ทั้งหมดนี้เป็นขุมข่ายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในวงการหวยใต้ดิน ซึ่งผูกโยงเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก และนับวันจะขยายวงกว้างขึ้น ด้วยกลยุทธ์ของบรรดาเซียนพนันเซียนหวยทั้งหลาย ที่พยายามสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และเพื่อปกป้องการกระทำความผิดทางกฎหมาย ที่เกิดในสังคมไทย จนทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งยากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้หมดไปได้ ดังที่ดร.สังศิตระบุในตอนต้นว่า หากจะมีการปราบปรามเพียบ 48 ชั่วโมงก็ดำเนินการได้หมด จึงมีคำถามว่า “แล้วใครจะเป็นคนเริ่ม” เพื่อให้สังคมนี้ “ปลอดจากการพนันและอบายมุข”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: