จี้ออกกฎกระทรวงคุ้มครอง'2ล้านแรงงาน' รับงานไปทำที่บ้าน-สวัสดิการแย่ค่าแรงต่ำ มีพรบ.ปี53แต่กระทรวงไม่ยอมประกาศใช้

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 25 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3396 ครั้ง

 

 

ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เติบโตถึงร้อยละ 46 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไม่ได้มาจากแรงงานในระบบเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งมาจากผู้ใช้แรงงานนอกระบบ มีทั้งแรงงานภาคเกษตรกรรม แรงงานด้านบริการ หาบเร่แผงลอย ฯลฯ ซึ่งแรงงานเหล่านี้นับเป็นอาชีพอิสระ ที่ไม่ผูกมัดกับนายจ้าง มีเพียงผูกมัดกับผู้ผลิตวัตถุดิบและลูกค้าที่รับซื้อผลผลิตเท่านั้น ต่างจากแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งยังผูกมัดในทุกรูปแบบกับนายจ้างที่เป็นเจ้าของกิจการ แต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม ไม่มีสวัสดิการ บางรายยังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะงานที่ทำ ขาดการเข้าถึงกองทุนประกันสังคม สวัสดิการและบริการอื่นๆ ของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิต่อรองได้

 

 

จวกรัฐเมินใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน

 

 

แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานถึง 4 ฉบับ ประกอบด้วย  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน 2537 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่กฎหมายที่กล่าวมากลับไม่ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ ซึ่งหมายรวมถึง แรงงานทำงานบ้าน และผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งแรงงานทั้ง 2 แบบจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

 

กระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 แต่สิ่งที่เป็นข้อกังขาของบรรดาผู้รับงานไปทำที่บ้าน องค์กรเอกชนทางด้านแรงงานก็คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายจ้าง ผู้ประกอบการต่างๆ กลับไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับนี้เลย

 

ทั้งที่จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2550 รายงานว่า ในจำนวนครัวเรือน 249,290 ครัวเรือน มีแรงงานที่มีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้าน 442,251 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 337,526 ราย ผู้ชาย 102,275 ราย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ระบุว่า ตัวเลขผู้รับงานไปทำที่บ้าน ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจออกมานั้น ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการที่มูลนิธิฯ เคยสำรวจ มีแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้านประมาณ 2 ล้านคน ทั้งนี้การคลาดเคลื่อนของข้อมูลอาจจะมาจากการให้คำนิยามของคำว่า “งานที่รับไปทำที่บ้าน” ไม่ตรงกัน หรือในขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจ เป็นช่วงเวลาที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่มีงานทำ

 

นอกจากนี้ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2550 พบว่า ระบบการรับงานไปทำที่บ้าน มีการใช้กันมากในอุตสาหกรรมการผลิตหลายประเภท จากผู้รับงานไปทำที่บ้านทั้งหมด 440,251 ราย ส่วนใหญ่รับงานในอุตสาหกรรมการผลิต 22,066 ราย ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตประเภทสิ่งทอและเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์จากไม้และกระดาษ เครื่องจักสาน ดอกไม้ประดิษฐ์ การแปรรูปอาหาร เครื่องหนังและพลาสติก และอัญมณี ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมและประมงจำนวน 80 คน การขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล ของใช้ในครัวเรือน 217 คน และด้านอื่นๆ เช่น กิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมทางธุรกิจ งานด้านสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ รวมถึงกิจกรรมบริการชุมชนและบริการส่วนบุคคลอื่นๆ 353 คน

 

 

กว่าร้อยละ 60 ทำเป็นอาชีพหลัก-ไม่มีอาชีพเสริม

 

 

และยังมีข้อมูลที่น่าสนใจของผู้รับงานไปทำที่บ้านคือ ร้อยละ 67.6 ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทำเป็นอาชีพหลัก ขณะที่ร้อยละ 23.4 ทำเป็นอาชีพรอง และผู้ที่รับงานไปทำเป็นอาชีพหลักที่อาศัยอยู่ในเมือง จะไม่มีอาชีพอื่นเสริมเป็นอาชีพรอง ซึ่งหมายความว่า รายได้ของครอบครัวมาจากการรับงานไปทำที่บ้าน ในขณะที่ผู้ที่อยู่ในชนบทมักทำงานเสริมอื่นๆ ด้วย เช่น เกษตรกรรม ค้าขาย หรือรับจ้างชั่วคราว

 

ส่วนรายได้โดยเฉลี่ยพบว่า ร้อยละ 29.6 ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน มีรายได้วันละ 151-200 บาท รองลงมาร้อยละ 22.5 มีรายได้วันละ 101-150 บาท และมีเพียงร้อยละ 14.1 ที่มีรายได้วันละ 301 บาทขึ้นไป ซึ่งผู้รับงานไปทำที่บ้านจะมีประสบการณ์การทำงาน ในงานที่รับไปทำที่บ้านโดยเฉลี่ย 11 ปีขึ้นไป

 

สลดค่าแรงยังต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

 

ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)และคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม จึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “กฎหมายลำดับรองกับการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน” เพื่อติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว

 

นางพูนทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์  ผู้แทนเครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้าน กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และเครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้าน พยายามต่อสู้มาตั้งแต่ พ.ศ.2539 เพื่อผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านจนเป็นผลสำเร็จออกเป็นกฎหมาย เมื่อปี 2553 แต่มาจนถึงวันนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ได้มีการบังคับใช้ ซึ่งมูลนิธิได้ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้ากับกระทรวงแรงงานมาโดยตลอด ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

ทั้งที่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านมีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงอัตราค่าจ้าง และยังไม่แน่ชัดว่าจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่แม้ว่าจะมีพ.ร.บ.คุ้มครองฯ ก็ตาม แต่ค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงระยะ10-15 ปีที่ผ่าน แต่กลุ่มแรงงานเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพิจารณาให้ปรับค่าแรงตามไปด้วย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จึงอยากเรียกร้องให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านอย่างเร่งด่วน ซึ่งคณะกรรมการฯจะมีหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนและกฎหมายลูกต่างๆ เพราะจะเห็นว่า แรงงานประมาณร้อยละ 70-80 เป็นแรงงานผู้หญิง ซึ่งยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ จึงอยากจะร้องขอให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างเร่งด่วนหากเป็นไปได้ไม่ควรเกิน 1 ปี

 

 

รับจ้างแกะปลาวันละ 8 ชั่วโมงได้ 60 บาท

 

ทางด้านผู้แทนจากเครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้าน จากจ.นราธิวาส เล่าถึงสถานการณ์ของผู้รับงานไปทำที่บ้านว่า งานที่รับไปทำที่บ้านคือทำปลากะตัก ซึ่งตัวเล็กมาก วันหนึ่งจะได้ค่าแรงประมาณ 60 บาท มากที่สุดคือวันละ 90 บาท ซึ่งต้องใช้เวลาทำวันละประมาณ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านที่ทำปลากะตักส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลัง สายตาไม่ดี มือชา ติดเชื้อราจากปลา แต่ก็ยังต้องทำ เนื่องจากเป็นรายได้หลัก เพราะสามีออกไปกับเรือประมง ไม่ได้กลับบ้านหลายวัน รายได้ในบ้านจึงมาจากการทำปลากะตัก

 

นอกจากนี้ยังมีกรณีตัวอย่างจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน ที่จ.สงขลา เล่าว่า มีอาชีพปอกตาลโตนด สารฟอกขาวจากลูกตาลทำให้เล็บหลุด อีกทั้งค่าแรงที่ได้จากการปอกตลาดโตนดที่รับมาทำที่บ้านยังน้อยกว่าค่าแรงที่โรงงาน โดยผู้รับงานไปทำที่บ้านจะได้ค่าแรงถุงละ 1 บาท 1 ถุงจะบรรจุ 12 ชิ้น ในขณะที่พนักงานโรงงานจะได้ถุงละ 1.50 บาท ซึ่งแรงงานไม่กล้าต่อรองหรือเรียกร้อง เพราะกลัวนายจ้างจะไม่ให้งานทำ

น.ส.นุชนภา บำรุงนา กรรมการเครือข่ายแรงงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้แรงงานส่วนใหญ่เสียโอกาสด้านค่าแรง และประสบปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน โดยแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้านหลายพื้นที่ประสบปัญหาสารพิษตะกั่วตกค้างในร่างกาย ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงสูงที่ผู้สูงอายุและเด็กในบ้าน จะได้รับสารพิษดังกล่าวด้วย อันเนื่องมาจากการรับงานมาทำที่บ้าน

 

 

หลายอาชีพค่าจ้างยังต่ำกว่ามาตรฐาน

 

 

จากการสำรวจของมูลนิธิฯพบว่า ผู้รับงานไปทำที่บ้านส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างในการทำงานต่ำ และมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เพื่อให้ได้รายได้มากพอเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า มี 8 ประเภทการผลิต ที่ผู้รับงานได้ค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น และต้องทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ประกอบด้วย 1.แกะปลากะตัก ทำงานวันละ 13 ชั่วโมง ถุงละ 30-40 บาท ในหนึ่งถุงจะมี 10 กิโลกรัม สามารถทำได้วันละ 1 ถุง มีรายได้วันละ 30-40 บาท 2.ปอกตาลโตนด ทำงานวันละ 6 ชั่วโมง ถุงละ 1 บาท ใน 1 ถุงจะมี 12 ชิ้น ทำได้ 50 ถุงต่อวัน ได้วันละ 50 บาท 3.เจียรนัยพลอย ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ค่าจ้างชิ้นละ 1.30 บาท ทำได้วันละ 100 ชิ้น มีรายได้วันละ 130 บาท 4.เย็บเสื้อผ้าโหล ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ค่าจ้างชิ้นละ 3-5 บาท เย็บได้วันละ 40-50 ตัว มีรายได้วันละ 150-200 บาท  5.เย็บรองเท้า ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ค่าจ้างคู่ละ 3-4 บาท ทำได้วันละ 40-50 คู่ รายได้วันละ 200 บาท 6.ปักผ้าคลุมผมมุสลิม ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ค่าจ้างต่อผืนจะแบ่งเป็นงานง่ายและงานยาก ถ้างานง่ายจะได้ผืนละ 50-80 บาท ถ้างานยากจะได้ผืนละ 250 บาท รายได้วันละ 160-250 บาท  ส่วนเย็บผ้าห่มนวมและปักผ้าแก้ว ไม่มีรายละเอียดชัดเจน จากข้อมูลจะเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างชั่วโมงการทำงานของผู้รับงานไปทำที่บ้าน กับชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างในระบบอุตสาหกรรม ผู้รับงานไปทำที่บ้านจะได้ค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำอยู่มาก

 

 

สงสัยทำไมกระทรวงแรงงานไม่ตั้งกรรมการตามกฎหมาย

 

 

ด้านนางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ตั้งข้อสังเกต 2 ประเด็น เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวว่า 1.พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ออกมาเป็นกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้  ประเด็นที่น่าสนใจที่อยู่ในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ระบุว่า จะต้องตั้งคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ภายใน120 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่คณะกรรมการ เพื่อดำเนินการไปพลางก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งหรือเลือก เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการฯประเด็นนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องดำเนินการต่อไป

 

นอกจากนี้ยังมีกฎกระทรวงที่ต้องออกมารองรับขณะนี้ยังมีความล่าช้า อย่างไรก็ตามในแง่กฎกระทรวงหากเป็นไปได้ควรให้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคแรงงานด้วย โดยสามารถจัดตั้งคณะกรรมการชุดเล็กคณะหนึ่งเพื่อให้ภาคแรงงานมีส่วนร่วมเสนอความเห็น

 

นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ขอให้ส่งร่างกฎกระทรวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณา เพื่อจะเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะของคปก.ให้กฎหมายดังกล่าว นำไปสู่การดำเนินการต่อไป

 

กระทรวงแรงงานแจงเหตุทำกฎหมายรองรับล่าช้า

 

 

ขณะที่ นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน  กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อกฎหมายฉบับนี้ ได้เร่งดำเนินการแล้ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะต้องมีกฎหมายลำดับรองทั้งสิ้น 14 ฉบับ ซึ่งออกไปแล้ว ในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก 6 ฉบับ ส่วนที่เหลืออีก 8 ฉบับที่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

 

                     “สาเหตุที่ทำล่าช้า เพราะเราต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีการศึกษามาก่อนและมีรายละเอียดมาก ที่ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการอ้างอิง หากเร่งรีบเกรงว่าจะเป็นช่องทางให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง รายละเอียดที่ต้องหาข้อมูลทางวิชาการเพิ่ม เช่น กฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของหญิงมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีตามมาตรา 21, กฎกระทรวงเกี่ยวกับค่าพยาบาล, ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าทำศพ ตามมาตรา 25, การกำหนดอัตราค่าตอบแทน เป็นต้น”

 

ส่วนเรื่องการดำเนินการขณะที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามมาตรา 50 ซึ่งระบุให้ บุคคลตามที่กำหนด ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการแทนไปก่อนได้ ซึ่งในการสรรหาขณะนี้ยังติดปัญหาที่วิธีการสรรหากรรมการ ที่เป็นตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งตามหลักการแล้ว จะต้องใช้วิธีลงคะแนนแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง (One man one Vote) ซึ่งวิธีดังกล่าว ต้องใช้งบประมาณมาก ดังนั้นอาจต้องใช้ระบบไตรภาคี คือ ให้ตัวแทนเสนอรายชื่อ แต่การเลือกแบบนี้อาจจะได้ตัวแทนไม่ตรงตามที่ต้องการ  โดยอาจจะขอความร่วมมือกับหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม หากได้รับความร่วมมือจะทำให้ได้ข้อมูลทั้งกลุ่มนายจ้างและกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน เมื่อประกอบกับฐานข้อมูลเก่าของกรมจัดหางานและกลุ่มแรงงาน 5 ภาค แล้วน่าจะครอบคลุมเกือบทั้งหมด

 

                     “เห็นด้วยที่จะให้ออกกฎกระทรวงโดยเร็ว คือเสนอหลักการไปก่อนแล้วปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดในภายหลัง และเน้นย้ำว่าเรื่องสำคัญ ที่ควรจะตราออกมาก่อน คือ เรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะรับหน้าที่ผลักดันให้ออกมาเป็นลำดับแรก และยังเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆมีแนวทางที่น่าสนใจ สามารถร่างและนำมาเสนอประกอบการพิจารณาออกกฎกระทรวงด้วย”

 

 

กฤษฎีกายันต้องเร่งกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองแรงงาน

 

 

ทางด้านนายอภิมุข สุขประเสริฐ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กฎกระทรวงยังมาไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากส่งมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 เดือน เว้นแต่มีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัย

 

ทั้งนี้หลักของกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านฉบับนี้ ต้องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ที่รับงานไปทำที่บ้านให้ได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับลูกจ้างในระบบ ส่วนประเด็นการออกกฎกระทรวงคงต้องเร่งผลักดัน ในขณะที่ระดับของความคุ้มครองสามารถปรับปรุงพัฒนาแก้ไขได้ ส่วนเรื่องการสรรหาคณะกรรมการตามมาตรา 50 วรรคแรก เป็นมาตรการเร่งรัด ดังนั้นต้องเร่งให้เกิดคณะกรรมการชุดแรกตามมาตรา 25 ก่อน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสรรหา โดยคาดว่าไม่น่าจะใช้เวลานาน

 

จี้เร่งหามาตรการคุ้มครองแรงงาน

 

 

ในขณะที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร นายสุภัท กุขุน กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งดูแล 3 ส่วนคือค่าตอบแทน สวัสดิการ และคุณภาพชีวิต ขณะที่กรอบงานในมาตรา 3 ระบุงานที่รับไปทำที่บ้านหมายถึง งานที่ผู้จ้างงานในกิจการอุตสาหกรรมมอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อนำไปผลิตหรือประกอบนอกสถานประกอบกิจการของผู้จ้างงานหรืองานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร เนื่องจากต้องพิจารณาในรายมาตรา และต้องมีกฎกระทรวงและระเบียบมารองรับ ทั้งนี้ควรจะเขียนควบคู่กัน เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวออกบังคับใช้ได้เร็ว

 

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมาตรา 24 ระบุถึงความรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าทำศพในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย อันเนื่องมาจากการใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และสิ่งอื่นที่ใช้ในการทำงาน ที่ผู้ว่าจ้างจัดหาหรือส่งมอบให้ ประเด็นคือจะต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ข้อน่ากังวลคือ บางกรณีเช่นกรณีพลุระเบิด นายจ้างจะนำค่าจ้างส่วนใดมาจ่าย ประเด็นนี้ยังไม่ได้คิดเผื่อไว้ และหากลูกจ้างทุพพลภาพจะดูแลจะช่วยกันอย่างไร เรื่องนี้อาจจะขยายผลต่อไป ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนดูแลและคุ้มครองหรือไม่

 

รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม กล่าวว่า มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ 1.ลักษณะการจ้างเป็นแบบใด เป็นลักษณะการจ้างทำของหรือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน 2.ปัญหาที่มีกฎหมายแม่แล้ว แต่กฎหมายลูกยังไม่ออกมา จึงไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ หากกลไกไม่สามารถทำได้อาจจะต้องหาวิธีการอื่น เพราะแม้จะตั้งกรรมการไม่ได้ แต่การดำเนินการจะมีช่องว่างไม่ได้ หากมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ก็จำเป็นต้องตีความ ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีลายลักษณ์อักษรเรื่องค่าจ้าง หรือความปลอดภัย ก็ต้องเทียบเคียงได้ โดยสามารถนำกฎหมายแรงงานใช้เทียบเคียงได้ 3.เรื่องค่าตอบแทน ต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะมี 2 ประเภทคือ เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือ หรืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำท้องที่ เป็น 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องนำไปพิจารณาด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: